ใดใดในโลกล้วนป่วยไข้ ไขความเข้าใจโรคของคนในปัจจุบัน

ใดใดในโลกล้วนป่วยไข้ ไขความเข้าใจโรคของคนในปัจจุบัน

สำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์ความรู้และประสานงานสุขภาวะทางปัญญา มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และสมาคมสังคมวิทยาสาธารณะ และคณะกรรมจัดงาน รวมทั้งองค์กรร่วมจัด หน่วยงานรัฐ ภาคประชาคมและภาคีเครือข่าย ได้จัดงานประชุมวิชาการระดับชาติ เครือข่ายความรู้สุขภาวะทางปัญญา ครั้งที่ 1 “สุขภาวะทางปัญญา : สุขภาพ จิตวิญญาณ และสังคม” 

โดยห้องย่อยเสวนาในประเด็นปรากฏการณ์ “โรค” สมัยใหม่ และวิพากษ์ญาณวิทยาเรื่องการดูแลสุขภาพและการเยียวยารักษา เพื่อตอบคำถามปรากฏการณ์ทางสุขาภาพในปัจจุบัน

ผศ.วราภรณ์ มนต์ไตรเวศย์ ภาคมานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงภาพรวมมานุษยวิทยาว่าด้วยความเจ็บป่วย มิติของโรคและความเจ็บขัดแย้งกับความสมบูรณ์แบบของมนุษย์ รวมถึงกรอบคิดความไม่ปกติ หรือความเจ็บป่วยถูกมองด้วยกรอบแบบมานุษยวิทยาอยู่แล้ว

มนุษย์พยายามมองหาและค้นพบว่าอะไรที่ทำให้เราเจ็บป่วย ความเจ็บป่วยในสมัยก่อนผูกอยู่บนความเชื่อ สิ่งที่ไม่รู้ พระเจ้า และธรรมชาติ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มนุษย์จึงพยายามถามว่าความสมดุลเพื่อทำลายกรอบความไม่ปกติ 

ผศ.วราภรณ์ ขยายความว่า ปัจจุบันกรอบคิดแบบวิทยาศาสตร์ก็อาจจะตอบโจทย์ความไม่รู้ด้วยข้อพิสูจน์บางอย่าง เช่น เชื้อโรค แบคทีเรีย ที่สามารถเข้ามาตอบแทนความไม่รู้ในอดีต จึงทำให้ความเจ็บป่วยมีที่ทางมากขึ้น ในยุคสมัยใหม่ที่สามารถหาความหมายของความเจ็บป่วยที่ในอดีตไม่สามารถหาคำตอบได้แทน นอกจากนี้ยังมีมิติทางสังคมวัฒนธรรมเข้ามาสอดแทรกกรอบคิดทางวิทยาศาสตร์อยู่เสมอ ไม่ว่าจะการพยายามทำความเข้าใจความเจ็บป่วย การรับรู้โรค สาเหตุ ความปกติ ความไม่ปกติ ด้วยข้อพิสูจน์ที่สอดคล้องกับวิทยาศาสตร์และความเชื่อ

“สังคมปัจจุบันมีทั้งการพึ่งพาการแพทย์สมัยใหม่ และการแพทย์พื้นบ้าน ทำให้สะท้อนถึงการทำความเข้าใจและยอมรับความหลากหลายในการรักษาในรูปแบบที่แตกต่างกันไปในแง่ของความเชื่อ และกรอบคิดทางวิทยาศาสตร์ ที่มีปัจจัยแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำความเข้าใจความเจ็บป่วยอีกด้วย”

——————–

นายวรเชษฐ์ เขียวจันทร์ หลักสูตรดุษฎีบัณฑิต สาขาสังคมศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข ภาควิชาสังคมและสุขภาพ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, นักวิชาการอิสระ และผู้บริหารสำนักพิมพ์ปิ่นโต พับลิชชิ่ง : พูดถึงความเจ็บป่วยสมัยใหม่ด้วยกรณีศึกษา เรื่องเล่าธิดาสวนยาง : แม่ของฉัน เส้นทางการเกิดโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ความคิด การตัดสินใจและทางเลือก ซึ่งเป็นประสบการณ์ส่วนตัว รวมถึงญาณวิทยาว่าด้วยการเยียวยา : กับการแพทย์สมัยใหม่ว่าด้วยความหวัง ที่ทำความเข้าใจญาณวิทยาว่าด้วยการเยียวยา เป็นการทำความเข้าใจว่าเทคโนโลยีทางการแพทย์ ความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่เป็นรูปแบบหนึ่งของการเมือง ในการสร้าง “ความหวัง” ให้กับผู้ป่วยและผู้ที่กำลังแสวงหาทางรักษาโรค

วรเชษฐ์ ยกงานวิจัยมา 3 ชิ้นด้วยกัน 

Paul Farmer (2002) แพทย์และนักมานุษยวิทยา อธิบายถึงเรื่องความเจ็บป่วยว่าไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวเชื้อโรคเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่สาเหตุความเจ็บป่วยที่มนุษย์กำลังเผชิญอยู่ มีนัยทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม เข้ามาเกี่ยวข้อง

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ (2560) ได้ตั้งข้อสังเกตถึงความท้าทายทางมานุษยวิทยาการแพทย์เอาไว้ว่า เทคโนโลยีทางการแพทย์ได้เปลี่ยนแปลงเรื่องราวเกี่ยวกับนิยามความเป็นมนุษย์ในแง่มุมต่าง ๆ มากมาย เปลี่ยนแปลงจริยศาสตร์ที่มาพร้อมกับปฏิบัติการเชิงอำนาจรูปแบบใหม่ อำนาจรูปแบบใหม่ที่ปฏิบัติการเหนือเรือนร่างของมนุษย์อาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่เป็นเครื่องมือ และความรู้ทางการแพทย์ไม่ได้จำกัดบทบาทอยู่แค่การรักษาพยาบาลในอดีต แต่ขยายขอบเขตมาสู่ปริมณฑลอื่นของคุณค่าชีวิตผู้คน

ชยันต์ วรรธนะภูมิ (2551) ตั้งคำถามถึงระบบการแพทย์และระบบสาธารณสุขไว้ว่า มีการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาสาธารณสุขมากกว่าการตั้งคำถามกับระบบที่ดำรงอยู่ หากจะวิพากย์อยู่บ้าง ก็เป็นกลุ่มงานที่ศึกษานโยบายสาธารณสุขแต่การศึกษาว่าด้วยวัฒนธรรมเพื่อทำความเข้าใจความหมาย วิธีการดูแลเยียวยารักษาปัญหา และการใช้มุมมองเชิงวิพากษ์ในการศึกษาความรู้และอำนาจการแพทย์ในการจัดการกับปัญหา ทำให้เกิดการตั้งคำถามกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับทุน แพทย์กับผู้ป่วย รวมถึงการรื้อถอนแนวคิดการแพทย์กระแสหลัก

มนุษย์ในฐานะผู้ป่วยมีความสัมพันธ์เทคโนโลยีทางการแพทย์ และความเจ็บป่วย และการทำให้ร่างกายของผู้ป่วยกลายเป็นร่างกายที่สยบยอมต่ออำนาจทางการแพทย์และการเข้ามากำกับร่างกาย พร้อมทั้งการสร้างวาทกรรมความเชื่องเชื่อต่ออำนาจของเทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่ที่กระทำต่อร่างกายผู้ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ป่วย

วรเชษฐ์ เขียวจันทร์ หลักสูตรดุษฎีบัณฑิต สาขาสังคมศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข ภาควิชาสังคมและสุขภาพ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, นักวิชาการอิสระ และผู้บริหารสำนักพิมพ์ปิ่นโต พับลิชชิ่ง

——————–

ดร.บุษบงก์ วิเศษพลชัย ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาศักยภาพ สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ : ชวนมองความเจ็บป่วยในปัจจุบัน ผ่านปรากฏการณ์ทางสังคมในปัจจุบัน

ความเจ็บป่วยในยุคปัจจุบัน โรคไม่เคยแยกขาดจากบริบทโลก กล่าวคือ โรคใด ๆ ก็ตาม มักเชื่อมโยงกับบริบทแวดล้อมทางสังคม วัฒนธรรม วิถีชีวิต การเมือง รวมไปถึงโลกภายนอกที่กระทำต่อมนุษย์ 

ดร.บุษบงก์ วิเศษพลชัย ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาศักยภาพ สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ 

ดร.บุษบงก์ ยกตัวอย่างเชิงประจักษ์ถึงปรากฏการณ์ครูกายแก้ว ทำไมถึงเกิดขึ้นในช่วงเวลาปัจจุบัน เพราะการเมือง? เศรษฐกิจ? การสะท้อนความเจ็บป่วยในยุคสมัยปัจจุบันอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นความเจ็บป่วยเชิงโครงสร้างที่ไร้สิ่งยึดเหยี่ยวจิตใจ ซึ่งไม่ใช่ความเจ็บป่วยในระดับปัจเจก และเป็นความเจ็บป่วยของสังคมอย่างแท้จริง ความเจ็บป่วยสมัยใหม่ ผูกอยู่กับไสยศาสตร์และวิทยาศาตร์ มนุษย์ไม่ได้แข็งแกร่งพอที่จะอยู่ได้โดยไม่มีความเชื่ออะไรบางอย่างยึดเหนี่ยว 

ดร.บุษบงก์ กล่าวถึงวงโคจร 3 อย่างที่ทำงานร่วมกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้ง 3 อย่างเป็นปัจจัยแวดล้อมที่เกิดขึ้นและนำมาสู่ความเจ็บป่วยเชิงโครงสร้างที่นอกจากการพยายามนำชุดความคิดแบบวิทยาศาสตร์มาอธิบายโรคภ้ยไข้เจ็บเพียงอย่างเดียวอาจะไม่เพียงพอต่อความเจ็บป่วยยุคสมัยใหม่ แต่ความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่สร้างความเจ็บป่วยให้เราก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำให้สังคมป่วย และนำมาซึ่งความเจ็บป่วยเช่นกัน

——————–

ท้ายที่สุดความเจ็บป่วยในยุคสมัยใหม่มีปัจจัยแวดล้อมเกิดขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บป่วยในอดีตที่ผูกโยงอยู่กับความเชื่อ ความไม่รู้ไม่เข้าใจ ไม่สามารถหาคำตอบ ไม่จนถึงความหวาดกลัว ลากมาจนความเจ็บป่วยสมัยใหม่ที่ผูกโยงอยู่บนพื้นฐานความเป็นองค์ความรู้แบบวิทยาศาสตร์ที่เต็มไปด้วยความเจ็บป่วยที่สามารถอธิบายได้เต็มไปหมด

อย่างไรก็ตามความเจ็บป่วยสมัยใหม่อาจไม่สามารถทำความเข้าใจด้วยองค์ความรู้แบบเดียวอย่างตายตัวได้ หากแต่ต้องมีปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ที่เข้ามามีบทบาทในการตัดสินใจบนพื้นที่ความคาดหวังในญาณวิทยาการเยียวยารักษา ไปจนถึงสิ่งแวดล้อมที่กระทำต่อมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บป่วยในระดับปัจเจก ไปจนถึงความเจ็บป่วยเชิงโครงสร้างที่นำมาสู่ความต้องการในเยียวยาในฐานะความเป็นมนุษย์อย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ