เส้นทาง ‘หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ’ เจตจำนงการจัดระบบดูแลถ้วนหน้า

เส้นทาง ‘หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ’ เจตจำนงการจัดระบบดูแลถ้วนหน้า

28 เม.ย. 2558  กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เผยแพร่ ‘เจตจำนงแห่งหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ’ ระบุถึงเส้นทางของการได้มาซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดย ภาคประชาชนที่ลงชื่อเสนอกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2543 – ปัจจุบัน ดังนี้ 

1. ก่อนปี พ.ศ. 2545 ประชาชนไทยไปรับบริการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลโดยต้องจ่ายค่ารักษา ตามที่เรียกเก็บจากโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลของรัฐ หรือของเอกชน ซึ่งพบว่ามีประชาชนจำนวนมากต้องล้มละลายจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล รวมถึงหลายคนไม่ไปรับบริการเพราะไม่มีเงิน

2. ระหว่างปี พ.ศ. 2540 – 2545 มีการรณรงค์เรื่องการเข้าถึงสิทธิบริการสาธารณสุข ตามที่ได้มีการระบุในรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 มาตรา 52 และ มาตรา 82 เพื่อให้บรรลุเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่มุ่งคุ้มครองสิทธิเสมอกันในการรับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน

ส่งผลให้มีการระดมรายชื่อประชาชนกว่า 9 หมื่นรายชื่อเสนอ ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกอบกับการทำงานด้านวิชาการอย่างต่อเนื่องของสถาบันต่างๆ ที่แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยสามารถจัดหลักประกันสุขภาพให้ประชาชนได้ ด้วยการยกระดับจากการสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับการยกเว้นค่ารักษาพยาบาล และระบบการขายบัตรประกันสุขภาพให้ครอบครัว

งานวิชาการได้เสนอว่าสามารถจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดหลักประกันสุขภาพให้ประชาชนแบบถ้วนหน้าได้ สำหรับประชาชนที่ไม่ใช่ข้าราชการ และแรงงานในประกัน
สังคม

3. ปี พ.ศ.2544 พรรคการเมือง เสนอนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค และเมื่อได้เข้าเป็นรัฐบาล ก็เดินหน้าออกกฎหมาย หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยยอมรับให้ประชาชนที่เข้าชื่อเสนอกฎหมายเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ในรัฐสภาด้วย ระหว่างนั้นรัฐก็มีการทดลองดำเนินการจัดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตามนโยบายหาเสียงใน 10 จังหวัดควบคู่ไปด้วย

4. ปี พ.ศ. 2545 รัฐสภามีมติผ่านกฎหมาย หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้มีการจัดตั้ง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้เป็นสำนักงานที่เป็นหน่วยงานของรัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคล อยู่ภายใต้กำกับดูแลของรัฐมนตรี (ม.24) ที่ไม่อยู่ภายใต้กระทรวง และ สปสช. ก็เร่งดำเนินการให้เกิดการเลือกตั้งคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามที่บัญญัติในกฎหมาย

5. เนื่องจากเป็นกฎหมายที่มีที่มาจาก นโยบายของรัฐบาลและจากการขับเคลื่อนของภาคประชาชน และนักวิชาการ จึงทำให้มีความแตกต่างในเรื่ององค์ประกอบของคณะกรรมการ ที่มีองค์ประกอบจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างน้อย 3 ฝ่าย ทำหน้าที่บริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพ เพื่อเป็นหลักประกันว่าประชาชนทุกคน เข้าถึงการรักษาพยาบาลโดยเสมอภาคกัน

3 ฝ่าย ประกอบด้วย 1) ภาคประชาชน 2) ภาควิชาการ/ผู้ทรงคุณวุฒิ 3) ภาคผู้ให้บริการสาธารณสุขโดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข รวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่คาดว่าในอนาคตจะทำหน้าที่เป็นผู้จัดหลักประกันสุขภาพให้ประชาชนในพื้นที่

ทั้งนี้ ได้รวมองค์ประกอบกรรมการที่เป็นผู้แทนระดับปลัดจากกระทรวงต่างๆ ตามธรรมเนียมการตรากฎหมายของไทยมาแต่อดีตด้วย

6. องค์ประกอบของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงสอดคล้องกับภาระกิจที่ต้องบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คือประกอบด้วยผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน

7. การมีตัวแทนประชาชนในคณะกรรมการที่มาจากการเลือกกันเองขององค์กร กลุ่ม ที่ทำงานด้านสังคมและสุขภาพ กับประชากรกลุ่มต่างๆ ที่เป็นผู้รับประโยชน์หลักจากระบบหลักประกันสุขภาพ จึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญเพื่อทำหน้าที่สะท้อนสภาพความเป็นจริงและการคุ้มครองสิทธิประชาชนด้านสุขภาพ เพื่อเป็นหลักประกันว่าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะมุ่งสู่การเป็นระบบที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพเช่นเดียวกับระบบหลักประกันสุขภาพอื่นๆ

8. คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำเป็นต้องมีบทบาทและอำนาจหน้าที่ในการจัดสรรงบประมาณเพื่อการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และการรับประกันให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิอย่างทั่วถึง ถ้วนหน้าอย่างแท้จริง ทั้งการจัดบริการให้ไปถึงประชาชนในทุกพื้นที่ หรือการจัดระบบการส่งต่ออย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ การส่งเสริมให้มีระบบปฐมภูมิที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ

9. บทบาทของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจึงแยกออกจากบทบาทของกระทรวงสาธารณะสุขโดยสิ้นเชิง กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานของรัฐ ดำเนินการภายใต้กฎหมายบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อรับประกันว่าจะมีการจัดบริการสาธารณะสุขอย่างมีคุณภาพ มาตรฐาน และทำหน้าที่ในทางวิชาการด้านสาธารณสุข ด้านสุขภาพ การควบคุมโรคระบาด การป้องกันโรค และการติดตามปัญหาสาธารณสุขในระดับประเทศ ระดับนานาชาติ

10. เจตจำนงของระบบหลักประกันสุขภาพ จึงเป็นเรื่องการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญในฐานะเป็นสิทธิมนุษยชน การบริหารจัดการงบประมาณเพื่อสร้างหลักประกันให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพโดยถ้วนหน้าอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน โดยมีคณะกรรมการบริหารกองทุนที่เป็นอิสระและมีองค์ประกอบของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน

โดย ภาคประชาชนที่ลงชื่อเสนอกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2543 – ปัจจุบัน
22 เมษายน 2558

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ