สุมาลี สุวรรณกร นักคิด นักเขียน นักสื่อสารมวลชน เจ้าของนามปากกา “มาลี ร้อยสีพันใบ” ประธานชมรมสื่อศิลปวัฒนธรรมอีสาน และกองบรรณาธิการไทอีสาน PBS โพสต์ไว้อาลัยในสื่อสังคมออนไลน์ ถึง “บำรุง บุญปัญญา” นักพัฒนาอาวุโสในภาคอีสาน ถึงชีวประวัติหลัง “บำรุง บุญปัญญา” ประสบอุบัติเหตุและเสียชีวิตเมื่อวันเสาร์ที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา
“ขอแสดงความอาลัย ต่อการจากไปของราชสีห์อีสาน “บำรุง บุญปัญญา” หรือ “ลุงเปี๊ยก” ของพี่น้องทุกคน
เมื่อบ่ายวันนี้ 18 มีนาคม 2566 ได้ข่าวว่า ลุงเปี๊ยกถูกรถชนอยู่ที่มหาสารคาม อาการน่าเป็นห่วง ขาหัก กระดูกซี่โครงหัก มีเลือดคั่งในสมอง ไถ่ถามอาการกันไปมาทุกคนล้วนเป็นห่วง ก่อนหน้านี้หลายวันลุงเปี๊ยกคุยกับพี่น้องว่า อยากจัดงานวันเกิดตัวเองที่ครบรอบ 77 ปี ในวันที่ 2 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ ไม่น่าเชื่อว่ายังไม่ถึงวันนั้นเลย วันนี้ได้รับข่าวร้ายเสียแล้ว
ขอไว้อาลัยต่อการจากไปของราชสีห์อีสาน ผู้บุกเบิกงานพัฒนาในพื้นที่อีสานเมื่อ 5 ทศวรรษก่อน ผู้เปิดโลกให้นักพัฒนารุ่นหลังได้หันมาใส่ใจแดนอีสานและเข้ามาช่วยให้คนอีสานหลายพื้นที่ได้รู้จักสิทธิของตนเอง ครั้งหนึ่งเคยได้เรียนรู้ รับฟัง และกล่อมเกลาจากลุงเปี๊ยกอันเป็นที่รักของพี่น้องลูกหลานทุกคน”
ชีวประวัติโดยสังเขป “บำรุง บุญปัญญา”
นายบำรุง บุญปัญญา เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2488 ภูมิลำเนาบ้านหนองผำ อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับ 1 คณะกสิกรรมและสัตวบาล (กสบ.) สาขาปฐพีวิทยา ซึ่งนายบำรุง บุญปัญญา ถือเป็นนักคิด นักปฏิบัติระดับแนวหน้าของประเทศไทย เป็นผู้เสนอแนวคิดวัฒนธรรมชุมชน อันเป็นแนวคิดที่ทรงพลังในการพัฒนาท้องถิ่น สร้างเสริมศักยภาพของชุมชนคนอีสาน
นอกจากนักพัฒนาองค์กรเอกชนที่นำแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนไปปฏิบัติการในพื้นที่แล้ว แนวคิดนี้ยังส่งผลต่อนักวิชาการไทยด้วย โดยเฉพาะสำนักเศรษฐศาสตร์การเมือง โดยได้ทำการวิจัยเพิ่มความชัดเจนของแนวคิดนี้ในมิติต่างๆ จนกระทั่งพัฒนาเป็นข้อเสนอทางยุทธศาสตร์การพัฒนาระดับชาติ แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนจึงเป็นแนวคิดหลักในการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชนไทยมาจนถึงปัจจุบัน และอาจรวมถึงหน่วยงานภาครัฐบางหน่วยงานอื่นๆด้วย นอกจากการเป็นนักคิดและนักปฏิบัติที่มุ่งมั่นจริงจังแล้ว
“บำรุง บุญปัญญา” ยังเป็นนักเขียนบทความซึ่งตีพิมพ์ประจำในวารสารสังคมพัฒนาและวารสารชุมชนพัฒนา เช่น ศรัทธาพลังชุมชน, มองโลกมองสังคม ก้าวต่อไปของประชาชน, ไปให้พ้นสังคมกำพร้า, จับปลาต้องลงน้ำ และเขียนแผ่นดิน นอกจากนั้นยังเป็นกวีที่ลุ่มลึกในเนื้อหาที่มีทั้งเดือดข้น โอนอ่อน ผ่านนามปากาที่ใช้ชื่อว่า ปทุม อุทุมพร รักษ์ แผ่นดิน ราชสีห์ที่ราบสูง ผลงาน เช่น เพราะสายรกกูฝังอยู่ที่นี่, สู่ชีวิตที่ดีร่วมกัน, คืนดิน, เทวศาสตร์ไทอีสานเพื่อการปลดปล่อย และ 3 ทศวรรษแนวคิดวัฒนธรรมชุมชน นายบำรุง ยังคงคิดค้นสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามให้กับสังคมอย่างมิเคยเหน็ดเหนื่อย ทั้งยังได้ลงแรงทุ่มเทให้กับการศึกษาแนวคิดวัฒนธรรมชุมชน และเคลื่อนไหวปฏิบัติงานพัฒนาในหมู่บ้านมาอย่างต่อเนื่องจริงจัง
นอกจากนี้ยังเป็นที่ปรึกษาของนักพัฒนาและผู้นำชุมชน ยังคงคิดค้นงานเรื่องวัฒนธรรมชุมชน และทางเลือกเพื่อการพึ่งตนเองของภาคประชาชนและชุมชน รวมทั้งการศึกษาค้นคว้าแนวคิดด้านนิเวศวัฒนธรรม สืบเนื่องขยายผลมาโดยตลอด ด้วยความวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์ผลงาน และความเพียรพยายามในการพัฒนาชุมชน ด้วยระบบวัฒนธรรมตลอดทั้งการอุทิศตนในการช่วยเหลือและสร้างสรรค์สังคม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจากเกียรติคุณและความมานะพยายามที่เป็นนักพัฒนา นักคิด นักเขียน เพื่อให้ชุมชนและประเทศมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นร่วมกัน และสามารถพึ่งพาตนเองได้ จนเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน “นายบำรุง บุญปัญญา” ได้รับการยกย่องให้ได้รับรางวัลมากมาย ล่าสุดได้รับรางวัลนราธิป เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา
ผลงาน “บำรุง บุญปัญญา”
รางวัลนราธิปเป็นรางวัลเกียรติคุณที่มอบให้กับนักเขียนและบรรณาธิการอาวุโส โดยมีหลักเกณฑ์ที่จะมอบรางวัลให้กับผู้ซึ่งมีอายุมากกว่า 80 ปี มีผลงานเป็นที่ยกย่องกว้างขวาง จัดโดยสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2544 รางวัลนราธิป เกิดขึ้นจากแนวคิดของ ประภัสสร เสวิกุล ซึ่งเป็นนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย โดยชื่อรางวัล นำมาจากพระนามของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เนื่องจากในปี พ.ศ. 2544 ซึ่งมีพิธีมอบรางวัลนี้เป็นปีแรก เป็นปีครบรอบ 110 ปี ชาตกาล และครบรอบ 10 ปี ที่ท่านได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญระดับโลก