โมเดลการ “อนุรักษ์” ที่นำมาสู่การ “ไล่รื้อชุมชน”

โมเดลการ “อนุรักษ์” ที่นำมาสู่การ “ไล่รื้อชุมชน”

นับตั้งแต่กระแสการจัดระเบียบผู้ค้าหาบเร่แผงลอย การปรับปรุงภูมิทัศน์ทางเท้าบริเวณปากคลองตลาด มาจนถึงการไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ เหตุการณ์เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ทว่าอยู่ภายใต้แนวคิดการจัดระเบียบที่เน้นอนุรักษ์และพัฒนา เพื่อให้เกิด “พื้นที่โล่ง” ซึ่งเป็นจุดร่วมหนึ่งภายใต้ “แผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์” ต้นแบบผังเมือง ที่จัดทำตั้งแต่ 34 ปีที่แล้ว… ซึ่งมีผลมาถึงทุกวันนี้

ชื่อของ “แผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์” ที่ได้รับฟังจากคณะทำงานชุมชนป้อมมหากาฬ จากการลงพื้นที่ชุมชนป้อมมหากาฬในช่วงเวลาก่อนกรุงเทพมหานครติดป้ายประกาศยื่นคำขาดให้ชุมชนย้ายออกภายในวันที่ 30 เมษายน 2559 ทำให้ผู้เขียนกลับมาศึกษา และพบความน่าสนใจในรายละเอียดของแผนแม่บทฯ ดังกล่าว ซึ่งเชื่อมโยงถึงการไล่รื้อชุมชน ตลอดจนการจัดระเบียบพื้นที่ต่างๆ ในกรุงเทพมหานครฯ

 

แผนแม่บทฯ ที่มาแนวคิด “เปิดมุมมองและพื้นที่โล่ง”

วาระเฉลิมฉลองกรุงเทพฯ ครบ 200 ปี พ.ศ. 2525 คือจุดเริ่มต้นการวางแผนปรับปรุงบูรณะกรุงนำมาสู่การจัดทำแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ ที่เน้นเปิดมุมมองและพื้นที่โล่ง ปรับปรุงโบราณสถาน สร้างเอกลักษณ์และขอบเขตของกรุงรัตนโกสินทร์ ฟื้นฟูและพัฒนาสภาพแวดล้อม

ข้อมูลจากคลังสารสนเทศของสถาบันนิติบัญญัติ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พบว่า แผนแม่บทดังกล่าว ถูกเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ตามสัญญาจ้างเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2537

20160504121033.jpg

โครงการที่ถูกจัดอยู่ภายใต้แผนแม่บทฯ ดังกล่าว ประกอบด้วย 20 โครงการ ได้แก่

1. โครงการอนุรักษ์และปรับปรุงป้อมมหากาฬ (อยู่ระหว่างดำเนินการ)

2. โครงการปรับปรุงบริเวณข้างวัดเทพธิดาราม และวัดราชนัดดาราม (มีการดำเนินการรื้อศาลาเฉลิมไทยและสร้างลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ขึ้นแทน ณ บริเวณเดิม เพื่อเปิดทัศนียภาพให้เห็นความสง่างามของโลหะปราสาท)

3. โครงการจัดสวนสาธารณะภูเขาทอง

4. โครงการปรับปรุงคลอง สะพาน เพื่อการสัญจรทางน้ำ

5. โครงการจัดทางเดินตลอดแนวคลองคูเมืองเดิม คลองรอบกรุง

6. โครงการอนุรักษ์ปรับปรุงประตูพระนคร กำแพงเมือง และป้อม (ป้อมพระสุเมรุ ป้อมมหากาฬ)

7. โครงการจัดระเบียบกิจกรรมบริเวณปากคลองโอ่งอ่าง

8. โครงการปรับปรุงบริเวณถนนพระอาทิตย์

9. โครงการเปิดมุมมองวัดบวรสถานสุทธาวาส

10. โครงการปรับปรุงบริเวณท่าพระจันทร์

11. โครงการปรับปรุงบริเวณราชนาวีสโมสร

12. โครงการปรับปรุงบริเวณกรมการค้าภายใน

13. โครงการเปิดมุมมองวัดโพธิ์

14. โครงการปรับปรุงบริเวณท่าเตียน

15. โครงการปรับปรุงบริเวณปากคลองตลาด (อยู่ระหว่างดำเนินการ)

16. โครงการปรับปรุงพื้นที่บริเวณแพร่งนรา แพร่งภูธร และแพร่งสรรพศาสตร์

17. โครงการจัดระเบียบย่านพักอาศัยบริเวณหลังอาคารราชดำเนิน

18. โครงการลานอเนกประสงค์ เพื่อกิจกรรมด้านวัฒนธรรม บริเวณวัดสุทัศน์เทพวราราม และศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

19. โครงการปรับปรุงสภาพแวดล้อมย่านการค้าบางลำพู

20. โครงการจัดทำอุปกรณ์สาธารณูปโภคในกรุงรัตนโกสินทร์

“ป้อมมหากาฬ” คือหนึ่งใน 20 พื้นที่เป้าหมายที่ถูกกำหนดไว้ในแผนแม่บทฯ ภายใต้โครงการอนุรักษ์และปรับปรุงป้อมมหากาฬ ซึ่งอยู่ในกลุ่มโครงการระยะต้น (ปีที่ 1 – 5) เช่นเดียวกับโครงการปรับปรุงบริเวณข้างวัดเทพธิดารามและวัดราชนัดดาราม และโครงการจัดสวนสาธารณะภูเขาทอง ที่การดำเนินโครงการระบุถึง “การย้ายชุมชน” เช่นกัน

พื้นที่สีเขียว และสวนสาธารณะเพื่อการพักผ่อน และการท่องเที่ยวโบราณสถาน จึงเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของทัศนวิสัยอันพึงประสงค์ของเมือง นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2535 ตามมา

ในขณะที่โครงการอื่นๆ ถูกจัดวาระดำเนินการที่ต่างกันไป โดยโครงการระยะกลาง (ปีที่ 6 – 10) เช่น โครงการอนุรักษ์ปรับปรุงประตูพระนคร กำแพงเมือง และป้อม ส่วนโครงการระยะยาว (ปีที่ 11 -15) เช่น โครงการปรับปรุงบริเวณปากคลองตลาด ที่มีการระบุวิธีดำเนินการส่วนหนึ่งถึงการ “จัดหาตลาดใหม่”

ช่วงเวลา 34 ปี ที่ผ่านมา โครงการเหล่านี้เดินหน้าและดำเนินการสำเร็จไปแล้วหลายโครงการ ขณะที่อีกหลายโครงการกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งยืดเยื้อ ระหว่างการยึดถือแผนแม่บทฯ ที่อิงตามผลสรุปจากการประกวดผลงานด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบผังเมือง เพื่อสภาพแวดล้อมที่พึงปรารถนาสำหรับกรุงรัตนโกสินทร์ในปี 2525 กับแนวทางการอนุรักษ์วิถีชีวิตของผู้คนที่อยู่อาศัยในพื้นที่

 

“ป้อมมหากาฬ” ชุมชน จะอยู่ หรือจะไป ?

การปะทะระหว่างความคิดที่ว่า “ชุมชนแออัด” ควรถูกรื้อออกไป เพื่อคืนพื้นที่ให้แก่สาธารณะ กับความคิดที่ว่า “สวนสาธารณะ” ไม่ควรไล่รื้อชุมชนที่ดำรงวิถีความเป็นชุมชนดั้งเดิม นำมาสู่การวิจัยเพื่อหาทางออกให้กับชาวชุมชนป้อมมหากาฬและหน่วยงานรัฐ โดยการสนับสนุนของกรุงเทพมหานคร ในชื่อ “โครงการวิจัยเพื่อจัดทำแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนบ้านไม้โบราณป้อมมหากาฬ” ซึ่งอภิรักษ์ โกษะโยธินผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในขณะนั้น เป็นผู้ลงนามข้อตกลงเบื้องต้นร่วมกับชุมชน เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2549

โครงการวิจัยโดยคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยศิลปากรนี้ จัดทำขึ้นเพื่อเสนอทิศทางใหม่ในการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ โดยหาทางเลือกที่จะเชื่อมกรอบแนวคิดที่แตกต่างต่อป้อมมหากาฬ 4 แนวทาง ได้แก่ กรอบแนวคิดแบบภาครัฐ กรอบแนวคิดแบบสิทธิชุมชน กรอบแนวคิดแบบนักประวัติศาสตร์หรือนักอนุรักษ์ และกรอบแนวคิดแบบนักออกแบบเมือง

20160504120844.jpg

รศ.ชาตรี ประกิตนนทนการ หัวหน้าภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หัวหน้าโครงการวิจัยฯ ระบุว่า ด้วยแนวคิดของแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์เดิม คือจัดให้มีที่ว่างเปิดโล่งหลังกำแพง โดยตั้งอยู่บนความคิดที่ว่าคน ชุมชนอยู่ร่วมกับโบราณสถานไม่ได้ ในขณะที่ชุมชนมองว่าเขามีสิทธิที่จะอยู่ต่อ จึงจำเป็นต้องใช้ข้อมูลทางวิชาการเพื่อหาทางออกของปัญหา เพื่อเป็น “สะพานเชื่อมแนวคิดสุดโต่ง 2 ฝ่าย”

“ผมคิดว่าเรามีทางที่ 3 ที่จะต้องปรับทั้ง 2 ฝ่าย รัฐจะต้องปรับใหม่ด้วยการมองคนให้มีความสำคัญมากขึ้น คนในชุมชนก็เช่นเดียวกัน ก็ต้องมองถึงประเด็นบางอย่าง เช่น การปรับเพื่อให้เข้ากับการเป็นเมืองสมัยใหม่ ยอมรับการท่องเที่ยว ยอมรับเงื่อนไขใหม่ๆ” รศ.ชาตรี กล่าว

ข้อสรุปของโครงการวิจัยฯ จึงนำเสนอวิสัยทัศน์และเป้าหมาย 3 ประการ คือ การรักษาบ้านไม้โบราณ ซึ่งเป็นบ้านเรือนเก่าแก่ตั้งแต่ช่วงต้นรัตนโกสินทร์มาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 และบ้านไม้ยุคหลังที่มีอายุ 50 ปีลงมา เพื่อสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของการอยู่อาศัยของคนไทย

เป้าหมายประการที่ 2 คือ การพัฒนาพื้นที่ให้เป็นพิพิธพันธ์กลางแจ้งที่มีชีวิต โดยจัดแสดงวิถีชีวิตและองค์ความรู้ของชุมชน เช่น ประวัติศาสตร์กำเนิดลิเกสยาม โดยพัฒนาอาชีพในชุมชนอย่างการเลี้ยงไก่ชน ปั้นฤๅษีดินเผา ทำกรงนก และหลอมทอง เพื่อเป็นจุดขายต่อไปในอนาคต

เป้าหมายประการที่ 3 คือ มุ่งสู่การเป็นพื้นที่พักผ่อนสาธารณะกลางเมือง โดยเพิ่มพื้นที่สวนสาธารณะพัฒนาเป็นลานกิจกรรม โดยให้สิทธิในการอยู่อาศัยกับผู้ที่ปฏิบัติตามเงื่อนไข เข้าร่วมโครงการ เสียสละทำกิจกรรมภายในพื้นที่ และต้องไม่มีที่ดินและบ้านภายนอกพื้นที่ป้อมมหากาฬ

อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยดังกล่าว ไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติจริง จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยดังกล่าว พบว่าทางกรุงเทพมหานครได้ส่งงานวิจัยชิ้นนี้ให้กับกฤษฎีกาตีความ และพบว่า ขัดต่อพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2535 ประกอบกับช่วงของการเปลี่ยนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สู่สมัยของ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร จึงทำให้เรื่องผลการศึกษา และแนวทางการทำงานกับชุมชนเงียบหายไป

20160504120925.jpg

แนวทางอนุรักษ์ใน พ.ศ.2559 จะไปต่ออย่างไร ?

‘ชุมชนป้อมมหากาฬ’ ผ่านการต่อสู้ระหว่างการไล่รื้อชุมชนกับการอนุรักษ์วิถีชีวิตมากว่า 24 ปี เมื่อถามถึงความเป็นชุมชนกับการพัฒนาเมืองว่าจะควบคู่กันได้อย่างไร? ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยฯ ที่ติดตามสถานการณ์ของป้อมมหากาฬมาโดยตลอด รศ.ชาตรี มองว่า “การให้ความสำคัญกับคน” คือหัวใจสำคัญ โดยไม่สามารถกล่าวหาให้คนที่อยู่อาศัยกลายเป็นจำเลย หรือเป็นเหตุทำให้โบราณสถานเสื่อมโทรมอีกต่อไป แต่ต้องมองว่าคนสามารถอยู่ร่วมกับโบราณสถานได้ และโบราณสถานจะอยู่ได้อย่างดีก็ต้องมีคนเข้าไปใช้สอย ให้คุณค่า หรือสร้างมูลค่าเพิ่ม

รศ.ชาตรี ให้ความเห็นด้วยว่า การต่อสู้ระหว่างความคิดของภาครัฐ กับคนในชุมชนป้อมมหากาฬในปี 2559 มีความแตกต่างจากในอดีต เพราะชุมชนมีความพยายามจะพัฒนา เช่นการปรับปรุง และซ่อมแซมบ้านด้วยตัวเอง แม้จะอยู่ในช่วงสถานการณ์ของการอยู่อาศัยที่ไม่แน่นอน

20160504120913.jpg

ส่วนกรณีของกรุงเทพมหานคร รศ.ชาตรี ตั้งข้อสังเกตว่า ประเด็นการไล่รื้อชุมชนจะถูกจุดขึ้นมาในทุก 2-3 ปี นำมาสู่การคัดค้าน และเรื่องก็เงียบไป เป็นแบบนี้มาโดยตลอด แต่ในปีนี้ มีการจัดระเบียบคลองถม ไปจนถึงปากคลองตลาด ที่สามารถดำเนินการได้สำเร็จ ผ่านการสนับสนุนของเจ้าหน้าที่ทหารจึงทำให้เรื่องดำเนินมาจนถึงจุดนี้

อย่างไรก็ตาม หัวหน้าภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันแล้วแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นความคิดที่ใช้ไม่ได้แล้ว มันอาจจะใช้ได้ 30 ปีก่อน แต่ในโลกวิชาการปัจจุบันยืนยันแล้วว่าวิธีคิดดังกล่าวใช้ไม่ได้ เพราะตั้งอยู่บนการให้ความสำคัญกับอิฐ หิน ปูน ทราย หรือโบราณสถานมากกว่าคน

“แนวคิดแบบนี้อาจใช้ได้ในโบราณสถานที่ไม่มีคนอยู่ เช่น สุโขทัย หรือเมืองร้าง แต่ใช้ไม่ได้กับเมืองที่ยังมีชีวิตต่อเนื่อง” รศ.ชาตรี กล่าว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ