ฟังเสียงคนท้องถิ่น : “อีสาน” ในม่านสายตาคนรุ่นใหม่

ฟังเสียงคนท้องถิ่น : “อีสาน” ในม่านสายตาคนรุ่นใหม่

ชมรมสื่อสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับ นักศึกษาสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ วงดนตรีศิลป์อีสาน วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ วงดนตรีอีสานคลาสสิค หมาเก้าหาง เครือข่ายสื่อพลเมืองโอ้ ละ นอ ครีเอชั่น เครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่น กาฬสินธุ์ PBS ไทอีสาน PBS และเครือข่ายอีสานตุ้มโฮม จัดกิจกรรมส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศและดิจิทัล (MIDL)  พร้อมเสวนาแลกเปลี่ยนถึงโอกาสและความท้าทายในการใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อสร้างโอกาสด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของคนอีสานรุ่นใหม่ ณ ลานชั้น 2 คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อวันที่ 17 กันยายน ที่ผ่านมา

ข้อยเป็นคนอีสาน

21 ขวบปีแล้ว ข้อยเกิดและเติบโตที่บ้านคัดเค้า ต.หินกอง อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด นับเป็นสาวเมืองร้อยเกินเต็มตัวอีกหนึ่งคน อีสานบ้านข้อยนั้นมีวิถีเรียบง่ายเช่นเดียวกับชุมชนอีสานทั่วไป แม้ที่บ้านจะเป็นแม่ค้าพ่อค้าขายปลา แต่ก็เติบโตท่ามกลางวิถีพี่น้องเกษตรกร คนทำไร่ ทำนา มีโอกาสได้เล่นตม ลุยโคลน หาปลา ขุดจิ้งหรีด และไต้กบ ไต้เขียด เป็นชีวิตวัยเด็กที่เฮฮาหรรษา และชวนยิ้มทุกครั้งที่นึกถึง

คนอีสานผ่านสายตา “คนอื่น”

หลายคนอาจคุ้นเคยกับภาพลักษณ์ “คนอีสาน” ผ่านสื่อสารมวลชนในหลายลักษณะ โดยเฉพาะละครหลังข่าว มักพบว่า  มีภาพจำของคนอีสาน ในบุคลิกท่าทางชวนยิ้ม อารมณ์ ตลกขบขัน และยังมีฐานะยากจน มีบทบาทในละครมักจะเป็น “สาวรับใช้” ในบ้านเจ้านายหลังใหญ่ ซึ่งเหล่านี้คือ “ละคร” แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ละครและเรื่องเล่าเหล่านี้มีผลต่อสายตาของหลายคนที่เผลอมอง “คนอีสาน” ผ่านภาพจำเหล่านั้น แต่วันนี้ ข่อยจะชวนผู้อ่านทุกท่านได้ฟัง และมองอีสานในปี 2023 ผ่านสายตาคนรุ่นใหม่ ในวันที่ “อีสานบ่คือเก่า”

รู้เขา รู้เรา เบิ่งคนอีสานผ่านสื่อ

“เห็นอะไรในตัวอย่างภาพยนตร์เรื่องนี้” นี่เป็นคำถามชวนคิดในบูธกิจกรรมรู้เท่าทันสื่อ ของชมรมสื่อสร้างสรรค์ มมส. ที่เอ่ยถามน้อง ๆ และเพื่อน ๆ นิสิต ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ณ ลานห้องโถง ชั้น 2 คณะวิทยาการสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อชวนคุยถึงมุมมองของคนอีสานที่ถูกนำเสนอผ่านภาพยนตร์เรื่อง “แจ๋ว” ที่นำมาใช้เป็นกรณีศึกษาในกิจกรรมครั้งนี้

“เห็นคนรับใช้ที่เป็นคนอีสานขี่ควายตามรถสองแถว” เสียงที่แผ่วเบาตอบมาจากด้านหลังกลุ่มเพื่อน

“คนอีสานที่เป็นคนรับใช้ขี่ควาย” ประโยคที่ทำให้เรานึกภาพตามได้อย่างชัดเจน หากฟังเผิน ๆ บางคนอาจจะตลก ขบขัน กับภาพนั้น แต่เอ๊ะ! ทำไมต้องขี่ควายและทำไมถึงเป็นคนอีสาน บางช่วงตอนของหนังนี้กำลังสะท้อนให้เราได้เห็นถึงอะไรอยู่หรือเปล่า ?

“แล้วทำไมต้องเป็นคนอีสาน” คำถามที่สองยังตามมาต่อเนื่อง เพื่อต่อบทสนทนากับผู้เข้าร่วมกิจกรรมด้วยเสียงที่หนักแน่น พลันนาทีต่อมาก็มีคำตอบแลกเปลี่ยนเสียงดังฟังชัดขึ้น “เพราะเกิดจากภาพจำคนอีสานที่เกิดจากสื่อ ที่เหมือนผลักดันให้กลุ่มคนเหล่านี้ต้องไปอยู่ในเมืองกรุง และผลักดันคนอีสานเป็นคนชายขอบ”

เสียงแทรกขึ้นจากด้านหลัง “เราก็คนเหมือนกัน ขอแค่ให้พื้นที่แบ่งพวกเรา ให้อยู่คนละภาคก็พอ สังคมอย่ามาแบ่งชนชั้นกันอีกเลย”

หลังจากที่เราได้พูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองกับผู้เข้าร่วมกิจกรรม เราก็ได้มีการตั้งคำถามขึ้น “อีก 5 ปีข้างหน้าอยากเห็นเมืองอีสานเป็นอย่างไร” โดยให้เขียนผ่าน Post-it ทุกคนต่างยื่นมือเพื่อขอกระดาษ และเวลาหลังจากนั้นก็ทำให้เราต่างได้ยินเสียง เสียงที่ออกจากกระดาษ Post-it น้อย ๆ ที่มีหลากหลายสีสันบนกระดานสีขาว จากเสียงเจี๊ยวจ๊าวที่ฟังไม่ได้ศัพท์ แต่ตอนนี้มันกลับกลายเป็นเสียงที่กึกก้อง กับกระดานที่เต็มไปด้วยความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่อีสาน พลังที่ส่งผ่านตัวอักษร ซึ่งตอนนี้มันได้เริ่มขึ้นแล้ว “เฮือนข้อยมันมีดีกว่าที่ซุมเจ้าคิด”

“Locals Voice” ฟังเสียงประเทศไทย ฟังเสียงคนท้องถิ่น

ไม่เพียงการรู้เท่าทันเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัล ภายในงานยังมีกิจกรรม “Locals Voice” การเปิดพื้นที่ฟังเสียงท้องถิ่นกับกลุ่มคนรุ่นใหม่หัวใจอีสาน ผ่านการโสเหล่สนทนาเว้าจา “เศรษฐกิจสร้างสรรค์กับคนอีสานรุ่นใหม่” ร่วมกับ ธัญญรัตน์ บุตริน นักแสดงภาพยนตร์ผู้บ่าวไทบ้านอวสานอินดี้ และภาพยนตร์ปราณี

ซัน นันทะชัย ศิลปินอีสานคลาสสิก วงหมาเก้าหาง พรพิพัฒน์ บุราณเดช ศิลปินวงศิลป์อีสาน วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ อาจารย์ทม เกตุวงศา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน อาจารย์อาทิตย์ คำหงส์ศา  ผู้ช่วยคณบดี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ดำเนินรายการ โดย สราวุฒิ โนนทะราช นิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ อาจารย์อังคณา พรมรักษา ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายพัฒนานิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อบอกเล่ามุมมองความสนใจ และความภาคภูมิใจในความเป็นคนอีสานผ่านพื้นที่สร้างสรรค์และการแสดงศิลปะดนตรีของวงดนตรีอีสานคลาสสิก หมาเก้าหาง และวงโปงลางศิลป์อีสาน เพื่อหาโอกาสด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของคนอีสานรุ่นใหม่ ณ คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยมองผ่านฉากทัศน์ ภาพอนาคต “อีสานเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์” ปี 2570 ซึ่งทีมกองบรรณาธิการ Locals Thai PBS รวบรวมออกแบบมาเพื่อใช้ในการเป็นเครื่องมือชวนโสเหล่เสวนาในครั้งนี้

ภาพอนาคต “อีสานเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์” ปี 2570

เมืองแห่งหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (City of Crafts & Folk Arts)

อีสานเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เมืองแห่งหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (City of Crafts & Folk Arts) โดยภาคชุมชนเป็นกำลังหลักเห็นถึงความสำคัญและขีดความสามารถในท้องถิ่น ทั้ง ศิลปะวัฒนธรรม ประเพณี กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีเอกลักษณ์ กว่า 23 ชาติพันธุ์  และงานหัตถกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่หลากหลาย ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชุมชน และการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ พร้อมนำวัฒนธรรมที่สั่งสมมานานใช้เป็นทุนเพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์ในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้ ข้อมูลที่มีการศึกษารวบรวมเป็น Data base และเผยแพร่อย่างเป็นระบบ เพื่อนำมาต่อยอดวัฒนธรรมที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้บริโภคที่หลากหลาย โดยคำนึงถึงการตลาดที่ต้องใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มมากขึ้น

เมืองแห่งภาพยนตร์ (City of Film)

อีสานเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เมืองแห่งภาพยนตร์ (City of Film) โดยภาคเอกชนเป็นกำลังหลักบูรณาการทำงานร่วมกันในแนวระนาบ สร้างโอกาสส่งเสริมด้านการลงทุน รวมทั้งเชื่อมโยงการตลาดในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เช่น การจัดงานเทศกาลภาพยนตร์ (Film Festival) ส่งเสริม Creator นักสร้างหนังหน้าใหม่ รายย่อยในท้องถิ่น ควบคู่กับการส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวที่หลากหลาย ทั้ง แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ทางธรรมชาติ และวิถีวัฒนธรรม เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและการลงทุน ซึ่งจำเป็นที่รัฐท้องถิ่นและภาคเอกชนต้องลงทุนสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ พร้อมสร้างระบบนิเวศการท่องเที่ยวในพื้นที่อีสานใต้ รองรับความต้องการบริโภคของนักท่องเที่ยว และผู้สร้างภาพยนตร์

เมืองแห่งดนตรี (City of Music)

อีสานเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เมืองแห่งดนตรี (City of Music) โดยท้องถิ่นและส่วนภูมิภาคเป็นกำลังหลัก ร่วมขับเคลื่อนการเปิดพื้นที่และสร้างโอกาสในการทำงานของศิลปิน และนักสร้างสรรค์ทุกระดับ ทั้ง ศิลปินพื้นบ้าน ศิลปินอีสานคลาสสิก ศิลปินอีสานอินดี้ ผสมผสานพหุวัฒนธรรมดนตรีร่วมสมัย เชื่อมโยงการทำงานอย่างมีส่วนร่วม ทั้งในระดับชุมชน ท้องถิ่น ระดับชาติ และนานาชาติ ซึ่งจำเป็นต้องมีการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์อย่างเป็นรูปธรรมให้กระจายการเข้าถึงที่หลากหลาย พร้อมสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพงานดนตรี เครื่องดนตรี  เครื่องเสียง เวทีการแสดงและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องความต้องการของผู้ชมผู้ฟังผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม ซึ่งปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว

“อีสาน” ในม่านสายตาคนรุ่นใหม่

หนังอีสานกับคนอีสาน

เสียงฉะฉานจับใจกับนักแสดงหน้าใหม่ ธัญญรัตน์ บุตริน “ในฐานะของตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่ถ่ายทอดความเป็นอีสานผ่านการแสดง แน่นอนว่าปัจจุบันสามารถเป็นเมืองแห่งภาพยนตร์ได้เลย เพราะภาพยนตร์หนึ่งเรื่องเขารวมความเป็นอีสานไว้หมดไม่ว่าจะ วัฒนธรรมอีสาน อาหาร วิถีชีวิต ศิลปะการแสดง ดนตรี โดยมีการดีไซน์ให้เป็นหนังเรื่องหนึ่งและเผยแพร่ออกไปสู่สายตาคนรุ่นใหม่ ” เธอกล่าวด้วยถ้อยคำที่หนักแน่นปะปนไปด้วยความจิ้มลิ้ม

หมอลำ เสียงแคน กับคนอีสาน

แววตาที่มั่นคงอบอวลไปด้วยความอ่อนน้อมพร้อมกับเสียงที่หนักแน่นของหนุ่มเลือดอีสาน พรพิพัฒน์ บุราณเดช หรือ เชอร์ปอนด์  “เมืองแห่งดนตรี มาแน่นอน เพราะไม่ว่าจะกิจกรรม ประเพณีต่างๆในภาคอีสานต่างก็มีดนตรีที่เข้าประกอบและในปัจจุบันเองก็มีการนำดนตรีมาประยุกต์ให้มีความทันสมัยเพิ่มมากขึ้น เกิดความผสมผสานและทำให้ดนตรีอีสานมีความโกอินเตอร์ สิ่งสำคัญคือสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เพิ่มมากขึ้น”

หลังจากที่เขากล่าวเสร็จแววตาที่มั่นคงในช่วงแรกก็เปลี่ยนเป็นแววตาแห่งความหวงแหนและกล่าวขึ้นอีกว่า  “ผมมีความตั้งใจที่จะเป็นศิลปินรุ่นใหม่ที่ดีเป็นแบบอย่างให้กับคนรุ่นหลังที่อยากรักษาอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นบ้านร่วมไปกับผมด้วย”

เสียงที่เอ่อล้นไปด้วยทำนองของอีสานผสมผสานกับความล้ำสมัย ซัน นันธชัย “สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นที่สุด คือการตระหนักให้รู้ว่าเราคือใคร ผมเป็นคนอีสาน เว้าอีสาน เกิดความภูมิใจในเชื้อชาติบ้านเกิดเจ้าของ รักในศิลปะของพ่อของแม่ ในรอบ 50 ปีนี้มีหลายอย่างที่หล่นหายจากพื้นแผ่นดินอีสาน แต่ในทางกลับกันก็มีอีกหลายสิ่งที่ผุดเกิดขึ้นมาใหม่เช่นเดียวกัน เราอยากทำทั้งงานร่วมสมัยคืออยู่ในปัจจุบันได้และงานที่ล้นสมัยที่มันเกิดการพัฒนาเติบโตขึ้นในอีก 5ปี 10ปี เมื่อเรารู้ว่าเราคือใครการทะยานไปสู่ข้างหน้ามันเหมือนกับเราดึงสายธนู ยิ่งเรารู้ว่าอดีตเราเป็นอย่างไร ลูกธนูของเราก็ยิ่งจะพุ่งขึ้นไป ฉะนั้นแล้วผมคิดว่าทั้งสามหัวข้อคือเรื่องเดียวกันเพียงแค่เราเอาออกมาแยกกันเฉยๆ”

ความเห็นเหล่านี้ คือ เสียงของคนรุ่นใหม่ ทำให้เราเองรู้สึกว่า มีบางอย่างกำลังบีบบังคับให้เราเป็นเช่นนั้นอยู่ หากเป็นคุณเองจะรู้สึกเช่นไรเมื่อถูกหลงลืม และคุณมองคนอีสานเป็นคนแบบไหน คุณใช่คนที่ถูกสร้างจากภาพจำหรือไม่ ? นี่เป็นคำถามที่อาจยังไม่ต้องตอบ แต่อยากชวนผู้อ่านได้ฟังเสียงอักษรที่ ข้อย ซึ่งเป็นผู้เขียนได้เรียบเรียงถ้อยความจากวงสนทนา “เศรษฐกิจสร้างสรรค์กับคนอีสานรุ่นใหม่” เพื่อเปิดมุมมองต่อคนอีสานให้กว้างและไกลออกไปจากภาพจำของสื่อเดิม

“นี่ล่ะเมืองอีสานของข่อย ต่อให้ไผสิวาฮ้าย สุดท้ายข้อยกะภูมิใจในบ้านเกิดเมืองนอนเจ้าของ เพราะข้อยเป็นสายเลือดลูกอีสานขนานแท้ที่พร้อมเรียนรู้และพัฒนาเข้าสู่สากล”

แต่ก่อนที่ทุกคนจะรู้จักเมืองอีสานก็คงขาด สื่อ ที่เป็นตัวกลางสำคัญต่อการเผยแพร่ออกไปยังโลกออนไลน์ ไม่ได้จริงๆ สิ่งสำคัญต่อการรับรู้ข่าวสารทางโลกออนไลน์นั้นเราต่างต้อง “รู้เท่าทันสื่อ” เพราะสื่อบนโลกออนไลน์ล้วนแล้วแต่มีทั้งข้อเท็จและกลลวง ฉะนั้นแล้วเรามาใช้พื้นที่สื่อพื้นที่แห่งสาธารณะสร้างสื่อให้เกิดประโยชน์และสร้างสื่ออย่างสร้างสรรค์ไปด้วยกัน

แล้วมาร่วมขับเคลื่อนเมืองอีสานสู่เมืองแห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์ “มาโฮมกันสร้างเฮือนให้เป็นเฮือน กำลังสำคัญคือเริ่มจากโตเฮาเอง”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ