เปิดผลวิจัยเครือข่ายสื่อชายขอบฯ ชี้ภูมิทัศน์สื่อไทยมีผู้เล่น-ผู้แสดงมากขึ้น

เปิดผลวิจัยเครือข่ายสื่อชายขอบฯ ชี้ภูมิทัศน์สื่อไทยมีผู้เล่น-ผู้แสดงมากขึ้น

จากความนิยมและเข้าถึงสื่อดิจิทัล ทำหน้าที่ในช่วงการเมืองเดือดเพิ่มโอกาส-กระจายอำนาจให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่สื่อหลักละเลย  ฉีกกฎเกณฑ์ขนบสื่อเดิมเล่าเรื่องโดนใจ ยก“สื่อภาคประชาชน”เป็นกลไกหนึ่งในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ แนะทำให้ปชช.เห็นความเป็น “มืออาชีพ” พร้อมสร้างเครือข่ายปกป้องประโยชน์สาธารณะ-สังคมประชาธิปไตยได้

ขณะที่วงเสวนา “บก.หญิง” หวังมีการเพิ่มสัดส่วนผู้บริหารหญิง-LGBT+ในองค์กรสื่อ สร้างความเท่าเทียมเพิ่มมิติหลากหลายในประเด็นข่าว ‘กุลธิดา’อดีต บก.บีบีซีไทย ระบุช่องว่างระหว่างวัย ความท้าทายใหม่คนทำสื่อ ส่วน“หทัยรัตน์”บก.เดอะอีสานเรคคอร์ดเผยเคยถูกคุกคามหนัก ตั้งคำถามเพราะเป็นเพศหญิงหรือไม่ ด้านตัวแทนสื่อ 3 จ.ใต้ ชี้มีการเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงมากขึ้น แต่ยังเจอรัฐคุกคาม โอดทำงานข่าวภายใต้ข้อจำกัดที่กม.พิเศษ 3 ฉบับยังไม่ถูกยกเลิก

เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร องค์กร Citizen+ มูลนิธิเพื่อการศึกษาและสื่อภาคประชาชน ร่วมกันจัดประชุมสรุปโครงการ Journalism that Builds Bridges (JBB) :วารสารศาสตร์ที่สร้างสะพาน  เสียงของคนชายขอบเพื่อเชื่อมสัมพันธ์สื่อนอกกระแส

โดย ผศ.ดร.พรรษาสิริ กุหลาบ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย นำเสนอผลงานวิจัยหัวข้อ “เครือข่ายองค์กรสื่อชายขอบ จะเปลี่ยนภูมิทัศน์สื่อไทยได้อย่างไร” ว่า จากงานวิจัยในหัวข้อเครือข่ายองค์กรสื่อภาคประชาชนจะเปลี่ยนภูมิทัศน์สื่อไทยได้อย่างไรพบว่า ภูมิทัศน์สื่อมีผู้เล่น ผู้แสดงเพิ่มมากขึ้น เป็นผลมาจากการเข้าถึงและความนิยมในการใช้สื่อดิจิทัล องค์กรสื่อระดับประเทศที่มักจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดกลาง รวมถึงองค์กรสื่อระดับท้องถิ่นที่เป็นเชิงพาณิชย์ หันมาใช้ช่องทางสื่อออนไลน์ในการนำเสนอเนื้อหามากขึ้น

นักวิชาการคนนี้ยังกล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันสถาบันทางสังคม การเมือง ภาคเอกชน ภาคเอกชน กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ที่ปกติจะใช้งบในการซื้อพื้นที่สื่อเพื่อการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ก็มีช่องทางออนไลน์ของตัวเองเพื่อผลิตเนื้อหาและสื่อสารไปยังสาธารณะเพิ่มขึ้นมาด้วย นอกจากนี้ก็มีองค์กรภาคประชาสังคม มีผู้ผลิตอิสระ ทั้งอินฟลูเอ็นเซอร์ ผู้นำทางความคิดอีกมากมายและมีเครือข่ายหรือกลุ่มประชาชนที่ผลิตเนื้อหาในเชิงเฉพาะทางด้วย

ผศ.ดร.พรรษาสิริ  กล่าวต่อว่า ในภูมิทัศน์สื่อแบบนี้จะเห็นปฏิสัมพันธ์กันระหว่างข้อมูลต่างๆ แม้ว่าผู้ผลิตรายใหญ่และคนที่มีทรัพยากรมากยังสามารถกำหนดวาระข่าวสารในสังคมได้อยู่เป็นหลัก เพราะสามารถเข้าถึงพื้นที่สื่อไม่ว่าจะเป็นของตัวเองและประชาชนในวงกว้างได้ง่าย แต่ก็มีบางโอกาสที่เราจะเห็นว่าสื่อเล็กๆ จากภาคประชาชน และภาคประชาสังคมทั่วไปสามารถที่จะโต้ตอบหรือผลักดันเรื่องราวที่ต้องการจะสื่อสารได้บ้าง แม้ว่าการเกิดขึ้นของผู้ผลิตสื่อทางพื้นที่ออนไลน์ที่มีมากขึ้น อาจทำให้นิเวศน์สื่อและข่าวสารอาจจะดูโกลาหลสับสนวุ่นวาย เพราะว่าบางทีก็ทำให้เกิดภาวะที่ข่าวสารท่วมท้นล้นเกินด้วย

“ในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองที่สื่อมวลชนกระแสหลักมักจะถูกปิดกั้นหรือปิดกั้นตัวเอง การเพิ่มขึ้นของผู้ผลิตรายย่อยก็ถือว่าเป็นการเพิ่มโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารและสื่อสารเรื่องราวที่เคยถูกละเลยจากสื่อกระแสหลักและองค์การสื่อพาณิชย์ในท้องถิ่นที่ครอบครองภูมิทัศน์สื่ออยู่เดิมมากขึ้น ขณะเดียวกันยังเป็นการกระจายอำนาจการเข้าถึงการเข้าถึงสื่อมายังภาคเอกชนที่ไม่ใช่กลุ่มทุนใหญ่และประชาชนมากขึ้น”นักวิชาการผู้นี้ กล่าว

ผศ.ดร.พรรษาสิริ กล่าวต่อว่า นิยามของสื่อภาคประชาชน คือ การดำเนินงานสื่อโดยกลุ่มคนหรือปัจเจกที่ไม่ได้มุ่งเป้าแสวงกำไร แต่ว่าให้ความสำคัญกับความเป็นอิสระของผู้ผลิตหรือกองบรรณาธิการ จากอิทธิพลของรัฐหรือกลุ่มทุนในการนำเสนอเรื่องราวหรือแง่มุมที่มักจะถูกละเลยจากสื่อกระแสหลัก อย่างไรก็ตามการไม่แสวงกำไรไม่ใช่ไม่ต้องการเงิน แต่ไม่หมายถึงไม่ได้มุ่งหารายได้เป็นหลักเป็นกอบเป็นกำเหมือนองค์กรสื่อเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้การกำหนดนิยามคำว่าสื่อภาคประชาชนไม่ได้หมายถึงการผลิตสื่อหรือการสื่อสารเรื่องใดๆ สู่สาธารณะโดยประชาชนทั่วไปเท่านั้น แต่พิจารณาถึงสาระและแนวทางของการสื่อสารที่วิพากษ์หรือท้าทายสถาบันและค่านิยมหลักในสังคม รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพลเมืองเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เป็นธรรมด้วย ทั้งนี้งานวิจัยจำแนกสื่อภาคประชาชนออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ สื่อทางเลือก สื่อภาคประชาสังคม สื่อชุมชน และสื่อพลเมือง

ผศ.ดร.พรรษาสิริ  ยังกล่าวถึงบทบาทของสื่อภาคประชาชนในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาว่า สื่อภาคประชาชนมีบทบาทประการแรก คือ การเติมเต็มข้อมูลข่าวสารที่ถูกละเลยโดยสื่อกระแสหลักและสื่อท้องถิ่นที่ทำงานในเชิงพาณิชย์ รวมถึงต่อรองหรือโต้แย้งการกำหนดวาระโดยรัฐหรือกลุ่มทุนที่นำเสนอผ่านการสื่อสารในแนวดิ่งจากองค์กรที่มีขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการเกาะติดสถานการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ของผู้ชุมนุมที่สื่อกระแสหลักส่วนใหญ่ไม่ได้ลงในรายละเอียดมากนักหรือบางทีมีการให้ความหมายในเชิงลบต่อการเคลื่อนไหวด้วยซ้ำ รวมไปถึงการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงและการปฏิบัติต่อประชาชนในพื้นที่ความขัดแย้งที่ไม่เป็นธรรม ยกตัวอย่าง สิ่งที่วาร์ตานี หรือเดอะอีสานเรคคอร์ดทำ ตลอดจนประเด็นผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชนที่เกิดจากโครงการของรัฐและกลุ่มทุน รวมถึงการอธิบายประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ที่มักจะถูกกีดกันให้เป็นชายขอบ เป็นต้น

เธอกล่าวต่อไปว่า สื่อภาคประชาชนยังพยายามสร้างพื้นที่ให้เกิดการอภิปรายถกเถียงในเรื่องที่สังคมถกเถียงกันอยู่ เช่น เรื่องของสังคมนิยมประชาธิปไตย กระบวนการสันติภาพ มายาคติต่อวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ท้องถิ่น บางคนก็มีวิธีการเล่าเรื่องที่สร้างสรรค์ สนุกสนาน ไม่ได้ยึดติดกับขนบการเล่าเรื่องแบบสื่อกระแสหลักแบบเดิมๆ ด้วย ทั้งนี้สื่อภาคประชาชนมักจะให้ความสำคัญกับการประสานเครือข่าย ประสานงานกับองค์กรภาคประชาสังคม และนักวิชาการที่ขับเคลื่อนเรื่องของกระบวนการประชาธิปไตย เรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน เนื่องจากมีจุดร่วมกันในการสื่อสารประเด็นเหล่านี้สู่สาธารณะอยู่แล้ว อีกนัยหนึ่ง คือสื่อภาคประชาชนถือเป็นกลไกหนึ่งในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ร่วมกับภาคประชาสังคมด้วย

“ข้อวิพากษ์ในเรื่องความไม่เป็นกลาง ไม่ได้ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของสื่อภาคประชาชน โดยเฉพาะในกรณีสื่อทางเลือกและสื่อพลเมือง เพราะผู้ผลิตเหล่านี้จะมีแนวปฏิบัติที่รับประกันว่า ได้สื่อสารเรื่องความขัดแย้งต่อสาธารณะด้วยข้อเท็จจริงที่ไม่บิดเบือนคลาดเคลื่อน และมาจากหลายแหล่งเท่าที่เขาจะเข้าถึงได้ ขณะเดียวกันก็ให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่ถูกกล่าวหาถึงแม้ว่าจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างจากงานที่ตัวเองทำ ซึ่งจุดยืนและแนวปฏิบัติเช่นนี้ก็จะทำให้สังคมไว้วางใจและให้ความชอบธรรมต่อสื่อภาคประชาชน”ผศ.ดร.พรรษาสิริกล่าว

ผศ.ดร.พรรษาสิริ กล่าวต่อว่า ที่น่าสนใจคือการได้ทดลองพัฒนาโมเดลการดำเนินการงานในการหารายได้ที่ไม่แสวงหากำไรรูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้คงความเป็นอิสระอยู่และลดการแทรกแซงจากหน่วยงานราชการและกลุ่มทุนใหญ่ ซึ่งถือเป็นรายได้สำคัญของสื่อเชิงพาณิชย์ ซึ่งประเด็นนี้ถือว่าเป็นทั้งโอกาสและความท้าท้าย ยกตัวอย่าง สำนักข่าววาร์ตานีโมเดล ที่มีความแหวกแนวและเข้าถึงชุมชนมาก มีการจับมือกับเกษตรกรในพื้นที่เพื่อหารายได้และการรับผลิตสื่อ เป็นต้น ซึ่งเป็นการสร้างความเป็นเจ้าของสื่อร่วมกับชุมชน

ส่วนปัญหาและอุปสรรคของสื่อภาคประชาชน คือ การทำงานไม่ค่อยสอดคล้องกับวิถีคิดและขนบเดิมของสื่อมวลชนไทยและสื่อเชิงพาณิชย์เท่าไร จึงมักถูกมองจากสื่อกระแสหลักว่า “ไม่เป็นมืออาชีพ”  โดยเฉพาะในกรณีของสื่อชุมชนและสื่อพลเมืองที่เป็นชาวบ้านเป็นคนธรรมดา ทำให้ไม่ได้รับการรับรองสิทธิและเสรีภาพทั้งในฐานะประชาชนและในฐานะสื่อมวลชนด้วย ในทางกลับกันประชาชนผู้รับสารอาจไม่ได้ใส่ใจกับความเป็นมืออาชีพตามความหมายของสื่อกระแสหลักมากเท่ากับการเป็นสื่อที่อยู่เคียงข้างและตอบสนองความต้องการของประชาชน ซึ่งสื่อประชาชนจะได้รับความชอบธรรมจากประชาชนมากกว่าสื่อกระแสหลักที่อ้างความเป็นมืออาชีพ ความเป็นกลาง จริยธรรมวิชาชีพ แต่ไม่ได้แสดงบทบาทในการต่อรองกับอำนาจรัฐร่วมกับประชาชนเท่าไรโดยเฉพาะในช่วงหลังรัฐประหาร 2557

ผศ.ดร.พรรษาสิริ กล่าวต่อไปว่า เมื่อไม่ได้รับการรับรองจากสมาคมวิชาชีพและสถาบันหลักทางสังคม จึงเพิ่มความเสี่ยงที่จะถูกคุกคามทั้งจากภาครัฐและกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ โดยเฉพาะในกรณีของสื่อพลเมืองที่ไม่มีสังกัด เช่น ในกรณีการรายงานข่าวการชุมชุมนุม เป็นต้น  อีกประเด็นที่เป็นเรื่องความท้าทาย คือ การขาดแหล่งทุนสนับสนุนการดำเนินงานและยังไม่มีโมเดลการหารายได้ที่หลากหลายมากนัก จึงเป็นประเด็นที่ต้องศึกษาต่อว่าจะพัฒนาแนวทางการหารายได้เพื่อให้ทำงานได้อย่างอิสระต่อไปอย่างไร อีกทั้งยังจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการด้านบุคลากรที่มีอยู่จำกัด เนื่องจากขาดงบประมาณ จึงเป็นเรื่องยากที่จะพัฒนาวงการของสื่อภาคประชาชนต่อไปได้อย่างยั่งยืน และอาจไม่ค่อยเป็นธรรมกับคนทำงานนัก จึงต้องมองหาแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อรักษาสิทธิแรงงานของคนทำงานด้วย

ผศ.ดร.พรรษาสิริ กล่าวต่อไปว่า ข้อเสนอแนะสำหรับการดำเนินงานสื่อภาคประชาชนในไทย มี 2 ประเด็นหลัก คือ 1.การพัฒนาการดำเนินงานและบริหารจัดการที่เป็นระบบมีโครงสร้างที่โปร่งใส เป็นแนวระนาบ เพื่อสร้างวัฒนธรรมการทำงานแบบมีส่วนร่วมและเป็นประชาธิปไตย สร้างความยั่งยืนและเป็นแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือได้ และทำให้ประชาชนเห็นว่าความเป็นมืออาชีพของสื่อภาคประชาชนกับสื่อกระแสหลักแตกต่างและสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยอย่างไร  และ 2.ต้องมีการสร้างภาคีเครือข่ายกับสื่อภาคประชาชนอื่นๆ ภาคประชาสังคม ชุมชนและผู้รับสาร เพื่อผนึกกำลังในการต่อรองอำนาจกับภาครัฐและกลุ่มผลประโยชน์เพื่อป้องกันการข่มขู่คุกคามและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้ว่าการดำเนินงานเป็นไปเพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะและสังคมประชาธิปไตยได้

จากนั้นมีการเสวนาในหัวข้อ “ความท้าทายของบรรณาธิการหญิงในกระแสธารสื่อไทย” 

กุลธิดา สามะพุทธิ อดีตบรรณาธิการกรุงเทพ เว็บไซต์บีบีซี ไทย กล่าวว่า หากเริ่มจากการทำงานในฐานะนักเขียนประจำกองบรรณาธิการนิตยสารสารคดีมาจนถึงตำแหน่งสุดท้ายที่บีบีซีไทย เป็นนักข่าวมาทั้งหมด 25 ปี ถ้านับช่วงที่มีคำว่าบรรณาธิการอยู่ในตำแหน่งด้วยทั้งหมดประมาณ 14 ปี คิดว่าความท้าทายที่เจอมันไม่ใช่เป็นความท้าทายของผู้หญิงหรือผู้ชายแต่เป็นความท้าท้ายสำหรับคนที่ทำงานในกองบรรณาธิการข่าวจะได้เจอทุกคน

เธอกล่าวอีกว่า ส่วนตัวมีความท้าทาย 4 เรื่อง คือ 1.การทำหน้าที่สื่อมวลชนในช่วงที่มีสถานการณ์พิเศษ หรือในช่วงที่มีประเด็นอ่อนไหวมากๆ เช่น ช่วงรัฐประหาร ซึ่งเจอ 2 ครั้ง คือ ปี 2549 และ 2557 การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย การเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในปี 2563  และช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้เป็นความท้าทายที่ไม่ได้เกิดขึ้นมาตลอด แต่ความยากลำบากก็คือสิ่งที่เพื่อนๆ บรรณาธิการหรือนักข่าวคนอื่นๆ ต้องเจอ ไม่ว่าจะเป็นความเร่งรีบ ความละเอียดอ่อน ความสุ่มเสี่ยงในการนำเสนอ การต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงในเวลาอันรวดเร็ว รวมถึงการแข่งขันกับสื่ออื่นๆ ด้วยในเรื่องการช่วงชิงความเร็ว และยอดการเข้าถึงต่างๆ

เธอกล่าวอีกว่า สำหรับข้อ 2.เรื่องเกี่ยวกับคดีความ แม้ว่าที่ผ่านมายังไม่เคยถูกฟ้องโดยตรงแต่ว่าการอยู่ในสังคมที่นิยมการทำนิติสงคราม นิยมการฟ้องปิดปาก ทำให้ความกังวลความกลัวต่อการเกิดคดีความเป็นความท้าทายในการทำงานของเรา ซึ่งสิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นเลย คือ การเซ็นเซอร์ตัวเอง อย่างไรก็ตามเรื่องคดีความสื่อก็ยังปลอดภัยกว่าคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนหรือประชาชนจำนวนมากที่มีความลำบากและเสี่ยงกว่าเรา 3.การผลิตคอนเทนต์ที่ดีและน่าสนใจ โดยเฉพาะประเด็นที่คนไม่ค่อยสนใจ เช่น ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือสิทธิมนุษยชน และ 4.การบริหารจัดการความเครียดของตัวเอง รวมถึงการรักษาความมั่นคงทางจิตใจ อารมณ์ที่ดีเพื่อสร้างสันติสุขในห้องข่าว ในเมื่อเราเป็นบรรณาธิการหรือหัวหน้าทีมจึงมีบทบาทอย่างมากในการสร้างบรรยากาศในการทำงานให้เกิดความสุขกับทุกคนในทีม เพื่อให้ทุกคนสามารถทำงานได้อย่างมีความสุขและสร้างสรรค์

“การเป็นบรรณาธิการมันยากและหนัก เต็มไปด้วยความท้าทาย แต่ว่าย้ำอีกว่าไม่ใช่สำหรับบก.หญิงเท่านั้น แต่บก.ชาย น้องๆ ที่กำลังจะก้าวขึ้นมาสู่อาชีพก็อาจจะเจอด้วยเหมือนกัน แต่ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่า สังคมไทยไม่ได้มีปัญหาเรื่องความเท่าเทียมและอคติทางเพศ แม้แต่ในสื่อเองก็ไม่ได้ปราศจากความคิดเรื่องชายเป็นใหญ่ พูดได้ว่ามันยังมีอยู่ แต่ว่าการที่เราสามารถหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดคุยก็เชื่อว่าจะสามารถทำให้เราก้าวข้ามหรือลดอคติและวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ไปได้” กุลธิดา กล่าว

กุลธิดา กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าความเป็นชายหญิงอาจไม่ได้มีความสำคัญเท่ากับช่องว่างระหว่างวัยที่อาจจะเป็นเรื่องท้าทายกว่า เพราะในระยะหลังได้เจอรุ่นน้องๆ ที่อายุน้อยกว่าเรา 20 ปีมาทำงาน ทำให้รู้สึกว่าต้องใช้พลังงานในการทำความเข้าใจเพื่อให้ทำงานร่วมกัน ทั้งนี้ก็สนับสนุนให้มีการพัฒนาศักยภาพและสนับสนุนให้น้องๆ ที่เป็นผู้หญิงขึ้นมาเป็นบรรณาธิการและเพิ่มสัดส่วนบรรณาธิการหญิงในสื่อไทยเพิ่มขึ้นในอนาคต

กุลธิดา ยังกล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องการถูกคุกคามนั้นไม่เคยถูกคุกคามจากรัฐโดยตรง แต่ในเรื่องคดีมีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ตอนเป็นนักข่าว หากมีการเขียนข่าวอะไรที่ไปพาดพิงหรือแม้แต่สัมภาษณ์บุคคลหนึ่งแล้วไปวิจารณ์อีกบุคคลก็จะมาในลักษณะของสำนักงานกฎหมายของนักการเมืองคนนี้ส่งมาว่า ขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริง ซึ่งอาจยังไม่ได้เป็นคดีโดยตรงแต่ถ้าข่าวที่เรานำเสนอไปแล้วเกิดเป็นคดีความระหว่างบุคคล 2 ฝ่าย ทางตำรวจหรือศาลก็อาจจะเรียกเราไปเป็นพยานหรือให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้ ซึ่งถือเป็นการรบกวนการทำงานของเราพอสมควร

ด้าน หทัยรัตน์ พหลทัพ บรรณาธิการบริหารเว็บไซต์ The Isaan Record  กล่าวว่า ก่อนหน้านี้อยู่ไทยพีบีเอสก็มีคนพยายามผลักให้เป็นบรรณาธิการแต่เรารู้สึกว่าความสามารถยังไม่ถึง ก็เลยขอเป็นผู้สื่อข่าวอาวุโสไปก่อน มาเป็นบรรณาธิการประมาณ 4-5 ปี ตั้งแต่มาอยู่เดอะอีสานเรคคอร์ด พอมาเป็นบรรณาธิการรู้สึกว่ามันมีภาระมากกว่าการคิดประเด็น แต่มีภาระที่จะต้องดูแลสมาชิกในห้องข่าวของเราด้วย ซึ่งรู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องบทบาทของหญิงชายเท่านั้น แต่เป็นบทบาทของการทำงานมากกว่า เวลามอบหมายประเด็นเราไม่ได้คำนึงถึงความเป็นหญิงชายแต่คำนึงตามความสามารถมากกว่า

หทัยรัตน์ ยังกล่าวถึงประเด็นการคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐว่า ความจริงถูกคุกคามเริ่มต้นตั้งแต่เป็นนักข่าวแล้ว ซึ่งตอนนั้นได้เข้าไปทำข่าวเกี่ยวกับคนหายในชายแดนใต้ที่ จ.นราธิวาส และถูกข่มขู่จากนายอำเภอคนหนึ่งว่า ถ้าคุณยังทำข่าวเกี่ยวกับคนถูกอุ้มหายอยู่คุณจะเป็นรายถัดไป ทำให้รู้สึกช็อกมาก หลังจากนั้นก็มีการคุกคามอีกครั้งที่ จ.สงขลา ในการลงพื้นที่เตรียมการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะนะ ซึ่งมีนายทุนท้องถิ่นถือปืนเข้ามาข่มขู่ระหว่างถ่ายทำข่าว ตอนนั้นเราไม่แน่ใจว่า เพราะความเป็นผู้หญิงหรือไม่ที่ทำให้เรารอดมาได้

หทัยรัตน์ กล่าวว่า การคุกคามล่าสุดเกิดในช่วงที่เป็นบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ดแล้ว คือ การคุกคามจากการที่เรานำเสนอประเด็นเกี่ยวกับเรื่องการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในพื้นที่อีสาน มีการส่งสันติบาลเข้ามาปรับทัศนคติและถูกผู้บริหารระดับสูงของ สตช.ข่มขู่ว่า หากยังนำเสนอข่าวมาตรา 112 อยู่ก็เป็นศัตรูกันและประกาศว่าจะทำลายทุกวิถีทางไม่ให้เรามีพื้นที่ยืนในสังคม ทำให้เรารู้สึกสยองเหมือนกัน ทั้งที่การนำเสนอเรื่องมาตรา 112 สำนักข่าวอื่นๆ ในกรุงเทพฯ ก็มีการนำเสนออย่างกว้างขวาง แต่ในต่างจังหวัดมีการนำเสนอค่อนข้างน้อย จึงคิดว่า การที่เรานำเสนอประเด็นที่คนอื่นไม่แตะและอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดการคุกคามจึงทำได้ง่ายขึ้น

“ไม่แน่ใจว่า ถ้าเป็นผู้ชายเขาจะคุกคามแบบนี้หรือไม่ หรืออาจมีการคุกคามในรูปแบบอื่นก็เป็นได้”เธอ กล่าว

เธอยังกล่าวว่า ตอนนี้ไม่ได้มองแค่ในมุมของผู้หญิงหรือผู้ชายเท่านั้น แต่มองกันที่ความสามารถ เราอยากจะเห็นผู้หญิงและ LGBT เข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพราะว่ามันมีส่วนต่อการคิดประเด็น และสร้างพื้นที่ของความเท่าเทียมมากขึ้น หากเกิดความสมดุลในห้องข่าวก็จะเกิดการแชร์ข้อมูลและแหล่งข่าวในบางประเด็นระหว่างกันได้มากขึ้น หากในระดับบริหารหรือบรรณาธิการมีการแชร์หรือสร้างความเท่าเทียมกันมากขึ้น ก็จะทำให้ห้องข่าวมีบรรยากาศหรือทิศทางการกำหนดนโยบายของข่าวให้เกิดมิติใหม่ได้มากขึ้น

“ไม่ได้เรียกร้องว่า ผู้บริหารสำนักข่าวควรเป็นผู้หญิง แต่ว่ามันควรมีสัดส่วนที่มีความเท่าเทียมกัน เพราะว่าตอนนี้เราถกเรื่องความเท่าเทียมกันแล้ว มันก็จะทำให้บรรยากาศของห้องข่าวมีความเสมอภาคมากขึ้น” หทัยรัตน์ กล่าว

ขณะที่ นาซีฮะฮ์ มะโซะ ผู้เข้าร่วมอบรมผู้ช่วยบรรณาธิการหญิง/LGBT+  กล่าวว่า ความท้าทายในการทำงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นจะเห็นว่า ผู้สื่อข่าวที่เป็นผู้หญิงน้อยหรือแทบจะไม่มีเลย ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาทางสำนักสื่อวาร์ตานีได้เปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมและเปิดพื้นที่ในการพูดคุยแลกเปลี่ยน ซึ่งรู้สึกว่าพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกมองภาพว่า อาจเป็นพื้นที่ๆ มีความขัดแย้ง มีความรุนแรง การที่ส่วนใหญ่ผู้ชายทำงานในองค์กรสื่อคนภายนอกก็จะมองว่าเป็นพวกหัวรุนแรงหรือไม่ แต่เท่าที่ได้ไปมีส่วนร่วมรู้สึกว่าในพื้นที่ให้โอกาสผู้หญิงได้มีบทบาทมากขึ้น ซึ่งทุกสารทิศทั้งองค์กรภาคประชาสังคม องค์กรสื่อ และในกลุ่มนักเคลื่อนไหวก็จะมีผู้หญิงอยู่ด้วย

นาซีฮะฮ์ กล่าวว่า การเข้าถึงแหล่งข่าวที่เป็นผู้หญิงที่สามีถูกกระทำหรือถูกจับติดคุกในคดีความมั่นคงนั้นนักข่าวผู้หญิงก็สามารถเข้าถึงและเข้าใจความรู้สึกได้มากกว่า เพราะผู้หญิงมีความอ่อนโยนเป็นพื้นฐานทำให้เข้าถึงแหล่งข่าวเหล่านี้ได้มากกว่า เมื่อในพื้นที่ 3 จังหวัด ผู้หญิงมีบาทบาทและมีส่วนร่วมในเรื่องต่างๆ มากขึ้น ทำให้เรื่องราวต่างๆ มีหลายมุมมองมากขึ้น

นาซีฮะฮ์ กล่าวว่า สำหรับการถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐก็เคยถูกคุกคามโดยตรง เคยโดนหมายเรียกเป็นพยาน เพราะได้ไปทำข่าวในกิจกรรมหนึ่งในพื้นที่ภาคใต้ พอผ่านไป 2 เดือนก็ถูกหมายเรียกให้ไปเป็นพยานและถูกสอบปากคำ ทำให้เกิดผลกระทบต่อความรู้สึก ความกังวล และความคล่องตัวในการทำงาน เพราะเราคิดว่า จะมีคนติดตามหรือไม่ ทั้งในระหว่างลงพื้นที่ไปหาแหล่งข่าว แหล่งข้อมูล และการเข้าถึงชาวบ้าน ทำให้รู้สึกว่าเราจะนำปัญหาไปให้ชาวบ้านหรือไม่

“ที่จริงแล้วเราพยายามจะนำเสนอสิ่งที่เป็นความจริง สิ่งที่เป็นฐานข้อมูลในพื้นที่ให้คนนอกได้รับรู้ว่า เกิดอะไรขึ้นในพื้นที่ เสียงของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างไร แต่การที่เราจะไปถึงตรงนั้นรู้สึกว่า มีข้อจำกัดมากกว่าพื้นที่อื่น  อีกทั้งยังมีในเรื่องความห่วงกังวลของครอบครัวด้วย  เพราะพื้นที่ 3 จังหวัดยังถูกปกครองด้วยกฎหมายพิเศษที่ยังไม่ได้ยกเลิก จึงทำให้เรามีข้อจำกัดในการทำงานมาก”นาซีฮะฮ์ กล่าว

author

เรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง related posts

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ