สะออนเมืองกาฬสินธุ์ โอกาสท้องถิ่นจากผืนดิน Geopark

สะออนเมืองกาฬสินธุ์ โอกาสท้องถิ่นจากผืนดิน Geopark

กาฬสินธุ์ เป็นเมืองสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่มีความเจริญทางด้านอารยธรรมอันเก่าแก่ ทั้งด้านประเพณี ภาษา การแต่งกาย วิถีชุมชน และทรัพยากรธรณีที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์จังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ถูกค้นพบ

150 ล้านปี คือ ช่วงเวลาแห่งยุคของซากดึกดำบรรพ์ที่ถูกค้นพบในพื้นที่อุทยานธรณีกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแห่งใน อุทยานธรณีระดับท้องถิ่นของอีสาน เพิ่มเติมจากอุทยานธรณีชัยภูมิ อุทยานธรณีขอนแก่น อุทยานธรณีโคราช และอุทยานธรณีผาชัน สามพันโบก ซึ่งความโดดเด่นของอุทยานธรณีกาฬสินธุ์ คือจัดว่าเป็นแหล่งค้นพบซากดึกดำบรรพ์สัตว์ที่มากที่สุดในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งได้รับฉายาว่าเป็นจูราสสิคพาร์คเมืองไทย

โอกาสเมืองกาฬสินธุ์ Geopark

ภูมิ หมั่นพลศรี อาจารย์สาขาวิชาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์

“โอกาสที่ดี คือตอนนี้กาฬสินธุ์เราประกาศเป็นนอุทยานธรณีกาฬสินธุ์หรือกาฬสินธุ์ Geopark ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุม 7 อำเภอ กาฬสินธุ์มีทั้งหมด 18 อำเภอ แต่เราเชื่อมโยงกำหนดคอบเขตของอุทยานธรณีถึง 7 อำเภอ ซึ่งใน 7 อำเภอเป็นแม่เหล็กของการท่องเที่ยว แหล่งขุดค้น ซากฟอสซิลไดโนเสาร์ เราอยากนำเสนอใน 4 ภู เป็นทรัพยากรที่สำคัญของกาฬสินธุ์ ไม่ว่าจะเป็นภูน้อย ภูน้ำจั่น ภูกุมข้าว ภูแฟก ทั้งหมดนี้จะเป็นตัวที่จะดึงให้คนที่สนใจด้านฟอสซิลซากดึกดำบรรพ์เข้ามาศึกษาเรียนรู้ นอกจากนั้นโอกาสที่ชาวกาฬสินธุ์จะได้ค้นพบจากสิ่งที่มีอยู่นอกจากมรดกทางธรณีแล้วยังมีมรดกทางนิเวศธรรมชาติและมรดกด้านวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อมวิถีชีวิตชาวภูไท ผ้าไหมแพรวา เป็นโอกาสของกาศสินธุ์” ภูมิ หมั่นพลศรี อาจารย์สาขาวิชาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ หนึ่งในคณะทำงานขับเคลื่อน Kalasin Geopark เล่าถึงต้นทุนของเมืองกาฬสินธุ์กับการยกระดับการท่องเที่ยว

ด้วยต้นทุนที่มีในชุมชน เมืองกาฬสินธุ์ยังมีแผนการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวและยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ทั้งยังมีความพยายามผลักดันสู่การเป็น Geoprak หรือ อุทยานธรณี ที่มีความสำคัญของประเทศและในระดับโลก จากความร่วมมือการยกระดับอุทยานธรณีในพื้นที่อันจะเป็นต้นทุนสำคัญที่จะหนุนเสริมและสร้างโอกาสจากการท่องเที่ยวบรรพชีวินในชุมชนท้องถิ่น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในพื้นที่ ด้วยมีพื้นที่อุทยานธรณีกาฬสินธุ์ครอบคลุมถึง 7 อำเภอ ได้แก่ อ.สหัสขันธ์ คำม่วง สมเด็จ ห้วยผึ้ง นาคู เขาวง และกุฉินารายณ์

อุทยานธรณีคืออะไร ?

อุทยานธรณี หรือ Geopark คือ พื้นที่ที่รวมแหล่งธรณีวิทยาและสภาพภูมิประเทศ หรือขอบเขต ซึ่งตั้งอยู่บนบกหรือในทะเล ที่มีแหล่งความสำคัญทางทางธรณีวิทยา และวิทยาศาสตร์ ซึ่งอุทยานธรณีไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะด้านธรณีวิทยาเพียงอย่างเดียว แต่อุทยานธรณีต้องมีการเชื่อมโยงทางธรณีวิทยากับทรัพยากรด้านอื่น ๆ ในพื้นที่ เช่น คุณค่าทางโบราณคดี นิเวศวิทยา หรือ ศิลปะวัฒนธรรม ประเพณี และมรดกด้านอื่น ๆ ที่จับต้องไม่ได้และมีคุณค่าต่อประเทศหรือต่อโลก

ซึ่งแนวคิดการจัดตั้งอุทยานธรณีนั้น UNESCO เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งอุทยานธรณีเมื่อปี 2541 และในประเทศไทยเริ่มมีแนวคิดการอนุรักษ์ธรณีวิทยา เมื่อปี 2550 ซึ่งต่อมีได้มีการขุดค้นพบซากดึกดำบรรพ์มากขึ้นในหลายพื้นที่ ทำให้เกิด พ.ร.บ.คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ขึ้น เมื่อปี 2551 และในปี 2553 กรมทรัพยากรธรณีจึงเริ่มผลักดันให้มีการจัดตั้งอุทยานธรณีในประเทศ จนเมื่อปี 2554 อุทยานธรณีผาชัน-สามพันโบก จ.อุบลราชธานี ถูกจัดตั้งขึ้นเป็นอุทยานธรณีระดับท้องถิ่นเป็นแห่งแรกของไทย และเริ่มมีการจัดตั้งอุทยานธรณีในพื้นที่ต่าง ๆ ตามลำดับ และผลักดันให้เกิดการพัฒนาของอุทยานธรณีตลอดมาจนเมื่อปี 2561 อุทยานธรณีสตูลถูกผลักดันให้เป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก แห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบัน ไทยมีอุทยานธรณีทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับโลกมากถึง 10 แห่ง

โดยอุทยานธรณีทั้ง 10 แห่ง ในประเทศไทยแบ่งเป็นอุทยานธรณีระดับท้องถิ่น 5 แห่ง อุทยานธรณีระดับประเทศ 4 แห่ง และอุทยานธรณีระดับโลก 1 แห่ง ได้แก่ 

–      อุทยานธรณีโลกสตูล (ระดับโลกของยูเนสโก)

–      อุทยานธรณีเพชรบูรณ์ (ระดับประเทศ)

–      อุทยานธรณีโคราช (ระดับประเทศ)

–      อุทยานธรณีขอนแก่น (ระดับประเทศ)

–      อุทยานธรณีผาชัน สามพันโบก จ.อุบลราชธานี (ระดับประเทศ)

–      อุทยานธรณีชัยภูมิ (ระดับท้องถิ่น)

–      อุทยานธรณีกาฬสินธุ์ (ระดับท้องถิ่น)

–      อุทยานธรณีลำปาง (ระดับท้องถิ่น)

–      อุทยานธรณีไม้กลายเป็นหิน จ.ตาก (ระดับท้องถิ่น)

–      อุทยานธรณีพุหางนาค จ.สุพรรบุรี (ระดับท้องถิ่น)

ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ได้รับการบริหารจัดการแบบองค์รวม ที่จะต้องมีการคุ้มครองหรือการอนุรักษ์ มีการให้การศึกษาและการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยใช้มรดกทางธรณีเชื่อมโยงทรัพยากรอื่น ๆ ในพื้นที่ เพื่อเพิ่มความตระหนักและให้ชุมชนท้องถิ่นเรียนรู้และเข้าใจ เห็นถึงความเชื่อมโยง โอกาส และความร่วมมือในการยกระดับท่องเที่ยวชุมชน เพื่อพัฒนาศักยภาพชีวิตของคนกาฬสินธุ์ ให้เกิดการสร้างาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และสร้างความภาคภูมิใจในท้องถิ่นที่มีคุณค่า อันเป็นโอกาสจากผืนดินที่สั่งสมมานานนับร้อยล้านปี

“กาฬสินธุ์ ดินดำน้ำชุ่ม” คือ ประโยคย้ำถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนดินและผืนน้ำในกาฬสินธุ์ จังหวัดที่มีข้อมูลระบุว่ามีประชากรอยู่ใต้เส้นความยากจน ซึ่งคนในท้องถิ่นกำลังรวมพลังหวังยกระดับเศรษฐกิจปากท้องให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นจากต้นทุนทรัพยากรในชุมชนในบ้านของพวกเขา

author

เรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง related posts

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ