มองเมืองลุงกับอนาคตการพัฒนาเศรษฐกิจเเละปากท้อง

มองเมืองลุงกับอนาคตการพัฒนาเศรษฐกิจเเละปากท้อง

เรารู้สึกโชคดีที่มีพื้นที่ตรงนี้ ทำให้คนอื่นได้เห็นว่าพัทลุงอยู่ได้ในช่วงที่เจอวิกฤติโควิด พลังของการกลับมาของคนรุ่นใหม่ เราโตขึ้นมาได้โดยไม่ได้พึ่งพิงจากรัฐเลย แล้วเราสร้างขึ้นจนคนอื่นมาเห็นในสิ่งที่เราทำ รวมถึงจุดแข็งของการแลกเปลี่ยนกันทุก ๆ เครือข่ายที่เกิดขึ้นในพัทลุง คนกล้าคืนถิ่น

ในอีก 5 ข้างหน้าเราต้องมองว่าพัทลุงมีศักยภาพที่แข่งขัน กับเมืองอื่น ๆ ในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค เพราะฉะนั้นเราต้องทำอะไรที่เป็นเอกลักษณ์ และขายความเป็นพัทลุงให้คนระดับประเทศเขาได้ซึมซับ มันจะนำมาซึ่งเป็นความเป็นพัทลุงในอนาคตได้ กลุ่ม YEC

นี่เป็นเสียงบางส่วนของคนรุ่นใหม่ที่สะท้อนศักยภาพของคน-เมืองออกมาอย่างน่าสนใจ จนทำให้ทีมงานรายการฟังเสียงประเทศไทยต้องออกเดินทางจากหาดใหญ่มุ่งหน้าไปสู่จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นจังหวัดเล็กๆ ทีมีจุดแข็งของความเป็นถิ่นใต้แท้ที่ยังคงวิถีดั้งเดิม ตั้งอยู่กึ่งกลางของภาคใต้เชื่อมโยงการท่องเที่ยวและการค้า ที่มีต้นทุนทางภูมิศาสตร์ครบทั้ง เขา ป่า นา เล” ทำให้เศรษฐกิจหลักที่มาจากภาคเกษตรที่เป็นแหล่งผลิตอาหารแหล่งใหญ่ของภาคใต้ และเป็น 1 ใน 55 จังหวัดที่ได้รับการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง  เคยสร้างเม็ดเงินสะพัดในจังหวัดได้กว่า 3,000 ล้านบาท แต่สถานการณ์โควิดทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก รวมถึงจังหวัดพัทลุงเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแบบสมบูรณ์  อะไรคือความหวังและโอกาศของคน-เมืองพัทลุงกับอนาคตการพัฒนาเศรษฐกิจ

รายการฟังเสียงประเทศไทยชวนคน ตอน มองเมืองลุง กับอนาคตการพัฒนาเศรษฐกิจเเละปากท้อง จ.พัทลุง ที่ผู้ร่วมเสวนาส่วนใหญ่ต่างสะท้อนเสียงการพัฒนาพื้นที่มาจากฐานต้นทุนคน และฐานทรัพยากร เราชวนอ่านข้อมูลชุดนี้ไปพร้อมกันกับตัดสินใจร่วมกัน

จังหวัดพัทลุง มีเนื้อที่ทั้งหมด 3,424 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางภูมิศาสตร์และความหลากหลายทางชีวภาพเหมาะสมต่อการทําการเกษตร และมีพื้นที่ถือครองเพื่อการเกษตร 1,327,270 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 62 ของพื้นที่ ที่นี่ยังเป็นแหล่งผลิตข้าวที่สําคัญของภาคใต้สามารถปลูกและผลิตได้มากเป็นลําดับที่ 3 ของภาคใต้ และมี “ข้าวสังข์หยดพัทลุง” เป็นสินค้าการเกษตรที่ได้รับการรับรองเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI

ด้านประชากร พัทลุงเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแบบสมบูรณ์ ซึ่งจากข้อมูลพบว่าใน ปี 2562 มีสัดส่วนประชากรเพิ่มขึ้น ขณะที่ประชากรวัยทำงานลดลง ขณะที่เศรษฐกิจของจังหวัดพัทลุงอยู่ที่ภาคเกษตรเป็นหลัก โดยเฉพาะยางพารา ดังนั้นเมื่อมีภาวะสินค้าเกษตรราคาตกจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคครัวเรือน ทำให้มีรายได้ลดลงและมีหนี้สินเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังกระทบให้เกิดครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวหรือครอบครัวที่ผู้สูงอายุอยู่ตามลำพังกับคู่สมรส

พัทลุง เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการรู้จักในระดับนานาชาติเนื่องจากมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และวัฒนธรรมที่โดดเด่น รายได้จากการท่องเที่ยวของจังหวัดพัทลุงมาจากการท่องเที่ยวโดยชุมชน การท่องเที่ยวเชิงเกษตร และเป็น 1 ใน 55 จังหวัดที่ได้รับการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง  เคยสร้างเม็ดเงินสะพัดในจังหวัดได้กว่า 3,000 ล้านบาท และมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือนกว่าหนึ่งล้านห้าแสนคน

มีจํานวนผู้ประกอบการชุมชนที่ลงทะเบียน OTOP ตั้งแต่ปี 2557 – 2562 จํานวน 1,022 กลุ่ม  มีกว่า 2,500  ผลิตภัณฑ์  ขณะเดียวกันสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นทำให้สังคมไทยรวมถึงพัทลุงเข้าสู่ยุคปรกติใหม่(New Normal) เกิดกระแสคนรุ่นใหม่กลับบ้านมาประกอบอาชีพเกษตรกรรมหรือเป็นเจ้าของธุรกิจออนไลน์เล็ก ๆ ที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้เกิดขึ้นเรื่อย ๆ

โอกาสที่จะทำให้ “พัทลุง”  สามารถพัฒนาต่อได้

  • จังหวัดพัทลุงมีพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางภูมิศาสตร์เหมาะเป็นแหล่งผลิตผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ  สอดคล้องกับการพัฒนาของโลกที่ให้ความสําคัญต่อการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  • ทำเลที่ตั้งจังหวัดอยู่กึ่งกลางของภาคใต้ สามารถเชื่อมโยงกับจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางการค้าการท่องเที่ยวกระจายในหลายพื้นที่
  • พื้นที่แหล่งน้ำทะเลน้อยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำโลก (Ramsar site) ล่าสุดได้รับการประกาศระบบการเลี้ยงควายปลัก เป็นมรดกทางการเกษตรโลกได้รับความสนใจในระดับนานาชาติ  สามารถพัฒนาการท่องเที่ยวและวิถีเกษตร
  • ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวเป็นโอกาสในการพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าทางการเกษตรเพื่อการบริการด้านสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ
  • ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เริ่มมีกระแสคนรุ่นใหม่กลับบ้านมาพัฒนาพื้นที่ของคนรุ่นพ่อแม่ และพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์และยกระดับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเกิดผู้ประกอบการหน้าใหม่ เพิ่มมูลค่าสินค้าชุมชน
  • ล่าสุดแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษฯ ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลารับเศรษฐกิจใต้เติบโต เตรียมพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพ

ข้อเท็จจริง

ฟังข้อมูลส่วนหนึ่งไปแล้วจากข้อมูลข้างต้น ทีมงานได้ประมวลภาพฉากทัศน์ ที่อยากจะเห็นหรืออยากจะให้เป็น ล้อไปกับวงสนทนา ด้วยการเลือกภาพตั้งต้นจาก 3 ภาพ

ฉากทัศน์ 1  Phatthalung Green City

  • พัฒนาพัทลุงให้เป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยแบบครบวงจร ส่งเสริมการถ่ายทอดองค์ความรู้แก่เกษตรกรในการทําเกษตรปลอดภัย
  • นำเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาพัฒนาระบบการผลิตเกษตรขั้นพื้นฐานอย่างเต็มรูปแบบทั้งกระบวนการ เพื่อเพิ่มผลผลิตและมูลค่าสินค้าอย่างมีคุณภาพและได้มาตรฐาน ต่อยอดกับการท่องเที่ยวของจังหวัด
  • มีการบริหารจัดการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมรองรับการทำเกษตรปลอดภัย  ส่งเสริมการสร้างแบรนด์และขยายช่องทางการตลาดดิจิตอล ให้เกษตรกรสามารถกําหนดราคาสินค้าได้เองและสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคเทรนด์สุขภาพ
  • ต้องสร้างกระบวนการรับรองมาตรฐานแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยร่วมกันของชุมชนเกษตรกร เกษตรกรต้องปรับตัวในเรื่องในการใช้เทคโนโลยี และเพิ่มทักษะใหม่ แต่ก็มีความเสี่ยงที่เกิดจากตัวแปรที่ควบคุมไม่ได้ ทั้ง สภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติส่งผลกระทบต่อผลผลิตสินค้าเกษตร
  • ภาครัฐจะต้องเข้ามาสนับสนุนอย่างจริงจังเพื่อพัฒนาภาคการเกษตรของจังหวัดพัทลุง และมีแผนพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ กลไกตลาด และองค์ความรู้และเทคโนโลยี เชื่อมต่อกับทุกภาคส่วนเพื่อให้เกษตรกรสามารถอยู่ได้

ฉากทัศน์ 2  Phatthalung Creative Start Up

  • พัฒนาให้พัทลุงเป็นเมืองรวมผู้ประกอบการยุคใหม่ โดยยกระดับจากผู้ประกอบการท้องถิ่น ต่อยอดมรดกภูมิปัญญา ฐานทรัพยากร สร้างจุดขายของแต่ะละชุมชน อาทิ มโนราห์ กระจูด ผลผลิตทางเกษตร นำมาเพิ่มมูลค่าด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กระจายรายได้ให้กับชุมชนและต่อยอดกับการท่องเที่ยว
  • ซึ่งต้องสร้างการมีส่วนร่วมกับท้องถิ่น ชุมชนและคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยใช้ความรู้จากงานวิจัย นวัตกรรม ทางวิชาการและความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จักในระดับประเทศและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดส่งเสริมความรู้เศรษฐกิจดิจิตตอล และเทคโนโลยี มาสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของคนพัทลุง
  • เกษตรกรและผู้ประกอบการต้องปรับตัวจากระบบเดิมมาสู่ระบบใหม่ ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมในทุกระดับและให้ความสำคัญสร้างสรรค์คนและสร้างสรรค์งาน โดยมีรัฐและสถาบันการศึกษาเข้ามาสนับสนุนองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง
  • หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องสำรวจต้นทุน และโอกาสในยุคดิสรับชั่นทั้งเทคโนโลยีและเศรษฐกิจ โดยการ Up-Re Skill ทักษะของผู้ประกอบการที่จำเป็นของภาคธุรกิจและตลาดแรงงานที่จะไปต่อได้เข้ากับทิศทางของโลก ต้องใช้เวลา

ฉากทัศน์ 3 Phatthalung WORLD HUB

  • พัฒนาให้พัทลุงเป็นศูนย์กลางในระดับโลก ทั้งเกษตร วัฒนธรรม ท่องเที่ยวและแหล่งจำหน่ายสินค้าและบริการครบวงจรตามมาตรฐานสากล
  • โดยนำจากศักยภาพในด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ภูมิปัญญา ที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติเป็นจุดดึงดูด ต่อยอดกับความรู้ นวัตกรรม ฐานข้อมูลเทคโนโลยีอย่างเป็น ระบบ และทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก
  • ฉากทัศน์นี้  ต้องลงทุนระบบขนส่งขนาดใหญ่เพื่อให้พัทลุงเป็นเมืองท่าและศูนย์กลางในทุกมิติ  ให้สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดและประเทศ
  • แต่ทั้งนี้ยังไม่สามารถทำได้ทันทีต้องเป็นไปตามนโยบายต้องใช้เวลาและงบประมาณจำนวนมากในการบริหารจัดการ และต้องความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง จากการขยายตัวของเมือง อาจจะทำให้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เสื่อมโทรม

อ่านข้อมูลส่วนหนึ่งข้างต้นไปแล้ว เราชวนมองประเด็นต่อกับผู้เกี่ยวข้องที่มาร่วมแลกเปลี่ยน เพิ่มเติมข้อมูลจากตัวแทน 5 มุมมอง

คุณเสณี จ่าวิสูตร สมาคมสร้างสุขชุมชนคนเมืองลุง  กล่าวว่า ความมั่นคงทางอาหารของพัทลุง การทำนาพื้นเมืองมีระยะเวลาเก็บเกี่ยวนาน มีปลา กุ้ง หอย ผักลิ้น มีใบบัวบก เมื่อก่อนทุ่งนาเป็นซูเปอร์มาร์เก็ต ปัจจุบัน คนเมืองลุง 85 เปอร์เซ็นต์ ทำข้าวผสมขาย เป็นตัวสะท้อนอย่างหนึ่ง สองคนพัทลุงกินข้าวร้อยกิโลต่อคนต่อปี การขับเคลื่อนอาหารอินทรีย์ปลอดภัยเป็นไปค่อนข้างยาก เนื่องจากยังมีเงื่อนไขการใช้น้ำจากแหล่งสาธารณะที่ปนเปื้อนมาจากสารเคมี

การสร้างมาตรการร่วมกัน ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคผู้ประกอบการ สิ่งแรก คือ ลดการใช้สารเคมี ความร่วมมือกันใช้มาตรการอย่างเข้มงวด ทั้งเรื่องการสร้างความตระหนัก การเอาข้อมูลมาใช้ผลักให้คนรู้สึกกลัว และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม การปรับสภาพแวดล้อม มีมาตรการที่เหมาะสม และกลไกโดยเฉพาะ

มนันพงค์ เซ่งฮวด วิสาหกิจกลุ่มกระจูดวรรณี กล่าวว่า การสร้างสรรค์ต่อยอดจากท้องถิ่นหรือภูมิปัญญาที่มีอยู่มาสร้างให้เกิดมูลค่ามากขึ้น กระจูดราคาหลักร้อย แต่พอเพิ่มเรื่องดีไซน์ความเป็นสร้างสรรค์เข้าไป เพิ่ม 2,000 กว่าบาท ที่สำคัญสามารถพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากโดยชาวบ้าน จากเมื่อก่อนทำวันละไม่กี่บาท พอเราเพิ่มมูลค่าตัวสินค้าได้ เพิ่มทักษะฝีมือเขาได้เงินวันหลายบาท

ที่ผ่านมาเราทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยทักษิณ ในโครงการกระจูดแก้จน เพื่อพัฒนาฝีมือชาวบ้านที่ค่อนข้างยากจนในครัวเรือน มาพัฒนาด้านทำกระจูดตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของชาวบ้าน จากทำวันละ 100 –  200 บาท กลายเป็นวันละ 300 – 1,000 บาท การพัฒนาเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะสามารถพัฒนาคน พัฒนาฝีมือ

การพัฒนาเรื่องของเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะเข้าไปช่วยเรื่องของการสร้างรายได้ให้คนในชุมชน และชาวบ้านต่าง ๆ ในการสร้างเจ้าของที่ต่อยอดมาจากภูมิปัญญาที่เรามีอยู่ และกลับกลายเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนให้ชาวบ้านได้มีรายได้

คุณเทพรัตน์ จันทพันธ์ ที่ปรึกษาสมาคมท่องเที่ยวพัทลุง กล่าวว่า จุดเด่นของพัทลุง คือเรื่องคน ที่มีทั้งประวัติศาสตร์ และภูมินิเวศน์ ซึ่งอยู่ระหว่างเมืองหลักอยู่สองเมือง คือ เมืองนครศรีธรรมราชกับเมืองสงขลา เมืองนครเมืองสงขลาคือเมืองหลักตั้งแต่สมัยอยุธยาในอดีต และอีกอย่างคนพัทลุงทำเรื่องฐานเกษตร ฐานทรัพยากร ทำนา ทำสวน ทำประมง อยู่ริมทะเลสาบ

เป็นความสร้างสรรค์ ที่ไม่ใช่ความคิดเพียงอย่างเดียว แต่เป็นความสร้างสรรค์ที่มาจากการลงมือทำ เพราะฉะนั้นการต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่เดิม ทำให้พัทลุงมีจุดเด่นหลัก คือ ความหลากหลายทางภูมินิเวศ เขา ป่านา เล เป็นจังหวัดที่มีคลอง ใน 7 ลุ่มน้ำย่อย ความยาวประมาณ 30 – 40 กิโลเมตร ที่มีความหลากหลายตั้งแต่เขาไปจนถึงทะเลสาบ การยกระดับและต่อยอดสิ่งที่มีอยู่ เช่น เรื่องมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น เรเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และผลิตภัณฑ์

คุณพา ผอมขำ เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า คนใต้คืนถิ่นกลับบ้าน โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวทำให้เมืองคึกคักด้วยผู้คน ลมหายใจของเมืองที่มีชีวิตชีวา เป็นการเติบโตของการเคลื่อนของเมือง โดยกลุ่มYEC กลุ่มคนรุ่นใหม่ และคนมีประสบการณ์ในสร้างเมือง ซึ่งมีคีย์เวิร์ดสำคัญ ในการส่งต่อให้กับพลเมือง

หนึ่ง เมืองต้องเติบโตบนฐานทุนทางวัฒนธรรม และทรัพยากร ที่เป็นตัวรองรับให้พัทลุงได้หยิบใช้และเติบโตขึ้นไปได้

สอง มีการแบ่งปันเศรษฐกิจบนฐานต้นทุนทรัพยากรที่สามารถสร้างมูลค่าได้

สาม ใช้ความคิดสร้างสรรค์เข้าไปเพิ่มมูลค่าพื้นฐานสินค้า พัทลุงบนฐานทุนเหล่านี้มันเหมาะที่จะเอาความคิดสร้างสรรค์เข้าไปสร้างมูลค่าที่อื่นไม่มี แล้วมันลดใช้การทำลายที่ชุมชนใช้ไป

สี่ วันนี้หลายองค์กรขยับบทบาท เริ่มเห็นชัดในการช่วยเหลือ และแอมพาวเวอร์กับชุมชน ไม่ว่าจะผ่านตัวสินค้า หรือการท่องเที่ยวชุมชน เขามีจุดเด่นที่เข้าไปทำกับชุมชน และคนรุ่นใหม่ที่กลับมา ความคิดสร้างสรรค์ วันนี้เราเริ่มหาช่องทางใหม่ ๆ ที่ไม่ต้องพัฒนาเพื่อทำลายแต่ต้องทำให้ยั่งยืน

คุณโชคชัย ปิตานุพงศ์ ประธานสมาพันธ์ MSE ไทย จ.พัทลุง กล่าวว่า กลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้เป็นตัวผลักดันในการพัฒนาจังหวัดโดยภาครัฐคอยอำนวยความสะดวก รวมถึงในส่วนมหาวิทยาลัยให้ความรู้ในการช่วยให้พัทลุงพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น เนื่องจากพัทลุงมีภูมิศาสตร์เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทำให้การเดินทางการเข้าถึงง่าย รวมถึงมีทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งแรมซ่าไซต์ในการประกาศพื้นที่พิเศษของอพท. ที่เป็นแผนพัฒนาเป็นแหล่งที่สอง ต่อจาก จ.น่าน

ลักษณะเด่นเฉพาะของตัวเอง เป็นจุดขายของคนพัทลุงที่ไม่เหมือนใคร เริ่มต้นก็คือพัทลุงมีเบียร์จากข้าวสังข์หยด กาแฟข้าวสังข์หยด ซึ่งเป็นงานครีเอทีฟ หรือแม้แต่ร้านกาแฟต่าง ๆ ที่เริ่มเอาหินมาทำสีสีเพื่อเอาเราระบายภาพ ซึ่งเป็นครีเอทีฟส่งผลไปถึงรายได้ของชุมชนเกิดการจ้างงาน

การเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพ ให้ความรู้มหาวิทยาลัย ด้านไอทีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยผู้ประกอบการ มีองค์กรภาคเอกชนหลาย ๆ องค์กรที่อยู่อยู่ในภายในจังหวัดเราก็หาจากตรงนี้ได้ความรู้ โดยพื้นที่จังหวัดพัทลุงเป็นพื้นที่WORLD HUB แต่การขอการรับรองการเป็นWORLD HUB ที่มาจากภูมิปัญญาชาวบ้าน เรื่องโนราเป็นถิ่นกำเนิดมาจากพัทลุง เราก็ต้องให้คนในพื้นที่ช่วยกันส่งเสริมแล้วชูความเป็นWORLD HUB ออกไปให้ สื่อออกไปทั่วโลกให้ได้ว่าตรงนี้คือมีเฉพาะถิ่นที่พัทลุงอย่างเดียว

หลังจากอ่านข้อมูลเพิ่มเติมทั้งหมดแล้ว คุณอยากเห็น “เมืองลุงกับอนาคตการพัฒนาเศรษฐกิจเเละปากท้อง จ.พัทลุง” เป็นแบบไหน สามารถโหวตฉากทัศน์ได้ที่นี่……

author

เรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง related posts

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ