มรดกโลกคืออะไร
มรดกโลก คือสถานที่ อันได้แก่ ป่าไม้ ภูเขา ทะเลสาบ ทะเลทราย อนุสาวรีย์ สิ่งก่อสร้างต่างๆ รวมไปถึงเมือง ซึ่งคัดเลือกโดยองค์การยูเนสโก เพื่อเป็นการบ่งบอกถึงคุณค่าของสิ่งที่คนหรือธรรมชาติได้สร้างขึ้นมา สมควรที่จะปกป้องสิ่งเหล่านั้น เพื่อให้ได้ตกทอดไปถึงอนาคต อาทิเช่น เมมฟิสและสุสานโบราณ ประเทศอียิปต์ เกรท แบริเออร์ รีฟ(แนวปะการังใหญ่) ประเทศออสเตรเลีย หมู่เกาะกาลาปาโกส ประเทศเอกวาดอร์ ทัชมาฮัล ประเทศอินเดีย แกรนด์แคนยอน ประเทศสหรัฐอเมริกา หรืออะโครโพลิส ประเทศกรีซ เป็นต้น
(ข้อมูลจาก สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)
(ภาพจาก http://www.dhammathai.org/)
ทำไมต้องผลักดันเชียงใหม่เป็นมรดกโลก
สืบเนื่องจากนายอนันต์ ลี้ตระกูล ผู้ริเริ่มโครงการเชียงใหม่สู่มรดกโลก ได้ร่วมกับคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กรมศิลปากร ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ของซีมีโอ คณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ และผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การยูเนสโก ปารีส ฝรั่งเศส ร่วมกันดำเนินโครงการผลักดันเมืองเชียงใหม่สู่มรดกโลก เพื่ออนุรักษ์และพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษล้านนา ทั้งด้านสถาปัตยกรรม ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม ให้ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นมรดกโลก โดยได้มีการสัมมนาเปิดเวทีรับฟังข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน มีการสะท้อนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะให้ภาครัฐและส่วนปกครองท้องถิ่นมาร่วมกับมหาวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพในการจัดทำกระบวนการและพัฒนาเมืองเชียงใหม่สู่มรดกโลกอย่างต่อเนื่องมาก่อนหน้านี้
การสัมมนาเส้นทางอันยางไกล เชียงใหม่สู่มรดกโลก จัดขึ้นวันเสาร์ ที่ 13 กันยายน 2557 ที่ผ่านมา ณ โรงละครวังหน้า กรุงเทพฯ เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนการนำเชียงใหม่สู่มรดกโลก เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงและหลักฐานสำคัญใช้นำเชียงใหม่สู่การขึ้นบัญชีของสหประชาชาติ หรือยูเนสโก
โครงการผลักดันเมืองเชียงใหม่สู่มรดกโลกเพื่ออนุรักษ์และพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมของล้านนา ไม่ว่าจะเป็นด้านสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม และสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนจัดทำเอกสารเสนอเชียงใหม่เข้าสู่กระบวนการมรดกโลกในขั้นแรก โดยคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา พบว่า ร้อยละ 97 ยินดีต่อการพัฒนาเมืองเชียงใหม่สู่การเป็นเมืองมรดกโลก
ปัจจุบันมีการเสนอแหล่งประวัติศาสตร์เป็นมรดกโลกจำนวนมาก แต่สถานที่ที่เกิดขึ้นก่อนประวัติศาสตร์ค่อนข้างมีน้อย อาทิ ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสงคราม เป็นต้น
ข้อมูลจากองค์กรยูเนสโกเกี่ยวกับมรดกโลกพบว่า พื้นที่มรดกโลกมีทั้งหมด 1007 แห่ง ประกอบด้วย
พื้นที่ด้านวัฒนธรรม 799 แห่ง
พื้นที่ด้านธรรมชาติ 197 แห่ง
พื้นที่แบบผสม 31 แห่ง
(ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต)
มณฑิรา หรยางกูล อูนากูล ตัวแทนจากสำนักงานยูเนสโกภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก กรุงเทพฯ อธิบายให้ฟังว่า สำหรับองค์ประกอบของการเสนอแต่ละสถานที่เป็นมรดกโลกได้แก่
1 ความเป็นของแท้
การที่จะขึ้นเป็นมรดกโลกนั้น สถานที่แห่งนั้นจะต้องมีความเป็นของแท้ดั้งเดิมค่อนข้างสมบูรณ์ สภาพพื้นที่ในปัจจุบันจะต้องไม่เปลี่ยนไปจากอดีต หรือหากมีการเปลี่ยนแปลงก็มีการเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด เช่น รูปแบบ การออกแบบ วัตถุก่อสร้าง เป็นต้น
2 ความครบถ้วนสมบูรณ์
สถานที่แห่งนั้นจะต้องมีความสมบูรณ์ทั้งหมดจากสิ่งที่เคยเป็นมา และต้องปราศจากการคุกคามจากการพัฒนา
3 การบริหารจัดการ
การบริหารจัดการในพื้นที่ที่เสนอเป็นมรดกโลกมีกฎหมายรองรับหรือไม่ คนในพื้นที่มีการรับรู้เรื่องราวมากมายเพียงใด
แต่สำหรับจังหวัดเชียงใหม่หากนำองค์ประกอบทั้ง 3 ข้อดังกล่าวมาประเมิณปรากฏว่า
- ผังเมืองที่เป็นจัตุรัสเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก จากการคุกคามจากการพัฒนา(ภาพจากhttp://www.bloggang.com/Moonfleet
- หลักฐานทางโบราณคดี กำแพงเมืองจังหวัดเชียงใหม่ มีการปรับปรุง ทำให้การเป็นของดั้งเดิมหายไป
- สิ่งแวดล้อม แม่น้ำปิง แม่น้ำสายหลักของจังหวัดเชียงใหม่ แม้สายน้ำแม่ปิงจะยังคงอยู่ แต่บริบทความเป็นดั้งเดิมเปลี่ยนแปลงไป
- ถนนเส้นทาง เส้นทางจากเชียงใหม่ – ลำพูน (ถนนต้นยาง) มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และมีสิ่งก่อสร้างเพิ่มเติม
- อาคารประวัติศาสตร์ วัด มีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นรูปทรง การใช้สอย หรือจิตวิญญาณ
(ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต)
หากมองไปข้างหน้ายังคงเป็นหนทางอีกยาวไกลจากเชียงใหม่สู่มรดกโลก และยังเหลืออีกหลายขั้นตอน กว่าจะถึงกรรมการมรดกโลกตัดสินใจให้เป็นมรดกโลกหรือไม่ การทำงานต่อไปของคณะทำงานจากนี้คงยังต้องมีการพัฒนาเนื้อหา กฏระเบียบ ศักยภาพบุคคลและชุมชน และพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องจริงๆ เพื่อสร้างความตระหนักและความร่วมมือทุกระดับ
สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.chiangmaiworldheritage.org/