เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2557 เทศบาลตำบลเขตรอุดมศักดิ์ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ได้จัดโครงการ “ช่วยเหลือเป็น เล่นน้ำปลอดภัย” ซึ่งมีชุมชน 4 ชุมชนเข้าร่วมการอบรมได้แก่ ชุมชนแหลมเทียน ประธานชุมชนคือ ร.อ.วาจีระ เพชรวิเชียร ชุมชนเตยงาม ประธานชุมชนคือ ร.อ.เส วท พ่วงบัลลัง ชุมชนดงตาล ประธานชุมชนคือ พ.จ.อ.ชาญ และชุมชนคลองกานดา ประธานชุมชนคือ ร.ต.ประวิทย์ จันทร์ศรีคำ โดยมี นายไพโรจน์ มาลากุล ณ อยุธยา นายกเทศมนตรีตำบลเขตรอุดมศักดิ์ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี มาเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ พร้อมด้วย นายสมบูรณ์ ชุมพาลี ปลัดเทศบาลตำบลเขตรอุดมศักดิ์ และนายกำชัย ตั้งธรรมสิตย์ สมาชิกสภาจังหวัดชลบุรี
ในแต่ละปีมีสถิติการเสียชีวิตของเด็ก ๆ จากการจมน้ำในอัตราที่สูง บางเหตุการณ์มีเด็กเสียชีวิตพร้อมกันหลายคนหรือบางเหตุการณ์ผู้เสียชีวิต เป็นพี่น้องในครอบครัวเดียวกัน ข้อมูลของศูนย์วิจัยเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บ ปี 2542-2545 พบว่าเด็กอายุ 1-14 ปี เสียชีวิตจากการจมน้ำเฉลี่ยปีละ 1,575 ราย อัตราการเสียชีวิต 10.4 คนต่อประชากร 100,000 คน พบในกลุ่มเด็กอายุ 1-4 ปี มีค่าเฉลี่ยปีละ 620 ราย เด็กวัยเรียน อายุ 5-9 ปี มีค่าเฉลี่ย 661 ราย ในกลุ่มเด็กโตอายุ 10-14 ปี มีค่าเฉลี่ย 294 ราย จากสิถิติจะเห็นได้ว่าเยาวชนที่ต้องเสียชีวิตจากการจมน้ำเฉลี่ยประมาณ 5 คนต่อวัน และจากข้อมูลปี 2549 ของกระทรวงสาธารณสุขจากการสำรวจเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวนมากกว่า 13 ล้านคนทั่วประเทศ พบว่าร้อยละ 16 หรือประมาณ 2 ล้านกว่าคนที่ว่ายน้ำเป็น และอีกประมาณ 11 ล้านคนที่ว่ายน้ำไม่เป็น
อีกทั้งอำเภอสัตหีบ เป็นแหล่งท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลที่มีชายหาดสวยงาม ในแต่ละปีจึงมีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก มีกิจกรรมทางน้ำหลากหลาย มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ และยังมีสระว่ายน้ำอีกจำนวนมาก จึงมีอุบัติเหตุจากกิจกรรมทางน้ำเกิดขึ้นบ่อยมาก และบางครั้งรุนแรงถึงแก่ชีวิต ดังนั้นการฝึกให้เด็ก ๆ หรือประชาชนทั่วไปให้มีอักษะในการช่วยเหลือตนเองหรือให้การช่วยเหลือเมื่อ ประสบเหตุพบคนตกน้ำหรือจมน้ำที่ถูกต้องและปลอกภัย ทั้งคนช่วยและคนที่ถูกช่วย จึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อป้องกันการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น ดังนั้นชุมชนแหลมเทียน ชุมชนเตยงาม ชุมชนดงตาล และชุมชนคลองกานดา ต.สัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี จึงได้จัดทำโครงการ “ช่วยเหลือเป็น เล่นน้ำปลอดภัย” เพื่ออบรมให้แก่เด็กและเยาวชนทั่วไป ได้มีความรู้ ความเข้าใจ ในการช่วยเหลือตนเองและผู้ประสบเหตุได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย ในครั้งนี้มีผู้เข้ารับการอบรมทั้ง 4 ชุมชนรวมจำนวน 360 คน