เครือข่ายทรัพฯ อีสาน กับข้อเสนอฉบับประชาชนภาคอีสานต่อรัฐบาลใหม่

เครือข่ายทรัพฯ อีสาน กับข้อเสนอฉบับประชาชนภาคอีสานต่อรัฐบาลใหม่

เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน ร่วมกันจัดเวทีวิเคราะห์สถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน พร้อมข้อเสนอต่อรัฐบาลใหม่ ณ ห้องประชุมประดิษฐ์มนูธรรม 1-2 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา

ประเด็นสถานการณ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมภาคอีสานยังเป็นโจทย์ที่ติดตามต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาในลุ่มน้ำโขง เหมืองแร่โปแตช และการคัดค้านในภาคอีสาน กระบวนการจัดทำ EIA ที่ไม่ชอบธรรม กรณีโรงงานน้ำตาลและโรงงานไฟฟ้าชีวมวล 7 จังหวัด 6 กรณี ในภาคอีสาน การเรียกร้องสิทธิกรณีป่าไม้ที่ดินและป่าชุมชน และการกระจายอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่น ซึ่งต่อมาได้มีการแถลงข่าว (ร่าง) ข้อเสนอฉบับประชาชนภาคอีสานต่อรัฐบาลใหม่ โดยตัวแทนเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาคอีสาน

ซึ่งนายสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน กล่าวว่า หายนะทางนิเวศ ความขัดแย้งแย่งชิงทรัพยากร การจัดการทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรมได้กลายเป็นปมปัญหาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติ ดังปรากฏจากวิกฤติโลกร้อนจากการพัฒนาอุตสาหกรรมได้สร้างความปั่นป่วนต่อนิเวศและการดำรงชีพของทุกสรรพชีวิต การเสื่อมสูญของความหลากหลายทางชีวภาพอย่างรวดเร็ว ได้ทำให้ต้นทุนธรรมชาติเพื่อการดำรงชีพของมนุษย์กำลังหมดไป ความขัดแย้งแย่งชิงทรัพยากรกลายเป็นความรุนแรงทางการเมืองที่ใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ โดยที่ระบบการเมืองการปกครอง ระบบเศรษฐกิจที่เป็นอยู่นอกจากจะไม่สามารถคลี่คลายปัญหาได้แล้วยังเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเสียเอง

ธรรมชาติเป็นทรัพยากรพื้นฐานที่สุดในการดำรงชีวิตและการพัฒนา แต่นโยบายและมาตรการเร่งรัดการเติบโตทางเศรษฐกิจของรัฐที่ผ่านมา ซึ่งกระทำในโครงการการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ จึงเปิดโอกาสให้อำนาจทุนใช้รัฐเป็นเครื่องมือตักตวงผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ โดยไม่คำนึงถึงตวามสมดุลและยั่งยืนของทรัพยากรและมีความไม่เป็นธรรม ส่งผลอย่างรุนแรงต่อคุณภาพชีวิตคนไทยและสิ่งแวดล้อม จนเกิดปัญหาตามามากมาย เช่น ป่าต้นน้ำถูกทำลาย แหล่งน้ำถูกปนเปื้อนด้วยสารพิษ ผู้คนจำนวนมากถูกกีดกันออกไปจากการเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็น ทำให้ชีวิตตกต่ำลงในทุกด้านและยากที่จะพัฒนาศักยภาพของตนเองให้สูงขึ้นได้ ดงนั้นจึงสร้างความเหลื่อมล้ำให้เกิดแก่ผู้คนอย่างมาก เพราะเข้าไม่ถึงทรัพยากรธรรมชาติ จึงยิ่งยากจนลงและไร้โอกาสในด้าน อื่น ๆ ทั้ง 6 ประเด็นดังนี้

ด้านทรัพยากรแร่ กล่าวโดยนางพิกุลทอง โทธุโย “ให้นำต้นทุนทางธรรมชาติ สังคม และค่าเสียโอกาส มาประเมินความคุ้มค่าของการทำเหมืองแร่ทุกชนิด การทำเหมืองแร่ต้องไม่ทำลายต้นทุนที่มีอยู่เดิมนี้ ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยแร่ โดยกำหนดหลักการความเป็นเจ้าของทรัพยากรแร่ร่วมกันระหว่างรัฐ ท้องถิ่น และสาธารณะ รัฐต้องเปิดเผยแหล่งแร่ และศักยภาพแหล่งแร่ต่อชุมชนท้องถิ่นเป็นการสาธารณะ ออกกฎหมายสนับสนุนให้ท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการทรัพยากร รวมทั้งปรับกระบวนการขอประทานบัตรและอาชญาบัตรให้สอดคล้องกับหลักการข้างต้น”

ด้านทรัพยากรน้ำ กล่าวโดยนายจันทา จันทาทอง “นโยบายน้ำต้องมีความเชื่อมโยงกันกับการจัดการทรัพยากรส่วนอื่น เช่น ป่า ที่ดิน และระบบนิเวศ ตลอดไปจนถึงวิถีชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นต่าง ๆ อย่างสมดุล ทั้งทางนิเวศเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม การบริหารจัดการน้ำ ต้องจัดการแบบบูรณาการเบ็ดเสร็จ และไม่เกินน้ำต้นทุนในพื้นที่ ยกเว้นว่าประชาชนในลุ่มน้ำนั้น ๆ ได้ประเมินแล้วว่ามีน้ำเหลือมากพอที่จะแบ่งปันไปให้ลุ่มน้ำอื่นได้ โดยทั้งนี้จะต้องมีการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และประเมินยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน คุ้มครองแหล่งน้ำตามธรรมชาติอย่างจริงจัง โดยไม่ให้เปลี่ยนสภาพแหล่งน้ำตามธรรมชาติเหล่านี้ และให้ชาวบ้านได้กำหนดและจัดทำแผนฟื้นฟู แผนอนุรักษ์ทรัพยากร เพื่ออนาคตของคนในชุมชน”

ด้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล กล่าวโดยนายดุสิต โนนเพีย “ให้ยกเลิกมติ ครม. 20 เมษายน พ.ศ. 2558 ให้ดำเนินการประเมินยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมทั้งภาคอีสาน หรือทุกพื้นที่ ทบทวนแผนพัฒนาอ้อยและน้ำตาลภาคอีสาน รวมทั้งไม่ควรเอาที่ดินอุดมสมบูรณ์ และเหมาะสมกับการเกษตร เช่น พื้นที่ปลูกข้าว มาเป็นพื้นที่ก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล”

ด้านกรณีป่าไม้ที่ดินและป่าชุมชน กล่าวโดย นางสาววิชุนัย ศิลาศรี “แก้ไขกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับที่ดิน ป่าไม้ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และเป็นการกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรมให้กับเกษตรกร จัดระบบข้อมูลที่ดินเพื่อการเกษตรกรทั้งประเทศให้เป็นข้อมูลสาธารณะ ออกกฎหมายคุ้มครองที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อช่วยหยุดยั้งการกว้านซื้อที่ดินเพื่อซื้อขายเก็งกำไร ให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินเพื่อการเกษตรกับเกษตรกรที่ทำเกษตรด้วยตนเอง รวมไปถึงการจัดระบบข้อมูลที่ดินเพื่อการเกษตรทั้งประเทศให้เป็นข่อมูลสาธารณะ”

ด้านการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น กล่าวโดย นายภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ “ท้องถิ่นต้องมีอำนาจในการการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อประโยชน์ของคนในท้องถิ่น สนับสนุนการประกอบอาชีพของประชาชนและการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในชุมชน มีบทบาทร่วมกับชุมชน และภาคประชาสังคม ในการอนุรักษ์ฟื้นฟูวัฒนธรรม ภูมิปัญญา และจิตวิญญาณของชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีบทบาทและอำนาจในการแก้ไขปัญหาและข้อขัดแย้งต่าง ๆ ในพื้นที่ โดยไม่ต้องเฝ้ารอการแก้ไขปัญหาจากรัฐบาล”

และ ด้านกรณี พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 กล่าวโดย นายผดุงชาติ ฟองนารี “พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ในฐานะกฎหมายกลางในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างรัฐ ประชาชน เพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ทางกฎหมายและปรับปรุงให้สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน”

ทั้งนี้ เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสานเสนอให้รัฐบาลใหม่มีการนัดหมายพูดคุยกับตัวแทนทั้ง 6 ประเด็น เพื่อให้เป็นไปตามข้อเสนอของเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน

author

เรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง related posts

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ