“ชุมชนเก่าบ้านเรือนอาคารไม้สีแดง สร้างติดกัน 5 หลัง เว้นช่องระยะห่าง 5 เมตร สลับกัน ตัดด้วยถนนสายกลางที่ใช้สัญจร”
นี้เป็นเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมอาคารบ้านเรือนของชุมชนเมืองเก่าลันตา หรือ ชุมชนศรีรายา อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ เป็นชุมชนเก่าแก่กว่าร้อยปี มีการออกแบบบ้านขึ้นใหม่เพื่อให้ตอบโจทย์กับพื้นที่ ซึ่งเดิมเคยเกิดโศกนาฎกรรมไฟไหม้มาแล้ว 2 ครั้ง เมื่อปี 2472 และปี 2496 จากเมืองท่าการค้าขายของชาวจีนที่เข้ามาตั้งรกรากปักฐานจนเกิดเป็นชุมชนเมืองเก่า
“การสร้างบ้านติดกัน 5 หลัง แล้วเว้นระยะ 5 เมตร เป็นช่องระหว่าง และสร้างอีก 5 หลังแล้วเว้นช่อง 5 เมตร ซึ่งจะเป็นช่องกันไฟ และมีไว้สำหรับเข้าเทียบท่าของเรือในการส่งสินค้า หรือเรือประมงใช้เส้นทางนี้”
สมาน หวังผล นายกเทศมนตรีตำบลเกาะลันตาใหญ่
สมาน หวังผล เล่าถึงความเป็นมาของชุมชนศรีรายา เพื่อชวนย้อนภาพจำในวัยเด็ก ที่ผูกพันกับชุมชนและสังคมพหุวัฒนธรรมที่อยู่คู่ที่นี่มายาวนาน
ปัจจุบัน ชุมชนเมืองเก่าลันตาเป็นรู้จักในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติว่า Lanta Old Town ชุมชนที่มีทั้งชาวไทยจีน มุสลิม และไทยพุทธ อาศัยร่วมกันในย่านนี้ และปรับเปลี่ยนชุมชนให้เป็นแหล่งรองรับของนักท่องเที่ยว เป็นย่านการค้า ร้านอาหาร และร้านของฝาก ที่ยังคงวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชน
“ชาวอุลักราโว้ย ที่บ้านเราเรียกว่าชาวเล ได้อพยพมาตั้งรกร้างเป็นกลุ่มแรก กลุ่มต่อมาเป็นชาวจีน ต่อมามีกลุ่มมุสลิม มลายู มาจากสตูลแล้วมาอาศัยอยู่ที่นี่ ซึ่งอยู่ปะปนกับคนจีน และกลุ่มสุดท้ายคือไทยพุทธ ซึ่งเป็นกลุ่มข้าราการที่ย้ายมาจากที่อื่น” สมาน หวังผล
ด้วยความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่อยู่ร่วมกันอย่างด้วยวิถีที่เรียบง่าย และสงบ ทีนี่จึงเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวทางทะเลของไทย ติดอันดับ 1 ใน 6 เกาะจากนิตยสารระดับโลก ที่นักท่องเที่ยวยุโรปและสแกนดิเนเวียให้ความสนใจ รายการฟังเสียงประเทศไทย จึงชวนคนเกาะลันตามาล้อมวงคุยเรื่องอนาคตและการเติบโตบนต้นทุนเดิมของเกาะลันตา
เกาะลันตา สวรรค์ของนักเที่ยวชาวสแกนดิเนเวีย
ด้วยความหลากหลายของระบบนิเวศและความหลากหลายทางวัฒนธรรม บวกกับแนวทางการพัฒนาเมืองของคนเกาะลันตา ที่เห็นคุณค่าของการใช้ทรัพยากร เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของเกาะลันตา (Lanta Go Green) ทำให้ที่นี่จึงตอบโจทย์นักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย ที่เลือกเป็นจุดหมายปลายทางในการพักผ่อนและนัดพบปะกันในรอบปี
หลังมีนโยบายและส่งเสริมการท่องเที่ยว จ.กระบี่ เป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยว ส่งผลให้ เกาะลันตากลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้ จ.กระบี่ ในปี พ.ศ.2562 ไม่ต่ำกว่าปีละ 1.2 แสนล้านบาท และข้อมูลในปี 2561 มีปริมาณนักท่องเที่ยวเดินทางมาที่เกาะลันตามากกว่า 2 ล้านคน ต่อปี เกิดโรงแรมและรีสอร์ทในเกาะลันตามากกว่า 115 แห่ง และ ห้องพัก 3,996 ห้อง
อย่างไรก็ตาม ช่วงก่อนโควิดมีผลสำรวจว่า บางเกาะในพื้นที่เกาะลันตา เริ่มมีการใช้ประโยชน์เกินขีดความสามารถรองรับทางการท่องเที่ยว ทั้งด้านนิเวศวิทยา และสิ่งแวดล้อม เช่น การรองรับนักท่องเที่ยวของเกาะลันตาใหญ่ที่เหมาะสม ควรอยู่ที่ไม่เกิน 16,077 คนต่อช่วงเวลา และยังพบว่ามีอัตราการใช้น้ำประปามากกว่า 1ล้าน สองแสนลิตรต่อวัน ( 1,281,734 ลิตรต่อวัน) ซึ่งถือว่ามีผลกระทบในระดับปานกลาง
หลังจากสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย นักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศเริ่มแสวงหาแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้น
โอกาสการพัฒนา “เกาะลันตา”
- เกาะลันตามีทรัพยากรธรรมชาติทางการท่องเที่ยวที่หลากหลายและยังสมบูรณ์ เงียบสงบเหมาะกับการพักผ่อนที่มีชื่อเสียงติดระดับโลก และชื่อว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยว ฟรีไดร์ที่เป็นแห่งแรกของประเทศไทย
- ทำเลของจังหวัดกระบี่อยู่ติดกับหลายจังหวัด ทั้งฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน สามารถเป็น Hub เชื่อมโยงการท่องเที่ยวได้ทั้งระบบ
- การเปิดเสรีการค้าบริการอาเซียนช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจในการส่งออกสินค้าและบริการ ด้านอาหารฮาลาล ให้นักท่องเที่ยวในกลุ่มอาเซียนและกลุ่มตะวันออกกลาง เพราะคนในพื้นที่เป็นมุสลิมกว่าร้อยละ 80
- ทิศทางใหม่สำหรับการท่องเที่ยวหลังโควิด และเทรนด์การท่องเที่ยวสังคมสูงวัยโลก สอดคล้องกับแนวคิด (Lanta Go Green) และที่สำคัญที่นี่ เกิดการกลุ่มของภาคธุรกิจโรงแรม การรวมกลุ่มสมาคมต่าง ๆ ทั้งชุมชน รัฐ และ “ปฏิญญาอ่าวลันตา” เชื่อมโยงท่องเที่ยว และสิ่งแวดล้อม
“เกาะลันตา” กับข้อท้าทาย
• การขยายโครงสร้างพื้นฐานภาคการท่องเที่ยวกับภูมิศาสตร์ของเกาะไม่เพียงพอกับการรองรับปริมาณการใช้งานที่เพิ่มขึ้น จำเป็นต้องจัดการปัญหาเร่งด่วน
• โครงการสะพานเชื่อมตำบลเกาะกลาง ฝั่งแผ่นดินใหญ่ ไปยังตำบลเกาะลันตา จ.กระบี่ ระยะทาง 2,240 เมตร มูลค่า 1,648 ล้านบาท เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางข้ามเกาะ คาดว่าจะเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ เช่น ผู้ประกอบการ มาลงทุนมากขึ้น ทำให้เกาะลันตาเกิดการขยายตัว และอาจส่งผลต่อการจราจรติดขัดในบางเส้นทาง รวมทั้งโจทย์การจัดการด้านขยะที่มีมากกว่า 44 ตันต่อวัน และอาจมีเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของการท่องเที่ยว
“หลังจากเห็นข้อมูลข้อเท็จจริงของพื้นที่แล้ว ทีมงานรายการฟังเสียงประเทศไทย ได้นำฉากทัศน์ที่คนลันตาจะเลือกเดินต่อไปได้ในอนาคต มาให้คนในวงได้ร่วมกันตัดสินใจ ไปพร้อม ๆ กับข้อเสนอแลกเปลี่ยน 3 มุมมอง จากตัวแทนในแต่ละฉากทัศน์”
ฉากทัศน์ที่ 1 “พะงัน โลว์คาร์บอน”
• เกาะพะงัน แหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก จุดหมายปลายทางของแบ็คแพ็คเกอร์ที่นิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
• เกาะพะงันเน้นความสำคัญกับการรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีสภาพคงเดิม และตั้งเป้าพัฒนาเป็นชุมชนท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ มีการจัดแบ่งโซนนิ่งพื้นที่ท่องเที่ยว พื้นที่กิจกรรม งานเทศกาล Full-moon และชุมชน (zoning)
• ผู้ประกอบการและคนท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทได้รวมตัวกันช่วยดูแลรักษาและวางกติการ่วมกันในรูปแบบของชมรมและสมาคม ทำให้เกาะพะงันค่อยๆ โตอย่างช้า ๆ
• แต่ภาพนี้หน่วยงานท้องถิ่นเทศบาลเป็นหลักในการดูแลเรื่องบริหารจัดการท่องเที่ยวจัดการบนเกาะ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพ รวมถึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมกิจกรรมท่องเที่ยวใหม่ และพัฒนาระบบเทคโนโลยีเชื่อมฐานข้อมูล เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว
คุณวิชิต ยะลา นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะลันตา กล่าวว่า “เกาะลันตา มีนักท่องเที่ยวเข้ามาตั้งแต่ยุค 30 ปีที่แล้ว เป็นกลุ่มแบ็คแพ็คเข้ามาบุกเบิกก่อน และในยุคนั้นห้องพักกระต็อบไม้ไผ่ ราคาคืนละ 40 บาท อยู่แบบสโลไลฟ์ ไม่มีไฟฟ้า เป็นการเชื่อมโยงกลุ่มแบ็คแพ็คเข้ามาในพื้นที่ด้วยมิติเรื่องธรรมชาติ เมื่อเทียบเกาะลันตากับเกาะพะงัน สมัยก่อนเรามีนักท่องเที่ยวแลกเปลี่ยนในมุมธรรมชาติค่อนข้างเยอะ ส่วนพะงันคนรู้จักในนามของหาดริ้น คือ ฟูมูลปาร์ตี้ นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีกระแสการเชื่อมการท่องเที่ยวระหว่างอันดามัน (เกาะลันตา) และอ่าวไทย (เกาะพะงัน) การเดินทางข้ามฝั่งจะเห็นได้ชัดว่า ช่วงฟูมูลปาร์ตี้ นักท่องเที่ยวฝั่งอันดามันหายไปอยู่ฝั่งอ่าวไทย ในช่วง 3-4 วัน ทำกิจกรรมฝั่งอ่าวไทย แต่พอหมดกิจกรรมก็กลับมาฝั่งอันดามัน”
“ด้วยธรรมชาติของเกาะพะงันและเกาะลันตา การเดินทางที่ใช้เวลานานเหมือนกัน ผมมองว่าการเดินทางที่ลำบาก ไม่ได้เป็นอุปสรรค แต่มันสามารถสร้างความประทับใจในการเดินทางได้ อย่างน้อยได้รักษาทรัพยากรธรรมชาติ คนที่เข้ามาในแหล่งท่องเที่ยวอย่างเกาะพะงัน หรือเกาะลันตา ต้องเป็นคนที่มีใจรักในความเป็นตัวตนของลันตา รักในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ และต้นทุนวัฒนธรรมที่ยืนยาว”
“เพราะฉะนั้น ผมมองว่าการเดินทางเหล่านี้ มีเรื่องราวด้วยความเป็นเกาะพะงันที่คล้ายกับเกาะลันตา การเดินทางอาจเป็นอุปสรรคแต่สำหรับคนที่รักธรรมชาติก็จะเดินทางเข้ามา ส่วนใครที่รักความเป็นศิวิไล ต้องการสิ่งอำนวยความสะดวก ตรงนี้ไม่ได้ตอบโจทย์อยู่แล้ว”
“ปัจจุบันแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่ง อยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. อย่างท่องเที่ยวทางทะเลอันดามันบ้านเราอยู่ในเขตอุทยาน การจัดการภาพรวมขึ้นอยู่กับ อปท. ต้องการรวมคิด ร่วมกันทำแล้วเดินไปข้างหน้า การฟังเสียงชาวบ้าน และดูต้นทุนของแต่ละพื้นที่ ว่าควรพัฒนาไปในทิศทางไหน ศักยภาพเป็นอย่างไรแล้วนำมาเชื่อมโยง”
คุณอมฤต ศิริพรจุฑากุล อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จังหวัดกระบี่ กล่าวว่า “ระหว่างเกาะพะงันกับเกาะลันตามีระบบภูมิสถาปัตย์หลายอย่างต่างกัน พะงันมีขนาดเกาะที่เล็กกว่า ช่วงอายุของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ไปสัมผัสเกาะพะงันต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนอายุ 35 ลงมา กลุ่มแบ็คแพ็คที่เป็นกลุ่มหนุ่มสาว แต่สำหรับเกาะลันตาเป็นกลุ่มครอบครัว อายุ 35 ขึ้นไป เพราะฉะนั้นถ้ามีฟูมูนปาร์ตี้ นักท่องเที่ยวระดับกลุ่มคนหนุ่มสาวฝั่งอันดามันจะไปฝั่งอ่าวไทยทั้งหมด”
“เกาะพะงัน มีจุดเด่นที่อยู่ใกล้กับเกาะสมุย มีระบบการจัดโซนนิ่งที่ดี ในพื้นที่หาดริ้น หาดท้องนายปาน และหาดท้องนายปานน้อย ซึ่งมีการวางยุทธศาสตร์ในแต่ละหาดคืออะไร ทำไมโรงแรมห้าดาวอยู่ที่หาดท้องนายปาน แต่ทำไมโรงแรมระดับล่างอยู่ที่หาดริ้น ซึ่งเป็นการจัดโซนนิ่ง และสอง ความร่วมมือร่วมใจของคนเกาะพะงัน ที่มีการรักษาความสะอาดหลังมีปาร์ตี้ ชายหาดกลับมาสะอาดเหมือนเดิม”
“เกาะลันตาเป็นโซนนิ่งโดยธรรมชาติอยู่แล้ว มีการแบ่งโซนโดยใช้เส้นทางถนนเป็นตัวแบ่ง และมีแหล่งท่องเที่ยวที่ต่างจากที่อื่น มีชายหาดที่กว้างและเหมาะกับการจ๊อกกิ้ง การจัดโซนนิ่งเกาะลันตาอาจจะต่างกับเกาะพะงัน เพราะลันตามีสองฝั่งทิศตะวันออกกับทิศตะวันตก มีการแบ่งพื้นที่สีเขียว พื้นที่วิถีชีวิต พื้นที่สนุกสนาน พื้นที่เงียบสงบ พื้นที่การศึกษา และพื้นที่ครอบครัว ที่มีการจัดโซนนิ่งไว้ชัดเจนตามภูมิทัศน์แต่ละพื้นที่”
ย้อนกลับไปเกือบ 20 ปีที่แล้ว มีการพูดคุยถึงการเติบโตของเกาะลันตา ว่าจะทำอย่างไรให้เราค้นหาตัวตนให้เจอ เลยเกิดงานลันตาในช่วงเดือนหน้า มีการประกวดบังกะโล รีสอร์ท โรงแรมของเกาะลันตา โดยมีสมาคมสถาปนิกสยามมาช่วย และเราพยายามดึงชาวบ้าน วิถีชีวิตทั้งหมดมารวมไว้ที่นี่ในการสร้างมูลค่าการท่องเที่ยวที่ชาวบ้านได้ด้วย
อมฤต ศิริพรจุฑากุล
“เพราะฉะนั้น การพัฒนาอะไรก็แล้วแต่ อย่าคิดว่าตัวเราเป็นของเรา เราพัฒนาเพื่อให้คนลันตาอยู่เย็นเป็นสุข การอยู่เย็นเป็นสุข มีมูลค่าเพิ่ม มีนักท่องเที่ยวคุณภาพเข้ามา ถึงเวลาเปิดโอกาสให้แหล่งท่องเที่ยวบริหารจัดการกันเอง ไม่ใช่คำสั่งจากข้างบนลงมา”
ฉากทัศน์ที่ 2 สิงคโปร์โกกรีน
• สิงค์โปร์ ประเทศบนเกาะเล็ก ๆ ที่มีทรัพยากรจำกัด ทำให้สิงค์โปร์ต้องบริหารทรัพยากรที่อยู่เพื่อทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งระบบการวางผังเมือง จัดโซนนิ่ง รวมถึงใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาเมืองและคุณภาพชีวิตของผู้คน เพื่อสร้างโอกาสจากเศรษฐกิจท่องเที่ยว ดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีกำลังซื้อ
• สิงคโปร์เน้นการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน เน้นแนวทาง Go Green ให้การท่องเที่ยวสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บริหารการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับสูง เช่น ระบบบำบัดน้ำเสียจากครัวเรือน การนำขยะเข้าไปสู่นวัตกรรมแปรรูป การใช้พลังงาน รวมถึงปลูกฝังเยาวชนผ่านการศึกษาที่สัมพันธ์กับธรรมชาติ และปี 2563 สิงคโปร์สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึงร้อยละ 32
หรือ 2 เท่าจากปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เมื่อปี 2552 ร้อยละ 16
• แต่ภาพนี้ไม่ง่าย สิงคโปร์วางเป้าหมายไว้ถึงปี 2030 เพื่อให้สำเร็จเป็นรูปธรรม ซึ่งต้องนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาช่วยในการวางนโยบายต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาและการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงทำความร่วมมือ 5 กระทรวงหลักของสิงคโปร์ ทำงานภาคเอกชนและคนในประเทศพร้อมกับสื่อสารกับคนทั่วโลก
คุณธีรพจน์ กษิรวัฒน์ ที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะลันตา กล่าวว่า “ก่อนโควิด-19 เราพบว่านักท่องเที่ยวเพิ่มมากกว่าแหล่งท่องเที่ยวที่เรามีอยู่ เพราะฉะนั้น ถ้าเรายังพึ่งพิงกับฐานทรัพยากรที่มีปัจจุบันไม่สามารถรองรับการท่องเที่ยวได้ แต่มองกลับกันสิงคโปร์แทบไม่มีทรัพยากร แต่มีประชากร และความหลากหลาย ทำให้สิงคโปร์มีโซนพื้นที่อาคารสูง”
มีการออกแบบเมืองในช่วงระยะเวลาหลาย 10 ปี โดยไอเดียใหม่ ๆ ให้เราเห็นตลอดเวลา คือการเติบโตแบบมีทิศทางเพื่อเกิดแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ เมืองที่เล็กนิดเดียวแต่คนแออัดอยู่ด้วยกันได้
ธีรพจน์ กษิรวัฒน์
“มีการออกแบบระบบจราจรของเมืองสิงคโปร์ไว้เชื่อมโยงการพัฒนาภาคส่วนอื่น ทำให้คนสิงคโปร์ไม่มีปัญหาการจาราจร ในขณะเดียวกันการเติบโตการท่องเที่ยวที่เป็นข้อด้อยของสิงคโปร์ คือ การพึ่งพาตัวเองตลอด แต่เกาะลันตาอยู่ในทำเลฮับของอันดามัน อยู่ใกล้หมู่เกาะทะเลตรัง ใกล้พีพี อ่าวนาง อยู่ไม่ไกลจากโซนอ่าวพังงา และเรามีเส้นทางเรือที่เชื่อมโยงไปยังหลีเป๊ะ ถ้าลันตามีการวางเมืองที่ดีแบบสิงคโปร์ เราจะเป็นฮับที่ไปไกลกว่าสิงคโปร์ เพราะสิงคโปร์ไม่มีฐานทรัพยากรเป็นของตัวเองและข้างเคียง แต่ลันตามีฐานทรัพยากรของตัวเอง และแหล่งท่องเที่ยวที่เชื่อมโยง”
“แม้ว่าลันตามีการจัดโซนนิ่งช้าไป แต่ผมคิดว่าเมื่อเรามองเมืองอนาคต เราต้องใช้แนวคิดนี้ ว่าทำอย่างไรให้ทรัพยากรที่มีน้อยที่สุด ทำให้เกิดความยั่งยืนมากที่สุด และเชื่อมโยงกับการรักษารากฐานวิถีวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์แตกต่าง ผมคิดว่าเกาะลันตามีจุดเด่นหลายอย่างที่สามารถมาบวกกับความเป็นสิงคโปร์ บวกกับความเป็นไทย ความเป็นลันตา และการจัดการโซนนิ่งที่เราจะกลายเป็นเมืองใหม่ในอนาคตที่สามารถจัดการได้”
ฉากทัศน์ที่ 3 มาฟูชิ มัลดีฟส์ เสริมพลังท้องถิ่นสู่โลก
• เกาะมาฟูชิ เป็นเกาะที่อยู่ใกล้กับศูนย์กลางการขนส่งทำให้กลายเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยว เป็นเกาะท้องถิ่นเล็ก ๆ ของมัลดีฟส์ ที่ประชากรมุสลิมบนเกาะกว่า 3,000 คน
• มาฟูชิ เป็นเกาะแรกๆ ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลให้เปิดบริการด้านการโรงแรม ธุรกิจนำเที่ยว และ Guesthouse ต่าง ๆ โดยชาวท้องถิ่น จึงทำให้โครงสร้างพื้นฐานในการบริการนักท่องเที่ยว มีกิจกรรมหลากหลายสำหรับนักท่องเที่ยว เช่น ดำน้ำถ่ายรูปกับปลาฉลาม ชมปลาโลมา ลองอาหารและผลไม้ท้องถิ่น สามารถซื้อ One day trip ไปเที่ยวยังเกาะต่าง ๆ ได้
• มัลดีฟตั้งเป้าสร้างความยั่งยืน เป็นโครงการแหล่งท่องเที่ยวและพักผ่อนครบวงจรระดับโลกขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ 9 เกาะ รัฐบาลจึงแสวงหาความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น ภาคเอกชนในการนำหลักการด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาปฏิบัติในทุก ๆ ด้าน ด้วยวิธีการตั้งแต่ การทำประมงแบบดั้งเดิมของชาวท้องถิ่น กิจกรรมสันทนาการ ท่องเที่ยว การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตลอดจนการดำเนินงานของรีสอร์ท ในการลดมลพิษ ลดการใช้น้ำและพลังงาน เพื่อให้มัลดีฟจุดหมายปลายทางแห่งการพักผ่อนหย่อนใจและสันทนาการที่ครบวงจร
• แต่มัลดีฟส์ ก็ยังมีภัยคุกคามที่น่ากังวล จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงและระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้มัลดีฟส์มีความเสี่ยงที่จะจมอยู่ใต้ท้องทะเล
คุณไพรสน ศิริพูล บล็อกเกอร์ท่องเที่ยว กล่าวว่า “จากประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้ไปท่องเที่ยว ที่มัลดีฟส์มา ผมได้ไปรีสอร์ทหรูกับรีสอร์ทท้องถิ่น ซึ่งมีความเหมือนกับเกาะลันตามาก มัลดีฟส์มีจุดเด่นในเรื่องธรรมชาติสวย ทะเลใส และสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ ยกตัวอย่างเกาะมาฟูชิ เป็นเกาะLocal ที่รัฐบาลเปิดโอกาสให้คนท้องถิ่น ได้มีโอกาสในการทำการท่องเที่ยว ซึ่งมีทรัพยากรเดียวที่เขาทำได้ คือ ทะเล ดังนั้นสิ่งที่เขาพยายามทำเพื่อการท่องเที่ยว นำเรื่องทรัพยากรที่มีมาชูโรงให้กับนักท่องเที่ยวที่ไป คือ ขายความเป็นท้องถิ่นเข้าไปด้วย อย่างที่ผมไป มีทัวร์หนึ่งพาไปตกปลา วิถีชาวมัลดีฟส์ คือ ใช้เชือกเอ็นแล้วใช้มือหมุนมาเป็นจุดขายนักท่องเที่ยว ซึ่งมีความคล้ายกับบ้านเราที่เกาะลันตา”
“สำหรับผมเป็นนักท่องเที่ยว มาเกาะลันตาแล้วสามารถไปเกาะห้า เกาะรอก เกาะพีพี เกาะบีดะ เกาะปอ และมีทรัพยากรเป็นจุดเด่น สามรถดำสกูบาร์เจอทั้งฉลามวาฬ ปลากระเบนราหู แมงตาเร และแนวปะการังที่มีความหลากสีสัน จากที่ผมไปมัลดีฟส์มีแนวปะการัง แต่เป็นปะการังแข็ง ซึ่งบ้านเรามีทั้งปะการังแข็งและอ่อน และเป็นปะการังอ่อนที่ขึ้นในที่ตื้นหาชมได้ยาก ผมมองว่าจุดนี้เราสามารถเอาเรื่องทรัพยากรมาเป็นตัวชูโรงของเกาะลันตาได้”
“มัลดีฟส์มีทรัพยากรค่อนข้างจำกัด ดังนั้นเราจะเห็นความหลากหลายน้อย เมื่อเทียบกับสิ่งที่เขาเป็น คือ ชาวประมง แล้วชูการทำประมงบวกกับการท่องเที่ยว อย่างเกาะมากูชิ เจ้าของโรงแรม เจ้าของร้านทัวร์ และเจ้าของสปีดโบ๊ท จะเปิดโอกาสให้คนท้องถิ่นไปทำเพื่อให้รายได้ตรงนี้เข้าสู่คนท้องถิ่น เวลามีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ไกด์ คนที่มารับจากสนามบิน คือ คนท้องถิ่นทั้งหมด”
คุณนพรัตน์ ศรีพรหม นายอำเภอเกาะลันตา กล่าวว่า “มัลดีฟส์มีฐานที่แข็งแรงด้านทรัพยากรทางทะเล จุดดำน้ำ ดูปะการัง แต่จุดนึงที่มัลดีฟส์พยายามนำเสนอเกาะ ก็คือ การมีส่วนร่วมของวิถีชุมชนท้องถิ่น และประเพณี โดยให้คนในเกาะมัลดีฟส์มาเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยว เป็นจุดสำคัญในการปรับใช้กับเกาะลันตาที่ต้องได้รับการออกแบบ”
สำหรับจุดแข็งเกาะลันตามีอย่างน้อย 2 อย่าง หนึ่ง ฐานทรัพยากรทางทะเลที่สมบูรณ์ ทั้งทะเลนอก ทะเลใน มีภูเขา นกเงือก น้ำตก และหญ้าทะเล สอง จุดแข็งด้านภูมิปัญญา 4 วัฒนธรรม งานเมาริด งานประเพณีต่าง ๆ เป็นจุดแข็ง ที่เรียกว่า ความหลากหลายด้านวัฒนธรรมเกาะลันตา บวกกับความเข้มแข็งของฐานทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ ผ่านการออกแบบเมือง ระเบียบ กฎหมาย ในการจัดโซนนิ่ง”
“เราปลุกเกาะลันตาให้ตื่น ด้วยจุดแข็งทางทรัพยากรบนฐานของการออกแบบเมือง จัดสรรเมืองที่มีประสิทธิภาพ และคนลันตาตระหนักถึงสิ่งที่เรามีอยู่ โดยเฉพาะอาชีพที่หลากหลายของคนเกาะลันตา ซึ่งทำอย่างไรให้อาชีพของเราเปิดตัวกับสายตาของนักท่องเที่ยวกระแสทุนนิยมที่เข้ามาได้ ซึ่งเป็นความท้าทายสำคัญ เป็นโจทย์ใหญ่ของส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และจังหวัด ที่ต้องช่วยกันทำให้มีรายได้เพียงพอ
ปัญหาสำคัญของเกาะลันตา คือ มีกลุ่มคนเปราะบางมากที่สุดใน จ.กระบี่ เราจะทำอย่างไรให้คนท้องถิ่นที่มีอาชีพประมงพื้นบ้าน หรือเกษตรกรสามารถอยู่ได้ ภาครัฐต้องเล็งเห็นว่าคนเกาะลันตามี multi skill ทักษะการประกอบอาชีพที่หลากหลาย ซึ่งในช่วง High season เขาสามารถปรับตัวทำงานรีสอร์ท ร้านอาหาร และโรงแรม ส่วนช่วง Low season พวกเขาออกทะเล กรีดยางพารา และทำสวน ซึ่งเป็นความสามารถ 2 ด้าน ทั้งเกษตรและงานบริการที่ตอบโจทย์รายได้ให้กับชาวบ้าน และที่สำคัญการปลุกให้ทุกภาคส่วนได้เห็นว่าคนเกาะลันตาเก่ง ทำอาชีพได้หลากหลายและยั่งยืน”