Transbordernews : หลายฝ่ายร่วมหาทางออกให้คนเฒ่าไร้สัญชาติ แก้ปัญหาสถานะบุคคล

Transbordernews : หลายฝ่ายร่วมหาทางออกให้คนเฒ่าไร้สัญชาติ แก้ปัญหาสถานะบุคคล

หลายฝ่ายร่วมหาทางออกให้คนเฒ่าไร้สัญชาติ หมอสมศักดิ์แก้ต้นทาง-จี้จดทะเบียนเกิดให้ทุกคน ชาวบ้านโอดอยู่มานานแต่ไร้เบี้ยผู้สูงอายุ

20152805183417.jpeg

ที่มา: คนชายข่าว คนชายขอบ
Transbordernews.in.th

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ที่บ้านใกล้ฟ้า ดอยแม่สลอง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย มูลนิธิพัฒนาชุมชนเมืองและเขตภูเขา(พชภ.) ได้จัดงานวันคนเฒ่าไร้สัญชาติครั้งที่ 4 ขึ้นโดยมีชาวบ้านจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ประสบปัญหาด้านสถานะบุคคลและลูกหลานกว่า 150 คนเข้าร่วม ทั้งนี้ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณะสุข นางพันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร และทีมนักกฎหมาย รวมถึงผู้แทนส่วนราชการต่างๆ ได้ร่วมงานด้วยเช่นกัน

เวลา 10.40 น.นพ.สมศักดิ์เดินทางมาถึงและได้ร่วมพูดคุยกับชาวบ้าน โดย ชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์อาข่าจากบ้านป่าคาสุขใจ ได้ถามว่าถือบัตรประจำตัวคนต่างด้าวมา 12 ปีและเข้าใจว่าถือบัตรดังกล่าว 5 ปีก็น่าจะได้แปลงสัญชาติ แต่ก็ไม่ได้ ทำให้ขาดสิทธิต่างๆ เช่น สิทธิทางการเมือง สิทธิในการรักษาพยาบาล แต่ที่เป็นกังวลใจมากคือกลัวว่าลูกหลานจะมีปัญหาตามมาด้วย อย่างไรก็ตามลูกๆ หลานๆ หลายคนได้สัญชาติแล้ว แต่บางคนก็ยังไม่ได้

“เราถือบัตรสำคัญคนต่างด้าวมานานแล้ว ไม่ได้สิทธิใดๆ รัฐบอกว่าจะแปลงให้ตอน 5 ปี แต่ไม่แปลงสักที ผมอายุ 67 แล้ว เบี้ยผู้สูงอายุก็ไม่ได้ เห็นคนอื่นเขาได้แล้ว เราก็อยากได้บ้าง เจ้าหน้าที่บอกว่าได้บัตรต่างด้าวแล้วจะมาเอาอะไรอีก แต่เราคิดว่าควรได้บัตรประชาชนเพราะอยู่มานาน” ผู้เฒ่าไร้สัญชาติรายหนึ่งกล่าวกับ นพ.สมศักดิ์

นายอาเหล งัวผา ผู้เฒ่าบ้านเฮโก อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ชาวบ้านจากกลุ่มชาติพันธุ์ลีซู อายุ 77 ปี กล่าวว่าทุกวันนี้ยังมีเพียงใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ทั้งๆที่ลูกทั้ง 11 คนได้บัตรประชาชนหมดแล้ว ตนเองอยู่ในประเทศไทยมา 51 ปี และเคยยื่นเรื่องขอแปลงสัญชาติไปแล้วหลายครั้ง แต่ยังไม่มีความคืบหน้า ทำให้ทุกวันนี้ต้องอยู่อย่างลำบาก เพราะจะเดินทางไปหาลูกๆที่ไปอาศัยอยู่นอกพื้นที่ก็ไม่ได้ แม้แต่เบี้ยผู้สูงอายุซี่งเพื่อนๆรุ่นราวคราวเดียวกันได้หมดแล้ว แต่ตนเองกลับไม่ได้เลย

“ตอนไปยื่นเรื่อง เขาถามมีบัตรต่างด้าวแล้วจะเอาอะไรอีกหล่ะ เมื่อก่อนเราก็ไม่ได้คิดอะไรมาก แต่เดี๋ยวนี้เราแทบไม่มีสิทธิอะไรเลย ผมทำหน้าที่หมอผีประจำหมู่บ้านด้วย พอมีกิจกรรมรดน้ำดำหัว หรือมีงานของหมู่บ้าน เราก็อยากให้มีงบประมาณของอบต.มาสนับสนุน ซึ่งอบต.ก็เต็มใจ แต่ทำไม่ได้เพราะเราไม่มีบัตรประชาชน” นายอาเหล กล่าว

20152805183446.jpeg

 นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ให้สัมภาษณ์ว่า โครงการแก้ปัญหาเรื่องผู้เฒ่าไร้สัญชาตินั้น ทางกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้นำร่องเรื่องการแก้ไขปัญหาสิทธิในด้านสวัสดิการการรักษาสุขภาพ แก่คนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยแบ่งแยกจากกลุ่มคนมีสัญชาติชัดเจนและแยกออกจากกลุ่มที่เป็นแรงงานข้ามชาติ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้หน่วยงานบริการสาธารณสุขให้สิทธิประกันสุขภาพแก่กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลานาน และทำประโชน์แก่เมืองไทย ซึ่งมีอยู่ประมาณ 2 แสนรายใช้สิทธิรักษาในสิทธิ์ ท.99 (สิทธิรักษาประกันสุขภาพสำหรับคนมีปัญหาทางสถานะและสิทธิ์) โดยมีงบประมาณสำรองเบื้องต้นประมาณ ปี ละ 600 ล้าน บาทต่อปี เฉลี่ยคนละ 3,000 บาท

“ตอนนี้เรายังไม่ทราบจำนวน ที่แน่นอน โดยคาดว่าหากสำรวจเสร็จสิ้นจะได้เคาะตัวเลขในการบริการได้ง่ายขึ้น ซึ่งสิทธิดังกล่าวไม่เบียดเบียนคนไทยที่ใช้สิทธิอื่นๆ สำหรับแผนผลักดันต่อไปที่กระทรวงจะทำหลังการเร่งรัดพิสูจน์ช่วยเหลือผู้สูงอายุและบุคคลที่มีปัญหาสถานะ คือ การผลักดันให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขรับรองการเกิดให้เด็กทุกคนที่เกิดในประไทย รวมทั้งที่เป็นคนต่างชาติ เพื่อให้มีหลักฐานการเกิดที่แน่ชัดและพิสูจน์สัญชาติได้ง่ายในอนาคต และจัดระเบียบสิทธิ์ง่ายขึ้น” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ด้าน รศ.พันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจในสังคมไทยมากที่สุด คือ การเข้าใจกฎหมายสัญชาติ ซึ่งในส่วนของคนเฒ่านั้นการพิสูจน์สัญชาติทำได้ยาก เพราะพยานบุคคลอาจล้มหายตายจากและติดข้อจำกัดเรื่องภาษาในการสื่อสาร แต่สามารถใช้สิทธิ์แปลงสัญชาติได้ โดยพิจารณาการประกอบอาชีพ การตั้งถิ่นที่อยู่อาศัย และการมีรายได้ที่พอเลี้ยงชีพได้ ไม่ต้องกำหนดกฎเกณฑ์ว่าต้องกี่บาท เหมือนนักลงทุนต่างชาติสมัยใหม่ เพราะผู้เฒ่าบางคนนั้นมีการทำประโยชน์แก่ประเทศไทยมานาน

ยกตัวอย่างเช่น กรณีอาหมี่ผี่หน่อ ผู้เฒ่าอายุ 95 ปี กระบวนการขอแปลงสัญชาติน่าจะเร่งรัดให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน เพราะขอดำเนินการมานานแล้ว แต่อย่างไรก็ตามระหว่างกระบวนการพิสูจน์หลักฐานเพื่อแปลงสัญชาติ ประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุขสามารถใช้กฎหมายระหว่างประเทศเพื่อการบริการสุขภาพที่เรียกว่า health for all ได้ และกฎกระทรวงปี 2545 นั้นมีการให้สิทธินี้แก่ชาวเขายากจนแล้ว

“สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาคนเฒ่าที่มีสถานะทางกฎหมาย ในส่วนของ สปช.นอกจากเสนอให้รัฐธรรมนูญไทยยอมรับชาวเขาทั้ง 9 ชนเผ่าที่ไม่ปนกับแรงงานข้ามชาติแล้ว เราจะผลักดันให้มีการแก้กฎหมายที่ขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ และปรับกฎหมายที่เคารพสิทธิมนุษยชนมากขึ้น เพราะคนชาติพันธุ์ต่างๆในประเทศไทย ล้วนมีชีวิตที่ผูกพันกับแผ่นดินไทย ไม่ได้เข้ามาอยู่ชั่วคราวเพื่อลงทุนอย่างเดียว โดยนโยบายสุขภาพนั้นหากทำได้เต็มที่ตั้งใจจะผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.ประกันสุขภาพแก่กลุ่มคนที่เรียกว่า Non-Thai เพื่อให้ทันกับสังคมอาเซียน ที่ไม่มองข้ามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ศ.พันธุ์ทิพย์ กล่าว

นายวีนัส ศรีสุข ผู้อำนวยการส่วนการทะเบียนราษฎรและสัญชาติ กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ประมาณเดือนมิถุนายน ทางกระทรวงจะมีการกระจายอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีส่วนในการพิจารณาให้สัญชาติและขึ้นทะเบียนคนที่มีปัญหาสถานะ ซึ่งช่วยลดความซับซ้อนในการขอพิสูจน์สัญชาติมากขึ้น ซึ่งหากผู้เฒ่าที่ต้องการขอสัญชาติสามารถขอได้จากทางจังหวัดได้เลย

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ