ชาวปทุมฯ หลายร้อยรวมตัวไปศาลากลางจังหวัดฯ ยื่นหนังสือย้ำจุดยืนคัดค้าน-ร้องยุติโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่ รวมทั้งกดดันผู้ว่าฯ ตั้งกรรมการสอบสวนหาที่มาและอิทธิพลเบื้องหลังโครงการดังกล่าว ระบุ ที่ตั้งโครงการไม่เหมาะสม เป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์ – แหล่งน้ำประปา
เรื่อง: มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)
ภาพ: karnt thassanaphak
25 ธ.ค. 2558 เมื่อเวลาประมาณ 8.00 น. ประชาชนจาก ต.เชียงรากใหญ่ อ.สามโคก ต.บางพูด และ ต.สวนพริกไทย อ.เมือง จ.ปทุมธานี ประมาณ 500 คน ได้รวมตัวกันเป็นขบวนรถยนต์ประมาณ 100 คัน ก่อนออกเดินทางไปปักหลักชุมนุมริมท้องถนนบริเวณฝั่งตรงข้ามศาลากลางจังหวัด โดยระบุว่าจะขอยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เพื่อย้ำจุดยืนในการคัดค้านและเรียกร้องให้ยุติโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะขนาด 24 เมกะวัตต์ และกดดันให้มีการสอบสวนหาสาเหตุ ที่มา และอิทธิพลที่อยู่เบื้องหลังโครงการดังกล่าว ซึ่งพบว่าล่าสุดเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการนำรถแบ็คโฮเข้าปรับพื้นที่เตรียมการก่อสร้างแล้ว
กลุ่มผู้คัดค้านโครงการฯ ซึ่งประกอบไปด้วยประชาชนหลากหลายอาชีพรวมทั้งเกษตรกรและนักวิชาการจากสถาบันอุดมศึกษาใน จ.ปทุมธานี ทั้งประชากรวัยทำงาน ผู้สูงวัย และเยาวชนนักเรียนจากโรงเรียนใน ต.เชียงรากใหญ่ ได้ร่วมกันเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดลงมารับหนังสือด้วยตนเอง ท่ามกลางเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงาน รวมทั้งทหารจำนวนมาก ที่เข้ามาดูแลและควบคุมสถานการณ์
“ในวันนี้เป็นวันครบรอบ 1 ปีเต็ม ที่ชาวบ้านเชียงรากใหญ่ได้ขับเคลื่อนเพื่อคัดค้านโครงการนี้ ที่ผ่านมา เราได้เข้าไปขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล ทั้ง คสช. สนช. และหน่วยงานราชการหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นกรมควบคุมมลพิษ การประปานครหลวง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัด มหาวิทยาลัยต่างๆ ในจังหวัดปทุมธานี้ ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ และอีกหลายแห่ง ซึ่งหลายหน่วยงานต่างมีความเห็นว่า พื้นที่นี้ไม่เหมาะสมที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ แต่ทำไมนักการเมืองท้องถิ่นจึงเห็นว่าพื้นที่นี้เหมาะสม ข้าราชการท้องถิ่นเองก็อ้างกับชาวบ้านมาตลอดว่าทางจังหวัดยังไม่มีแผนอะไรเกี่ยวกับโครงการนี้ แต่ทำไมวันนี้จึงมีการปรับพื้นที่” ทวีศักดิ์ อินกว่าง หนึ่งในแกนนำผู้คัดค้านโครงการฯ ปราศรัยบนรถเครื่องเสียงระหว่างการชุมนุม
ทวีศักดิ์ ปราศรัยต่อมาว่า พื้นที่เชียงรากเป็นทั้งแหล่งพืชผักเกษตรอินทรีย์ที่ส่งไปเป็นอาหารของคนกรุงเทพฯ และเป็นแหล่งผลิตน้ำประปาสำคัญของทั้งจังหวัดปทุมธานีและกรุงเทพฯ ถ้าหากโรงไฟฟ้าขยะเข้ามาตั้งที่นี่ ก็จะก่อผลกระทบต่อน้ำและอาหารของเราและของคนกรุงเทพฯ เรามาวันนี้เพื่อเรียกร้องให้คนกรุงเทพฯ ด้วย
ต่อมา เฉลิมพล มั่งคั่ง ตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีได้เดินทางเข้ามามาเจรจากับผู้ชุมนุม โดยอ้างว่าผู้ว่าราชการจังหวัดติดภารกิจสำคัญไม่สามารถมาด้วยตนเองได้ แต่ผู้ชุมนุมยังคงยืนยันจะพบเพื่อยื่นหนังสือและเจรจากับผู้ว่าราชการจังหวัดเท่านั้น
ณัฐวดี คงประโยชน์ ตัวแทนประชาชน หมู่ 3 วัดบัวหลวง ต.เชียงรากใหญ่ กล่าวว่า ชาวบ้านเรียกร้องให้ผู้ว่าฯ ลงพื้นที่ฟังข้อมูลจากชาวบ้าน เพื่อจะได้ทราบข้อเท็จจริงว่าพื้นที่นี้ไม่เหมาะสมที่จะสร้างโรงไฟฟ้าเพราะอะไร พร้อมตั้งคำถามว่า นายก อบต. เชียงรากใหญ่ ซึ่งสนับสนุนโครงการนี้ไม่เคยมาชี้แจงกับชาวบ้านเกี่ยวกับโครงการ เมื่อถูกสอบถามก็อ้างทุกครั้งว่าโครงการนี้ยังไม่มีอะไร แต่ทำไมจึงมีการปรับถมที่ดิน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากรอคอยอยู่เป็นเวลานาน แกนนำผู้ชุมนุมได้กล่าวยื่นคำขาดผ่านเครื่องเสียงว่า หากผู้ว่าฯ ไม่ลงมาพบ จะเดินทางเข้าไปชุมนุมที่กรุงเทพฯ พร้อมทั้งประกาศให้ผู้ชุมนุมเตรียมตัวกลับขึ้นรถเพื่อออกเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ในทันที
ทำให้ตัวแทนฝ่ายจังหวัดต้องเข้ามาเจรจาว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดกำลังจะเดินทางมาพบภายใน 15 นาที พร้อมทั้งได้ขอให้ผู้ชุมเข้าไปพักผ่อนดื่มน้ำและรับประทานอาหาร เพื่อรอเจรจาในหอประชุมของศาลากลางจังหวัด
หลังจากนั้น แกนนำได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมอดทนรอ แต่ปฏิเสธที่จะเข้าไปยังหอประชุม โดยเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดออกมารับหนังสือในบริเวณที่ชุมนุมริมถนนเท่านั้น
กระทั่งเมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. สุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี จึงได้เดินทางมารับหนังสือในที่ชุมนุม
“เดิมทีเห็นว่าชาวบ้านนิ่งไป คงไม่ได้คัดค้านเรื่องนี้แล้ว แต่ในวันนี้เห็นแล้วว่าชาวบ้านมาชุมนุมคัดค้านกันจำนวนมาก ผมได้รับทราบความต้องการของชาวบ้านมากขึ้น และจะรายงานเสนอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทราบว่า พื้นที่นี้มีปัญหากับโครงการนี้ ถ้าไม่ฟังเสียงชาวบ้าน ปัญหาก็จะไม่จบสิ้น” สุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีกล่าวชี้แจง
ทั้งนี้ ดร.สุนทรี รัตภาสกร หนึ่งในประชาชนผู้ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านอธิเชษฐธานี ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากที่ก่อสร้างโครงการเพียง 100 เมตร ได้เป็นผู้แทนชุมชนมอบหนังสือร้องเรียนแก่ผู้ว่าราชการจังหวัด โดยกล่าวว่า การยื่นหนังสือในวันนี้มีข้อเรียกร้อง 2 ข้อ คือ
1.ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีคนใหม่ ชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ของการปรับและถมดินของพื้นที่โครงการ ในเมื่อก่อนหน้านี้ทางจังหวัดเคยแจ้งกับประชาชนว่ายังไม่มีแผนการก่อสร้างโครงการแต่อย่างใด
2.ขอให้ทางจังหวัดแจ้งความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะแบบบูรณาการของ อบต.เชียงรากใหญ่ และเพื่อให้มีความกระจ่างในเรื่องนี้ ขอให้ทางจังหวัดแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงว่า โครงการนี้เกิดขึ้นใน ต.เชียงรากใหญ่ ได้อย่างไร และทำไมจึงมีโครงการนี้ไปปรากฏอยู่ในรายงานการจัดการขยะของรัฐบาล
ต่อมา ผศ.อภิรดี ศรีโอภาส นักวิชาการจากสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งเดินทางมาร่วมชุมนุมยื่นหนังสือด้วย ได้กล่าวต่อผู้ว่าราชการจังหวัดว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้าควรตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เหมาะสม ต้องคำนึงผลกระทบทางสุขภาพและวิถีชุมชนที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย สถานที่ตั้งจึงจะต้องอยู่ห่างจากชุมชน แต่โครงการนี้จะตั้งอยู่ติดชุมชนมาก ห่างกันเพียง 100 เมตรเท่านั้น แล้วพื้นที่นี้ก็เป็นที่ลุ่ม มีปัญหาน้ำท่วมทุกปีในรอบหลายปีที่ผ่านมา
การก่อสร้างโครงการจะมีผลกระทบและทำลายวิถีชีวิตของชุมชนเกษตรแน่นอน ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ พื้นที่เชียงรากใหญ่เป็นแหล่งน้ำดิบที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการผลิตน้ำประปาเพื่อคนกรุงเทพฯ และปทุมธานี โรงไฟฟ้าจากขยะจึงไม่สมควรสร้างที่นี่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนเดินทางออกจากที่ชุมนุม ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ได้กล่าวยืนยันกับผู้ชุมนุมว่า จะลงพื้นที่เยี่ยมเยียนประชาชนและรับฟังข้อมูลเพิ่มเติม ในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังวันหยุดปีใหม่
“รัฐบาลชุดนี้ ท่านนายกรัฐมนตรีมีนโยบายให้ผู้ว่าฯ ทุกคนสร้างความสงบร่มเย็นแก่ทุกพื้นที่ ดังนั้นท่านไม่ต้องไล่ผมหรอกครับ ท่านนายกรัฐมนตรีไม่ให้ผมอยู่ต่อไปหรอกครับ ถ้าผมไม่สามารถสร้างความสงบร่มเย็นแก่จังหวัดนี้ได้ วันนี้ก็ถือว่าผมรับทราบปัญหาแล้ว และจะหาโอกาสไปพบปะกับพวกเราทุกคนถึงพื้นที่” ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีกล่าว
ด้านทวีศักดิ์ อินกว่าง หนึ่งในแกนนำผู้คัดค้านโครงการฯ กล่าวตอบว่า ประชาชนใน ต.เชียงรากใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งโครงการฯ รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงซึ่งเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจะต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการนี้ และจะติดตามโครงการนี้ต่อไป
ทั้งนี้ แกนนำผู้ชุมนุม ได้กล่าวขอบคุณไปยังเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานความมั่นคงหลายหน่วย ที่ได้เข้ามาช่วยดูแลความปลอดภัยแก่การชุมนุมในวันนี้เป็นจำนวนมาก ก่อนประกาศให้ผู้ชุมนุมเดินทางกลับ