เครือข่ายหาบเร่ – แผงลอยไทย เสนอ กทม. ผู้ค้าขายต้องมีส่วนร่วมออกแบบทางเท้า เผย อาชีพข่ายหาบเร่เป็นหม้อข้าวของเมือง ชี้ ก่อนประกาศจุดผ่อนผัน ต้องมีขั้นตอนทบทวนอย่างจริงจัง
สถานการณ์ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยตามฟุตปาทในเมืองกรุงเทพมหานคร ยังคงเป็นปัญหา เพราะ กทม.มีความคาดหวังที่ต้องการจัดระเบียบทางเท้า ให้มีความเป็นระเบียบ ขณะเดียวกันกลุ่มหาบเร่-แผงลอยก็ต้องการพื้นที่ค้าขายที่ถูกต้องมีความเป็นธรรม ทำให้ การจัดการปัญหาหาบเร่แผงลอยมี อุปสรรคใหญ่คือ การจัดการผลประโยชน์ของแต่ละกลุ่มแต่ละฝ่ายให้ลงตัว
กรุงเทพฯ พยายามเจรจาให้ผู้ค้าขายหาบเร่-แผงลอย ย้ายไปขายในจุดศูนย์อาหาร (Hawker Centres) ที่กทม.เตรียมไว้ให้ เพื่อจัดระเบียบความเรียบร้อยจำนวน 4 จุด ได้แก่ บริเวณถนนคอนแวนต์ บริเวณตรงข้ามวัดแขก บริเวณซอยศาลาแดง และพื้นที่ตลาดกลางคืนพัฒน์พงษ์
ต่อมาเกิดกระแสดรามาจาก กรณีที่โลกออนไลน์เผยแพร่คลิปวีดีโอแม่ค้าหาบเร่แผงลอยอ้างว่าถูกรองผู้ว่าฯ กทม. พร้อมเจ้าหน้าที่เทศกิจเข้าใช้กฎหมายบังคับ และทำร้ายที่บริเวณถนนสีลม ทำให้เป็นกระแสที่สังคมกำลังจับตาสถานการณ์
เรวัตร ชอบธรรม ประธานเครือข่ายแผงลอยไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าว ในเวทีเสวนา ฟังเสียงประเทศไทย : อยู่หรือไป ‘หาบเร่แผงลอยไทย’ ใครกำหนด?” เมื่อวันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ ถึงการแก้ปัญหาหาบเร่แผงลอยว่า อยากเห็นภาพการแก้ไขปัญหาอนาคตการจัดการแบบมีส่วนร่วม โดยคาดหวังให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเปิดรับฟังเสียงประชาชนที่มีอาชีพหาบเร่แผงลอยบ้าง เพราะประโยชน์ถึงการมีอยู่ของหาบเร่แผงลอย คือช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในเมือง
“หาบเร่แผงลอย มันมีชีวิต มันมีผู้คน หาบเร่แผงลอย คือ6 เมนู Street Food ยอดนิยม คือหม้อข้าวของเมือง ดังนั้น ถ้าไม่มีหาบเร่แผงลอยที่คอยขายอาหาร เมืองจะเงียบ เพราะมันเป็นสิ่งที่คอยป้อนให้กับคนกรุงเทพฯ ทุกระดับชั้น” เรวัตร กล่าว
เรวัตร ระบุว่า หาบเร่แผงลอยไม่ใช่จำเลยของสังคม แนะนำกรุงเทพมหานครว่าไม่ควรนำมาตรฐานเดียวมาบังคับจัดระเบียบแผงลอยทั้ง 50 เขตทั่วกทม. แต่ต้องคิดมาตรการใช้จัดการเป็นรายพื้นที่ เพราะแต่ละพื้นที่มีผู้คนที่แตกต่างกัน ดังนั้น การแก้ไขต้องตั้งต้นออกแบบมาจากพื้นที่ก่อน โดยให้ทางเขต ซึ่งเป็นต้นทางเสนอมาว่าต้องการออกแบบหาบเร่แผงลอยแบบไหนมามาให้กทม. เพราะถ้ากทม. ใช้คำสั่งขึ้นไปอย่างเดียว มันไม่สามารถที่จะไปต่อได้
ญาดา พรเพชรรัมภา จากประธานชมรมผู้ค้าถนนข้าวสาร กล่าวว่า ในมุมของผู้ที่ซื้อของมาขาย สิ่งที่เจอเมื่อมีนักการเมืองท้องถิ่นเข้ามาช่วงหาเสียง ตัวเลขหาบเร่แผงลอยที่เสนอต่อกรุงเทพมหานครมักเป็นตัวเลขที่ขึ้นทะเบียนซึ่งมีอยู่หมื่นกว่าราย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในเมืองยังมีประชากรแฝงอยู่อีก 11-12 ล้านคน ไม่ว่าจะเดินหาเสียงตรงไหนของตรอกซอกซอย สามารถตีค่าเฉลี่ยได้เลยจากซอยหนึ่ง ว่าเจอรถเข็นกี่คัน แล้วมีกี่ซอย หาบเร่แผงลอยในเมืองจริง ๆ แล้วที่จะเป็นอู่ข้าวอู่น้ำให้กับประชากรทั้งกรุงเทพฯ มันเป็นไปไม่ไดญที่จะมีอยู่แค่หมื่นกว่าราย ดังนั้น เสนอว่าหาก กทม.จะจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย กทม. ต้องนำฐานข้อมูลจริง ๆ มาออกแบบ
ญาดา กล่าวต่อ หากย้อนกลับไปกรณีของการจัดระเบียบถนนข้าวสาร ถือเป็นจุดสุดท้ายในการถูกจัดระเบียบโดยคำสั่ง คสช. ในการถูกไล่รื้อพื้นที่สาธารณะในปี 57 ข้าวสารถูกจัดระเบียบเมืองวันที่ 1 กรกฎาคม ปี 61 ซึ่งเป็นจุดสุดท้ายของ 50 เขต และเป็นจุดแรกที่ต่อสู้ใหเป็นจุดผ่อนผันตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองมาตรา 20 ซึ่งมีการเสนอต่อรองผู้ว่าฯ กทม. ณ ตอนนั้น ว่าทำไมถนนข้าวสารต้องมีหาบเร่แผงลอย โดยทำการรณรงค์ผ่านการทำประชาพิจารณ์
“อย่าลืมว่าหาบเร่แผงลอยอยู่ในระบบอุปถัมภ์และคอร์รับชันมานาน หากผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบัน ประสงค์จะจำกัดคอร์รับชันจริง ๆ ผู้ว่าฯ จะต้องเอื้อแนวทางที่จะทำให้หาบเร่แผงลอยกลับมาอย่างถูกต้อง และถูกกฎหมาย ไม่ใช่การผลักภาระให้หาบเร่แผงลอยต้องไปหาพื้นที่ลักลอบแอบขาย” ญาดา กล่าว
ญาดา ระบุว่า อีกโจทย์ที่น่าสนใจ จากสถิติมีผู้ที่มีอาชีพหาบเร่แผงลอย มีอายุตั้งแต่ 45 ขึ้นไป มันหมดวัยที่จะไปหางานทำแล้ว แล้วประเทศไทยเมื่อปี 2565 ถูกประกาศให้เป็นสังคมผู้สูงอายุ 100% ดังนั้น กทม. กำลังเจอโจทย์ที่ว่า เมืองกำลังผลักภาระกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่สามารถจะไปประกอบอาชีพอื่นได้แล้วหรือไม่ ดังนั้น สิ่งที่อยากร้องขอรัฐบาลคือ เปิดโอกาสให้อาชีพหาบเร่แผงลอยเข้าสู่กระบวนการทบทวนทางการค้า เพื่อให้กลุ่มหาบเร่แผงลอยรีเซ็ตร่วมกับชุมชน ปล่อยให้พวกเขาสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน สร้างให้หาบเร่แผงลอยเดินหน้าได้ แล้วจากนั้นจึงค่อยมีการประเมินกลุ่มหาบเร่แผงลอยทุก 3 เดือนจะดีกว่า นี่คือการแก้ปัญหาเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยด้วย
ขณะที่ ปรีชา ไทยสงเคราะห์ ประธานสหพันธ์ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย กรุงเทพมหานคร ระบุว่า กลุ่มหาบเร่แผงลอยต้องการเข้ามามีส่วนในการกำหนดนโยบาย กำหนดพื้นที่ในกทม. ทั้งในระดับเขต ระดับพื้นที่ และในการพัฒนาของกทม. มีการพัฒนาไปมากกว่านี้ มีการร่วมกันแก้ปัญหาที่เรื้อรังมานาน
“พวกเราอยากเห็นเมืองที่มันมีชีวิตชีวา ไม่อยากเห็นเมืองที่มันแบบนี้อีกแล้ว เราอยากเห็นเมืองที่ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นคนที่ใช้ทางเท้า ทุกหน่วยงานที่ใช้พื้นที่สาธารณะ รวมถึงพวกเราหาบเร่แผงลอยด้วย ขอให้พวกเราเข้ามามีส่วนเข้ามาพัฒนาพื้นที่ทางเท้าด้วย” ปรีชา กล่าว
000