หลาย ๆ ท่านอาจจะเคยรับชมหรือได้รู้จักกันมาแล้วกับ “ละครเวที” มหาวิทยาลัยพะเยา คณะบริหารธุรกิจและนิเทศศาสตร์ สาขาวิชาการสื่อสารสื่อใหม่ ได้มีการจัดแสดงละครเวทีที่ไม่เหมือนละครเวทีอื่น ๆ ที่ท่านได้รับชมมาก่อน โดยละครเวทีที่จัดนั้นเป็นการแสดงโดยอาศัยเทคนิค Lip-synch (ลิปซิงค์) เสียงจากทีมพากย์ และอีกทั้งยังมีการใช้เสียง Foley (โฟเลย์) ประกอบการเพิ่มอรรถรสของละครเวทีอีกด้วย และนิสิตได้ลงมือทำงานกันจริง ๆ จากนิสิตชั้นปีที่ 2-3 ภายใต้หลักสูตรของสาขาวิชาการสื่อสารสื่อใหม่ แถมยังยกละครเวทีทั้ง 2 เรื่องมาให้ท่านผู้ชมได้ชมๆ ผ่านการถ่ายทอดสดทางแฟนเพจเฟซบุ๊ค https://www.facebook.com/studyatNMCUP
จากทั้งสองเรื่องมาแอบสปอยกันดีกว่าว่าเรื่องไหนดีเรื่องไหนเด็ดกับเรื่องราวแรกที่ว่ากันด้วยความแซ่บ! ของลูกสาวร้านขายส้มตำที่ต้องมาเจอเรื่องราวที่ทำให้เธอต้องเจอจุดเปลี่ยนของชีวิต กับเรื่อง “ส้มตำกลับใจ” และเรื่องราวที่ตามมาติดๆ เอาใจแฟน ๆ ที่ชอบการไขปริศนากับชมรมสุดป่วนที่กำลังจะถูกยุบ ในเรื่อง “ไขWHO ตอน เดอะฉำฉา” เนื้อเรื่องของแต่ละเรื่องนั้นมีเอกลักษณ์และแก่นของเรื่องที่ต่างกัน รวมถึงเทคนิคและวิธีการนำเสนอของทั้งสองเรื่องก็ต่างกันอีกด้วย จนถึงตอนนี้หลาย ๆ ท่านอาจจะสงสัยแล้วว่า ละครเวทีนั้นสามารถแสดงโดยใช้เทคนิค Lip-synch อย่างไร?
เทคนิคการ LIB-SYNCH (ลิปซิงค์) คือ การที่นักแสดงทำปากขยับลอกเลียนแบบไปพร้อม ๆ กับเสียงพากย์หรือเสียงร้องจากเพลง
ละครเวทีงานนี้มีทีมงานเป็นนิสิตชั้นปีที่ 2 และ 3 โดยประกอบไปด้วย 2 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายเทคนิคและฝ่ายการแสดง โดยนิสิตชั้นปีที่ 2 ได้รับมอบหมายหน้าที่ในฝ่ายของการแสดง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างฉากประกอบละคร การรันคิวนักแสดง รวมถึงการทำเสียงประกอบ ดนตรีประกอบ เสียงพากย์ และเสียง Foley ที่คอยช่วยเพิ่มบรรยากาศและอรรถรสให้กับละคร ละครเวทีที่ใช้เทคนิคอย่างการ Lip-synch จึงจะต้องมีการซักซ้อมกันเป็นจำนวนมากเพื่อให้คิวของการพากย์เสียงและเสียงประกอบ ดนตรีประกอบและเสียง Foley เข้ากันแบบตรงจังหวะกับนักแสดงที่กำลังแสดงอยู่บนเวที งานนี้ไม่ง่ายเลยนะครับ เพราะว่าเสียงที่เกิดขึ้นในการแสดง เช่น เสียงพูดของนักแสดง เสียง Foley จะต้องเป็นการแสดงกันสด ๆ ไม่มีการอัดบันทึกเสียงไว้ยกเว้นเสียงเพลงและเสียงดนตรี
Foley (โฟเลย์) คือ เสียงที่เกิดขึ้นโดยการสร้างขึ้นมาเองจากวัสดุหรืออุปกรณ์ที่ให้เสียงมีความคล้ายคลึงกับการกระทำหรือสิ่งที่เกิดขึ้นกับนักแสดงบนเวที เพื่อเพิ่มบรรยากาศและความสมจริงให้กับเสียงมากขึ้น
ส่วนนิสิตชั้นปีที่ 3 ถูกมอบหมายหน้าที่ให้ดูแลเกี่ยวกับงานโปรดักชั่น ไม่ว่าจะเป็นผู้ถ่ายทอดสดรายการ ผู้กำกับภาพ ทีมงานที่ดูแลเรื่องไฟ งานโปรดักชั่นนั้นเป็นส่วนสำคัญในงานละครเวทีนี้เป็นอย่างมากเพราะละครเวทีนี้เป็นการแสดงที่ให้ผู้ชมเข้าชมการถ่ายทอดสดผ่านการ Streaming บนแพลตฟอร์มของ Facebook ที่โดยเพจ สาขาวิชาการสื่อสารสื่อใหม่ และฝ่ายโปรดักชั่นนั้นยังต้องซักซ้อมกับอีกฝ่ายเพื่อที่จะถ่ายทอดภาพออกไปได้สอดคล้องและสัมพันธ์กับนักแสดงที่แสดงอยู่บนเวที และฝ่ายกำกับภาพยังคงต้องใช้เทคนิคการเล่าเรื่องผ่านมุมกล้องอีกด้วย