“ชาวจะนะ”กำหนดบ้านของตัวเอง

“ชาวจะนะ”กำหนดบ้านของตัวเอง

“ชาวจะนะ”กำหนดบ้านของตัวเอง

ทะเลคือความมั่นคงแห่งชีวิต

ในช่วงที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่จะนะ จ.สงขลา เริ่มทำฐานข้อมูลทรัพยากรในบ้านของตัวเอง เพื่อให้ให้ทุกคนได้รู้ว่าที่นี่มีความสมบูรณ์มากแค่ไหน บังรุ่งอรุณ หมัดเจริญ  ชาวประมง บ้านสวนกงเคยบอกกับเราว่า “ออกไปไม่ไกล วันนึงได้เเล้ว 2,000 บ้าง 3,000 บ้าง ทำงานไม่กี่ชั่วโมง แล้วแต่ ได้มากดีใจ งานบายๆ งานอิสระ” รายได้แต่ละวันในหลักพัน พอเฉลี่ยเป็นรายเดือน รายปีเเล้ว เยอะจนน่าตกใจ ก็อย่างที่ชาวบ้านบอกไว้ว่า ความสมบูรณ์ของทะเลที่นี่สามารถเลี้ยงคนในชุมชนและเป็นแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ให้คนในประเทศและต่างประเทศ 

มูลค่าเศรษฐกิจบ้านสวนกง คำนวนมาจากเส้นทางเศรษฐกิจที่มาจากการประมงใน 3 ตำบล 7 หมู่บ้านของอำเภอจะนะ พบรายได้ 1,341,500 บาท/วัน 26,830,000 บาท/เดือน 352,900,000 บาท/ปี

มีการสำรวจข้อมูลจากเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และภาคประชาชนในพื้นที่ ซึ่งมีข้อมูลน่าสนใจจากทรัพยากรทะเล  พบว่า มีสัตว์น้ำที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งในทะเลและริมชายหาด รวมกว่า 172 ชนิด  เป็นปลาเศรษฐกิจที่ขายในท้องตลาดกว่า 120 ชนิด พบข้อมูลน่าสนใจ ชาวบ้านบอกว่า ก่อนหน้านี้ ปลาหลายชนิดหายไปแล้ว  จากการเข้ามาของเรือประมงพาณิชย์เมื่อปี 2534   หลังจากร่วมกันอนุรักษ์ วันนี้ปลาหลายชนิดเริ่มกลับมาทะเลจะนะอีกครั้ง อย่างเช่น ปลาอีคุด ปลาเนื้อละมุนกว่าปลากะพง  ปลาทูน่า ที่ปกติแล้วจะชอบอยู่ในทะเลน้ำลึก  ก็แวะเวียนมาใกล้ๆ ทะเลจะนะ 

เเม้ปลาหลายชนิดเริ่มกลับมา เเต่ชาวจะนะตระหนักดีถึงปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง จากภาวะโลกร้อนกำลังก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้คนและระบบนิเวศ เเน่นอนว่าทำให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนในอำเภอจะนะ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมไปถึงตอนนี้ชาวบ้านยังต้องเผชิญกับปัญหา ราคาพืชผลทางการเกษตรผันผวนตกต่ำ การขาดแรงงานภาคเกษตร ปัญหาเรื่องการเข้าถึงการศึกษาของเด็กและเยาวชน และปัญหามลพิษทางน้ำและอากาศ ปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อเนื่องยาวนาน

จึงได้มีความพยายามในการร่วมกันหาทางออก โดยได้ร่วมกับ นักวิชาการ ประชาชน ประชาสังคม ผู้นำศาสนา และสภาองค์กรชุมชนอำเภอจะนะ โดยใช้หลักการทำข้อมูลชุมชน การมีส่วนร่วม และประสานองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการแก้ปัญหา ซึ่งอยู่บนฐานทรัพยากร ภูมิปัญญา ศาสนา ประเพณี และศิลปวัฒนธรรมของคนจะนะ รวมถึงการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่มายกระดับให้มีการพัฒนาต่อยอด เพิ่มคุณค่าและมูลค่าไปด้วยกัน

เครือข่ายฯจึงได้ทำการเก็บรวบรวมข้อเสนอของชุมชนและร่วมกันร่างยุทธศาสตร์จะนะยั่งยืน บนพื้นฐานการเก็บข้อมูลศักยภาพของชุมชนเเละลงมือผลักดันให้เกิดความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่จะทำให้โลกใบนี้น่าอยู่ขึ้น

ไทยพีบีเอส โดยทีมเเลต๊ะเเลใต้ ได้ใช้ข้อมูล 14 ยุทธศาสตร์ ที่ชาวบ้านร่วมกันเขียน  เปิดพื้นที่ออนกราวด์ ผ่านงานอะโบ้ยหมะ จ. สงขลา ชวนคนทั่วและคนในพื้นที่จะนะ จินตนาการหย่อนเงินภาษีของเรา เพื่อจัดลำดับความสำคัญในสิ่งที่อยากต่อยอด  ผ่าน เกมส์ 14 ยุทธศาสตร์จะนะ ยั่งยืน อนาคตที่อยากกำหนดใช้เวลาเพียงสั้นๆ ผลปรากฎว่า

“ชาวจะนะ”ออกเเบบได้

จากข้อมูลคนจะนะและคนที่มาร่วมงานกว่า 160 คน เข้าร่วมกิจกรรม ร่วมกันออกแบบการพัฒนาด้วยตัวเอง ซึ่งในกิจกรรมนี้จะให้ลูกบอลที่แยกสีตามช่วงวัยและกลุ่มคน เพื่อให้นำลูกบอลที่ได้คนละ 5 ลูก ไปหย่อนในถุงตาข่ายตามยุทธศาสตร์ที่ต้องการให้มีการนำมาพัฒนาในพื้นที่ตามลำดับความสำคัญ

โจทย์ที่คนจะนะเลือกเยอะที่สุด  

1.ความมั่นคงทางอาหาร

2.การแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง

3.การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน

4.พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ

5.เมืองการศึกษา (อุลามาอฺ)

ส่วนสำหรับคนทั่วไปที่ไปร่วมงานมองว่า   

1.ความมั่นคงทางอาหาร

2.พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ

3.การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน

4.การพัฒนาเด็ก และเยาวชน

5.เมืองการศึกษา (อุลามาอฺ)

น่าสนใจ คำตอบทั้งสองกลุ่มคล้ายกัน ในอันดับแรกๆ สะท้อนถึงการต้องมี ยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหาร การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน  ที่รักษาและเพิ่มพื้นที่แหล่งผลิตอาหารทั้งพื้นที่ทางด้านการเกษตรและพื้นที่ทำการประมง ที่สามารถผลิตอาหารที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยโดยชุมชน ก็จะสามารถขยายผลไปยังการพัฒนาเศรษฐกิจ   และการให้ความสำคัญส่งเสริมและพัฒนาให้จะนะเป็นเมืองแห่งการศึกษาและการเรียนรู้ ให้สอดคล้องกับฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมและศาสนา ก็เป็นอีกเรื่องสำคัญที่หลายคนให้ความสนใจ

กิตติภพ สุทธิสว่าง เครือข่ายฅนรักษ์จะนะ กล่าว่า  วิกฤติของโลกร้อน ประชาชนจะเดือนร้อน ฉะนั้นต้องรักษาแหล่งผลิตอาหาร ที่อยู่กับธรรมชาติ  เกษตรเกษตรต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับวิกฤตที่จะเกิดขึ้น ทรัพยากรถ้าปกป้องไว้ได้ก็จะทำเกิดเศรษฐกิจชุมชน ถ้าสัมผัสความจริง เขาเลือกในสิ่งที่เขาต้องการ เป็นทิศทางที่ดีที่เราต้องประสานความร่วมมือทั้งรัฐ เอกชน และหน่วยงานที่รับผิดชอบ

ด้านผู้เข้าร่วมงาน เล่าให้ฟังว่า มาจะนะด้วยความบังเอิญ เราเข้ามาเเล้วได้พูดคุยกับชาวบ้านเราเห็นว่า อาหารทะเลจะนะมีความสมบูรณ์ อย่างกุ้ง ปู ปลา ตัวใหญ่ๆ เเต่เราเข้าไม่ถึงอาหารทะเลเหล่านี้ พอเราได้คุยกับชาวบ้านเห็นว่าชุมชนมีความมุ่งมั่นในการรวมกลุ่มกัน เเปรรูป มีสินค้า ชาวบ้านมีศักยภาพ มีความตั้งใจ เเละถ้าเราพูดถึงจะนะเราจะนึกถึงนกเขา เเต่ตอนนี้เรานึกถึงอาหารทะเล สมุนไพร ภูมิปัญญาท้องถิ่น

สิ่งที่พี่เลือกคือความมั่นคงทางด้านอาหาร เพราะสิ่งนี้สามารถต่อยอดเศรษฐกิจชุมชนก็จะมีเม็ดเงินกลับมาตอบเเทนชุมชน

สินาด ตรีวรรณไชย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า จากที่ดูลูกบอลและจำนวนยุทธศาสตร์แสดงถึงความสนใจและความต้องการ ถ้าจำนวนมากอาจจะสนใจเรื่องนั้นเยอะ ซึ่งพบว่าประเด็นความมั่นคงทางอาหารมีคนให้ความสนใจเยอะ ต้องการที่ต่อยอดจากฐานทรัพยากรที่มีในชุมชนไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน เป็นประเด็นค่อนข้างสำคัญพื้นที่จะนะ

เเละการที่ชุมชนสกัดข้อมูลออกมาเป็นยุทธศาสตร์ จริงเล้วเป็นเรื่องที่ดี เพราะต้อนนี้ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กำลังดำเนินการในขั้นตอนของการทำSEA สงขลา-ปัตตานี(การจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทรศาสตร์สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี) เราอยากให้ทุกกลุ่มที่มีความต้องการ เเละมีความสนใจ ที่อยากต่อยอดบนฐานทรัพยากรของตัวเอง สามารถใช้กิจกรรมลักษณะนี้ในการสกัดความต้องการของชุมชน เเละกระบวนการSEA เราก็มีช่องทางในการรับฟังความคิดเห็นโดยตรงหรือมีการเปิดเวที

อาจารย์สินาดกล่าวต่ออีกว่า ในการทำSEA สงขลา-ปัตตานี จำเป็น ต้องฟังเสียงของเเต่ละชุมชนซึ่งในส่วนนี้ เป็นความต้องการของชุมชน ซึ่งยุทธศาสตร์เหล่านี้จะถูกนำไปวิเคราะห์ร่วมกับเเผนต่างๆของรัฐ เอกชน กลุ่มอื่นๆ ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์เเน่นอน จะทำให้เราสามารถกำหน้าเป้าหมายของการพัฒนาหรือยุทธศาสตร์ร่วมของทั้งจังหวัด เพื่อให้ทุกกลุ่มเห็นว่าเป็นยุทธศาสตร์ร่วมจริงๆ ในอนาคตยังมีประโยชน์ในเเง่ของการทำข้อมูล ทางเลือก เเบบไหนที่จะเหมาะกับฐานทรัพยากร ทางเลือกเเบบไหนที่จะเป้นทางเลือกเเบบใหม่ที่อิงกับฐานทรัพยากร

ถ้าดูจากความต้องการเหล่านี้คิดว่า คนจะนะเเละคนนอกพื้นที่คิดคล้ายๆกัน อยากต่อยอดทรัพยากรที่มีในชุมชน

รักษาและเพิ่มพื้นที่แหล่งผลิตอาหาร ด้วยการเพิ่มศักยภาพการผลิตอาหารที่มีคุณภาพอย่างเพียงพอ สนับสนุนให้เกิดการผลิตอาหารปลอดภัยและได้รับการรับรองมาตรฐานและผลักดันให้มีการปกป้องคุ้มครองพื้นที่ทางการเกษตรและการประมง

ส่งเสริมและพัฒนาการใช้พลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืนในระดับครัวเรือนและชุมชนด้วยการสร้างกลไกขับเคลื่อนด้านพลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืนในชุมชน เช่นการให้ความรู้ การจัดตั้งสหกรณ์ และจัดทำพื้นที่ต้นแบบการเรียนรู้ด้านพลังงานแสงอาทิตย์ของชุมชน

พึ่งตนเองด้านการดูแลสุขภาพในระดับครัวเรือนและชุมชนอย่างยั่งยืน ทั้งในด้านทรัพยากรและองค์ความรู้ เพื่อต่อยอดเป็นสินค้าและบริการด้านการดูแลสุขภาพสร้างรายได้ให้ชุมชน

พัฒนายกระดับการเลี้ยงนกเขาชวาและอาชีพต่อเนื่องที่เกี่ยวข้อง การจัดการความรู้และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับนกเขาของพื้นที่ ส่งเสริมยกระดับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงนกเขา และการผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายและกฎหมายเกี่ยวกับการส่งออกนกเขา

ส่งเสริมและพัฒนาให้จะนะเป็นเมืองแห่งการศึกษาที่มีความพร้อมในทุกมิติ สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้การเป็นผู้ประกอบการบนฐานของชุมชน การเรียนรู้ตลอดชีวิต และการผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบาย เช่น ให้ภาครัฐมีการส่งเสริมและสนับสนุนงบประมาณให้เพียงพอกับบุคลากรทางการศึกษา

ศึกษา รวบรวม และอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมชุมชน เพื่อนำมาเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดอัตลักษณ์ และวิถีของชุมชน และต่อยอดกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมให้เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของเด็ก และเยาวชน

พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนและบริการบนพื้นฐานของการดูแลฐานทรัพยากรของชุมชน ด้วยการยกระดับการเป็นผู้ประกอบการชุมชน ส่งเสริมและพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน รวมทั้งการประสานกับหน่วยงาน สถาบันการศึกษา และภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนในการยกระดับผลิตภัณฑ์ของชุมชน ตั้งแต่กระบวนการผลิต การตลาด และการสื่อสาร     

ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติควน ป่า นา เล และคลอง ด้วยการพัฒนาและส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และการพัฒนาด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ โดยการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ในทุกขั้นตอน

พัฒนาศักยภาพด้านกระบวนการคิด ความรู้ และทักษะ ให้กับเด็ก และเยาวชน ให้มีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม มีการจัดกระบวนการและเปิดพื้นที่การเรียนรู้ พื้นที่กิจกรรม พื้นที่สร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของเด็ก เยาวชน และชุมชน

ส่งเสริมให้คนในชุมชนมีสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำสะอาด ส่งเสริมให้เกิดการบริหารจัดการน้ำ โดยชุมชนเป็นผู้วิเคราะห์ปัญหาของชุมชน ใช้ภูมิปัญชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีแหล่งน้ำสะอาดเพียงพอในการใช้อุปโภคบริโภคในครัวเรือนและทำการเกษตร รวมทั้งหาแนวทางในการแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งร่วมกันอย่างยั่งยืน

ลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากมลพิษทางขยะด้วยการส่งเสริมให้เกิดการจัดการขยะในชุมชน เช่น รณรงค์ให้เกิดการเก็บข้อมูลประเภทจำนวนของขยะที่เกิดขึ้นในชุมชน ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการพูดคุยในด้านการบริหารจัดการขยะ และการลดปริมาณขยะของชุมชน

ลดผลกระทบของปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เพื่อปกป้องและรักษาฐานทรัพยากรของชุมชน การสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่ง และการแก้ปัญหาเชิงนโยบาย เช่น การจัดทำข้อเสนอในการป้องกันและแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืน การผลักดันนโยบายในการศึกษารายงานการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ก่อนดำเนินการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง

ชุมชนมีส่วนร่วมในกำหนดแนวทางการพัฒนาพื้นที่และการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยคำนึงถึงฐานทรัพยากร วิถีชีวิต อย่างมีส่วนร่วม โดยเน้นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน และการร่วมกันผลักดันเชิงนโยบาย เช่น การนำเสนอผังเมืองชุมชนที่เกิดจากกระบวนการมีส่วนร่วมต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

แก้ปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัย รวมทั้งการจัดทำระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า ประปา แหล่งน้ำต่างๆ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ให้มีที่อยู่ที่อาศัยและมีที่ทำกินที่มีความมั่นคงปลอดภัย

ชมคลิป ยุทธศาสตร์จะนะยั่งยืน ชาวบ้านขอกำหนดอนาคตตัวเอง 

author

เรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง related posts

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ