บทบาทชุมชนในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย ‘ปทุมธานีโมเดล’

บทบาทชุมชนในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย ‘ปทุมธานีโมเดล’

10

เรื่องเเละภาพ: รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน

การขุดคลองในรัชสมัย ร.4 เพื่อการขยายพื้นที่เพาะปลูก และสร้างเส้นทางคมนาคมทางน้ำ ได้มีส่วนสำคัญให้การพัฒนาเมืองเจริญเติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก ผู้คนจากทั่วประเทศหลั่งไหลเข้ามาทำมาหากินในเมืองกรุง มีคนจำนวนไม่น้อยปลูกสร้างที่อยู่อาศัยรุกล้ำลำคลอง ลงหลักปักฐานสร้างบ้านหาเลี้ยงครอบครัว อย่างที่คลองหนึ่ง ปทุมธานี ระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร จากตลาดไทถึงหลังฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต มีผู้อยู่อาศัยราว 1,060 หลังคาเรือน รัฐจะจัดระเบียบอย่างไร จะทำการพัฒนาแบบไหน ให้การรื้อย้ายชุมชนไม่ส่งผลกระทบและก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา

ปทุมธานีโมเดล เป็นความร่วมมือของหลายฝ่าย ทั้งรัฐบาล ท้องที่ ท้องถิ่น หน่วยงานภาคี กรมธนารักษ์ ชลประทาน สำนักงานเจ้าท่า ที่ดินจังหวัด สถาบันการศึกษา และองค์กรชุมชน ร่วมกันจัดทำโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้มีรายได้น้อย เพื่อรองรับนโยบายในการแก้ไขปัญหาการบุกรุกคลอง  ตามมาตรการจัดระเบียบชุมชนแออัดที่อยู่อาศัยลุกล้ำคลอง และรองรับการระบายน้ำ

จากข้อมูลเบื้องต้นมีชาวบ้านจะได้รับผลกระทบประมาณ 1,060 หลังคาเรือน แบ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบอยู่ในเขตเทศบาลเมืองท่าโขลง จำนวน 364 หลังคาเรือน และผู้ได้รับผลกระทบอยู่ในเขตเทศบาลเมืองคลองหลวงจำนวน 696 หลังคาเรือน ซึ่งมี่หน่วยงานภาครัฐได้จัดเตรียมพื้นที่ริมคลองเชียงรากใหญ่ ตำบลคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ประมาณ  42  ไร่ ไว้สำหรับรองรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการรื้อย้ายชุมชนจากพื้นที่เดิมไปอยู่ในที่ดินผืนใหม่ และให้ผู้อยู่อาศัยได้ซื้อที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์หรือได้เช่าในระยะยาว ปัจจุบันการดำเนินการอยู่ในช่วงทำความเข้าใจกับชุมชน และการออกแบบที่อยู่อาศัยอย่างมีส่วนร่วม

นายประพจน์ อริยะบัณฑิตกุล คณะทำงานสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) เล่าให้ฟังว่า ตนเองเป็นคณะทำงานของสหกรณ์เคหะสถานเมืองบางพูน จำกัด เทศบาลตำบลบางพูน อ.เมือง จ.ปทุมธานี ที่นั่นมีสมาชิก 137 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 500 คน ที่เคยเช่าที่อยู่อาศัยในที่ดินรถไฟ ที่กรมชลประทาน และที่ดินของเอกชน มีปัญหาถูกไล่รื้อมาตั้งแต่ปี 2549 หลังจากนั้นชาวบ้านเริ่มมีการรวมกลุ่มเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา ตั้งกลุ่มออมทรัพย์ ต่อมาขยับสถานะเป็นสหกรณ์ และขอสินเชื่อจัดซื้อที่ดิน สินเชื่อปลูกสร้างที่อยู่อาศัย ประมาณ 36 ล้านบาท จากโครงการบ้านมั่นคง พอช. สำหรับการก่อสร้างบ้านแถวสองชั้น ขนาด 4X7 เมตร บนเนื้อที่ 11 ตารางวา โดยสมาชิกจะผ่อนชำระ 15 ปี ตกราวๆ เดือนละ 2,500 บาท ซึ่งโครงการได้เริ่มก่อสร้างเมื่อ ปี 2557 ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงของการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2558

และเมื่อต่อสู้แก้ปัญหาชุมชนของตนเองได้แล้ว ก็ออกมาช่วยเหลือพี่น้องชุมชนแออัดริมคลองในจังหวัดปทุมธานีต่อ โดยช่วยในการสำรวจข้อมูลครัวเรือน จับพิกัดจีพีเอสชุมชนแออัดที่อยู่อาศัยริมคลองหนึ่ง จัดเวทีพูดคุยทำความเข้าใจกับชุมชน ซึ่งในช่วงต้นบางที่ไม่เปิดรับ บางชุมชนไล่ แต่เมื่อทำงานไปได้สักระยะ มีการเชื่อมโยงการทำงานกับทางเทศบาลเมืองคลองหลวง เทศบาลเมืองท่าโขลง และทางกรมชลประทาน มีการจัดเวทีรับฟัง และการที่รัฐมนตรีออกมาแถลงข่าวในการแก้ปัญหาชุมชนแออัดริมคลองหนึ่ง “ปทุมธานีโมเดล” ทำให้การลงชุมชนมีความง่ายขึ้น

ตั้งแต่เดือนเมษายน-ปัจจุบัน ตนเองและ สมาชิก สอช.ลงเก็บข้อมูลเกือบทุกวัน เพื่อให้เกิดความชัดเจน ในการพิสูจน์สิทธิ์ที่ชาวบ้านควรจะได้รับ เพราะข้อเท็จจริงคือพี่น้องที่อยู่ริมคลองไม่สามารถยื้ออยู่อาศัยริมคลองต่อไปได้ แต่ต้องให้ความร่วมมือ รวมกลุ่มในชุมชนอย่างสามัคคี และลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาด้วยตนเองให้มาก

นางปริญญา ไพรจันทร์ สมาชิกชุมชนวัดบางขัน หมู่ 8 เทศบาลเมืองท่าโขลง จังหวัดปทุมธานี หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบ เล่าให้ฟังว่า แรกๆ ที่รู้ข่าว ก็มีความวิตกกังวล ปุ๊บปั๊บมาไล่ แล้วเราจะไปอยู่ที่ไหน คนส่วนใหญ่ที่นี่ก็ประกอบอาชีพค้าขาย รับจ้าง ทำงานในโรงงาน หาเลี้ยงครอบครัว เรารู้ว่าเรามาบุกรุกอาศัยที่ริมคลองอยู่อาศัยนั้นไม่ใช่เรื่องถูก ล่าสุดวันที่ 22 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมาโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตเหนือมาปิดป้ายประกาศแจ้งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างภายใน 90 วัน เราพร้อมที่จะทำตาม และให้ความร่วมมือ เพราะเชื่อว่ารัฐได้เข้ามาดูแลให้ความเป็นธรรมกับพวกเรา

ได้ข่าวว่าต้องย้ายเมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมา ช่วงนั้นมีเจ้าหน้าที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และสมาชิก สอช. มาพูดคุยทำความเข้าใจ คนชุมชนวัดบางขันก็เริ่มมีการรวมตัว จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เริ่มมีการออมกัน 2 ครั้ง มีสมาชิก 71 คน เพื่อการออมซื้อที่ดินและซื้อบ้าน และพวกเรายินดีที่จะไปอยู่สถานที่แห่งใหม่ที่เชียงราก แต่ขณะนี้ยังไม่ชัดเรื่องการพิสูจน์สิทธิ์ เพราะชุมชนมีครอบครัวขยาย 107 ครัวเรือน แต่ที่มีสิทธิ์เพียงแค่ 48 ครัวเรือน

นายมุสตาฟา อาดำ สมาชิกสภาเทศบาลเมืองคลองหลวง เล่าให้ฟังว่า ชุมชนแก้วนิมิตร เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่จะต้องรื้อบ้านเรือนที่รุกล้ำคลองหนึ่ง ประชากรส่วนใหญ่เป็นชุมชนมุสลิมที่ใช้ภาษามาลายู อาศัยอยู่ที่แห่งนี้มาประมาณ 150 ปี จนเกิดครอบครัวขยาย บ้างซื้อที่ดินตั้งบ้านเรือนในบริเวณนี้ บ้างก็ลุกล้ำริมคลองอาศัยตั้งบ้านเรือน โดยชุมชนมุสลิมที่อยู่อาศัยบริเวณคลองหนึ่ง จะมีหมู่ 3 หมู่ 4 และหมู่ 5 ซึ่งใน 3 หมู่นี้ มีชาวบ้านได้รับผลกระทบประมาณ 100 ครัวเรือน ซึ่งเขามีความยินยอมที่จะรื้อย้ายตามนโยบายของรัฐ แต่สิ่งที่เขาต้องการมากที่สุดคือการจัดซื้อที่ดินในละแวกนี้ เพื่อรวมกลุ่มอยู่อาศัยไม่ไกลจากมัสยิด และพี่น้องมุสลิม หากถ้าต้องย้ายไปสถานที่แห่งใหม่ที่รัฐจัดเตรียมให้ สถานที่นั้นก็ควรจะให้เขาอยู่รวมกลุ่ม มีสถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนาอย่างเป็นส่วนสัด ที่ผ่านมาชาวบ้านยังไม่ทราบข้อมูลที่ชัดเจนว่ารัฐจะดำเนินการเมื่อไหร่อย่างไร แต่ก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุน

ผศ.ดร.ภูมิชาย พันธุ์ไพโรจน์ คณะสถาปัตยกรรมและผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ออกแบบที่อยู่อาศัยในที่แห่งใหม่ เล่าถึงแนวคิดและการทำงานในช่วงที่ผ่านมาให้ฟังว่า แนวทางการออกแบบที่อยู่อาศัย ริมคลองเชียงรากใหญ่ ตำบลคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เป็นการเสนอแนวทางสำหรับการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม โดยมีการประเมินรูปแบบจากทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชุมชน เพื่อสามารถนำไปพัฒนาเป็นแบบก่อสร้างและสร้างโครงการได้ในเวลาที่เหมาะสมกับชุมชนริมคลอง โดยยึดข้อมูล สภาพปัญหา ความคิด ความต้องการ ข้อจำกัด ทางเลือกต่างๆ จากชุมชน นำมาพัฒนาแบบที่อยู่อาศัย

การอยู่อาคารสูงชุมชนจะมีรายจ่ายน้อยกว่า ใช้ที่ดินได้คุ้มค่ากว่า และมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ซึ่งต่างจากอพาท์เม้นท์ คอนโด เพราะชุมชนมาช่วยกันคิดช่วยกันออกแบบ เปลี่ยนแนวความคิดที่เป็นห้องต่างคนต่างอยู่ เป็นชุมชนที่อยู่ร่วมกันได้ การอยู่อาคาร 5 ชั้น จะมีพื้นที่เปิดโล่งมากขึ้น มีพื้นที่เหลือพอสำหรับทำศูนย์ดูแลเด็ก ศูนย์พักคนชรา คนพิการ มีพื้นที่ร่วมกันบริหารจัดการ จะปลูกผัก ปลูกต้นไม้ ฯลฯ ซึ่งแบบของแต่ละตึกไม่เหมือนกัน การออกแบบเป็นไปตามสังคมที่เขาเคยอยู่ด้วยกันมา ชาวบ้านสามารถเสนอให้ทำอย่างสอดคล้องกับที่เขาเคยอยู่อาศัย สอดคล้องกับชีวิตที่ผ่านมา ซึ่งถ้าเป็นแบบบ้านเดียวจะไม่เหลือพื้นที่ส่วนกลางให้ทำอะไรเลย

ทั้งนี้ในการดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าว ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้อาศัยแนวคิดและประสบการณ์จากโครงการบ้านมั่นคง มาใช้ในการดำเนินงานโดยยึดหลัก 1) การสำรวจข้อมูลเมืองเป็นปัจจัยสำคัญที่ชุมชนจะต้องร่วมกันสำรวจทุกครอบครัวในชุมชนเพื่อเป็นข้อมูลไปสู่การวางแผนพัฒนาชุมชนในทุกๆ เรื่อง 2) การสร้างความเข้าใจ เพื่อสร้างความเป็นเจ้าของร่วมกัน 3) การตั้งกลุ่มออมทรัพย์ เพื่อเป็นฐานเงินของตัวเอง ได้เรียนรู้ระบบการจัดการร่วมกัน และทำให้เกิดความสัมพันธ์ของคนในชุมชน 4) การจัดสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย เป็นเรื่องที่สำคัญและต้องอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจ ความเอื้ออาทรซึ่งกันและกันโดยอาศัยข้อเท็จจริงจากข้อมูลที่สำรวจร่วมกันเป็นตัวตั้ง 5) ร่วมวางผัง ออกแบบบ้านตามใจผู้อยู่ ร่วมกันในการคิดที่จะสร้างชุมชนตามวิถีชีวิตและสังคม 6) ร่วมกันสร้างระบบสาธารณูปโภคและการสร้างบ้าน

โครงการนี้ มีข้อดีที่ทำให้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ไม่ต้องมีใครมาไล่ที่ อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี แม้จะไม่คุ้นชินกับอยู่บนอาคาร และมีทัศนะคติที่ไม่ชื่นชอบ อพาท์เม้นท์ คอนโด แฟลต แต่รูปแบบที่อยู่อาศัยที่นำเสนอมาจากฐานชีวิต จากรูปแบบชีวิตของเขา ชาวบ้านมองในเชิงบวกมากขึ้น มองว่าที่ผ่านมามีชุมชนพื้นถิ่นที่อยู่กันมาเป็นร้อยปีแต่ยังไม่ได้สิทธิในเรื่องที่ดิน และชุมชนที่มาอยู่ที่หลังก็ต้องการที่พักอาศัยที่ถาวรเช่นกัน โครงการนี้จะเป็นการช่วยชุมชนทั้งดั้งเดิม และชุมชนใหม่ จะทำให้ชุมชนมีศักดิ์ศรีมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย มีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น สามารถร่วมกันทำอะไรที่ดีๆ ให้กับสังคมได้ต่อไป

0103 05 06 07 08 09

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

Prev

May 2025

Next

Mon

Tue

Wed

Thu

Fri

Sat

Sun

28
29
30
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
1

23 May 2025

Nothing to show.

เข้าสู่ระบบ