14 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 09.00 น. เครือข่ายชาวบ้านในพื้นที่ ต.น้ำโสม อ.น้ำโสม จ.อุดรธานี ยืนยันคัดค้านไม่เอาโครงการพัฒนาแหล่งน้ำลำน้ำห้วยน้ำโสม ณ ศาลาประชาคมหมู่ที่ 2 บ้านม่วง (วัดแสงนิมิต) หลังมีแผนศึกษาโครงการเพื่อดำเนินโครงการในพื้นที่
หลังกรมชลประทานได้เสนอ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำห้วยน้ำโสม เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2561 ที่ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งลุ่มน้ำห้วยน้ำโสมมีพื้นที่ประมาณ 1,060.51 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุม 2 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี และหนองคาย ความยาวลำน้ำห้วยโสมประมาณ 116 กิโลเมตร มีข้อมูลประมาณน้ำท่าในลุ่มน้ำประมาณ 353.52 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี โดยระบุวัตถุประสงค์ของการศึกษา ว่า 1.เพื่อศึกษาแผนหลัก (Master plan) เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและบรรเทาอุทกภัย 2.เพื่อศึกษาความเหมาะสม (Feasibility Study) ของโครงการขนาดใหญ่และขนาดกลาง และรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม 3.ดำเนินการสำรวจและออกแบบเบื้องต้น ตามข้อ 2 และ 4.ดำเนินงานประชาสัมพันธ์ มวลชนสัมพันธ์ การมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งเอกสารระบุแผนปฏิบัติการและงบประมาณรวมโครงการทั้งหมด รวม 46 โครงการ งบประมาณ 3,023 ล้านบาท
โดยก่อนหน้านี้ มีการจัดเวทีปฐมนิเทศโครงการเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 และต่อมามีการประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 23-24 พฤษภาคม 2565 และล่าสุด 14 กุมภาพันธ์ 2566 มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 (การประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 2 เวทีที่ 1) ของโครงการศึกษาความเหมาะสม การพัฒนาแหล่งน้ำลำน้ำห้วยน้ำโสม ณ ศาลาประชาคมหมู่ที่ 2 บ้านม่วง (วัดแสงนิมิต) ซึ่งมีชาวบ้าน ผู้นำชุมชนและตัวแทนหน่วยงานในท้องถิ่น เข้าร่วมกว่า 200 คน ซึ่งเวทีระบุพื้นที่ทางเลือกในการศึกษาโครงการ 5 ทางเลือก ได้แก่
1.ตั้งอยู่ที่บ้านนาเมืองไทย หมู่ที่ 10 ระดับเก็บกักปกติ +269.50 ม.รทก. ปริมาณเก็บกักปกติ 12.50 ล้าน ลบ.ม.
2.ตั้งอยู่ที่บ้านกุดนาคำ หมู่ที่ 11 ระดับเก็บกักปกติ +265.00 ม.รทก. ปริมาณเก็บกักปกติ 5.00 ล้าน ลบ.ม.
3.ตั้งอยู่ที่บ้านกุดนาคำ หมู่ที่ 11 ระดับเก็บกักปกติ +262.50 ม.รทก. ปริมาณเก็บกักปกติ 27.50 ล้าน ลบ.ม.
4.อ่างเก็บน้ำบ้านนาเมืองไทย ระดับเก็บกักปกติ +317.00 ม.รทก. ปริมาณเก็บกักปกติ 27.50 ล้าน ลบ.ม.
5.อ่างเก็บน้ำห้วยแสด ระดับเก็บกักปกติ +312.00 ม.รทก. ปริมาณเก็บกักปกติ 3.96 ล้าน ลบ.ม.
“ชาวบ้านเราไม่เอาเขื่อนอยู่แล้ว ชัดเจนอยู่แล้ว” หนึ่งในผู้ร่วมประชุมแสดงความเห็นถึงความกังวลใจหากมีการดำเนินโครงการในพื้นที่ ซึ่งเป็นความคิดเห็นที่สอดคล้องตรงกันถึงการยืนยันคัดค้านการดำเนินโครงการ “ถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงหน้าแล้งก็เป็นไปตามฤดูกาล เรามีน้ำใช้พอที่จะหล่อเลี้ยงชีวิต เศรษฐกิจในพื้นที่น้ำโสม มีรายได้มาจากการกรีดยางพารา แล้วก็จากการทำไร่อ้อย และทำนา พอที่ประทังชีวิตในพื้นที่ พอที่จะอยู่ได้ และก็คือเราไม่ต้องการ”
อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านระบุว่า แม้ที่ประชุมวันนี้จะสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นการศึกษา ว่า ชาวบ้านไม่ต้องการ แต่ยังต้องติดตามความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะได้รับเอกสารยืนยันยกเลิกแผนการดำเนินโครงการในพื้นที่เป็นลายลักษณ์อักษร เนื่องจากหากมีการดำเนินการตามแผนจะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่อย่างมาก ทั้ง ที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และวิถีชีวิตของชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ ทำนา สวนยางพารา ไร่อ้อย ปลูกมันสำปะหลัง พร้อมตั้งข้อสังเกตหากจะมีการแก้ไขปัญหาภัยแล้งหรือน้ำท่วมจำเป็นต้องศึกษาความเป็นไปได้ในหลายลักษณะ โดยเฉพาะการจัดการน้ำที่สอดคล้องกับภูมินิเวศและการจัดการน้ำเพื่อการเกษตรขนาดเล็ก เพื่อให้สามารถใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและเกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด