ชาวนาไม่ดราม่า

ชาวนาไม่ดราม่า

10376328_694871277216099_8378546267541254101_n

เรื่อง: กองบรรณาธิการ

สุดสายตาลิบๆ คือสีเขียวของนาข้าว บนแคร่ไม้หลังบ้าน เราสนทนากับ สุภชัย ปิติวุฒิ เจ้าของเพจ ชาวนาวันหยุด ที่เริ่มต้นศึกษาเรียนรู้วิธีการทำนาบนผืนนาไม่กี่ไร่ในจังหวัดนครสวรรค์ เพราะอึดอัด อยากรู้ในสิ่งที่ใครๆ ก็สงสัย ว่าทำไมชาวนาถึงยากจน

อย่างสั้นและรวบรัด สุภชัยเป็นลูกชาวสวนปาล์ม บ้านเกิดอยู่ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จบเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ปัจจุบันทำงานอยู่ในบริษัทเกี่ยวกับเครื่องมือการเกษตร เหนืออื่นใด จากที่ได้ลองศึกษา เขาค้นพบองค์ความรู้ที่เรียกว่า การทำนาแบบ เปียก สลับแห้ง แกล้งข้าว ซึ่งเป็นการปลูกข้าวที่ใช้น้ำน้อย ช่วยป้องกันเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และแก้ปัญหานาหล่ม ข้าวไม่ล้มตอนเกี่ยว

เหนือไปกว่านั้น เขาเต็มใจอย่างยิ่งในการเผยแพร่สิ่งที่ทำโดยไม่มีหวง และในฐานะรู้เรื่องการทำนาดี นี่คือ 5 คำถามจากเรา ที่คุณๆ ก็คงอยากรู้

01

สิ่งเเรกที่คุณคิดว่าต้องทำ เพื่อให้ชาวนามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นคืออะไร

การให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ในด้านการผลิต การบริโภค ทั้งในประเทศและการส่งออก รวมถึงต้นทุนการผลิต ความสามารถในการแข่งขัน ชาวนาต้องมีข้อมูลสำหรับการตัดสินใจ เพื่อกำหนดอนาคตของตัวเอง ในเบื้องต้น ปัญหาในภาคการเกษตรจะยังคาราคาซังอย่างนี้ไปอีกนาน เพราะมันมีดราม่าเยอะ โดยใช้ความรู้สึกเหนื่อยยาก มาเป็นประเด็น ไม่ได้มองทะลุในทางวิทยาศาสตร์ และข้อเท็จจริง

ถ้าแกะทีละประเด็น ความอยู่ดีกินดี แต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนบอก มีที่นา 1 ไร่ ก็พอ บางคนต้องมี 50 ไร่ 100 ไร่ จึงจะเพียงพอกับภาระทางการเรียนของลูกๆ แต่กรรมสิทธิ์ที่ดินของไทยเป็นระบบตลาดเสรี สามารถเป็นมรดกตกทอดสู่ลูกหลาน จะจำนอง ขาย ผ่านมือได้ เดิมทีอาจมี 100 ไร่ มีลูก 10 คน แบ่งคนละเท่าๆ กัน รุ่นลูก ก็ได้คนละ 10 ไร่ บางคนก็ขายที่ เอาเงินไปทำอย่างอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า

รอฤดูกาล กว่าจะไปถึงรุ่นหลาน ก็เหลือไม่ถึงคนละไร่ ไม่คุ้มค่าที่จะลงทุนทำการผลิต  ดังนั้น ถ้าเป็นระบบ นี้ economy of scale ในการผลิต ยิ่งต่ำ มีต้นทุนต่อหน่วยเพิ่มขึ้น สินค้าเกษตรระยะยาวยังไงก็แข่งขันไม่ได้ เกษตรกร หรือชาวนา ชาวไร่รายย่อย ไม่มีอำนาจต่อรองกับตลาดแน่นอน และประสิทธิภาพยิ่งถดถอยตามกำลังแรงกาย และอายุที่เพิ่มขึ้น

เปรียบเทียบระบบกงสีของสังคมพ่อค้าชาวจีน ทำไมพอถึงเวลาแยกครอบครัวแล้ว ธุรกิจเล็กลงจนต้องเลิกในที่สุด เพราะไม่มีอำนาจต่อรองกับตลาด แต่ก็ยังมีธุรกิจที่สามารถรักษาพอร์ตที่เติบโตได้ อย่าง เซ็นทรัล หรือ ซีพี ก็เพราะพวกเขาไม่ได้แบ่งแยกมรดกให้ลูกหลาน หรือคนในตระกูลให้ต่างคนต่างไปทำ แต่ใช้วิธี แบ่งหุ้นให้ทายาทเป็นกรรมการบริษัท แล้วจ้างให้มืออาชีพเข้ามาบริหาร

สองภาพนี้เชื่อมโยงเข้าหากันได้ ถ้ามองในแง่ของการใช้ทรัพยากร การผลิตร่วมกัน และใช้มืออาชีพ เข้ามาบริหาร

02

ปัญหาพ่อค้าคนกลางจะเเก้ไขอย่างไร

ผลสืบเนื่องจากวิธีการจัดการกรรมสิทธิ์ที่ดินจากที่ผมบอกไป ทำให้เป็นเบี้ยหัวแตก ไม่มีอำนาจต่อรองกับตลาด ถ้าจะทำตลาดโดยตรงกับผู้บริโภค ในยุคนี้ก็ทำได้ง่าย แต่ต้องอาศัยบทบาทของคนรุ่นลูกในการสร้าง story และความสะดวกให้กับผู้ซื้อ แข่งกับร้านสะดวกซื้อ แต่ก็มีเรื่องต้นทุน โลจิสติกส์ที่สูง จากการขายแบบหน่วยย่อย

03

ชาวนาบ้านเรายังขาดการเข้าถึงเทคโนโลยีหรือไม่

ไม่ได้ขาดการเข้าถึง แต่เป็นเรื่องการเสพข้อมูลตามความเชื่อของแต่ละกลุ่มมากกว่า เช่น การใช้ Line ให้แชร์กันต่อในกลุ่มผู้สูงวัย ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีเหตุมีผลทางวิทยาศาสตร์ หรือข่าวหวย ข่าวสัตว์ประหลาด ยังพากันไปกราบไหว้ขอหวย แค่ดูจากข่าว แวบๆ ยังดั้นด้นไปกราบไหว้

มันเป็นประเด็นเรื่องวัฒนธรรมการใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาตน หรือติดหล่มให้งมงายมากกว่า  และอีกเรื่องคือ ต้นทุนของเทคโนโลยีไม่สอดคล้องกับพื้นที่ที่เพาะปลูก เข้าถึงได้แต่ไม่มีอำนาจซื้อ เช่น ชาวนามีปัญหา เรื่องข้าวมีความชื้น ต้องการเครื่องอบลดความชื้น ราคาก็แพงมาก หรือชาวนามีปัญหาเเรงงานในการเก็บเกี่ยว จะซื้อรถเกี่ยวเป็นของตัวเอง ราคาก็สูงเกินกำลัง

04

มีบทเรียนต่างประเทศอะไรน่าสนใจบ้าง

ประเทศไทยมีบทเรียนการเปลี่ยนผ่านของโครงสร้างประชากร โครงสร้างเศรษฐกิจ ตามปัจจัยทรัพยากร จากหลายๆ ประเทศในเอเชีย อย่าง ไต้หวัน ญี่ปุ่น ทรัพยากรที่ดินน้อย แต่คนเยอะ ถ้าผลิตแต่สินค้าเกษตร ก็ไม่พอกิน  จึงต้องหาสมดุลในการดูดซับแรงงานส่วนเกินภาคเกษตร ไปสู่การพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ให้คนไม่ว่างงาน มีผลตอบแทนรายได้ที่สูงขึ้น มีอำนาจซื้อมากขึ้น เกษตรกรมีผลผลิต ก็สามารถขายได้ในราคาที่สูงขึ้น มีรายได้ มีกำไรจากภาคอุตสาหกรรม ก็เอากลับมาพัฒนาและวิจัย เพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มผลผลิตต่อไร่ และคุณภาพชีวิตเกษตรกรได้ด้วย

สองประเทศข้างต้นมีกฎหมายสงวนที่ดิน ที่ทำการเกษตรไว้ มีการโซนนิ่ง ไม่ให้ขายผ่านมือไปทำอย่างอื่น เช่น อาคารพาณิชย์ โกดัง นิคมอุตสาหกรรม สนามกอล์ฟ ทำให้ต้นทุนที่ดินเดิมที่ ถูกจัดรูป พัฒนาระบบชลประทาน มีความคุ้มค่าจากภาษี ในระยะยาว

ต่างจากเมืองไทย ใครออกกฎหมายแก้ผังเมืองได้ ก็ได้กำไรจากการเก็งกำไร มีข้อมูลอินไซด์ก็ไปซื้อที่ดัก รอเวนคืน มันก็ทีใครทีมัน ที่ดินปัจจุบันจึงเป็นลักษณะทุนใหญ่ซื้อเก็บแล้วรอเก็งกำไร มากกว่าจะไปทำการผลิต ถ้าแนวทางที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ควรมีข้อตกลงร่วมกันว่า พื้นที่เกษตรชัดเจน คนเปลี่ยนได้ พื้นที่เกษตรเปลี่ยนไม่ได้ ถือเป็นความมั่นคงของชาติ

05

ชาวนาในปัจจุบันยังขาดอะไร

เกษตรกรชาวไร่ชาวนา ต้องได้รับการช่วยเหลือในด้านข้อมูลข่าวสาร โครงสร้างพื้นฐานด้านการผลิต การตลาด ในระยะเวลา 5 ปี 10 ปี  และเมื่อเกษตรกรแข็งแรงแล้ว ต้องจ่ายภาษีเงินได้กลับคืนรัฐ ไม่ใช่เป็นโครงการช่วยเหลือไม่จบไม่สิ้น ประเด็นพวกนี้ละเอียดอ่อน การนำเสนอต้องคุยกันด้วยเหตุและผล ถ้าใช้ความรู้สึกมันก็จะจบไม่ลง เหมือนกับเรื่องการเมืองและศาสนา

author

เรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง related posts

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ