ชุมชนท้องถิ่นตื่นรู้ สู่การแก้ไขปัญหาการดื่มสุรา บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า เพื่อลดเจ็บป่วยจากโรค NCD

ชุมชนท้องถิ่นตื่นรู้ สู่การแก้ไขปัญหาการดื่มสุรา บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า เพื่อลดเจ็บป่วยจากโรค NCD

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่น บริษัทสร้างสรรค์ปัญญา ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดเวทีอบรมเชิงปฏิบัติการทบทวนชุดความรู้และเทคนิคเครื่องมือการดำเนินโครงการ ภายใต้โครงการยกระดับและขยายผลชุมชนท้องถิ่นตื่นรู้ปรับวิถีสุขภาวะเพื่อลด ละ เลิก บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และสุรา ในพื้นที่ภาคเหนือ ณ โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว โดยมีชุมชนที่ร่วมดำเนินโครงการมาตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2565 จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำปาง 5 ตำบล

คุณชีวัน  ขันธรรม ที่ปรึกษาโครงการฯกล่าวสรุปถึงความสำคัญของงานปี ว่าด้วยเรื่องการสร้างกลไกปกป้องคุ้มครองทางสังคมปีนี้มีการทำงานที่ค่อนข้างละเอียดขึ้น ปีที่ผ่านมาหากทุกคนที่มีประสบการณ์ในการร่วมทำงานด้วยกันมาจะเห็นกระบวนการในการทำงานทำรวมกันทั้งหมดทั้งพื้นที่เก่าและพื้นที่ใหม่ เมื่อพูดถึงพื้นที่เดิมกับการทำงานที่จะทำต่อร่วมกันประมาณ 1 ปี มีคำสำคัญสำหรับพื้นที่เดิมอยู่ 3 คำ ดังนี้

  • สานต่อ เราเป็นพื้นที่เดิมมีประสบการณ์ในการทำงานมาแล้ว เช่น สบเปิงมีประสบการณ์ทำงานมาแล้ว 2 ปีตอนนี้เข้าสู่ปีที่ 3, ตลาดขวัญทำมาแล้ว 1 ปี ปีนี้เข้าสู่ปีที่ 2 แต่ละที่อาจไม่เท่ากันแต่ตนเองคิดว่าประเด็นสำคัญคำแรกคือเรื่องการสานต่อจากสิ่งที่มีอยู่เดิม อาจโยงไปถึงคำที่ประธานแสงดาวพูดถึงคือการกลับไปมองต้นทุนของแต่ละที่ แต่ละที่ต้นทุนไม่เท่ากันและต่างกันในเรื่องที่ทำด้วย บางพื้นที่ทำเรื่องเหล้า บางพื้นที่ทำเรื่องบุหรี่ บางพื้นที่ทำเรื่องเหล้าและบุหรี่ด้วยกัน บางพื้นที่พ่วงเรื่องของ NCDs เข้ามา การทำงานระยะเวลา 1 ปีการที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือสร้างระบบการจัดการสุขภาพของคนในชุมชนแบบพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินนั้นอาจจะยาก ดังนั้นจึงอยากชวนไปดูสิ่งที่เป็นต้นทุนและพยายามสานต่อจากต้นทุนที่มีในแต่ละพื้นที่

  • การยกระดับ อยากชวนมองการยกระดับอยู่ 3 เรื่อง  (1)ยกระดับคน คือทีมงานอาจมีการยกระดับพัฒนาศักยภาพคนทำงานเดิมและเติมคนใหม่เข้ามา หรือการยกระดับในส่วนของตัวกลุ่มเป้าหมาย จากเดิมนั้นเป็นกลุ่มเป้าหมายยกระดับมาเป็นแนวร่วมในการขับเคลื่อนร่วมกับเรา (2) ยกระดับงานในพื้นที่ที่เราสร้างไว้ (3)ยกระดับวิธีการจากวิธีการที่เราลองทำมา ปีนี้เราจะพัฒนาให้เป็นนวัตกรรมได้อย่างไร

  • เรื่องของการเชื่อมโยง อาจเป็น 1 ใน 3 เรื่องที่สำคัญมากสำหรับงานปีนี้ เมื่องานปีนี้แยกเป็นพื้นที่เดิม -พื้นที่ใหม่ ไม่ได้แยกเฉพาะเรื่องวิธีการทำงาน เรื่องของการสนับสนุนก็ไม่เหมือนกัน พื้นที่เดิมแบบเราเขานั้นถือว่ามีต้นทุน มีฐานเดิม มีความรู้ประสบการณ์ ส่วนหนึ่งเพราะเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่มีต้นทุนมาแล้ว ดังนั้นหากจะขับเคลื่อนแบบที่จะยกระดับแบบที่เราคาดหวังได้จำเป็นที่จะต้องไปเชื่อมโยง หาเพื่อน  หาแนวร่วม ไม่ว่าจะเป็นกองทุนตำบล โครงการพระราชดำริ หรือมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ที่สนับสนุนเรื่องนี้อยู่จำเป็นที่จะต้องไปเชื่อมโยงหาเพื่อนที่จะมาร่วมขับเคลื่อน

การจัดเวทีในครั้งนี้ไม่เพียงแต่ เป็นการทบทวนความรู้ประสบการณ์ในการดำเนินงาน แต่ยังสร้างพลังจากชุมชนท้องถิ่นในการทำงานเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ ที่คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เป็นประธานระบุว่าจังหวัดเชียงใหม่อยู่ในลำดับที่ 54 ของประเทศด้านการดื่มสุรา ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่มีเป้าหมายการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ให้น้อยกว่าร้อยละ 17 ตามเป้าหมายของประเทศ

จากการสำรวจพบว่ารูปแบบการสูบบุหรี่ ส่วนใหญ่ยังคงเป็นการสูบบุหรี่ที่ผลิตโดยเครื่องจักร ซึ่งสามารถหาซื้อได้จากร้านสะดวกซื้อและร้านค้าทั่วไปเป็นหลัก รองลงมาคือ บุหรี่ไฟฟ้า บุหรี่แบบมวนเอง ตามลำดับ โดยมีข้อสังเกตที่สำคัญจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในปี 2564 มีจำนวนผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้ามากกว่า 78,000 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ประมาณ 7 เท่า และส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชน ทั้งนี้จังหวัดเชียงใหม่ ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนมาตรการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบและเครื่องดื่มพร้อมทั้งรณรงค์ เชิญ ชวน เชียร์ ประชาชนชาวเชียงใหม่ และหน่วยงานทุกภาคส่วนลงนาม ลด ละ เลิกเหล้าตลอดชีวิต นอกจากนี้ยังขอความร่วมมือให้ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ได้ร่วมกันประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ให้กับนักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป ให้ได้รับรู้รับทราบถึงโทษพิษภัยอันตรายที่เกิดจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงเข้มงวดมาตรการการบังคับใช้กฏหมายตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 อย่างเคร่งครัด เพื่อลดจำนวนของผู้สูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้เป็นไปตามเป้าหมายของประเทศต่อไป

ขอบคุณ ข้อมูลสรุปการประชุม

ภาพ ธวัชชัย จันจุฬา

author

เรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง related posts

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ