‘อ่าข่าโฮย้า’ ภูมิปัญญาการดูแลสุขภาพของชาวอ่าข่า ต่อยอดพัฒนาสินค้า-อาหารพื้นบ้าน-การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ (1)

‘อ่าข่าโฮย้า’ ภูมิปัญญาการดูแลสุขภาพของชาวอ่าข่า ต่อยอดพัฒนาสินค้า-อาหารพื้นบ้าน-การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ (1)

ประเพณีโล้ชิงช้าของชาวอ่าข่าและการใช้สมุนไพรเพื่อรักษาโรค

เชียงราย / ชาวอ่าข่าใช้ภูมิปัญญา  สมุนไพรพื้นบ้าน  และความรู้ที่ถ่ายทอดจากบรรพบุรุษนำมาใช้ดูแลสุขภาพ เปิด อ่าข่าโฮย้า’ รักษาอาการปวด  เมื่อย  และโรคต่างๆ พร้อมทั้งนำชาป่า  สมุนไพร  พัฒนาเป็นสินค้าต่างๆ     ชูอาหารอ่าข่าเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ  เชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์  โดยมีทั้งชาวไทยและต่างชาติให้ความสนใจมาใช้บริการและชิมอาหารตลอดทั้งปี

‘อ่าข่า’ กลุ่มชาติพันธุ์ที่ร่ำรวยพิธีกรรม

อาข่า หรือ อ่าข่า  (ตามคำออกเสียง) เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีประเพณี  วัฒนธรรม  จารีต  ความเชื่อ  และภูมิปัญญาที่สืบทอดต่อๆ กันมาช้านาน  จนกลายเป็นวิถีชีวิตประจำวัน  ชาวอ่าข่าส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม  เช่น  ปลูกข้าวไร่ปลูกชา  พืชผักต่างๆ  เลี้ยงหมู  ไก่  ฯลฯ  มีภาษาพูดเป็นของตัวเอง   มีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับธรรมชาติ  มีประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ ตั้งแต่เกิดจนถึงตายรวม 21  พิธี  ซึ่งล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตแบบสังคมเกษตรกรรมของชาวอ่าข่า

เช่น  ประเพณี โล้ชิงช้า ที่มีชื่อเสียง หรือ ‘แยะ ขู่ อ่าโผ่ว’ ในภาษาอ่าข่า   พิธีนี้จะทำหลังจากพิธีปลูกข้าวครั้งแรก  (ประมาณปลายเดือนสิงหาคม-ต้นเดือนกันยายน) เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง  ระลึกถึงและยกย่องวีรบุรุษชาวอ่าข่าคือ ‘แยะขู่’  ผู้ซึ่งได้ยอมสละชีวิตเพื่อต่อสู้กับแมลงศัตรูพืชจนได้รับชัยชนะ  นอกจากนี้ยังเพื่อขอพรให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลด้วย  พิธีนี้เชื่อว่าจะทำให้พืชผลต่างๆ ที่ชาวอ่าข่าปลูกเอาไว้เจริญออกงาม  พร้อมที่จะเก็บเกี่ยวในเวลาไม่นาน

พิธีนี้จะมีการสร้างและโล้ชิงช้าขนาดใหญ่เรียกว่า “หล่ะเฉ่อ” ใช้เวลาจัดงาน 4 วัน  เป็นพิธีที่สนุกสนานและทุกคนรอคอย  โดยเฉพาะหญิงสาวชาวอ่าข่าจะแต่งตัวอย่างสวยงามตามประเพณีมาร่วมโล้ชิงช้า  ร้องเพลง  งานนี้ถือว่าเป็นการยกย่องผู้หญิงด้วย  ทำให้ผู้หญิงมีกำลังใจ  และถือเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่อีกประเพณีหนึ่งของชาวอ่าข่า  โดยมีสุภาษิตกล่าวไว้ว่า     “ขู่จ่า หม่าโบะ หม่าโบะ”  มีความหมายว่า “ประเพณีโล้ชิงช้า  มีอาหารหลากหลายและสมบูรณ์มากมาย  หากประเพณีนี้ไม่มี  ประเพณีอื่น หรือพิธีอื่นก็จะไม่มี” (ดูรายละเอียดประเพณีต่างๆ ได้ที่ http://www.ikmi.info/wp-content/uploads/2018/09)

3
 หญิงสาวอ่าข่าแต่งตัวสวยงามมีสีสัน

อาทู่  ปอแฉ่  หนุ่มใหญ่วัย 57 ปี ผู้ก่อตั้ง ‘มหาวิทยาลัยชนเผ่าอ่าข่า’ อธิบายว่า  กลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่า (Akha)  มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่บริเวณภูเขาสูงทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน  เรียกตัวเองว่า “ฮาหนี่”   (คนไทยทางภาคเหนือเรียก “อีก้อ” ถือเป็นคำเหยียดหยาม)  ปัจจุบันชาวอ่าข่ามีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นที่บริเวณมณฑลยูนนานของจีน  โดยเฉพาะแคว้นสิบสองปันนา  นอกจากนี้ยังกระจายอยู่ในประเทศต่างๆ  ในลาว  พม่า  เวียดนาม และไทย

ในประเทศไทย  ชาวอ่าข่าอาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ  เช่น   เชียงราย  เชียงใหม่  ลำปาง  แพร่  ตาก  มีประชากรทั้งหมดประมาณ 110,000 คน  โดยจังหวัดเชียงรายมีชาวอ่าข่าอาศัยอยู่มากที่สุด  จำนวน 234   หมู่บ้าน  ส่วนใหญ่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูง  เช่น  อำเภอแม่ฟ้าหลวง  แม่จัน  เชียงแสน  แม่ลาว  และแม่สรวย

4
อาทู่  ปอแฉ่

ส่วนมหาวิทยาลัยชนเผ่าอ่าข่า (Akha Life  University) อาทู่บอกว่า  จัดตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2555 โดยจดทะเบียนกับกระทรวงวัฒนธรรม  ใช้ชื่อว่า  ‘เครือข่ายวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยชนเผ่าอ่าข่า’ (ตั้งอยู่ที่ถนนกาสะลอง  ต.ริมกก   อ.เมือง  จ.เชียงราย) เพราะมองเห็นว่า  ชาวอ่าข่ามีวัฒนธรรม  ประเพณี  พิธีกรรม  และความเชื่อตั้งแต่เกิดจนตายมากมายหลายอย่าง แต่เนื่องจากอ่าข่าไม่มีภาษาเขียน  ทำให้มีข้อจำกัดในการบันทึกและเผยแพร่ข้อมูล  มหาวิทยาลัยจึงเป็นสะพานเชื่อมเพื่อรวบรวมองค์ความรู้ต่างๆ นำมาบันทึกเป็นภาษาไทย  รวมทั้งดัดแปลงอักษรโรมันมาใช้เป็นตัวหนังสือของอ่าข่าเพื่อบันทึกเรื่องราวเช่นกัน

“ภารกิจของมหาวิทยาลัย  คือ 1. ศึกษา  วิจัย  รวบรวมความรู้  ภูมิปัญญา  วิถีชีวิต   ประเพณี  วัฒนธรรม  จารีต และความเชื่อต่างๆ ของชาวอ่าข่า  2.ใช้มิติวัฒนธรรมป็นเครื่องมือพัฒนาชุมชน  และ 3.เผยแพร่ประชาสัมพันธ์องค์ความรู้ต่างๆ  ของอ่าข่า  ซึ่งที่ผ่านมามีทั้งคนไทยและต่างประเทศที่สนใจด้านมานุษยวิทยา  หรือเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่าเข้ามาทำการศึกษาวิจัยเรื่องต่างๆ  แล้วประมาณ 20 คน”

อาทู่บอก  และว่า  มหาวิทยาลัยชนเผ่าอ่าข่า  ไม่เหมือนกับมหาวิทยาลัยทั่วไป  เพราะไม่มีอาคารใหญ่โตหรูหรา  ไม่มีห้องสมุดให้ค้นคว้า  เพราะที่นี่จะมีเพียงโรงเรือนไม้ไผ่  มีลานดิน  ลานวัฒนธรรม หรือ ‘อ่าข่าแดช่อง’ ให้ผู้ที่สนใจมาแลก เปลี่ยนเรียนรู้กัน  เพราะความรู้ที่แท้จริงจะอยู่ในไร่นา  ป่าเขา  อยู่ในแม่น้ำ  ลำธาร  อยู่ในหมู่บ้าน  อยู่กับชาวบ้าน  คนเฒ่า  คนแก่  อยู่กับช่างตีเหล็ก  หมอพื้นบ้าน  ฯลฯ

ส่วนผู้ที่สนใจ  ทั้งเด็ก  เยาวชน  นักศึกษา  และประชาชนทั่วไป  หากสนใจเรื่องใดก็มาเรียนรู้ที่มหาวิทยาลัยได้  ถือเป็น ‘มหาวิทยาลัยเปิด’ หรือ ‘ตลาดวิชา’  มีหลักสูตรที่น่าสนใจหลายวิชา  เช่น  การรักษาโรคพื้นบ้านของชาวอ่าข่าหรือ ‘อ่าข่าโฮย้า’  ความรู้ด้านสมุนไพร อาหาร  การละเล่นและของเล่นพื้นบ้าน

นอกจากนี้มหาวิทยายังชนเผ่าอ่าข่ายังส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่นำสมุนไพร  ผลผลิตจากท้องถิ่น  เช่น     ชาป่า  กาแฟ  มะขามเปรี้ยว  มะขามป้อม  สมุนไพร  ฯลฯ  นำมาผลิตเป็นสินค้าต่างๆ  เป็นการสร้าง ‘นวัตกรชุมชน’ ขึ้นมา  และเปิดเป็น ‘ตลาด-ครัวอ่าข่า’ เพื่อรองรับผลิตภัณฑ์ต่างๆ เป็นการสร้างอาชีพ  สร้างรายได้ให้แก่ชาวอ่าข่าและชุมชน

5
มหาวิทยาลัยอ่าข่า  สร้างด้วยไม่ไผ่  หลังคามุงจาก  ไม่มีห้องสมุดให้ค้นคว้า  แต่มีความรู้อยู่ทั่วไปในป่าเขา  หมู่บ้าน  ผู้คน

 ‘อ่าข่าโฮย้า’  การแพทย์พื้นบ้านแบบอ่าข่า

          ก่อนที่การแพทย์แบบตะวันตกหรือการแพทย์แผนใหม่จะเดินทางมาถึง  กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ  ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ทางตอนเหนือของประเทศไทย  เช่น  ปกาเกอะญอ  ลาหู่  ลัวะ  ม้ง  ไทใหญ่ อ่าข่า ฯลฯ  ต่างก็ใช้วิธีการรักษาสุขภาพและโรคแบบพื้นบ้าน  ด้วยสมุนไพรในท้องถิ่น   ด้วยวิธีการและภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมานานนับร้อยนับพันปี

‘อาทู่  บอกว่า  พ่อของตนเคยเป็นหมอพื้นบ้านอ่าข่ามาก่อน (ปัจจุบันเสียชีวิต) ตนจึงได้เรียนรู้การดูแลสุขภาพและการนำสมุนไพรในท้องถิ่นมาใช้รักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ  จากพ่อ  เช่น  การย่ำขาง  โดยใช้ผาลไถนา  หรือจอบที่ใช้งานแล้ว  เอามาอังไฟให้ร้อน   แล้วหมอจะใช้ฝ่าเท้าเหยียบไปที่ผาลไถหรือจอบเพื่อรับความร้อน  จากนั้นจะเอาฝ่าเท้าที่ระอุร้อนมาย่ำบริเวณที่ต้องการรักษาผู้ป่วย  เช่น  กล้ามเนื้อขา  น่อง  เอว  หลัง  แก้ปวดเมื่อย  เส้นเอ็นตึง  รวมทั้งช่วยแก้โรคที่เกี่ยวกับระบบกระเพาะอาหารและลำไส้ได้ด้วย

เขาบอกว่า  แม้จะได้เรียนรู้การแพทย์พื้นบ้านอ่าข่าจากพ่อมาบ้าง  แต่ความรู้ด้านนี้ยังมีอีกมายมายจากหมอพื้นบ้านอ่าข่าในพื้นที่ต่างๆ  ในช่วงปี 2563 เขาจึงทำโครงการวิจัยการแพทย์พื้นบ้านอ่าข่าโดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยรวบรวมความรู้จากหมอพื้นบ้านอ่าข่าในหมู่บ้าน  ในอำเภอต่างๆ ในจังหวัดเชียงราย  รวมทั้งความรู้เดิมจากพ่อของเขา

จากนั้นในปี 2564 จึงนำความรู้เหล่านี้มาเปิดเป็น ‘อ่าข่า  โฮย้า’  หรือ ‘อ่าข่า  โฮงยา’ (โรงยา) เพื่อดูแลสุขภาพและรักษาโรคแบบพื้นบ้าน  โดยใช้สถานที่ที่เดียวกับมหาวิทยาลัยอ่าข่า  มีการรักษาและดูแลสุขภาพต่างๆ  เช่น  การย่ำขาง  เพื่อรักษาอาหารปวดเมื่อย  กล้ามเนื้อขา  น่อง  เอว  หลัง  เส้นเอ็นตึง  แก้โรคที่เกี่ยวกับระบบกระเพาะอาหารและลำไส้

การนวด  การอบตัวในกระโจมดิน  เพื่อผ่อนคลายร่างกาย  ทำให้เลือดลมไหลสะดวก แก้ภูมิแพ้  รักษาผิวพรรณ  การแช่เท้าในน้ำสมุนไพรต้ม  เพื่อรักษาโรคผิวหนัง  หรือเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ  การใช้ไม้ตอกเส้นเอ็น  กล้ามเนื้อ  แก้ปวดเมื่อยฯลฯ  โดยใช้สมุนไพรต่างๆ  เช่น  เครือน้ำเต้า  มีสรรพคุณแก้บวม  ช้ำ  เปลือกต้นพระเจ้า 5 พระองค์  แก้โรคผิวหนัง  ไพล  ตะไคร้หอม    มีน้ำมันหอมระเหย  แก้ปวดเมื่อย  ช่วยผ่อนคลาย

นอกจากนี้ยังมีขิง  ใบชาป่า  ใบไผ่  เกลือ  ข้าวสาร  กระดูกสัตว์  เขาสัตว์  เครื่องเงิน  ฯลฯ  ที่นำมาใช้รักษาโรคในบางตำรับ  มีสรรพคุณแตกต่างกันไป  รวมทั้งการกินอาหารและน้ำสมุนไพรเพื่อสุขภาพ  สร้างภูมิคุ้มกันร่างกาย  ป้องกันการเจ็บป่วย

6
7
การย่ำขางและการใช้ไม้ตอกเส้น

“คนอ่าข่ามีความเชื่อและภูมิปัญญาที่สืบทอดต่อๆ กันมาว่า  วิธีการรักษาโรคที่ดีที่สุด  คือ  การป้องกันก่อนที่จะเป็นโรค  โดยกินอาหารต่างๆ ตามธรรมชาติ   กินอาหารให้เป็นยา  เพราะในพืชผักสมุนไพรที่เรากินเข้าไปมันจะมีสรรพคุณ  มีธาตุดิน  น้ำ  ลม  ไฟ  ที่จะช่วยปกป้องร่างกาย  เช่น  ผักพลูคาวเป็นธาตุไฟให้ความร้อน  คนอ่าข่าเอามากินกับน้ำพริก  ทำให้ร่างกายอบอุ่น  ช่วยควบคุมอุณหภูมิหรือปรับสมดุลให้ร่างกาย  ทำให้ไม่เจ็บป่วยง่าย  หรือหากเจ็บป่วยขึ้นมาเราก็มีวิธีการรักษาแบบพื้นบ้าน  แต่ความรู้แบบนี้มันแทบจะสูญหายไปหมดแล้ว  เพราะคนรุ่นใหม่ไม่รู้จัก  อีกทั้งอ่าข่าไม่มีภาษาเขียนที่จะจดบันทึก  ผมจึงรวบรวมความรู้เหล่านี้มาไว้ในมหาวิทยาลัยอาข่า  และเปิดอ่าข่าโฮย้าขึ้นมา”

อาทู่บอกด้วยว่า  เมื่อก่อนถนนหนทางยังไม่เจริญ  คนอ่าข่าจะใช้สมุนไพรหรือความรู้ดั้งเดิมต่างๆ มารักษาโรค     โดยมีหมอพื้นบ้านเป็นคนรักษา  เพราะคนอ่าข่าอยู่บนดอยจะไปโรงพยาบาลในเมืองก็ลำบาก  เพราะไม่มีรถยนต์  ไม่มีถนน  สมัยก่อนคนอ่าข่าจึงไม่รู้จักโรงพยาบาล

แต่ปัจจุบันมีถนน  มีรถยนต์เข้าไปในเมืองได้สะดวก  และมี ‘รถพุ่มพวง’ เข้าไปขายกับข้าว  ขายผักและอาหารต่างๆ  คนรุ่นใหม่ชอบซื้อกินเพราะสะดวก  ไม่ต้องไปเก็บหาจากในป่า  ไม่ต้องปลูกเอง  แต่ก็ต้องใช้เงินซื้อ  และยังทำให้ให้เกิดโรคใหม่ๆ ที่แต่เดิมคนอ่าข่าไม่รู้จัก  เช่น  เบาหวาน  ความดันเลือดสูง  มะเร็ง  ฯลฯ จากการกินอาหารที่มีสารเคมี  หรืออาหารที่มีความหวาน…มัน…เค็ม…!!

8
ชาวต่างชาติจากยุโรปและเอเชียหลายประเทศที่มาเรียนรู้ที่มหาวิทยาลัยอ่าข่า  ในภาพเป็นอินเดียและฝรั่งเศ

(ติดตามอ่านตอนต่อไป :  ครัวอ่าข่า อาหารปรับสมดุลร่างกาย ‘ดิน  น้ำ  ลม ไฟ’(2)  / ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ facebook Athu  Akhahome  และ facebook : Akha Life  University)

ภาพ : มหาวิทยาลัยชนเผ่าอ่าข่า

เรื่อง  :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ