สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลกแจ้งเตือนประชาชนเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ ในช่วงหน้าร้อน

สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลกแจ้งเตือนประชาชนเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ ในช่วงหน้าร้อน

รายงานข่าวโดย สำนักข่าวท้องถิ่น / สำนักข่าวWiFi / นักข่าวพลเมือง Thai PBS นายแพทย์บุญเติม  ตันสุรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่าขณะนี้กำลังก้าวเข้าสู่ฤดูร้อนขอให้ประชาชนชาวจังหวัดพิษณุโลกระมัดระวังการ

เกิดโรคที่มีอาการแล้วต้องเสียชีวิตทุกรายได้แก่ โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำหรือโรคหมาว้อ

จากสถานการณ์ของประเทศไทย ในปี 2556 พบว่าผู้ป่วยทั้งประเทศจำนวน 6 ราย เสียชีวิตและในปี 2557

ณ วันที่ 1 มกราคม จนถึงปัจจุบัน ยังไม่พบผู้ป่วย สำหรับสถานการณ์ของจังหวัดพิษณุโลกที่ผ่านมา 14 ปี

 

ตั้งแต่ปี 2530 – 2544 พบผู้ป่วยรวมทั้งสิ้น 26 ราย สาเหตุเกิดจากการไม่ไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันและฉีดวัคซีนล่าช้าและตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน จังหวัดพิษณุโลกยังไม่พบผู้ป่วยเลยถึงแม้ว่าผู้ป่วยจะลดลง แต่คนที่ถูกสุนัขหรือสัตว์ที่บ้านหรือสงสัยว่าบ้ากัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กกลุ่มวัยเรียน มารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าปีละไม่ต่ำกว่า 3,000 ราย ทำให้ต้องสูญเสียงบประมาณปีละหลายล้านบาท

 

สำหรับโรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อจากสัตว์เลือดอุ่นสู่คน เกิดจากเชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า โดยถูกสัตว์ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือสัตว์เลียบริเวณที่มีแผลรอยข่วน หรือน้ำลายของสัตว์ตระกูลเลี้ยงลูกด้วยนมที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้าเข้าตา ปาก จมูก สัตว์ที่นำโรคที่สำคัญที่สุด ได้แก่สุนัข รองลงมา คือ แมว และอาจพบในสัตว์อื่นๆ เช่น ชะนี ลิง กระรอก กระแต หนู วัว ควาย แพะ แกะ เมื่อคนได้รับเชื้อแล้วและไม่ได้รับการป้องกันที่ถูกต้อง ส่วนใหญ่จะมีอาการปรากฏหลังจากการรับเชื้อ 15 – 60 วัน หรือบางรายอาจนานเป็นปี ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ ขณะนี้ยังไม่มียารักษาได้ ผู้ป่วยต้องเสียชีวิตทุกราย ฉะนั้น การป้องกันโรคนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด อาการสำคัญที่เกิดในคน เริ่มด้วยอาการปวดศรีษะ มีไข้ต่ำๆ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย อาการที่พบบ่อยๆ คือคันบริเวณบาดแผลที่ถูกกัด ซึ่งแผลอาจหายสนิทไปนานแล้ว

 

ต่อมาลุกลามไปที่อื่นๆ และมีอาการกลืนลำบาก เพราะกล้ามเนื้อที่ลำคอและกล่องเสียงหดและเกร็งตัว อยากดื่มน้ำแต่กลืนไม่ได้ทำให้มีอาการกลัวน้ำ น้ำลายฟูมปาก บ้วนน้ำลายบ่อย กระวนกระวาย ตื่นเต้น ใจคอหงุดหงิด หายใจเร็ว ประสาทสัมผัสจะไวต่อการกระตุ้น ทำให้ตกใจง่ายและสะดุ้งผวาเมื่อถูกลม หรือได้ยินเสียงดัง กล้ามเนื้อแขนขาเกร็งกระตุก ระยะหลังจะเป็นอัมพาตหมดสติและเสียชีวิตใน 2 – 7 วัน นับจากเริ่มแสดงอาการ ซึ่งการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทางที่ดีที่สุดคือเจ้าของต้องนำสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว ไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างน้อยปีละครั้ง ตาม พ.ร.บ. โรคพิษสุนัขบ้ากำหนด ระวังบุตรหลานไม่ให้เล่นคลุกคลีกับสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน เมื่อถูกสุนัขหรือแมวกัด ข่วน ให้รีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ฟอกสบู่หลายๆครั้ง ใส่ยารักษาแผลสดแล้วรีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่โรงพยาบาลทุกแห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุข

 

หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโดยเร็ว เพื่อรับคำแนะนำในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า สำหรับในช่วงระหว่างวันที่ 1 มีนาคม – 30 เมษายน 2557 จังหวัดพิษณุโลกได้มีการจัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าประจำปีขึ้น โดยมีหน่วยงานที่ร่วมดำเนินการแล้วได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปศุสัตว์ สาธารณสุข และโรงพยาบาลทุกอำเภอ โดยดำเนินกิจกรรมต่างๆได้แก่ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ การขึ้นทะเบียนสัตว์ การผ่าตัดทำหมันและฉีดยาคุมกำเนิด การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องพิษสุนัขบ้าและการส่งเสริมให้ประชาชนเลี้ยงสุนัข แมว อย่างถูกวิธี ฝึกสุนัขให้อยู่ในระเบียบ เชื่อฟังคำสั่งง่ายๆ และไม่กัดคนอย่างไร้เหตุผลเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าทั้งในคนและสัตว์ ประชาชนทั่วไปที่เลี้ยงสุนัข แมว สามารถไปรับบริการต่างๆได้ฟรี ณ องค์การบริหารส่วนตำบลทุกแห่ง หรือสอบถามจุดให้บริการจาก อสม. อาสาสมัครปศุสัตว์ในหมู่บ้านนั้นๆได้ หรือสอบถามข้อมูลได้ที่กลุ่มงานควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก โทรศัพท์หมายเลข 055 – 252052 ต่อ 654,655 ในวันและเวลาราชการ

author

เรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง related posts

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ