คุยกับ สงกรานต์ สมจันทร์ : ก่อนบินลัดฟ้าพาดนตรีล้านนาปิ๊กบ้าน

คุยกับ สงกรานต์ สมจันทร์ : ก่อนบินลัดฟ้าพาดนตรีล้านนาปิ๊กบ้าน

 

คุยกับ สงกรานต์ สมจันทร์

ก่อนบินลัดฟ้าพาดนตรีล้านนาปิ๊กบ้าน

20162609110006.jpg

สงกรานต์ สมจันทร์  ผู้จะเดินทางไปรับมอบข้อมููลดนตรีล้านนาจาก Gerald P.Dyck 

 

1   ตุลาคม นี้ สงกรานต์ สมจันทร์ อาจารย์หนุ่ม สาขาวิชาดนตรีและศิลปะการแสดง คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ จะเดินทางไปแมสซาลูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อรับมอบ Handy Drive อันเล็กๆ จากชายชราวัย 77 ปี  พ่อครูจริยา  หรือ Gerald P.Dyck 

ยุค Thailand 4.0 จะรับของที่เป็นดิจิตอลไฟล์ แต่ต้องออกเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลจากไทยไปอเมริกา  นั่นหมายความว่า สิ่งของและบุคคลที่จะไปพบย่อมสำคัญและมีความหมายมาก  “ทีมข่าวพลเมือง” ได้คุยกับสงกรานต์ เพื่อรู้จัก Gerald P.Dyck  ผู้กำความลับดนตรีพื้นเมืองยุคลุงต๋าคำ คงพอให้รู้ถึงเหตุผลมากขึ้น

ทีมข่าวพลเมือง:  พ่อครูจริยะเป็นใคร สำคัญอย่างไรคะ

สงกรานต์ :  ครั้งแรกที่ผมได้รู้จักท่าน พ่อครูจริยะ หรือ Gerald P.Dyck  ผ่านหนังสือ  Musical Journeys in Northern Thailand  ตอนเรียนปริญญาตรี เห็นแล้วสนใจเพราะมีทั้งข้อมูลเกี่ยวกับดนตรีพื้นเมืองภาคเหนือและภาพที่หายากมาก เลยอีเมล์และสไกป์ไปหาท่านและคุยกัน สอบถามข้อมูล พ่อครูแม่ครู การสืบทอด สถานการณ์ดนตรีพื้นเมืองช่วงนั้น และเมื่อเขียนบทความหรือทำงานวิจัยก็จะอ้างอิงงานของท่าน เพราะท่านเป็นผู้บันทึกภาพและเสียงเกี่ยวกับดนตรีพื้นเมืองล้านนายุค 2510-2514 ไว้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเรื่องเปียะ เครื่องดนตรีพื้นเมืองที่กำลังจะสูญหายไปจากสังคมล้านนา

20162609104234.jpg
การบันทึกข้อมูลเสียงในยุค 2010 เป็นเรื่องใหม่มาก Dyck ได้เก็บข้อมูลภาพและเสียงไว้กว่า 1,400 เพลง

 

พ่อครู Gerald P.Dyck   หรือที่เรียกกันว่า พ่อครูจริยะ มาเมืองไทยครั้งแรกช่วงสงครามเวียดนาม โดยเป็นครูอาสาที่ฟาร์มสัมพันธกิจ จ.เชียงรายเมื่อ พ.ศ.2503 สอนดนตรีและภาษาอังกฤษ  เริ่มสนใจดนตรีไทยและดนตรีพื้นเมืองเหนือเพราะฝากตัวเป็นศิษย์พ่อครูอินทร์หล่อ และแม่ครูพลอยสี สรรพศรี อดีตนักดนตรีและช่างฟ้อนในคุ้มพระราชชายาเจ้าดารารัศมี จากนั้นไม่นานได้กลับไปเรียนต่อ และกลับมาเชียงใหม่ใน พ.ศ. 2510 เพื่อเป็นอาจารย์ดนตรีที่วิทยาลัยศาสนศาสตร์แห่งประเทศไทย (วิทยาลัยพระคริสต์ธรรม)   เวลาว่างจะไปคุยกับพ่อครูแม่ครูเพลงพื้นบ้านตามที่ต่างๆ พร้อมกับเครื่องบันทึกเสียงและกล้อง ซึ่งยุคนั้นอุปกรณ์เหล่านี้หายากมากๆ และท่านได้บันทึกเทปรีลไว้นับร้อย จัดเก็บอย่างเป็นระบบและเขียนบทความไว้จำนวนหนึ่งไว้ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียลอสแอนเจิงลิส เกี่ยวกับพิณเปียะ  ดนตรีของคนตาบอด การสร้างกลองของคนเมือง ซึ่งนักวิชาการดนตรีสมัยนั้นเห็น ก็นำมาอ้างอิงการรื้อฟื้นพิณเปียะ และต่อมาท่านพิมพ์หนังสือประวัติของท่านและเรื่องราวของดนตรีพื้นเมือง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ไม่เคยมีมาก่อน  ทั้งที่เป็นช่วงที่สำคัญมาก 

20162609104311.jpg

 

ทีมข่าวพลเมือง:    ข้อมูลที่ท่านจะมอบให้มีอะไรบ้าง

สงกรานต์ :  เป็นภาพถ่าย ภาพวีดิโอ ที่ท่านถ่ายจากภาคสนามเกี่ยวกับดนตรีในสังคมและวัฒนธรรมช่วง พ.ศ. 2510-2514 มากพอสมควร เพราะช่วงนั้นแทบจะไม่มีการบันทึกสิ่งเหล่านี้เพราะกล้องหายาก  และที่หายากกว่าคือเสียง สมัย ท่านบันทึกเสียงผ่านเทปรีล 100 กว่าเทป เทปเหล่านั้นได้มอบให้มหาวิทยาลัยอินเดียน่า เมืองบลูมิงตัน รัฐอินเดียน่าทำเป็นดิจิตอลไฟล์  ซึ่งท่านจะมอบไฟล์ทั้งหมดมาให้ประเทศไทย เพื่อให้นักวิชาการศึกษาต่อไป ก่อนหน้านี้ท่านก็ได้พยายามจะส่งข้อมูลเหล่านี้ให้กับพ่อครูแม่ครูที่เคยบันทึกเสียงไว้ หรือคนที่สนใจศึกษา อีเมล์ไปหาท่าน ท่านจะส่งข้อมูลมาให้เป็นไฟล์ ครั้งนี้ท่านจะส่งมอบให้อย่างเป็นทางการ   ตอนผมอีเมล์ไปหาท่านครั้งแรก ท่านบอกว่า ขอบคุณมากที่สนใจเรื่องนี้   อยากให้คนไทยได้ศึกษา 

20162609104332.jpg

 

ทีมข่าวพลเมือง: เรื่องราวที่บันทึกไว้ในยุคนั้นสำคัญอย่างไร

สงกรานต์: เป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากนะครับ คือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน พ.ศ. 2482 ระบบคุ้มเจ้าหลวงองค์สุดท้ายกเลิกไป มีผลให้ดนตรีในคุ้มกับดนตรีชาวบ้านเจอกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน กว่าจะมาคลี่คลาย ก็พ.ศ.2520 ที่เรามีสถาบันการศึกษา การเรียนการสอนดนตรี มีการเข้ามาของความบันเทิงสมัยใหม่เช่นวิทยุ ข้อมูลช่วงนั้นยืนยันได้ว่าดนตรีพื้นเมืองมีการเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง  

ทีมข่าวพลเมือง:   เห็นมีภาพที่พ่อครูบันทึกเสียงลุงต๋าคำ และคนยุคนี้ที่พอจะรู้จักนักดนตรีพื้นเมืองยุคนั้นก็คือลุงต๋าคำนี้

สงกรานต์ : ลุงต๋าคำเป็นนักดีดซึง ที่มีฝีมือชนิดหาคนดีดอย่างนี้ไม่ได้อีกแล้ว คือดีดไปด้วย ซอได้ด้วย และยังจ้อยได้อีกทั้งที่ตาบอดทั้งสองข้าง แสดงว่ามีปฏิพานกวีที่สามารถจดจำเนื้อเรื่องได้ ซึ่งเรื่องราวของลุงต๋าคำเป็นแรงบันดาลใจให้จรัล มโนเพ็ชร นำไปทำเป็นเพลง  ซึ่งพ่อครูจริยะ ได้สังเกตุเห็นลุงต๋าคำมาดีดซึงหน้าตลาดประตูเชียงใหม่ คนๆนี้ไม่ธรรมดาเลย เลยร่วมกันบันทึกภาพวีดิโอ ร่วมกับ ศาสตราจารย์ เดวิด มอร์ตัน ซึ่งตอนนั้นเข้ามาทำวิทยานิพนธ์ด้านดนตรี และยังได้บันทึกวงพาทย์ค้องคณะวัดเชียงยืน วงกลองตึ่งโนง วงกลองปูเจ่ การฟ้อนดาบโดยพ่อครูคำ กาไวย์ และยังมีผลงานที่พ่อครูได้ทำร่วมกับอ.ไกรศรี นิมมานเหมินท์ และข้อมูลเกี่ยวกับการดีดพิณเปียะด้วย  

 20162609104345.jpg
Gerald P.Dyck  และ ลุงต๋าคำ ไชยวงศ์ วนิพกตาบอด ที่มาของบทเพลง ลุงต๋าคำ ของจรัล มโพเพ็ชร
 

ทีมข่าวพลเมือง:  การค้นคว้าเรื่องพิณเปียะของพ่อครูจริยะ ส่งผลต่อการรื้อฟื้นเครื่องดนตรีชนิดนี้อย่างไร

สงกรานต์: บทความเรื่อง The Vanishing Phia :An Ethnomusicological Photo-Story  ที่พ่อครูเขียนถึงเครื่องดนตรีล้านนาโบราณที่กำลังจะสูญหาย เป็นแรงบันดาลใจให้นักวิชาการดนตรีรุ่นหลังตื่นตัวมาก เพราะการรับรู้ของแวดวงดนตรีพื้นเมืองล้านนาคือ เปียะไม่มีแล้ว แม้แต่อ.ถวัลย์ ดัชนีก็ได้ไปยินเสียงพิณเปียะที่เมืองนอก  ตอนนั้น อ.ประสิทธิ์ เลียวสิริพงศ์ เรียนด้านมานุษยวิทยาดนตรีที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติฟิลิปปินส์   เห็นภาพพ่ออุ้ยบ้านแป้นที่เสียชีวิตตอนพ่อครูจริยะไปเก็บข้อมูลพิณเปียะ รู้สึกสะเทือนใจ ก็ร่วมกับคนในแวดวงช่วยกันสืบค้น เช่น อ.ณรงค์ สมิทธิธรรม  อ.รักเกียรติ ปัญญายศ อ.ถวัลย์ ดัชนี และอีกหลายท่านในยุคนั้น เริ่มจากบทความชิ้นนั้น จนตอนนี้มีการศึกษาและสืบสานพิณเปียะมากมาย    

20162609104400.jpg

20162609104645.jpg

บันทึกภาพสนามของ Gerald P.Dyck

องศาเหนือ : การศึกษาดนตรีล้านนาของพ่อครูจริยะมีข้อค้นพบอะไรบ้าง

สงกรานต์ : ช่วงสงครามเวียดนาม มีนักมานุษยวิทยาชาวต่างชาติ เข้ามาศึกษาในภาคเหนือมาก ทั้งชาติพันธ์ ความเชื่อ วัฒนธรรม 

พ่อครูจริยะเป็นนักมนุษยวิทยาดนตรี หรือดนตรีชาติพันธ์วิทยา คือจะศึกษาดนตรีในวัฒนธรรม ปกติถ้าศึกษาดนตรีจะศึกษาทฤษฎีดนตรี การวิเคราะห์ แต่การศึกษาด้านมานุษยวิทยา จะศึกษาว่าดนตรีรับใช้มนุษย์ในสังคมวัฒนธรรมอย่างไร  และข้อค้นพบของพ่อครูจริยะที่เห็นว่าน่าสนใจคือ ดนตรีพื้นเมืองล้านนาไม่ถูกถหยิบใช้ไปโดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ดนตรีรับใช้คนทั่วไปไม่ว่าจะมีตำแหน่งแห่งที่ใด ชาวบ้าน พระ เจ้านาย จะใช้ดนตรีในลักษณะเดียวกัน แตกต่างกับที่อื่นที่มีคลาสของดนตรีแตกต่างกัน ข้อค้นพบอีกข้อคือดนตรีจะมีบทบาทแยก 2 ทางคือในพิธีกรรมกับบันเทิง เมื่อก่อนจะแยกในการใช้งานชัดเจน แต่ปัจจุบันเริ่มคลี่คลายมีการปรับใช้มากขึ้นมีความแยกกันอย่างเห็นได้ชัด ปัจจุบันนี้เริ่มคลี่คลาย ปรับใช้มากขึ้น  

ทีมข่าวพลเมือง: เตรียมการไปรับมอบของจากพ่อครูอย่างไร

สงกรานต์ : วันที่ 1 ตุลาคม ผมเดินทางไป ถึงบอสตันท่านให้ไปพักที่บ้านท่าน จะรับมอบไฟล์ต่างๆ ที่บ้านท่าน  และทราบว่า ท่านได้ขนเครื่องดนตรีพื้นเมืองจากบ้านเราไปด้วย และบริจาคให้กับมหาวิทยาลันเคนส์เตทในรัฐโอไฮโอ ก็จะไปเยี่ยมชมเพื่อดูเครื่องดนตรีในช่วงนั้นเพื่อศึกษาเรื่องเสียงและกายภาพด้วยครับ

 

ทีมข่าวพลเมือง:  ของที่ให้เป็นไฟล์แล้ว ทำไมไม่ส่งทาง google drive หรือ อีเมล์ ?

สงกรานต์ :  ไฟล์มันหลายจิ๊กมากเลยนะครับ ไฟล์เสียง 1,400  ภาพจำนวนมาก หลายร้อยภาพ  บันทึกภาคสนามอีก แต่ที่สำคัญ เราได้ไปเจอตัวเป็นๆ ของท่าน  ได้กล่าวคำขอบพระคุณจริงๆ ที่ท่านมอบข้อมูลเหล่านี้คืนให้กับประเทศไทย  อย่างน้อยก็ได้ใจ ได้ความเข้าใจกันด้วย

20162609104420.jpg
พิณเปียะ เครื่องดนตรีล้านนาที่กำลังจะสูญหาย ได้ถูกรื้อฟื้น ค้นคว้า และหาทางสืบสานหลังบทความของเขาเผยแพร่

ทีมข่าวพลเมือง:  ข้อมูลที่ได้จะดำเนินการอย่างไรต่อ

สงกรานต์ :  สิ่งแรกเลย ต้องมาศึกษาจัดว่า มีกลุ่มใดบ้าง วงดนตรี นักดนตรี จ้อย ซอ ค่าว จากนั้นจะจัดสัมมนาเกี่ยวกับข้อมูลเกล่านี้ เชิญบุคคลที่ร่วมสมัยนั้น ที่พ่อครูจริยะบันทึกเสียงไว้และท่านยังมีชีวิตอยู่ เช่น พ่อครูสวัสดิ์ ต่ายพูล พ่อครูอินทรัตน์ มูลชัยลังกา หรือลุงอี๊ด วงเชียงยืน จะเรียนเชิญมาฟังเพลงที่ท่านได้เล่นในช่วงนั้น และสุดท้ายจะทำ ฐานข้อมูลดนตรีล้านนา Gerald P. Dyck เป็น Online Data ที่ทุกคนเข้ามาศึกษาได้ โดยใช้โฮสติ้งของมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ ซึ่งทุกคนจะเข้าไปใช้ได้ทั้งภาพและเสียงเพื่อการศึกษาครับ

20162609111342.jpg

20162609111438.jpg

 Gerald P.Dyck  ยังนำดนตรีล้านนาไปสอนและเผยแพร่ในสหรัฐอเมริกา

 

 

ภาพบรรยากาศงาน คอนเสิร์ท ดนตรีล้านนาปิ๊กบ้าน 24 กันยายน 2559  ณ เรือนอนุสารสุนทร 

20162609110314.jpg

Gerald P.Dyck  ได้ Skype มาพูดคุย ร้องค่าว เป่าแคน และเล่าการเก็บข้อมูลของเขาในยุคนั้นให้ฟังสดๆ 

20162609110326.jpg

 

20162609110818.jpg

20162609110839.jpg

20162609110857.jpg
คณะนักร้องประสานเสียงเชียงใหม่ ร่วมการแสดง 

20162609110920.jpg
เดี่ยวพิณเปียะ โดยครูต้น ดนุพล อุดดง

20162609110940.jpg
วงทิพย์ โดย อาจารย์โจ บฤงคพ วรอุไร  ผู่ชักชวนให้เกิดงานคอนเสิร์ตดนตรีล้านนาปิ๊กบ้าน 

20162609111828.jpg
อ.เทพศิริ สุขโสภา เพื่อนของ Gerald P.Dyck ที่รู้จักกับเขาช่วงมาเก็บข้อมูล  มาวาดภาพร่วมระดมทุน

 

 

ขอบคุณภาพประกอบจาก อ.สงกรานต์ สมจันทร์ 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ