ถอดบทเรียนการต่อสู้ ปกป้องสิทธิชุมชน กรณีปากบารา เขาคูหา เทพา – จะนะ

ถอดบทเรียนการต่อสู้ ปกป้องสิทธิชุมชน กรณีปากบารา เขาคูหา เทพา – จะนะ

วงถอดบทเรียนการต่อสู้ ปากบารา เขาคูหา เทพา-จะนะ

การขับเคลื่อนของภาคประชาชนในพื้นที่ภาคใต้หลายปีที่ผ่านมา พยายามส่งเสียงเรียกร้องไปยังภาครัฐให้มีการรับฟังเสียงคนในพื้นที่ ต่อโครงการพัฒนาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น อย่าง โครงการโรงไฟฟ้า การทำเหมืองหิน ท่าเรือน้ำลึก นิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เป็นต้น ซึ่งหลายครั้งเสียงของคนเหล่านี้ก็ส่งผลให้โครงการหยุดชะงักลง แลกกับการโดนดำเนินคดี จากกระบวนการต่อสู้การแสดงความคิดเห็นด้วยการชุมนุม การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ

จากเวทีเสวนา “จากปากบารา เขาคูหา ถึงจะนะ – เทพา สู่ชัยชนะของชุมชน” เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา เป็นการถอดบทเรียนการต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนในพื้นที่ภาคใต้ จากกรณีปากบารา เขาคูหา เทพา – จะนะ จากการต่อสู้นำมาซึ่งกระบวนการดำเนินคดี และกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้น โดยนักวิชาการ นักกฎหมาย และเครือข่ายสิทธิชุมชน ร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็น “การปกป้องสิทธิชุมชน” เหตุปัจจัยการถูกดำเนินคดีของพี่น้องปากบารา เขาคูหา จะนะ และเทพา รวมถึงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมการรับรอง “เสรีภาพในการชุมนุม สิทธิชุมชน”

เครือข่ายปากบารา เขาคูหา เทพา-จะนะ

“ชุมชนไม่ได้มีความขัดแย้งเดิม แต่คนที่สร้างความขัดแย้งคือ กลุ่มทุนที่มาทำธุรกิจ และส่งผลกระทบให้กับชาวบ้าน”

สุวรรณ อ่อนรักษ์ สมาคมพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา

“สิทธิการชุมนุมเป็นเรื่องพื้นฐานในสังคมประชาธิปไตย การรวมกลุ่ม รวมตัวเพื่อเรียกร้อง สิทธิทางสังคมทางการเมือง เป็นเรื่องปกติ ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ก็ต้องเปิดกว้างสำหรับการแสดงออกในลักษณะแบบนี้อยู่แล้ว”

สมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนระดับชาติ หรือ กป.อพช.
ชายหาดปากบารา

การต่อสู้ยกที่หนึ่ง จนถึงยกฟ้อง

ย้อนกลับไปช่วง พฤศจิกายน 2560 กลุ่มคัดค้านท่าเรือน้ำลึกปากปารา ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล ถูกตั้งข้อกล่าวหาร่วมกันชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันบุกรุกสถานที่ราชการในยามวิกาล หลังเคลื่อนไหวชุมนุมคัดค้านการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 หรือเวที ค.1 โครงการท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา ที่โรงเรียนบ้านปากบาง อ.ละงู จ.สตูล เมื่อวันที่ 15-16 มีนาคม 2560 ศาลจังหวัดสตูลยกฟ้อง 9 แกนนำประท้วงเวทีรับฟังความเห็นสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราเมื่อมีนาคมปี 2560

ต่อมา (25 ธ.ค. 2563) ศาลจังหวัดสตูล มีคำพิพากษายกฟ้อง คดีที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้อง 9 แกนนำชาวบ้านจาก “เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาสตูล – สงขลา” ในข้อหาบุกรุกสถานที่ราชการ จากเหตุการณ์ชุมนุมคัดค้านการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (เวที ค.1) โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ที่โรงเรียนปากบาง อ.ละงู จ.สตูล เมื่อวันที่ 15-16 มี.ค. 2560 โดยศาลอ้างไม่มีการบุกรุกที่ประชุม และการชุมนุมก็เป็นไปโดยสงบอีกทั้งการชุมนุมก็เป็นการเรียกร้องยกเลิกเวทีและให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

สมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนระดับชาติ

สมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนระดับชาติ หรือ กป.อพช. กล่าวว่า “ปรากฏการณ์ทางคดีของชุมชนที่สร้างความหวั่นไหวให้กับภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และชุมชน ด้วยการออกมาต่อสู้ และโดนกระทำ เป็นสิ่งที่คนในชุมชนตระหนักพอสมควร นับตั้งแต่ในยุคพี่น้องปากบารา ที่โดนคดี 9 บุคคล พี่น้องเทพาโดนคดี 17 บุคคล รวมถึงคดีพี่น้องเขาคูหาที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับกลุ่มทุนที่เป็นกลุ่มระเบิดหินสู้จนชนะคดี แล้วมาถึงคดีพี่น้องจะนะในปัจจุบัน เป็นเรื่องนิคมอุตสาหกรรม ที่โดนจับจากการสลายการชุมนุมที่หน้าทำเนียบ ซึ่งในทุกคดีที่กล่าวมาข้างต้นเกือบทั้งหมดเราชนะคดี ส่วนประเด็นพี่น้องจะนะที่ยังไม่ถึงขั้นขึ้นศาล แต่สุดท้ายทางเจ้าพนักงานอัยการไม่มีการสั่งฟ้อง เพราะเป็นปัจจัยที่มีเหตุมีผล ก็เป็นตัวอย่างการยืนยันสิทธิของชาวบ้านที่ออกมาเรียกร้องเรื่องสิทธิส่วนรวมได้อย่างชัดเจน”

กิจกรรมชุมชนเครือข่ายพีมูฟ

9 ปี คสช. วิกฤติเสรีภาพภาคประชาชน

ในช่วง 9 ปี ตั้งแต่รัฐบาลประยุทธ์ในยุค คสช. จนมาถึงรัฐบาลประยุทธ์ที่ผ่านการเลือกตั้ง เป็นช่วงเวลา 9 ปี วิกฤติในเรื่องของสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ถูกละเมิดค่อนข้างชัดเจน ซึ่งอาจจะไม่ใช่แค่ในทางการสำรวจทางการเมืองเท่านั้น ถ้าเราย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ในเรื่องของการออกมาของพี่น้องประชาชนในหลายกลุ่มใหม่ ๆ ไม่ใช่แค่เฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ รวมทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคตะวันออกทุกภาคที่ออกมาต่างก็โดนกดทับด้วยเรื่องคดีความ ซึ่งเป็นยุคหนึ่งที่เป็นบทเรียนกับคนในสังคมไทย

ภาคประชาสังคมฯ – ภาคี น.ศ. 3 มหาวิทยาลัย ร่วมแถลงต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน วันที่ 25 ส.ค. 2560

สลายการชุมนุม “เทใจให้เทพา” วันที่ 27 พ.ย. 2560

อีกคดีที่เกิดขึ้นในยุครัฐบาลคสช. คือกรณีที่เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ได้ทำกิจกรรมเดินเท้าจากอำเภอเทพาเพื่อไปยื่นหนังสือต่อพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเดินทางมาประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรในตัวอำเภอเมืองสงขลา เพื่อเรียกร้องให้ยุติการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา แต่ในช่วงบ่ายของวันที่ 27 พ.ย. 60 ชาวบ้านผู้ร่วมกิจกรรมได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง ร่วมกันเข้าสกัดกั้นและใช้กำลังเข้าจับกุม จนนำมาสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีกับชาวบ้านเครือข่าย จำนวน 17 คน (หนึ่งในจำนวนนี้เป็นเยาวชนอายุ 16 ปี) ในหลายข้อหา ทั้งความผิดตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ, ข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน, ข้อหากีดขวางการจราจร, ข้อหาพกพาอาวุธ (ไม้คันธง) ไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต

โดยคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษา ข้อหาแรก ไม่แจ้งการชุมนุม 24 ชั่วโมง ศาลมองว่ามีความผิด และเป็นโทษปรับ ส่วนข้อหาทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน เรื่องกีดขวางการจราจร ทำร้ายร่างกาย ศาลชั้นต้นยกฟ้อง เพราะโจทย์ก็สืบพยานไม่ได้ว่าทำร้ายร่างกายอย่างไร

ส่วนในชั้นศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้มีความผิด ทั้ง 2 ข้อหา คือ ความผิดต่อ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ที่ไม่แจ้งภายใน 24 ชั่วโมง และข้อหาที่ 2 ทำร้ายร่างกายก็มีความผิด โดยมองว่ามีเหตุฝ่าเข้าไปจริง แต่เรื่องกีดขวางจราจรยกฟ้อง ทางเครือข่ายและประชาชนจึงยื่นฎีกา ซึ่งศาลพิจารณายกฟ้องทั้ง 2 ข้อกล่าวหา

ทนาย ส.รัตนมณี พลกล้า จากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน

ทนาย ส.รัตนมณี พลกล้า จากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน อธิบายถึงคดีปากบารา และคดีเดินเทใจให้เทพา ในเวทีเสวนา “จากปากบารา เขาคูหา ถึง จะนะ – เทพา สู่ชัยชนะของชุมชน” ว่าคำตัดสินของศาลเป็นบรรทัดฐานที่ ในประเด็นสิทธิชุมชน-เสรีภาพในการแสดงออก แสดงความเห็นและการชุมนุม ซึ่งบรรทัดฐานที่เกิดขึ้นแบ่งออกเป็นรายคดีได้ดังนี้

คดีปากบารา

  • การรับรองสิทธิในการปกป้องทรัพยากร
  • การพิจารณากฎหมายเพิ่มให้เกิดการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิ

คดีเดินเทใจให้เทพา

  • รับรองสิทธิในการปกป้องสิทธิของตน
  • พิจารณานางการนำสืบในเชิง โจทก์สืบไม่ได้ว่า การตะโกนว่าหิวข้าวเป็นการนัดหมาย โจทก์ไม่มีพยานยืนยันว่าจำเลยเป็นคนผลักดันทำร้ายเจ้าหน้าที่
  • พรบ.ชุมนุม คำนิยาม “การชุมนุม” “ผู้จัดการชุมนุม” การโพสต์ชักชวนและแสดงตนถือเป็นผู้จัดชุมนุม “การผ่อนผันการชุมนุม” (ศาลวินิจฉัยว่าเป็นการชุมนุมโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยการรับรองสิทธิในเรื่องของการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ)
ภาพเขาคูหาในปัจจุบันที่ถูกพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว

เหมืองหินหายไป ทิ้งภูเขาให้ชาวบ้านฟื้นฟู

อีกหนึ่งกรณีตัวอย่าง “เขาคูหา” บริษัทเอกชนฟ้องชาวบ้านที่ออกมาเรียกร้องว่า การทำเหมืองก่อให้เกิดผลกระทบทำให้เกิดเสียงดัง และบ้านร้าว ทำให้บริษัทฟ้องชาวบ้านที่ออกมาร้องเรียน เรียกค่าเสียหาย 64 ล้านบาท และต่อมามีการถอนฟ้องจนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบตัดสินใจฟ้องกลับ โดยศาลชั้นต้นตัดสินให้ผู้ได้รับผลกระทบชนะคดี แต่ภายหลังบริษัทดังกล่าวปิดตัวลง ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบไม่ได้ทรัพย์สินที่ชนะจากการฟ้องกลับ

ปัจจุบันการประกาศแหล่งหินอุตสาหกรรมปี 2542 ยังคงอยู่ และล่าสุดเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำแถลง ครั้งที่ 1 มีความเห็นเพิกถอนการประกาศแหล่งหิน “เขาคูหา” ซึ่งต้องรอคำพิพากษาจริงหลังจากนี้เนื่องจากยังไม่มีหนังสือออกมาเป็นที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม การดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมบริเวณเขาคูหา การปลูกแนวต้นไม้ และการจัดกิจกรรมเชิงอนุรักษ์เพื่อการเรียนรู้ ให้พื้นที่เขาคูหาได้กลับคืนสู่ธรรมรชาติ ต้องรอคำพิพากษาจริงหลังจากนี้

สุวรรณ อ่อนรักษ์ สมาคมพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา

สุวรรณ อ่อนรักษ์ สมาคมพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา กล่าวว่า “หลังจากการลุกขึ้นต่อสู้ของพี่น้อง เห็นได้ชัดเจนว่า เราเรียนรู้เรื่องผลกระทบ กลไกหรือวิธีการที่จะได้มาซึ่งสัมปทาน เราทำการบ้านเกี่ยวกับ EIA เพื่อศึกษา และเปิดโรงเรียนสิทธิชุมชนเขาคูหา เพื่อเรียนรู้เรื่องสุขภาพ กระบวนการเรื่องกฎหมาย เรื่องสิทธิในการเข้าถึงของชุมชน รวมถึงการหาเพื่อนที่มีหัวอกเดียวกันทั่วประเทศ จนเกิดเครือข่ายเจ้าของแร่แห่งประเทศไทยขึ้นมาเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล และการต่อสู้กันมา”

“การร้องเรียนผ่านกลไกในระบบของการบริหารประเทศ ตั้งแต่ระดับตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายก อำเภอ จังหวัด ไปจนถึงกระทรวงทบวงกรมที่เกี่ยวข้อง สุดท้ายเรามองว่า การที่จะยกเลิกการระเบิดหินที่เขาคูหา แล้วคืนเขาคูหาสู่ธรรมชาติได้จริง จะต้องไม่มีประกาศแหล่งหิน”

สุวรรณ อ่อนรักษ์ สมาคมพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา

กระบวนการต่อสู้หลายกิจกรรมที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนสิทธิชุมชนเขาคูหา กิจกรรมเลี้ยงน้ำชา หรือกิจกรรมขี่จักรยานแลเขาคูหา หรืออื่น ๆ ที่ได้จัดกันมาทุกปี ส่งผลถึงความไม่แน่นอนของกลไก หรือกระบวนการของรัฐ จาก พ.ร.บ. แร่ 2560 ที่จำกัดพื้นที่สัมปทานในระยะห่างเพียงแค่ 100 เมตร ทำให้มีการจัดซื้อที่ดินชาวบ้านเอาไว้แปลง จำนวน 4 ไร่ ผ่านการระดมทุนจากเครือข่าย โดยใช้พื้นที่ตรงนี้ เป็นห้องเรียนท้องนาเขาคูหา อนุรักษ์สายพันธุ์ข้าวเล็บนกแดงเขาคูหา สำหรับการคัดสรรสายพันธุ์เพื่อขึ้นทะเบียนสายพันธุ์ข้าวพื้นเมือง เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านเกษตรกรรมทางเลือก ให้กับเด็ก นักศึกษา และคนเมืองเข้าไปเรียนรู้วิถีการทำนาแบบดั้งเดิม

นอกจากนี้ การเปิดโรงเรียนสิทธิชุมชนเขาคูหา ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งที่เป็นเครื่องมือการเรียนรู้ของชุมชน ที่ว่าด้วยเรื่องกฎหมาย เรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของชุมชน มีการเชิญนักสิทธิมนุษยชน ศูนย์ข้อมูลทนายมาให้ความรู้ ตลอดจนการเปิดพื้นที่โรงเรียนตลอดลุ่มน้ำคลองภูมี ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำทะเลสาบสงขลา เพื่อเรียนรู้เรื่องสิทธิในการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำร่วมกัน

เขาคูหา

จากผลการศึกษางานวิจัย แนวทางการจัดการความขัดแย้งของชุมชน : บทเรียนจากกรณีการทําเหมืองหินเขาคูหา อําเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา พบว่า สถานการณ์การทําเหมืองหินเขาคูหาที่เกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งภายในชุมชนในช่วงระยะ 10 กว่าปีที่ผ่านมา สรุปได้จาก 4 ช่วงเวลาของการดำเนินโครงการ ดังนี้

  • ปี พ.ศ.2504–2521 เป็นช่วงบุกเบิกโดยชาวบ้านรอบเขาคูหา ใช้วิธีการตีหินด้วยมือให้แตก เพื่อใช้ในการสร้างบ้านเรือน และจําหน่ายในพื้นที่ใกล้เคียง
  • เป็นช่วงที่ภาคเอกชนเช่ารัฐทําเหมืองหินขาย และเริ่มการระเบิดหินอย่างเป็นทางการ ในปี พ.ศ.2522–2538
  • เป็นช่วงธุรกิจอุตสาหกรรมเหมืองหิน ประมาณปี พ.ศ.2539–2552 หลังคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบเปลี่ยนแปลงการระเบิดเหมืองหินแบบขั้นบันได โดยใช้เครื่องจักรกลทั้งระบบ และเข้าสู่การสัมปทานกับรัฐ โดยขอประทานบัตร และในวันที่ 26 มีนาคม 2539 มติเห็นชอบอนุมัติการใช้ประโยชน์แหล่งหิน 20 แหล่ง ใน 13 จังหวัดทั่วประเทศ ในพื้นที่ลุ่มน้ําชั้น1 บี ตามที่คณะกรรมการกําหนดแหล่งหินเพื่อการทําเหมืองหินอุตสาหกรรมเสนอตามมาด้วย
  • ชุมชนใช้สิทธิ์ทวงคืนทรัพยากร ในปี พ.ศ. 2553–2563 ซึ่งเป็นช่วงที่บริษัทชะลอการดําเนินการ แต่แหล่งหินอยู่ในสัมปทานต่อเนื่อง 2 บริษัท ทําให้มีเกิดการรวมตัวของชุมชนในนาม “เครือข่ายชุมชนพิทักษ์เขาคูหา” การร้องเรียนต่อทางอําเภอ เพื่อให้จัดการปัญหาจากผลกระทบต่อการทําเหมืองหินของชุมชน โดยขอให้บริษัททํา EIA หรือ EHIA ก่อนดําเนินการ และขอให้ระงับการสัมปทาน
กิจกรรมท้องเรียนท้องนาเขาคูหา

กระบวนการต่อสู้ที่มาจากฐานข้อมูลชุมชน

สุวรรณ อ่อนรักษ์ กล่าวเพิ่มว่า ฐานข้อมูลชุมชนเป็นเรื่องสำคัญ ที่เราต้องรู้ว่าอดีตเกิดขึ้นอย่างไร ปัจจุบันเป็นแบบไหน ส่วนอนาคตเราสามารถวาดฝันร่วมกันได้ โดยเอาข้อมูลเรื่องจิตวิญญาณ วิถีชีวิตของคนดั้งเดิม อย่างเช่น ตำนานชื่อเขาคูหา หรือนิทาน “จิปาถะ” เล่าต่อกันมาเป็นร้อยปี

“ข้อมูลที่มีเราใช้ร้องกรรมการสิทธิลงมาตรวจสอบข้อมูล และส่วนที่สอง คือ สถาบันมหาวิทยาลัยที่ลงมาทำวิจัย โดยผ่านกลไก หรือขั้นตอนกระบวนการวิจัย  ข้อมูลถูกรองรับจนสามารถอ้างอิงในเชิงวิชาการได้ผ่านงานวิจัยของนักศึกษา สถาบันการศึกษาหลาย ๆ สถาบัน ที่เราบอกว่ามีในเชิงวิชาการมาช่วยกันทำข้อมูล เราไปศึกษา CHIA เราใช้ช่องทางนี้ในการทำข้อมูลทั้งหมด เพราะฉะนั้น หนึ่งบทเรียนที่เราได้ ข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญแต่ต้องขึ้นอยู่กับพื้นฐานของข้อเท็จจริง”

สมบูรณ์ คำแหง กล่าวเสริมว่า บทเรียนที่เกิดขึ้น คือ การต่อสู้เรื่องคดีที่ใช้เวลา 3-4 ปี และในอนาคตสิ่งที่ต้องปรับตัวกับกลยุทธ์ของฝ่ายรัฐ และกลุ่มทุน รวมถึงสถานการณ์สังคม การเมือง การสื่อสารสมัยใหม่ที่เปลี่ยนไป เป็นความท้าทายของภาคประชาชนเหมือนกัน ที่ต้องปรับตัวในเรื่องของการต่อสู้กับสถานการณ์ ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป และเครื่องมืออำนาจรัฐที่อาจเปลี่ยนไปตามสถานการณ์

ชุมชนที่ยืนยันการออกมาปกป้อง เขาก็ต้องพร้อมที่จะโดนคดี และการโดนคดีกับรัฐบาลชุดใหม่  อาจจะไม่ได้เหมือนกับยุครัฐบาลชุดเก่า เป็นสิ่งที่เราต้องมาเรียนรู้ไปกับวาทกรรม ความเป็นประชาธิปไตยที่อาจจะเปลี่ยนไปด้วย”

author

เรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง related posts

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ