วงเสวนาคาดหวังบทบาทธนาคารช่วยยับยั้งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม

วงเสวนาคาดหวังบทบาทธนาคารช่วยยับยั้งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม

วงเสวนาชี้ธนาคารช่วยยับยั้งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมได้มากกว่านี้ เตือนไม่ควรปล่อยสินเชื่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำกระทบมรดกโลกหลวงพระบาง ไทยมีไฟฟ้าสำรองเกินอยู่แล้ว ผลักภาระค่าไฟให้คนไทยทั้งประเทศ ชวนธนาคารมองให้ไกลกว่ากฎหมายที่กำลังสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

29 เม.ย. 2566- ตอนหนึ่งในเวทีสาธารณะ เรื่อง “เปิดคะแนน ESG ธนาคารไทย ปีที่ 5 ก้าวต่ออย่างไรให้ยั่งยืนและเป็นธรรม” ซึ่งจัดโดยแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) มีการเสวนาเรื่อง อนาคต ESG ธนาคารไทย ในมุมมองผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ณ ศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2566

เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) ยกกรณีศึกษาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบาง ซึ่งเป็นโครงการที่จะผลิตไฟฟ้าปริมาณมากที่สุดแห่งหนึ่งบนแม่น้ำโขง สิ่งที่น่ากังวลมากก็คือแนวโน้มที่จะมีการให้สินเชื่อโดยธนาคารจากประเทศไทยอย่างน้อย 5-6 แห่ง ทั้งที่ประเทศไทยไม่มีความจำเป็นต้องซื้อไฟฟ้าจากโครงการใดๆ อีกแล้ว เพราะปริมาณไฟฟ้าสำรองในระบบของประเทศไทยล้นเกินมาก การลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการใหม่ๆ จะยิ่งผลักภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าให้กับผู้บริโภคทุกคน ไม่ใช่แค่ปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่แค่ปัญหาธรรมาภิบาลในการจัดการทรัพยากรข้ามพรมแดนเท่านั้น แต่เป็นการผลักภาระค่าไฟฟ้าให้กับคนไทยทั้งหมด เป็นเวลาอย่างน้อย 35 ปี ตลอดสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโครงการ

เพียรพรเรียกร้องให้ธนาคารพาณิชย์ที่กำลังพิจารณาที่จะให้สินเชื่อโครงการนี้พิจารณาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับมรดกโลกหลวงพระบาง เนื่องจากปัจจุบันมีการประเมินความเสี่ยงต่อมรดกโลก (Heritage Impact Assessment) แล้ว โดยในรายงานมีข้อท้วงติงจากกรรมการมรดกโลกว่า โครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงที่ห่างจากหลวงพระบางเพียงไม่กี่กิโลเมตร จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมของมรดกโลก และไม่มีหลักฐานที่เข้มแข็งและแน่นอนว่าโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบางที่สร้างอยู่เหนือน้ำจะไม่ส่งผลกระทบต่อคุณลักษณะอันเป็นคุณค่าโดดเด่น ดังนั้นจึงไม่ควรเดินหน้าก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนหลวงพระบางและขอให้ย้ายโครงการนี้หรือโครงการอื่นๆ ไปยังพื้นที่อื่นที่จะไม่สร้างผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก

สมพร เพ็งค่ำ นักปฏิบัติการประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน สะท้อนความเห็นโดยหยิบยกกรณีโรงไฟฟ้าหงสาที่ตั้งอยู่ในประเทศลาวว่า จะเห็นว่าแม้โรงไฟฟ้าจะตั้งอยู่ประเทศลาวก็ตาม แต่เงินลงทุนสนับสนุน ร้อยละ 80 มาจากประเทศไทย โดยเป็นการลงทุนจากเงินกู้ร่วมกันของธนาคาร 9 แห่ง ซึ่งไฟฟ้าส่วนใหญ่ที่ผลิตได้จะถูกส่งมาที่ประเทศไทย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ในประเทศลาวจึงทำให้การสร้างโรงไฟฟ้าอยู่ภายใต้ข้อกำหนดและกฎหมายของประเทศลาวเท่านั้น และการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมไม่ได้ครอบคลุมถึงประเทศไทย ทั้งที่โรงไฟฟ้าแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้พรมแดนไทย-ลาว ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ โรงไฟฟ้าก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศในไทย ด้วยทิศทางลมที่พัดเข้าทางไทย อย่างน้อยตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ ลมที่พัดเข้ายังฝั่งไทยมีโลหะหนักปนเปื้อน รวมถึงปรอท ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะที่ทำการเกษตรโดยปลูกหม่อนและกาแฟในบริเวณนั้น 

สมพรเสนอว่า ทางออกที่น่าจะเป็นไปได้คือ ภาคธนาคารควรมีมาตรการในการตรวจสอบหลังจากให้สินเชื่อเงินกู้ไปแล้วว่าระหว่างทางในการดำเนินการ กิจการประเภทนี้ได้มีการติดตามและตรวจสอบเกี่ยวกับเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมหรือไม่ ถ้าผู้ประกอบการทำเรื่องนี้ได้ก็จะลดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจต่อกันอันอาจนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างการประท้วงและการฟ้องร้องกันได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จัดเป็นความเสี่ยงด้านธุรกิจด้วย แต่หากสามารถสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันได้แต่แรก ผ่านกระบวนการติดตามและตรวจสอบ น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ชี้ชวนให้ธนาคารที่ต้องพิจารณาให้สินเชื่อแก่ธุรกิจ มีมุมมองที่มากกว่าพิจารณาว่าถูกกฎหมายหรือไม่ เนื่องกฎหมายเองอาจจะไม่ได้เป็นธรรม จึงควรมองภาพอื่นๆ เพื่อพิจารณาร่วมด้วย โดยยกตัวอย่างคำสั่ง คสช.ที่ 4/2559 ที่ยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท เช่น โรงงานผลิตก๊าซชีวภาพ โรงบำบัดน้ำเสีย เตาเผาขยะ โรงงานคัดแยกและฝังกลบสิ่งปฏิกูล หรือหลุมฝังกลบขยะ คำสั่งนี้ทำให้เกิดผลกระทบตามมา เช่น มีโรงไฟฟ้าถ่านหินในชุมชน เปลี่ยนพื้นที่เกษตรกรรมให้เป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้าขยะ กระทบต่อสิทธิชุมชนและมาตรการคุ้มครองประชาชนและสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง ดังนั้น ธนาคารเองควรมีกระบวนการในการตรวจสอบและพิจารณาก่อนการสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการต่างๆ แม้จะเป็นไปตามนโยบายของรัฐ หรือทำตามกฎหมายแล้ว แต่ต้องพิจารณาในประเด็นอื่นๆ ด้วยว่าการสนับสนุนดังกล่าวไปละเมิดสิทธิชุมชนด้วยหรือไม่

นอกจากนี้ แม้จะเห็นว่าในภาพรวมธนาคารมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน แต่มีข้อเสนอต่อธนาคารว่า ควรเพิ่มมิติของการสื่อสารและรับฟังความคิดเห็นมากขึ้น เพราะธนาคารก็เป็นกลไกหนึ่งที่มีส่วนในการดำเนินธุรกิจเหล่านี้ขึ้นมา เมื่อธนาคารพิจารณาและเห็นว่า มาตรการหรือกฎหมายใดที่ออกโดยรัฐไม่เหมาะสม ธนาคารควรเป็นกลไกเสนอรัฐบาลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงได้

นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาด้านการเงินการธนาคารที่ประชาชนมาขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า แม้ ธปท. จะออกมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจำนวนมาก แต่ก็ยังพบปัญหาบริการทางการเงินหลายอย่าง เช่น การบริการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร ทั้งการรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัว หรือปัญหาแก๊งคอลเซนเตอร์ ตนเองมีข้อสังเกตว่า ผู้บริโภคจะต้องรับผิดชอบเพียงฝ่ายเดียวเมื่อเกิดปัญหาดังกล่าว และการทำงานที่แยกส่วนของแต่ละหน่วยงาน เช่น ธนาคาร ตำรวจปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์ จึงทำให้การแก้ปัญหาล่าช้าไม่ทันการกับความเสียหาย ทั้งนี้ นฤมลกล่าวเสริมว่า เรื่องร้องเรียนไม่ใช่การสร้างปัญหา แต่ช่วยทำให้เห็นช่องโหว่ เป็นกระบวนการตรวจสอบโดยภาคประชาชนว่าธนาคารดำเนินการตามมาตรการเป็นจริงมากน้อยเพียงใด หรือแก้ปัญหาได้จริงแค่ไหนตามที่ธนาคารกำหนด

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ