![](https://thecitizen.plus/wp-content/uploads/2022/12/IMG_20221117_175849-1-copy-1-1024x684.jpg)
คลื่นโควิดสู่วิกฤตอาหารทะเล
วิกฤตอาหารทะเล อันเป็นผลมาจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ตลาดทะเลไทยหรือตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อปลายปี 2563 ส่งผลให้ตลาดอาหารทะเลแหล่งใหญ่ของประเทศปิดตัวเพื่อกำจัดควบคุมเชื้อ ซึ่งการถูกปิดของตลาดนี้ นับเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่กระทบต่อห่วงโซ่อาหารทะเลทั่วประเทศ นับตั้งแต่ผู้ค้า ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค ไปจนถึงคนต้นทางอย่างชาวประมงผู้เลี้ยงชีพด้วยการจับสัตว์ทะเล เช่นเดียวกับชาวประมงพื้นบ้านอ่าวยอ อ.ปะทิว จ.ชุมพร ก็เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่ไม่อาจเลี่ยงพ้นคลื่นแห่งวิกฤตครั้งนี้ได้ กระแสความหวาดกลัวของผู้บริโภค ได้ส่งผลทำให้ราคาอาหารทะเลดิ่งลงต่ำจนไม่คุ้มกับการออกเรือ ทำให้ชาวประมงหลายรายหันหลังให้กับทะเลไปขายแรงงานบนฝั่ง
ชาวประมงกำลังเก็บกู้อวนตาห่าง ที่ใช้ดักสัตว์น้ำโตเต็มวัย ปลาน้ำดอกไม้หรือปลาสากเหลือง ปลาน้ำตื้นที่ชาวประมงใช้เบ็ดตกได้ที่ทะเลหน้าบ้าน
หมู่บ้านสามเสียม เป็นชุมชนชาวประมงที่ทำประมงพื้นบ้านเรือเล็ก ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลอ่าวยอ หน้าบ้านที่เดินลงทะเลไม่กี่ก้าวก็สามารถจับสัตว์น้ำอย่างกุ้งปูปลาได้เป็นกอบเป็นกำตลอดทั้งปี จึงนับเป็นแหล่งอาหารสำคัญและเป็นแหล่งรายได้สร้างเศรษฐกิจหลักให้กับคนในชุมชนมาตั้งแต่อดีต ไม่ว่าจะเป็นกุ้งแชบ๊วย ปูม้า ปลาอินทรีย์ ปลาลัง ปลากระบอก ปลาสีกุน ปลาสากเหลือง ปลาสากดำ ปลากระทุงเหว ปลาน้ำทอง ปลากโฉมงาม ปลาตะคองเหลือง ปลาอังเกย ปลามง ปลาเก๋า ปลากระพงแดง ปลาทู ปลาจาระเม็ด ปลาสุจิน เป็นต้น
เรือเล็ก ไร้อำนาจต่อรอง
![](https://thecitizen.plus/wp-content/uploads/2022/12/1669994532475-copy-1.jpg)
จากวิกฤติโควิดนี้ โจน จันได หนึ่งในผู้ก่อตั้งธรรมธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคมและวริสร รักษ์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไปฐานธรรมธุรกิจชุมพรคาบาน่า ได้เข้าไปพูดคุยกับชาวประมง กลุ่มประมงพื้นบ้านอ่าวยอ ได้รับรู้ปัญหาหลายอย่างที่ชาวประมงต้องประสบ แม้วิกฤติโควิด-19 จะทำให้พวกเขาเผชิญกับปัญหาใหญ่ ทว่าที่ผ่านมาพวกเขาก็ประสบปัญหาที่มองไม่เห็นทางออกมาโดยตลอด นั่นก็คือปัญหาด้านราคารับซื้อที่ถูกกำหนดมาจากแพปลาหรือพ่อค้าคนกลางเพียงไม่กี่เจ้า
![](https://thecitizen.plus/wp-content/uploads/2022/12/IMG_20221117_175650-copy-1-1024x684.jpg)
ชัยรัตน์ สุตราม กลุ่มประมงพื้นบ้านอ่าวยอ
เช่นเดียวกับ ชัยรัตน์ สุตราม กลุ่มประมงพื้นบ้านเรือเล็กหมู่บ้านสามเสียมสะท้อนให้ฟังว่า ราคารับซื้ออาหารทะเลจะถูกกำหนดมาจากแพปลาหรือพ่อค้าคนกลางเท่านั้น บ่อยครั้งราคาก็ถูกลงเรื่อยๆ ด้วยข้ออ้างว่าของมีมาก ทำให้ชาวประมงแม้จับสัตว์ทะเลได้มากกลับยิ่งมีรายได้ลดน้อยลง จะไปขายที่อื่นที่ให้ราคาสูงกว่าก็เป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางและอาจถูกปฏิเสธการรับซื้อจากแพปลาเดิม ชาวประมงพื้นบ้านเรือเล็กไม่มีอำนาจต่อรองใดๆอย่างพวกเขา จึงต้องจำยอมขาย แม้จะถูกกดราคาจนถูกแสนถูกก็ตาม
ตลาดที่เป็นธรรม
จากที่หวังจะบรรเทาความลำบากในช่วงวิกฤติ เมื่อได้รับฟังปัญหาของชาวประมง โจน จันไดเห็นว่า ด้วยแนวทางการดำเนินกิจการของธรรมธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม ที่เอาธรรมนำธุรกิจน่าจะเป็นทางออกในการแก้ปัญหาให้แก่ชาวประมงได้ จึงได้ตัดสินใจเปิดตลาดรับซื้ออาหารทะเลจากจากชาวประมง
โดยให้ชาวประมงเป็นผู้ร่วมกำหนดราคาของอาหารทะเลแต่ละชนิดตามที่ชาวประมงเห็นว่าเป็นธรรมสำหรับพวกเขา เป็นราคาที่ทำให้เศรษฐกิจในครอบครัวของพวกเขาอยู่ได้อย่างไม่ลำบาก และเป็นราคาที่คนกลางอย่างธรรมธุรกิจเองพอมีกำไรสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้และต้องไม่แพงจนเกินไปสำหรับคนกิน จึงเกิดการพูดคุยเปิดใจกางตัวเลขให้เห็นชัดทุกฝ่ายจนได้ราคาที่พึงพอใจ
ซึ่งราคาที่มีการตกลงร่วมกันนี้สูงกว่าราคารับซื้อของแพปลาราว 10-20 บาท ทั้งนี้ราคาที่ตกลงร่วมกันจะเป็นราคาตายตัวไม่ผันผวนตามราคาตลาด แต่หากที่อื่นให้ราคาที่สูงกว่าพวกเขาก็สามารถนำไปขายได้ ไม่ได้มีพันธะผูกขาดกับธรรมธุรกิจแต่อย่างใด กำหนดสถานที่รับซื้อคือที่ชุมพรคาบาน่า ซึ่งเป็นที่ตั้งของร้านอาหารยักษ์กะโจน ร้านอาหารในเครือข่ายของธรรมธุรกิจ
พันธะสัญญาเพื่อความยั่งยืน
ชาวประมงใช้ทางมะพร้าวในการทำซั้งปลา การทำซั้งปลาเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านเพื่อดึงดูดสัตว์น้ำให้เข้ามาอาศัยอยู่
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเปิดตลาดรับซื้ออาหารทะเลทั้งหมดจากชาวประมง แต่มีเงื่อนไขก็คือ พวกเขาจะต้องเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล ไม่ว่าจะเป็นวิธีการทำประมงที่ไม่ผลาญทำลายธรรมชาติ การจับสัตว์น้ำในปริมาณและในช่วงเวลาที่พอเหมาะพอสม รวมถึงการใช้เครื่องมือที่เหมาะสมกับการจับสัตว์น้ำแต่ละชนิดด้วย นอกจากนี้เพื่อให้ได้อาหารทะเลที่สดสะอาดปลอดภัยสำหรับคนกิน จะต้องไม่ใช้สารเคมีใดๆในการเก็บรักษาอาหารทะเล ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้ชาวประมงมีความยินดีปฏิบัติเพราะเป็นแนวทางที่กลุ่มประมงพื้นบ้านอ่าวยอของพวกเขาถือปฏิบัติมาอย่างเคร่งครัดอยู่แล้ว ซึ่งพวกเขามองว่าเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการและผู้บริโภคตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรทางทะเล
อาหารทะเลที่ได้จากการทำประมงพื้นบ้านเรือเล็ก ซึ่งชาวประมงจะนำมาขายที่ชุมพรคาบาน่าทันทีที่ขึ้นฝั่งเพื่อแปรรูปเก็บในห้องเย็น เพื่อรักษาคุณภาพของอาหารทะเล
ปลายทางของอาหารทะเลเหล่านี้จะถูกกระจายออกไปผ่านช่องทางการขายของธรรมธุรกิจ อาทิ ตลาดนัดธรรมชาติที่จัดขึ้นทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ที่ถนนพระรามเก้า เป็นตลาดอาหารอินทรีย์จากลูกศิษย์กสิกรรมธรรมชาติทั่วประเทศ รถเร่ของธรรมธุรกิจ ที่วิ่งกระจายทั่วกรุงเทพฯ บริการอาหารอินทรีย์ถึงหน้าบ้านผู้บริโภค ร้านอาหารยักษ์กะโจนทุกสาขา และช่องทางออนไลน์ทั้งไลน์และเพจธรรมธุรกิจ
ตลาดอาหารอินทรีย์ จำหน่ายอาหารทะเลจากกลุ่มประมงพื้นบ้านอ่าวยอ ตลาดอาหารอินทรีย์ จำหน่ายอาหารทะเลจากกลุ่มประมงพื้นบ้านอ่าวยอ
คุณค่าและศักดิ์ศรีของชาวประมง
การเกิดขึ้นของตลาดรับซื้ออาหารทะเลของธรรมธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม จากความตั้งใจที่อยากช่วยเหลือชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งเป็นประมงเรือเล็กของชาวบ้านคนเล็กคนน้อย ไม่เพียงสร้างความภาคภูมิใจให้แก่พวกเขาในฐานะที่เป็นผู้ลิตอาหารทะเล เป็นต้นทางในการสร้างระบบอาหารที่ปลอดภัยและเป็นธรรม สิ่งนี้ยังเป็นการกระจายอำนาจไปสู่ชาวประมงรายย่อยให้พวกมีปากมีเสียง มีอำนาจต่อรองในการกำหนดราคาในสินค้าที่พวกเขาลงทุนลงแรง ซึ่งชัยรัตน์ สุตราม ได้เปิดใจว่า
เป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ ยี่สิบสามสิบปีที่ทำประมงมา มีแต่ต้องคอยถามว่าเขาว่าวันนี้จะรับซื้อเท่าไหร่ เรามันชาวประมงหาเช้ากินค่ำ จะแพงจะถูกก็ต้องขาย จับขึ้นจากทะเลแล้วก็ต้องขายให้หมด เช่นนั้นแหละ ชัยรัตน์ สุตราม กลุ่มประมงพื้นบ้านอ่าวยอ กล่าวทิ้งท้าย
![](https://thecitizen.plus/wp-content/uploads/2022/12/IMG_20221117_175919-copy-1-1024x684.jpg)
พวกเขายอมรับว่าการมีตลาดแบบนี้ทำให้พวกเขามีความสบายใจมากขึ้น เพราะรู้รายได้ของตัวเองในแต่ละวัน ทำให้สามารถวางแผนการทำงานได้ จัดการชีวิตได้ดีขึ้น ไม่ต้องคอยห่วงหน้าพะวงหลังว่าจะมีรายได้พอเลี้ยงครอบครัวหรือไม่เหมือนแต่ก่อน อีกทั้งในช่วงฤดูมรสมที่ออกทะเลไม่ได้ พวกเขายังสามารถเข้าไปทำงานภายในชุมพรคาบาน่า ทั้งที่ร้านอาหารยักษ์กะโจนหรือที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติเพลินได้อีกด้วย