11 เหตุผลทำไมต้องปิดคุกกวนตานาโม
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 มกราคมที่ผ่านมาเป็นวันครบรอบ 13 ปีของการเปิดคุกที่อ่าวกวนตานาโม ประเทศคิวบา ด้วยแรงกดดันที่ประธานาธิบดีโอบามาต้องเผชิญอยู่ ณ ขณะนี้ เขาจึงจำเป็นต้องทำให้วันครบรอบการเปิดคุกที่อ่าวกวนตานาโมในปีนี้เป็นวันครบรอบปีสุดท้าย และ 11 ข้อต่อไปนี้คือเหตุผลว่าทำไมการปิดคุกที่อ่าวกวนตานาโมถึงเป็นสิ่งจำเป็นในด้านสิทธิมนุษยชน
1. นักโทษไม่รู้เลยว่าเมื่อไหร่พวกเขาจะได้เป็นอิสระ
ลองคิดดูว่าถ้าคุณต้องติดคุก และไม่รู้เลยว่าคุณจะต้องโดนข้อหาอะไร หรือจะได้รับการปล่อยตัวเมื่อไหร่ สำหรับนักโทษกว่า 100 คนการติดคุกที่ยาวนานแบบไม่มีกำหนดนั้นถือเป็นสิ่งที่โหดร้ายอย่างมาก พวกเขาต้องเผชิญกับความเป็นจริงที่ว่าพวกเขาอาจต้องอยู่ในสภาพที่ไม่มีอะไรแน่นอนในชีวิตเช่นนี้ตลอดไป
2. การรณรงค์ของเรากำลังเกิดแรงผลักดัน
6 ปีที่แล้ว ประธานาธิบดีโอบามาสั่งให้การปิดคุกกวนตานาโมเกิดขึ้นภายในหนึ่งปี แต่คำสั่งนั้นกลับไม่เกิดขึ้นจริง ด้วยเหตุนี้ เราจึงสร้างแรงกดดันจากการประท้วงที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งส่งผลให้เกิดความคืบหน้าที่เป็นไปอย่างช้าๆ โดยในระยะเวลาปีครึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐได้ย้ายนักโทษ 39 คนออกจากคุกกวนตานาโม ซึ่งถือว่าเป็นการพัฒนาถ้าเปรียบเทียบกับระยะเวลาสองปีระหว่างเดือนกรกฎาคมปี 2554 และเดือนกรกฎาคมปี2556 ซึ่งมีการย้ายนักโทษเพียงแค่ 4 คน
3. ยังมีคนอีกจำนวนมากที่อยู่ในสภาพไม่รู้อนาคตของตัวเอง
ถึงแม้จะมีความคืบหน้า แต่ประธานาธิบดีโอบามาต้องทำอะไรที่มากกว่านี้ เพราะยังมีนักโทษอีกกว่า 100 คนที่ยังต้องติดคุกแบบไม่มีกำหนด โดยที่ไม่เคยได้รับข้อกล่าวหาหรือมีการไต่สวนคดี และนักโทษทุกคนต้องได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม หรือในที่สุดต้องได้รับการปล่อยตัว
4. ความเป็นมาของการทรมาน และการปฏิบัติที่ไร้มนุษยธรรม
นักโทษเริ่มมาอยู่ที่กวนตานาโมตั้งแต่ปี 2545 โดยพวกเขาจะถูกจับใส่กุญแจมือ ถูกสวมหมวกคลุมหัว และถูกปิดตา ตามที่รายงานของวุฒิสภาอเมริการะบุไว้ ลักษณะของคุกนี้มีสภาพเป็น “ห้องปฏิบัติการทางทหาร” เพื่อทำการทดลองการสอบปากคำนักโทษด้วยวิธีใหม่ ตั้งแต่นั้นมา คุกนี้จึงเป็นสถานที่ที่มีการกระทำทารุณกรรมต่อนักโทษ เช่น การขังเดี่ยวเป็นเวลาต่อเนื่องและยาวนาน
และที่ยิ่งไม่เป็นธรรมไปมากกว่านั้น คือการที่นักโทษอย่างน้อง 28 คน ที่ขณะนี้ถูกคุมขังในกวนตานาโม เคยถูกคุมขังอย่างลับๆ ในสถานที่อื่นของรัฐบาลสหรัฐ ก่อนที่จะถูกส่งมาที่กวนตานาโม ชาร์เกอร์ อาเมอร์ นักโทษซึ่งเคยถูกคุมขังที่อัฟกานิสถานในปี 2545 และ ถูกคุมขังที่กวนตานาโมอีกเกือบ 13 ปี ถึงแม้ว่าจะได้รับการอนุญาตย้ายตัวจากทั้งรัฐบาลโอบามาและรัฐบาลบุชก็ตาม เปิดเผยว่า “พวกเขาจัดงานเลี้ยงอำลาที่คันดาฮาร์ และที่ร้ายไปกว่านั้น คือการจัดงานเลี้ยงต้อนรับที่กวนตานาโม”
5. ความเป็นมาของความสิ้นหวัง “ความตายเป็นสิ่งที่พึงปรารถนากว่าการมีชีวิตอยู่”
ในปี 2555 แอดนาน ลาทิฟ เสียชีวิตที่กวนตานาโม หลังจากที่เขาถูกคุมขังมานานกว่าสิบปีโดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหา ถึงแม้ว่าเขาเคยถูกพิจารณาจากศาลให้ได้รับการปล่อยตัวก็ตาม สถานภาพของเขาทำให้เขาตัดสินใจว่า “ความตายเป็นสิ่งที่พึงปรารถนากว่าการมีชีวิตอยู่” ลาทิฟประท้วงการปฏิบัติต่อเขาที่กวนตานาโมด้วยการอดอาหาร และการเขียนบทกลอน ความว่า
Where is the world to save us
from torture?
Where is the world to save us
from the fire and sadness?
Where is the world to save
the hunger strikers?
ที่ไหนกันเล่าในโลกนี้จะช่วยเราให้รอดพ้นจากการทรมาน
ที่ไหนกันเล่าในโลกนี้จะช่วยให้เรารอดพ้นจากความร้อนรุ่มและความเศร้าโศก
ที่ไหนกันเล่าในโลกนี้จะช่วยผู้ที่อดอาหารประท้วง
มีนักโทษจำนวน 9 คน เสียชีวิตที่กวนตานาโมตั้งแต่คุกเปิดทำการในเดือนมกราคม ปี 2545 ตามคำให้การของเจ้าหน้าที่ทางทหารของสหรัฐระบุว่า ที่ผ่านมามีนักโทษ 6 ใน 8 คนเสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย และอีก 2 คนเสียชีวิตจากเหตุทางธรรมชาติ
6. การพูดตรงข้ามกับความเป็นจริงที่สุดจะทน และการมีสองมาตรฐาน
คำขวัญอย่างเป็นทางการของกวนตานาโมคือ “ความมีเกียรติคือการปกป้องเสรีภาพ” แต่มันคือการพูดตรงข้ามความเป็นจริง ตั้งแต่คุกกวนตานาโมเปิดทำการมา สหรัฐยังคงอ้างว่าประเทศของตนนั้นมีพันธะต่อมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ถ้าประเทศที่เปิดทำการคุกกวนตานาโมเป็นประเทศที่มีระบอบการปกครองที่กดขี่แล้วล่ะก็ ประเทศนั้นต้องโดนประณามจากสหรัฐเป็นแน่ มันถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลสหรัฐต้องหยุดพูดตรงข้ามความเป็นจริง และหยุดมีสองมาตรฐานเสียที
7. เราต้องต่อต้านการเมืองที่ก่อให้เกิดความกลัว
นักการเมืองสหรัฐชอบใช้คุกกวนตานาโมเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อที่จะได้คงไว้ซึ่งอำนาจทางการเมืองซึ่งเกิดมาจากความกลัว โดยละเลยความเป็นจริงที่ว่ามีคนจำนวนมากทรมานอยู่ในคุก ซึ่งส่งผลให้ความคิดที่ว่าสหรัฐเคารพต่อพันธะด้านสิทธิมนุษยชนนั้นห่างไกลความเป็นจริงไปทุกที และเป็นไปได้ว่าประธานาธิบดีของสหรัฐคนต่อๆ ไปอาจตัดสินใจที่จะให้คุกกวนตานาโมเปิดทำการตลอดไป
8. เราไม่เอา “การทำสงครามเพื่อประชาคมโลก”
เพื่อคงไว้ซึ่งความชอบธรรมในการคุมขังนักโทษที่คุกกวนตานาโม สหรัฐได้สร้างภาพว่าตนทำสงครามเพื่อประชาคมโลก โดยต่อสู้กับกลุ่มอัลกออิดะฮ์ และกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ โดยที่กวนตานาโมนั้น นักโทษซึ่งถูกคุมขังภายใต้ระเบียบของ “กฎหมายสงคราม”ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสงครามใดๆ ตามที่เราเคยเข้าใจ และไม่ได้อยู่ในอาณาเขตของรัฐที่ทำสงครามกับสหรัฐแต่อย่างใด เช่น ประเทศอาเซอร์ไบจาร และประเทศไทย การที่สหรัฐ“ทำสงครามเพื่อประชาคมโลก” ไม่ได้แสดงถึงความเอาใจใส่ด้านสิทธิมนุษยชน เห็นได้จากการที่สหรัฐละเลยความจำเป็นที่นักโทษควรได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม หรือได้รับการปล่อยตัว
9. คุกกวนตานาโมเป็นหนึ่งในหลายการกระทำที่โหดร้าย
วันที่ 23 พฤษภาคม ปี 2526 ประธานาธิบดีโอบามาได้กล่าวว่า สหรัฐกำลังอยู่บน“ทางแยก” เราจำเป็นต้องจัดการกับปัญหานี้ ไม่อย่างนั้นมันจะจัดการเราแทน อย่างไรก็ตาม “การทำสงครามเพื่อประชาคมโลก” ก็ได้นิยามจุดยืนของสหรัฐไปแล้ว ทั้งคุกกวนตานาโม การโจมตีด้วยอากาศยานไร้คนขับ และการควบคุมพฤติกรรมของประชาชน ทั้งหมดนี้คือการกระทำที่โหดร้าย ซึ่งการกระทำเหล่านี้ยังคงอยู่ได้จากการบิดเบือนความจริง และการรอดพ้นจากการโดนลงโทษ
10. สหรัฐกำลังทำลายสิทธิมนุษยชนของคนทั่วโลก
ทำไมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ถึงยังรณรงค์เรื่องกวนตานาโมอยู่ แม้ว่าคุกนี้จะเปิดมานาน 4,749 วันแล้วก็ตาม เหตุเพราะ “คุกนี้เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการละเลยสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และอาจเป็นตัวอย่างให้ประเทศอื่นละเลยเรื่องนี้ได้เช่นกัน….ตราบใดที่คุกกวนตานาโมยังเปิดทำการอยู่ พวกเราทุกคนคงหาความปลอดภัยในชีวิตได้น้อยเต็มที” ดังเช่นที่เราได้กล่าวไว้ในวันครอบรอบ 10 ปีของการเปิดทำการคุกกวนตานาโม
11. ยังคงมีการโต้เถียงเรื่องคุกวนตานาโมและการทรมานอย่างต่อเนื่อง
ในหนังสือชีวประวัติของอดีตประธานาธิบดีบุช ชื่อ ‘Decision Points’ มีความตอนหนึ่งที่บุชได้กล่าวว่า ตอนเขาเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีรอบที่สองในเดือนมกราคม ปี 2548 นั้น เขาเริ่มมองเห็นคุกกวนตานาโมในแง่ที่มันกลายเป็น “เครื่องมือที่ช่วยในการเปิดเผยศัตรูของเรา และขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งกวนใจมิตรของเราเช่นกัน”
หลังจากประธานาธิบดีโอบามาได้เข้าดำรงตำแหน่ง และมีการเผยแพร่รายงานเรื่องการทรมานจากวุฒิสภาของสหรัฐ ส่งผลให้ฝ่ายที่ต่อต้านการทรมานไม่พอใจ และในหนังสือชีวประวัติของอดีตรองประธานาธิบดี ดิก เชย์นี่ ยังมีการกล่าวด้วยว่า “สิ่งที่ผิดน่ะไม่ใช่ตัวคุกกวนตานาโมหรอก แต่เป็นคนที่วิจารณ์ต่างหาก” โดยเขายังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ดีใจที่เห็นว่าแม้ประธานาธิบดีโอบามาจะเคยคิดว่าการปิดคุกกวนตานาโมนั้นเป็นเรื่องจำเป็น แต่กลายเป็นว่าคุกกวนตานาโมยังเปิดทำการอยู่เหมือนเดิม”
การที่โอบามาเลื่อนการปิดคุกกวนตานาโมออกไป อาจทำให้การคุมขังนักโทษเพื่อจุดประสงค์ของ“สงครามต่อต้านการก่อการร้าย” ดำเนินต่อไป ซึ่งอาจกลายเป็นข้ออ้างของรัฐบาลในอนาคตในการไม่ปิดคุกกวนตานาโม และกระทำสิ่งที่โหดร้ายอีกมากมาย โดยอ้างว่าเป็นสิ่งที่ “จำเป็น”
ภาพและข้อมูลจาก แอมนาสตี้
author
กองบรรณาธิการเว็บไซต์ citizenthaipbs.net ดูแล เรียบเรียง และรวบรวมเนื้อหาจากนักข่าวพลเมือง