เรื่องเกี่ยวกับขนมไส้กล้วยกับร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ที่ไม่น่าจะจบลงอย่างกล้วยๆ และบทวิเคราะห์พฤติกรรมทางการค้าที่สังคมเห็นว่าไม่เป็นธรรมนั้นผิดกฎหมายแข่งขันทางการค้าหรือไม่
เดือนเด่น นิคมบริรักษ์
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
ในช่วงที่ผ่านมา มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับพฤติกรรมของร้านสะดวกซื้อของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่สังคมมองว่าไม่เป็นธรรมกับซัพพลายเออร์รายย่อย จนถึงขั้นมีการรณรงค์ให้งดซื้อสินค้าจากร้านค้าดังกล่าว และมีการเรียกร้องให้รัฐเข้ามาตรวจสอบพฤติกรรมที่มีลักษณะที่เป็นการ “ผูกขาด” ในฐานะที่เป็นผู้ที่คลุกคลีกับกฎหมายแข่งขันทางการค้ามาเป็นเวลายาวนาน จึงขอนำเสนอข้อมูล ข้อวิเคราะห์และความเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวที่อาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เกาะติดเรื่องนี้
ผู้เขียนขอนำเสนอบทความ 3 ส่วน ส่วนแรกเป็นการรวบรวมข้อมูลที่มีอยู่เกี่ยวกับประเด็นพฤติกรรมทางการค้าที่สังคมเห็นว่าไม่เป็นธรรม ส่วนที่สองเป็นการวิเคราะห์ว่าพฤติกรรมที่สังคมเห็นว่าไม่เป็นธรรมนั้นผิดกฎหมายแข่งขันทางการค้าหรือไม่ และส่วนสุดท้ายเป็นข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดำเนินการกับกรณีดังกล่าว
ปัญหาเกิดขึ้นจากการที่มีการเขียนบทความเรื่อง “แบ่งปัน SIAM BANANA โตเกียวบานาน่าไทย แบบมีกล้วยอยู่จริงๆ ที่แลกมาด้วยน้ำตา” เผยแพร่ใน blog ของ เว็บไซต์โอเคเนชั่น ซึ่งให้ข้อมูลว่าผู้ผลิตสินค้าสยามบานาน่าซึ่งได้รับความสำเร็จอย่างมากในการจำหน่ายสินค้าที่หัวหินและเขาใหญ่ ได้ติดต่อร้านสะดวกซื้อ 7-11 เพื่อที่จะวางขายสินค้าดังกล่าวทั่วประเทศ ซึ่งทาง 7-11 ได้ตอบรับวาง โดยตกลงว่าจะวางขายสินค้าดังกล่าวในวันที่ 1 เดือนเมษายน 2558 หากแต่มีเงื่อนไขว่าผู้ผลิตจะต้องเปิดเผยสูตรและกระบวนการและวิธีการผลิตขนมของตนในรายละเอียดเพื่อที่จะให้การผลิตสินค้าได้มาตรฐานสากล
แต่หลังจากนั้น ในเดือนกุมภาพันธ์ทาง 7-11 กลับมีการบอกเลิกสัญญาการวางขายสินค้าดังกล่าว ด้วยเหตุผลเพราะว่ามีสินค้าของตนเองแล้ว ชื่อว่า Le Pain Banana ทำให้ผู้ผลิตดังกล่าวไม่มีช่องทางการจำหน่ายที่จะระบายสินค้าเนื่องจากได้ลงทุนเพิ่มปริมาณการผลิตหลายร้อยเท่าทำให้เป็นหนี้สินอย่างมาก
การแพร่กระจายของบทความดังกล่าวทาง social media อย่างรวดเร็วทำให้เกิดการเรียกร้องให้หน่วยงานของภาครัฐเข้ามาดำเนินการกับพฤติกรรมที่เป็นไม่เป็นธรรมของร้านสะดวกซื้อซึ่งมีอำนาจ “ผูกขาด”
ในขณะเดียวกันทางกลุ่ม CPAll ก็ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า ร้านสะดวกซื้อ 7-11 มิได้มีอำนาจผูกขาดเพราะมีจำนวนสาขาเพียง 8000 สาขาทั่วประเทศ ในขณะที่มีร้านค้าปลีกรวมร้านโชห่วยกว่า 8 แสนราย นอกจากนี้แล้ว ได้ให้ข้อมูลว่า การตรวจสอบรายละเอียดของกระบวนการผลิตสินค้านั้นเป็นสิ่งที่บริษัททำกับซัพพลายเออร์ทุกรายเพื่อที่จะให้สินค้าที่จะวางขายในร้านได้มาตรฐาน มิได้เป็นการดำเนินการเฉพาะกรณีของ Siam Banana เพื่อล้วงความลับทางการค้า นอกจากนี้แล้ว ยังให้ความเห็นว่า สินค้าของตนกับของ Siam Banana อยู่คนละตลาดกัน เพราะ Le Pain Banana ราคาถูกกว่าครึ่งหนึ่งและจำหน่ายเป็นชิ้นมิได้มีการจำหน่ายเป็นกล่องที่เน้นการเป็นของฝากที่ค่อนข้าง “หรู”และทางบริษัทก็ได้มีการพัฒนาสินค้าดังกล่าวมาก่อนที่ Siam Banana จะติดต่อมาขอวางขายสินค้าของตนในช่วงปลายปี พ.ศ. 2557
จากข้อมูลของทั้ง 2 ฝ่ายผู้เขียนมีข้อสังเกต 3 ประการ ประการแรก ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นไม่เกี่ยวกับการ “ผูกขาด” แต่อย่างใด พฤติกรรมที่มีการกล่าวถึงนั้นมีลักษณะของ “การค้าที่ไม่เป็นธรรม (unfair trade practice)” ตามมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 มิใช่ การผูกขาดหรือ “การใช้อำนาจเหนือตลาด (market dominance)” ตามมาตรา 25 เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกี่ยวกับการผูกขาดธุรกิจค้าปลีก แต่เกี่ยวกับการที่ร้านค้าปลีกถูกกล่าวหาว่าเอาเปรียบคู่ค้าที่เป็นซัพพลายเออร์จากการใช้ “อำนาจต่อรอง” ที่เหนือกว่า มาตรา 29 มีไว้เพื่อคุ้มครองธุรกิจรายย่อยที่ต้องทำธุรกรรมกับธุรกิจรายใหญ่มิให้ถูกเอาเปรียบ ไม่เกี่ยวกับการผูกขาดตลาดที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภค ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพิสูจน์ว่า 7-11 มีส่วนแบ่งตลาดเกินเกณฑ์ของผู้มีอำนาจเหนือตลาด คือ ร้อยละ 50 หรือไม่ การถกเถียงเรื่องส่วนแบ่งตลาดจึงผิดประเด็น
ประการที่สอง เนื่องจากการใช้อำนาจต่อรองที่เหนือกว่าของธุรกิจขนาดใหญ่ในการเอาเปรียบคู่ค้านั้นอาจมีหลากหลายรูปแบบ ไม่สามารถกำหนดลักษณะของพฤติกรรมแบบเฉพาะเจาะจงได้ มาตรา 29 จึงมีบทบัญญัติที่ค่อนข้างกว้างดังต่อไปนี้ “ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจกระทำการใด ๆ อันมิใช่การแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม และมีผลเป็นการทำลาย ทำให้เสียหาย ขัดขวาง กีดกัน หรือจำกัดการประกอบ ธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจอื่น หรือเพื่อมิให้ผู้อื่นประกอบธุรกิจ หรือต้องล้มเลิกการประกอบธุรกิจ”
การศึกษาตัวอย่างของพฤติกรรมที่เข้าข่ายพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรมในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน เยอรมัน สหรัฐอเมริกา ฯลฯ พบว่ามีหลากหลายรวมถึง การเลือกปฏิบัติระหว่างคู่ค้าโดยไม่มีเหตุผลอันควร การกำหนดเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจที่เป็นการจำกัดทางเลือกในการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการรายอื่น การใช้อำนาจต่อรองในการประกอบธุรกิจโดยไม่เป็นธรรม (กว้างมาก) การได้มาซึ่งข้อมูล ความลับทางการผลิต การขาย เทคโนโลยี โดยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง ฯลฯ ดังนั้น พฤติกรรมที่กล่าวถึงใน blog ของโอเคเนชั่นหากเกิดขึ้นจริงก็น่าจะเข้าข่ายพฤติกรรมที่ไม่เป็นธรรมตามมาตรา 29 หากมีการพิสูจน์ความเสียหายของผู้ผลิต Siam Banana จากการกระทำดังกล่าวด้วย
ประการที่สาม ในประเด็นที่มีการถกเถียงกันว่า สินค้าของ Siam Banana และของ 7-11 ที่มีชื่อว่า Le Pain Banana นั้นเป็นสินค้าที่แข่งขันกันหรือไม่นั้น อาจจะต้องไปศึกษาดูว่าเมื่อมี Le Pain Banana ออกมาในตลาดแล้ว มีผลกระทบต่อปริมาณการขายของ Siam Banana หรือไม่
กล่าวโดยสรุป ผู้เขียนเห็นว่าประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมีข้อมูลจำนวนมากที่ต้องมีการตรวจสอบและวิเคราะห์เพิ่มเติมเพื่อที่จะสรุปได้ว่ามีการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบคู่ค้าหรือไม่ เพื่อคลายความเคลือบแคลงของสังคม รวมทั้งให้ความเป็นธรรมแก่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น 7-11 หากไม่ได้มีเจตนาในการเอาเปรียบคู่ค้าตามที่ถูกกล่าวหา หรือ ผู้ผลิต Siam Banana ที่ได้รับความเดือดร้อนหากเนื้อหาในบทความที่ปรากฏในโซเชียลมีเดียเป็นความจริง
ทั้งนี้ สำนักแข่งขันทางการค้า ซึ่งเป็นหน่วยงานที่บังคับใช้ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 คงไม่สามารถ “เงียบเฉย” ได้ในขณะที่ประเด็นนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในสื่อทุกรูปแบบ ผู้เขียนเห็นว่า สำนักงานจำเป็นที่จะต้องมาชี้แจงกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมาว่า
– มีประเด็นที่เกี่ยวโยงกับกฎหมายแข่งขันทางการค้าหรือไม่ หากมีแล้ว สำนักงานจะดำเนินการอย่างไร
– มีการกระทำจริงตามที่มีการกล่าวถึงใน blog หรือไม่ เช่น มีการยกเลิกสัญญาการวางขายสินค้ากลางคันจริงหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นก็น่าจะดำเนินการทางแพ่งเพื่อเรียกร้องความเสียหายอันสืบเนื่องมาจากการผิดสัญญาได้
– การเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการกระบวนการผลิตของ Siam Banana นั้นเป็นเงื่อนไขที่ 7-11 ใช้กับซัพพลายเออร์ทุกรายจริงหรือไม่ หรือ เฉพาะรายนี้ซึ่งจะส่อพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรม
– การพัฒนาสินค้าขนมที่คล้ายคลึงกัน คือ Le pain Banana มีมาก่อนที่ Siam Banana จะมาเจรจาขอพื้นที่ในการจำหน่ายสินค้าจริงหรือไม่ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่สามารถชี้ได้ว่ามีการใช้ประโยชน์จากสูตรการผลิตของ Siam Banana หรือไม่
– เมื่อมีการออกสินค้า Le Pain Banana มามีผลต่ออุปสงค์ของ Siam Banana (ที่จำหน่ายที่หัวหิน และเขาใหญ่) หรือไม่ซึ่งจะช่วยบ่งบอกได้ว่าสินค้าสองตัวนี้แข่งกันหรือไม่
การที่สำนักงานฯ จะออกมาคงจะต้องรอสัญญาณจากรัฐบาลว่าจะเอาอย่างไรเพราะที่ผ่านมา กว่า 16 ปี ประเด็นแข่งขันเกี่ยวมักเกี่ยวกับการเมือง ทำให้ข้าราชการประจำไม่กล้าที่จะ “ทะเล่อทะล่า” ออกไปโดยไม่ดูตาม้าตาเรือ ดิฉันเห็นใจเจ้าหน้าที่สำนักแข่งขันทางการค้าที่มีความพยายามที่จะบังคับใช้กฎหมายนี้แต่ถูกห้ามถูกเบรคมาโดยตลอด คราวนี้เป็นการทดสอบพลังประชาชนว่าจะกดดันการเมืองไม่ให้ “เกียร์ว่าง” ในกรณีนี้ได้หรือไม่ สุดท้ายแล้ว เรื่องเกี่ยวกับขนมไส้กล้วยไม่น่าจะจบลงอย่างกล้วยๆ ได้