เครือข่ายสังคมสุขภาวะและนโยบายเปิดวงวิชาการ “การปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิ : โอกาสและนวัตกรรมจากการถ่ายโอนภารกิจสู่ท้องถิ่น”

เครือข่ายสังคมสุขภาวะและนโยบายเปิดวงวิชาการ “การปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิ : โอกาสและนวัตกรรมจากการถ่ายโอนภารกิจสู่ท้องถิ่น”

สวนโมกข์ กทม. : วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 09.00 น. สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ เครือข่ายสังคมสุขภาวะและนโยบาย จัดประชุมวิชาการเพื่อพัฒนาเครือข่ายสังคมสุขภาวะและนโยบาย ครั้งที่ 2/2566 (กลุ่มสามพราน) ในประเด็น “การปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิ : โอกาสและนวัตกรรมจากการถ่ายโอนภารกิจสู่ท้องถิ่น” โดยมีการนำเสนอรูปธรรมและบทเรียนจากพื้นที่ อบจ.จังหวัดเชียงใหม่ และ รพ.สต.บ้านข่อย ต.หนองหิน จ.ร้อยเอ็ด สถานการณ์ ข้อค้นพบ และความท้าทาย พร้อมทั้งทิศทางของนโยบายและแนวทางสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิในท้องถิ่น ได้รับเกียรติจากภาคีเครือข่ายสุขภาวะและภาคีพัฒนาร่วมให้ความคิดเห็น มีผู้เข้าร่วมกว่า 40 คน ณ ห้องปฏิบัติธรรม ชั้น 2 หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์ กรุงเทพฯ)

S 37601364

นายพิชัย  เลิศพงศ์อดิศร  นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนี่งใน 49 จังหวัด ที่มีการถ่ายโอน รพ.สต. สู่การบริหารของ อบจ. ซึ่งมีทั้งหมด 257 แห่งในเชียงใหม่  มี รพ.สต. ที่สมัครใจในการถ่ายโอน จำนวน 62 แห่ง อบจ.เชียงใหม่ ดำเนินการตามมติคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เรามีการตั้งกองสาธารณสุขขึ้นใหม่ เมื่อเดือนมกราคม 2565 ภายใต้ภารกิจ อบจ. ในการดำเนินการ  ในช่วงที่ผ่านมาก็มีปัญหาอยู่โดยเฉพาะเรื่องความมั่นใจของบุคลากรเพราะเดิมนั้นสังกัดภายใต้กระทรวงสาธารณะสุข ต้องปรับสังกัดภายใต้กระทรวงมหาดไทย รวมไปถึงมีข้อติดขัดในการถ่ายโอนบุคลากร อาทิเช่น บางที่ถ่ายโอนแค่หมอ แต่เจ้าหน้าที่และพยาบาลไม่ได้ถ่ายโอนมา จึงต้องเดินสายเพื่อสร้างความมั่นใจ โดยท้องถิ่นได้มีการศึกษาระเบียบ ก็มีการทำการเปิดรับสมัครพยาบาล รวมถึงมีการเปิดกรอบอัตรากำลังการรับสมัครแพทย์ด้วย เพื่อให้สามารถมีบุคลากรทางการแพทย์เพียงพอรองรับต่อการถ่ายโอน  ซี่งพิจารณาการสนับสนุนจาก SML ของแต่ละพื้นที่

“มีการยกระดับการทำงานที่เกิดนวัตกรรม มีการทำ telemedicine  นำเทคโนโลยี ตู้ยา ที่สามารถจ่ายยาอัตโนมัติ และตู้รักษา ที่คนไข้เข้าไปเสียบบัตรประชาชน วัดอุณหภูมิ ความดัน มีระบบประวัติคนไข้ แพทย์ให้คำปรึกษาและจ่ายยาให้คนไข้รับยาที่ตู้อัตโนมัติ หรือร้านยา ที่ผ่านมาคนไข้ต้องรอแพทย์ มาที่ตู้แห่งนี้หมอรอคนไข้ โดยทำร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำตู้นี้ไปไว้ที่ รพสต.โป่งแยง ที่เป็นพื้นที่ที่ห่างไกล เป็นเครื่องนำร่อง และนำเสนอเป็นโมเดลต่อผู้บริหารท้องถิ่นทั่วประเทศในด้านระบบการดูแลสุขภาพปฐมภูมิในพื้นที่ ลดการเดินทางและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ซึ่ง อบจ.เชียงใหม่ มีแผนการทำงานในการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพในการออกแบบระบบรองรับ 30 บาท รักษาทุกโรค กับ สปสช.ที่จะทำงานร่วมกันในจังหวัด และมีแนวทางในการสร้าง รพ.ของ อบจ. โดยวางแผนในการระดมทุนเพื่อจัดสร้าง และการยื่นของบประมาณลงทุน”

S 37601365

นางเพ็ญศรี  สุดชา ผอ.รพ.สต.บ้านข่อย ต.หนองหิน จ.ร้อยเอ็ด เล่าว่า ร้อยเอ็ดโมเดล มีแนวทางการถ่ายโอน รพ.สต. จำนวน 229 แห่ง มีการถ่ายโอนทำได้ประมาณ 20% การดำเนินการอาศัยกลไก คณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.)  ตัวอย่างปัญหาในช่วงแรกของการถ่ายโอนคือ การส่งมอบยา มอบครุภัณฑ์ วัสดุอุปกรณ์ กำลังพล โดยไม่มีการถ่ายโอนบุคลกรเลย หรือถ่ายโอนแค่คนเดียว การจัดเก็บข้อมูลข่าวสาร ความซ้ำซ้อนของข้อมูล และการเข้าถึงเทคโนโลยี  รวมถึงการจัดสรรและโอนงบประมาณที่ไม่เพียงพอ

“การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือ โครงสร้างที่มีความเป็นระบบปฐมภูมิที่แท้จริง กำหนดเป็น จาก รพ.สต.ติดดาว มาสู่ รพ.สต.ติดดิน มีแนวทางในการส่งเสริมสุขภาพในลักษณะ area based สร้างนำซ่อม ใช้นวัตกรรมและธรรมนูญสุขภาพ การแก้ไขปัญหาระยะยาว ของ อบจ. อุดหนุนทุนนักเรียนศึกษาต่อด้านแพทยศาสตร์เพื่อสร้างบุคลากรในพื้นที่ มีแผนงาน จัดทำธรรมนูญสุขภาพจังหวัด “กติกา สาเกตุ”  3 หมวด ดินดำ น้ำชุ่ม ตุ้มโฮม และนวัตกรรมที่จะเกิดขึ้นใน รพ.สต. ศูนย์คัดกรองยาเสพติด คลินิกเลิกบุหรี่ ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการและผู้สูงอายุ ในชุมชนจะมีนวัตกรรมให้ดำเนินการ 3 เรื่อง ยาเสพติด  โรคเรื้อรัง  การจัดการจุดเสี่ยง”

          ในการนี้ในเวทีได้มีการนำเสนอสถานการณ์ ข้อค้นพบ และความท้าทาย จากผลการศึกษาการถ่ายโอน รพ.สต. สู่ท้องถิ่น โดย ผศ.ดร.จรวยพร  ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และการเสนอถึงทิศทางของนโยบายและแนวทางสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิในท้องถิ่น โดย นายเลอพงศ์  ลิ้มรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ทรงคุณวุฒิได้แลกเปลี่ยน ให้ความเห็นในประเด็นดังกล่าว

S 37601362

ทั้งนี้ นายกฤษดา  สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเติมเต็มในที่ประชุมว่า การทำงานเชิงพื้นที่นั้นต้องให้ประชาชนในพื้นที่เป็นเจ้าของร่วม โดยมีการบูรณาการกับท้องถิ่น กระจายอำนาจให้ประชาชน พอช. มีการขับเคลื่อนสภาองค์กรชุมชน 7,805 ตำบล  พื้นที่กองทุนสวัสดิการชุมชน 5,505 กองทุน สมาชิก 6,240,818 คน ที่ต้องอาศัยการบูรณาการกับท้องถิ่น ภาคี เครือข่ายในระดับพื้นที่ และระดับจังหวัด เช่น การขับเคลื่อนและบูรณาการงานพัฒนาของพี่น้องประชาชน และท้องที่ ท้องถิ่นของคนอำนาจเจริญ ในการขับเคลื่อนธรรมนูญตำบลคนอำนาจเจริญให้เกิดการพึ่งตนเอง มีการร้อยเรียงปัญหาความต้องการในระดับจังหวัดส่งต่อหน่วยงานท้องถิ่นในการเชื่อมโยงหนุนเสริมกับ รพ.สต. และหน่วยงานในจังหวัด รวมทั้งการสร้างแนวทางร่วมมือการทำงานในประเด็นที่สามารถเชื่อมโยงกันได้

“ในการทำงานเชิงพื้นที่นั้นความสำคัญของการขับเคลื่อนงานคือเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง และการกระจายอำนาจ เป็นการให้ประชาชนได้ลุกขึ้นมาตัดเสื้อของตนเอง ตามขนาดตามรูปร่างของตนเอง ดังนั้น โจทย์สำคัญคือ จะทำอย่างไรให้ประชาชนมีความรู้สึกร่วมในการเป็นเจ้าของระบบต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งทาง พอช. เองก็ได้มีการสนับสนุนกระบวนการดังกล่าวผ่านการสนับสนุนสภาองค์กรชุมชน และกองทุนสวัสดิการชุมชน เป็นต้น ซี่งมีบทบาทในการสร้างให้ชุมชนมีบทบาทในการเป็นเจ้าของร่วมตั้งแต่ในระดับตำบล จังหวัดที่ส่งต่อความต้องการของชุมชน

S 37601368
280069

อย่างไรก็ตามเครือข่ายสังคมสุขภาวะและนโยบายเปิดวงวิชาการในครั้งถัดไปในเดือนมีนาคม 2566 โดยความร่วมมือจากภาคีสุขภาวะและภาคีพัฒนาร่วมแลกเปลี่ยนและเสนอทิศทางที่จะทำให้เห็นทิศทางการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศให้เกิดความเข้มแข็งต่อไป

S 37601366
280068

author

เรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง related posts

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ