เมื่อ…คนท้องถิ่นจัดตั้ง (เครือข่าย) สื่อสาธารณะ

เมื่อ…คนท้องถิ่นจัดตั้ง (เครือข่าย) สื่อสาธารณะ

เครือข่ายสื่อสาธารณะทั่วประเทศ 13 เครือข่าย ในภูมิภาค เหนือ อีสาน และใต้ ร่วมกับไทยพีบีเอสนำร่องทดลองดำเนินการเครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่นนำเสนอเนื้อหาภายใต้รูปแบบและภาษาตามบริบทที่สอดคล้องกับชุมชน และสื่อสารผ่านช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์

เรื่องเล่าในแต่ละชุมชน คือ อีกรูปธรรมการมีส่วนร่วมของเครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่นในพื้นที่ภูมิภาค เหนือ อีสาน และใต้ ที่ได้นำร่องดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายใน 13 พื้นที่ปฏิบัติการ เพื่อทดลองการผลิต การเผยแพร่เนื้อหารายการและข่าวสาร โดยเน้นให้เกิดการทำงานของภาคีเครือข่ายในแต่ละภูมิภาคซึ่งได้ดำเนินการออกแบบ และพัฒนา โดยมุ่งเน้นในเรื่องของกลไกการบริหารจัดการเนื้อหา การเผยแพร่ การวัดผล การมีส่วนร่วม และหรือความเป็นไปได้ในการหารายได้ ผ่านการทำโครงการนำร่อง Sandbox ในพื้นที่ภูมิภาค ดังนี้ ภาคใต้ ได้แก่ C-south ThaiPBS ผู้หญิงภาคประชาสังคม พัทลุงฟอร์เวิร์ด  สงขลาใกล้ใกล้ทะเล และ The Region  ในพื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ VOA เสียงเหนือ ลำลอง นครสวรรค์อุทัยธานี และเชียงใหม่เหน็ด ส่วนในภาคอีสาน ได้แก่ ไทอีสานPBS เมอเมิงสะเร็น กาฬสินธุ์PBS และอุบลคอนเนค ที่ร่วมเป็นด่านหน้าทดลองเปิดห้องเรียนเครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่นกลุ่มแรกในช่วงปลายปีที่ผ่านมา

บทบาทเครือข่ายสื่อสาธารณะระดับท้องถิ่น

“คิดว่าสำคัญมาก เพราะว่าเหมือนเรารอคอยมาแสนนานเหมือนกันที่จะได้มีโอกาสทำจริงและภายใต้สถานการณ์ของโลกปัจจุบันที่ต้องใช้ความเป็นนักจัดรายการที่อิสระ มีความหลากหลาย” พรรณิภา โสตถิพันธุ์  หนึ่งในคณะทำงาน สงขลาใกล้ ๆ ทะเล ให้มุมมองต่อความสำคัญของการนำร่องปฏิบัติการครั้งนี้ ผ่านบทสนทนาในรายการคุณเล่าเราขยาย วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม 2566 ซึ่งดำเนินรายการโดยวิภาพร วัฒนวิทย์ ร่วมกับเครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่นรวม 13 เครือข่ายผ่านช่องทางออนไลน์

“ก่อนอื่นต้องชื่นชมที่ผู้บริหารไทยพีบีเอส ที่มองเห็นคุณค่าตรงนี้ แล้วก็กระจายสนับสนุนทั้งในเรื่องนโยบาย เรื่องคน เรื่องงบประมาณด้วย ที่พี่มองเห็นสงขลาใกล้ ๆ ทะเล เรามองเห็นสิ่งหนึ่งที่มันบดบังอยู่ก็คือความเป็นท้องถิ่นที่ยังออกมาไม่เต็มรูป เช่น งบประมาณของท้องถิ่นยังกั๊กอยู่ที่ส่วนกลาง ทำให้เวลาเราเคลื่อนเข้าไปทำงานกับชุมชนท้องถิ่นหรือองค์กรปกครองท้องถิ่นเขาจะมีข้อจำกัดหลายเรื่อง ซึ่งตรงนี้รายการของเราจะให้ความสำคัญเรื่องของการบริหารจัดการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแนวใหม่ ที่ไม่ใช่ว่าเปิดแล้วมันจะเห็นแค่ตัวบทกฎหมายแล้วก็เหมือน ๆ กันหมด แต่มันไม่เห็นรายละเอียดปลีกย่อยของความเป็นพลเมือง ความสำคัญที่คุณจะต้องปรึกษากับสาธารณะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันไม่ใช่เรื่องของการสื่อสารหรือการผลิตสื่ออย่างเดียว เหมือนเราจะต้องเคาะหรือช่วยกันที่จะทำให้ท้องถิ่นมันมีอิสระมากขึ้น แล้วงานของเราก็คงจะเปิดอะไรได้มากขึ้นนั่นคือประเด็นแรก

อันที่สองที่พี่มองเห็นก็คือความมีชีวิตของคนกลุ่มเล็ก ๆ พี่ยกตัวอย่าง ลุ่มน้ำทะเลสาบ กรณีที่เกิดขึ้น ลุ่มน้ำทะเลสาบมันติดกับพื้นที่สามจังหวัด พัทลุง นครศรีธรรมราช และสงขลา แต่ที่สงขลาเราจะเห็นได้ว่าพอเกิดประเด็นของการทำลายภูเขาแดง ต.หัวเขา แล้วมันเกิดการตื่นตัวที่ไม่ใช่เฉพาะคนสงขลาเท่านั้น เรียกว่าทุกภูมิภาคที่หันมามองเห็นตรงนี้ว่ามันเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่  ที่สร้างเมือง คิดดูว่าหัวเขาเป็น Trade centerระดับโลกมาเกือบจะพันปีแล้ว ทีนี้สิ่งเหล่านี้พี่คิดว่าเรามองเห็นความมีชีวิตชีวาของคนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยที่ทำงานอยู่ในพื้นที่เหล่านี้  แล้วอันสุดท้ายคือพื้นที่การทำงานสื่อสาธารณะในชุมชนได้มีโอกาสได้มีคน มาร่วมกันทำงานหลายวัย หลายเพศ หลายมิติของความเชื่อ พี่คิดว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่งดงาม” พรรณิภา โสตถิพันธุ์  หนึ่งในคณะทำงาน สงขลาใกล้ ๆ ทะเล ขยายภาพตัวอย่างการทำงานของเครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่นในพื้นที่ภาคใต้

นอกจากการนำเสนอเนื้อหาเพื่อเชื่อมการขับเคลื่อนวาระทางสังคมในระดับท้องถิ่น ที่ใช้รูปแบบและภาษาตามบริบทที่สอดคล้องกับชุมชน โดยมีช่องทางและพื้นที่การถ่ายทอดครอบคลุมระดับพื้นที่ซึ่งมีผลงานบางส่วนถูกนำเสนอผ่านแพลตฟอร์มของไทยพีบีเอสเป็นอีกเป้าหมายยังเพื่อกระจายและสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ชมผู้ฟังและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในแต่ละประเด็นสาธารณะสู่วงกว้างมากขึ้น โดยในทุกระดับการทำงานจะมีมีกลไกร่วมกันระหว่าง เครือข่ายสื่อท้องถิ่น สื่อพลเมือง สถาบันการศึกษา และผู้ประกอบการ เพื่อทดลองลงมือทำ และเสมือนการห้องเรียนเครือข่ายสื่อสาธารณะระดับท้องถิ่น

เปิดโอกาสสร้างการเข้าถึงสื่อท้องถิ่นสู่วงกว้าง

“เป็นโอกาสแน่นอน เพราะว่าถ้าเราสังเกตดูวัตถุดิบต่าง ๆ ชั้นดีย่อมมาจากที่ท้องถิ่น ถ้าเกิดว่าเราจะใช้วัตถุดิบจากแค่ส่วนกลางอย่างเดียวคงจะไม่เพียงพอ” อรวรรณ ศิริสวัสดิ์ อภิชยกุล คณะทำงาน VOA เสียงเหนือ ย้ำถึงต้นทุนของการสื่อสารที่มาจากท้องถิ่น “เพราะฉะนั้น การที่เราได้ทำช่องการสื่อสารไม่ว่าจะผ่านแพลตฟอร์มอะไร ท้องถิ่นเองก็จะได้เปิดโอกาสให้เขาได้ voice หรือว่าส่งเสียงของตัวเอง อย่างทางภาคเหนือเราก็เลยตั้งชื่อเป็นกลุ่มของเราหรือว่าสถานีย่อม ๆ “เสียงเหนือ” ของคนในภูมิภาคเหนือทั้งหมดที่จะส่งออกมา จากเดิมที่อาจจะได้ยินไม่ค่อยชัดอันนี้มีพื้นที่มีแพลตฟอร์มที่มีความชัดเจน สามารถเอามาพูดคุยในประเด็นต่าง ๆ ที่จะทำให้เสียงปัญหาหรือว่าเรื่องดี ๆ ทุก ๆ เรื่องเลย ที่เป็นของคนในพื้นที่เข้ามาแชร์แล้วให้คนทั้งประเทศได้รับทราบ ก็ถือว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดีในการที่จะเชื่อมโยงภาคประชาชน ภาควิชาการ แล้วก็กลุ่มอาชีพต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ให้ร่วมกันจัดตั้งประเด็นเนื้อหาต่าง ๆ ที่เป็นของเราจริง ๆ ออกสู่สายตาผู้คน”

เช่นเดียวกับในพื้นที่ภาคอีสาน อังคณา พรมรักษา คณะทำงานไทอีสานPBS ที่มองถึงโอกาสในการสื่อสารระดับท้องถิ่นที่เห็นชัดเจนในสถานการณ์วิกฤติน้ำท่วมที่ผ่านมา

“เป็นโอกาสอย่างมากเลยค่ะ ยกตัวอย่างเช่น ในสถานการณ์วิกฤตน้ำท่วมที่ภาคอีสานสื่อสาธารณะท้องถิ่นเป็นพื้นที่กลางในการร่วมกันระดมหาทางออก ไม่ว่าจะเป็นคนที่ประสบปัญหาในชุมชน และหน่วยงานเชิงนโยบาย ทั้งภาครัฐในท้องถิ่น กลุ่มอาสาสมัคร จิตอาสาต่าง ๆ และก็ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วม เรามีพื้นที่กลางในการระดมหาทางออกซึ่งที่สำคัญมันทันต่อสถานการณ์ท่วงที เพราะว่าถ้าเป็นสถานการณ์น้ำท่วมในทางแก้ปัญหาน้ำมาแล้ว จะจัดการตรงนี้ยังไง จะช่วยเหลือผู้คนที่ได้รับผลกระทบความเดือดร้อนยังไง เราต้องการพื้นที่กลางตรงนี้ในการที่จะระดมสรรพกำลังและมีส่วนร่วมกัน ที่สำคัญคือเป็นคนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทั้งหมด

เพราะฉะนั้นตรงนี้ ถือว่าเป็นโอกาสที่สำคัญ เราไม่สามารถรอให้ส่วนกลางหรือใครมาช่วยเหลือเราได้ ฉะนั้นท้องถิ่นเราต้องระดมสรรพกำลังในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และในพื้นที่ตรงนี้ของการสื่อสารสาธารณะท้องถิ่นจึงเข้ามามีบทบาทหนุนเสริมตรงนี้เรารวมกลุ่มกัน คุยกัน มีการสื่อสารหาทางออกช่วยเหลือกันได้อย่างเร็ว ๆ ในวันต่อวัน อัปเดตสถานการณ์การเกิดปัญหาตรงไหน แบบไหน อย่างไร ต้องการความช่วยเหลือแบบไหน ซึ่งโมเดลนี้ทำให้เราเห็นภาพปรากฏการณ์ที่ว่า สื่อสาธารณะท้องถิ่นมีความจำเป็นและมีบทบาทสำคัญมาก ๆ ที่จะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเป็นพื้นที่กลางในการระดมทางออก และก็สิ่งที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งคือว่าในการระดมต่าง ๆ สิ่งที่สำคัญเลย Data ข้อมูลพื้นฐานที่จะเข้ามาใช้ในการหนุนเสริมเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาหรือว่าในการที่จะฟื้นฟูสิ่งต่าง ๆ เราทำงานกันโดยใช้พื้นที่สาธารณะท้องถิ่นตรงนี้เป็นสื่อกลางที่จะระดมสรรพกำลังได้ข้อมูล

และส่วนสุดท้ายที่สำคัญมาก คือการพัฒนาศักยภาพของคนในพื้นที่ท้องถิ่นเพราะว่าเครื่องมือสื่อสารในทุกวันนี้ มีมาใหม่ ไปเร็วและก็คนเข้าถึงโซเชียลมีเดีย เพราะฉะนั้นเครื่องมือในการสื่อสารที่เราเติมเต็มซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นนักข่าวพลเมือง C-site หรืออะไรต่าง ๆ ที่เราใช้เป็นเครื่องมือมันทำให้เกิดการหนุนเสริมและมันทำให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพและเข้าถึงและในที่สุดแล้วมันแก้ปัญหาได้ทันท่วงทีในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น”

เครือข่ายสื่อสาธารณะระดับท้องถิ่น ทั่วประเทศรวม 13 เครือข่าย คือ ส่วนหนึ่งของทีมด่านหน้าที่ร่วมยกระดับการทำงานของเครือข่ายสื่อพลเมือง เครือข่ายสื่อชุมชน และสื่อในระดับท้องถิ่นที่ผนึกกำลังกับเครือข่ายภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน สภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ เครือข่ายสื่อท้องถิ่นและสื่อพลเมือง เพื่อร่วมออกแบบกลไกการทำงานและนำร่องปฏิบัติการสื่อสารในหลายลักษณะ ภายใต้ความเชื่อมั่นจากการลงมือทำ

author

เรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง related posts

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ