สถานการณ์ทางการเมืองที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศไทยเป็นไปอย่างกว้างขวางในขณะนี้นั้น ปรากฏว่ามีข้อถกเถียงโต้แย้งอย่างมากมายหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของกระบวนการและขอบเขต ทั้ง “การปฏิรูปการเมือง” เพื่อให้การเข้าสู่อำนาจและการใช้อำนาจมีความชอบธรรม เช่น การเลือกตั้ง ระบบรัฐสภา พรรคการเมือง กระบวนการนิติบัญญัติ เป็นต้น และ “การปฏิรูปประเทศ” ซึ่งมีขอบเขตเนื้อหากว้างกว่าเรื่องของปฏิรูปการเมืองมากนัก รวมประเด็นเศรษฐกิจ เช่น นโยบายพลังงาน การเปิดเสรีการค้าและการลงทุน การปฏิรูปภาคเกษตรกรรม เป็นต้น ประเด็นเรื่องสังคม เช่น ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ-ไม่เป็นธรรม สิทธิแรงงาน เป็นต้น และประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การปฏิรูประบบ EIA/EHIA การเข้าถึงฐานทรัพยากร การปฏิรูปที่ดิน การจัดการน้ำและป่าไม้ เป็นต้น รวมทั้งข้อเสนอให้มีการจัดตั้งองค์กรขึ้นมาเฉพาะ โดยอาจใช้ชื่อว่า“สภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย” หรือ “สมัชชาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย” เพื่อรับผิดชอบดูแลกระบวนการปฏิรูป ประเด็นเหล่านี้เป็นสิ่งที่สังคมไทยยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้
หากพิจารณารายละเอียดของการถกเถียงโต้แย้งดังกล่าว จะพบว่ายังคงขาดมิติหรือมุมมองสตรีนิยม กล่าวคือ แนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนสตรี ความเสมอภาคทางเพศ และความเท่าเทียมทางเพศ โดยเฉพาะสิทธิสตรีและสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งในประเด็นการถกเถียงเพื่อการปฏิรูปสังคมไทย แม้ว่าจะเป็นมิติที่สำคัญและเป็นหลักการพื้นฐานหนึ่งของการปฏิรูปสังคมไทย
ยิ่งกว่านั้น การถกเถียงในเวทีเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งในสภาและนอกสภา พบว่ามีลักษณะของความรุนแรงทางเพศและแฝงไปด้วยอคติทางเพศ เช่น กรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ปราศรัยโจมตีนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยกล่าวคำว่า “อีโง่” เป็นการกระทำความรุนแรงด้วยวาจา ขณะที่ ส.ส. หญิงพรรคเพื่อไทย เรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ กล่าวคำขอโทษ มิฉะนั้นจะนำ “ผ้าถุง” ไปมอบให้อันเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ผลิตซ้ำการกดขี่เพศหญิงไม่แตกต่างกัน เป็นต้น
แม้การแสดงออกทางการเมืองถือเป็นสิทธิพลเมืองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 ว่าด้วยเสรีภาพในการชุมนุม โดยให้สิทธิประชาชนชาวไทยได้มีส่วนร่วมทางการเมืองได้หลายช่องทาง และใช้สิทธิเสรีภาพได้หลายรูปแบบตามวิถีประชาธิปไตยก็ตาม แต่การชุมนุมที่มีการปราศรัยโดยผู้ชุมนุมกลุ่มต่างๆ ในลักษณะของการสร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) เช่น การใช้ภาษาที่แสดงการเหยียดหยาม ก้าวร้าวทางเพศ อันเป็นการลดทอนคุณค่าและเลือกปฏิบัติทางเพศ โดยเฉพาะความเป็นเพศหญิงและกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงมีพฤติกรรมสร้างความเกลียดชัง มีอคติและทำลายความน่าเชื่อถือของบุคคลด้วยเหตุแห่งเพศ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและเป็นการเลือกปฏิบัติต่อสตรีที่มีบทบาททางการเมือง
แม้ว่าในกระบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อให้เกิดการปฏิรูปประเทศไทย หรือปฏิรูปสังคมจะมีการถกเถียงในมิติต่างๆ อย่างมาก แต่กลับขาดมิติด้านสตรีนิยม อีกทั้งข้อเสนอจากการถกเถียงเหล่านั้นยังสร้างความรุนแรงทางเพศ และอคติทางเพศ ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิผู้หญิง กฎหมายและการพัฒนาชนบท (FORWARD) และศูนย์สตรีศึกษา/ภาควิชาสตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านความเสมอภาคระหว่างเพศในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และสมาคมผู้หญิง กฎหมายและการพัฒนาแห่งเอเชียแปซิฟิก (APWLD) ตระหนักถึงความสำคัญในการปกป้องคุ้มครองสิทธิผู้หญิงและส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ จึงได้จัดเวทีโต๊ะกลมขึ้นในเดือนสตรีสากลเพื่อระดมความคิดเห็น นำเสนอแนวคิด และรูปแบบการปฏิรูปการเมืองไทยในทัศนะสตรีนิยม เพื่อส่งเสริมให้ผู้หญิงมีพลังในการสร้างสรรค์บทบาททางการเมืองและการบริหารประเทศอย่างมีส่วนร่วมและเสมอภาคเท่าเทียมกัน
ดังนั้นเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองและการปฏิรูปการเมืองไทย เสนอแนวคิดและรูปแบบการปฏิรูปการเมืองไทยในทัศนะสตรีนิยม และเพื่อสื่อสารสาธารณะประเด็นสถานการณ์ทางการเมืองตามทัศนะสตรีนิยม
มูลนิธิผู้หญิง กฎหมายและการพัฒนาชนบท (FORWARD) ศูนย์สตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภาควิชาสตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านความเสมอภาคระหว่างเพศในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย สมาคมผู้หญิง กฎหมายและการพัฒนาแห่งเอเชียแปซิฟิก (APWLD) จึงกำหนดจัด “เวทีโต๊ะกลมเดือนสตรีสากล “มิติสตรีนิยมในการปฏิรูปการเมืองไทย” ในวันศุกร์ที่ 7 มีนาคม 2557 เวลา 8.30 – 16.30 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารสตรีศึกษา ศูนย์สตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
กำหนดการ
08.30 – 09.00 น. ลงทะเบียน
09.00 – 09.10 น. กล่าวเปิดงานเวทีโต๊ะกลมและชี้แจงวัตถุประสงค์โดย อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ อาจารย์พิเศษบัณฑิตศึกษา หลักสูตรสตรีศึกษา ภาควิชาสตรีศึกษาคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
09.10 – 12.00 น. เปิดเวทีอภิปราย “มิติสตรีนิยมในการปฏิรูปการเมืองไทย”ดำเนินรายการโดย รองศาสตราจารย์ ดร.นงเยาว์ เนาวรัตน์ผู้อำนวยการศูนย์พหุวัฒนธรรมและนโยบายการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
12.00 – 13.00 น. รับประทานอาหารกลางวัน
13.00 – 16.00 น. อภิปรายต่อ
16.00 – 16.30 น. สรุปผลการอภิปราย โดย รองศาสตราจารย์ ดร.นงเยาว์ เนาวรัตน์