“ผมอยากให้คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนดีขึ้น มีรายได้จากการผลิตเห็ดด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนด้วยความภาคภูมิใจ โดยการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม” นายณรงค์ฤทธิ์ ขวาวงษา (น้องต่อ) อายุ 30 ปี ประธานวิสาหกิจชุมชนปลูกเห็ดไร้สาร บ.เสาวัด ต.โพนงาม อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร ได้รวมตัวคนทุกช่วงวัยในชุมชนที่มีความต้องการทำอาชีพเพาะเห็ด ภายใต้แบรนด์ “โค้งคำนับฟาร์ม” มีสมาชิกในกลุ่ม 30 คน นี้คือการตั้งเป้าหมายดำเนินกิจการของคนรุ่นใหม่ที่กลับจากทำงานมาอยู่บ้าน
การสร้างวัฒนธรรมองค์กรช่วยเหลือสังคม น่าจะทำได้เลยเนื่องจากวิถีคนในชุมชนมีการแบ่งปันกันเป็นปรกติ เมื่อเราได้โอกาสแล้วก็อยากจะหาวิธีมอบโอกาสให้ผู้อื่น จึงประชุมสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สร้างกลไกการขับเคลื่อนงานมีแนวคิด “ธุรกิจชุมชนช่วยชุมชน” โดยใช้ชื่อโครงการครั้งนี้ว่า “มัชรูมมัดใจ สร้างสายใย ไออุ่นทุนสังคม”
มีเป้าหมายช่วยเหลือสังคม 12เดือน 12ชุมชน ในพื้นที่อำเภออากาศอำนวย กิจกรรมมีการระดมทุน เช่น เครื่องนุ่งห่ม (เสื้อผ้าที่ไม่ได้ใช้) ของอุปโภคบริโภค จากภาคีเครือข่ายเพื่อส่งต่อความห่วงใยถึงครัวเรือนที่ลำบาก ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์ธุรกิจในทศวรรษนี้ที่ให้ความสำคัญการรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น
เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2566 โค้งคำนับฟาร์มได้สร้างวัฒนธรรมการช่วยเหลือสังคมครั้งแรกที่บ้านเสาวัด “น้องต่อ” ให้เหตุผลที่เลือกบ้านเกิดครั้งแรกว่าถือเป็นการ “โอบกอดถิ่นมารดาผู้อารี” ซึ่งมีผู้ได้รับความช่วยเหลือ 20 ครัวเรือน คัดเลือกครัวเรือนที่ลำบากโดย อสม. เป็นกลุ่มผู้ป่วยติดเตียง กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ยากไร้
ทีมงานได้ขี่มอเตอร์ไซต์ ปั่นจักรยาน นำสิ่งของลงไปมอบถึงครัวเรือน บรรยากาศเต็มไปด้วยความปลื้มปิติใจทั้งผู้ให้และผู้รับ ทั้งสองข้างทางที่ผ่านไปได้ยินเสียงร้องบอกว่าเป็นกิจกรรมที่ดีมากอยากให้ทำต่อเนื่อง ทำให้ คุณรัชนี ปังอุทา ส.อบต.โพนงาม อดไม่ได้ทนไม่ไหวออกมาสนับสนุนอาหารน้ำดื่มให้กับทีมงาน ถือได้ว่าทุกก้าวเดินในการทำหน้าที่จะถูกบันทึกลงเมมโมรี่ที่ดีที่สุดในโลกคือความทรงจำของมนุษย์
อาจารย์สายฝน ปุนหาวงค์ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า “โค้งคำนับฟาร์ม” ถือได้ว่าเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากงานวิจัย การพัฒนากระบวนการเพิ่มรายได้เกษตรกรด้วยระบบการผลิตเกษตรมูลค่าสูงของกลุ่มเกษตรกรฯ (ปฏิบัติการโมเดลแก้จน) มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ปี 2565 หรือ “วิจัยเกษตรมูลค่าสูง” ได้รับทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) องค์ความรู้และกระบวนการที่ใช้กับกลุ่มเป้าหมายได้แก่ Pro-poor Value Chain, S.T.M Process, BMC-SE เป็นต้น และกล่าวต่อว่า ปรารถนาอย่างยิ่งที่จะช่วยกันเดินหน้าในการทำกิจกรรมดี ๆ เติมเต็มสุขเล็ก ๆ นี้ กระจายไปถึงชุมชนอื่น ๆ ในอำเภออากาศอำนวย เพื่อเป็นน็อตและฟันเฟืองเล็ก ๆ ของ “อากาศอำนวยโมเดล”
“น้องต่อ” กล่าวย้ำว่า โครงสร้างสำคัญในการขับเคลื่อนงานคือพลังของคนในชุมชน พลังที่สามารถส่งต่อความดีงามความฮักแพงแบ่งปัน พลังแห่งการให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนคือพลังอันบริสุทธิ์ ส่งมอบพลังน้ำใจให้กันและกัน
มันทำให้นึกถึงบทความตอนหนึ่งที่ หมอประเวศ อวยพรคนรุ่นใหม่ “การเรียนรู้ร่วมกันในการปฎิบัติ หรือการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำ เป็นธรรมะเพื่อความเจริญถ่ายเดียวหรือ อปริหานิยธรรม ที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญเป็นอันมาก “อปริหานิยธรรม” แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมะเพื่อความไม่ฉิบหาย”
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจะสร้างการเปลี่ยนแปลงธุรกิจในพื้นที่ ให้หวนกลับมาช่วยเหลือคนในชุมชนได้ไม่มากก็น้อย ที่สำคัญ “น้องต่อ” เป็นผู้ประกอบการน้องใหม่ยังต้องอาศัยประสบการณ์อีกมากหรือถ้าก้าวผิดอาจไม่มี “โค้งคำนับฟาร์ม”อีกเลย และคงไม่ใช่ความต้องการของรัฐบาลที่กำลังส่งเสริมให้ SME เติบโต แล้วพวกเราละจะปล่อยให้คนรุ่นใหม่เดินตามลำพังหรือไม่
ที่มา : www.1poverty.com
เรียบเรียงโดย : สมชาย เครือคำ (แตงโม สกลนคร)
ดำเนินการ : โครงการพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตเกษตรมูลค่าสูง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ติดตามได้ที่ blogOnePoverty และ blockdit และ Facebook
แหล่งทุนวิจัย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ติดตามได้ที่ งานยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ