เสน่ห์ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา สู่การเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

เสน่ห์ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา สู่การเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

พื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาตอนบน อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา

“ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” แหล่งน้ำธรรมชาติที่มีลักษณะพิเศษ ระบบนิเวศสามน้ำ ทั้งน้ำเค็ม น้ำกร่อย และน้ำจืด เป็นทะเลสามน้ำแบบลากูน (Lagoon) หนึ่งเดียวของประเทศไทย และเป็นหนึ่งใน 117 แห่งทั่วโลก เป็นพื้นที่มีศักยภาพ มีคุณค่า ซึ่งถูกประกาศให้ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาระยะ 5 ปี (พ.ศ.2566 – 2570) ครอบคลุม 15 อำเภอ ใน 3 จังหวัด สงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช

พูนทรัพย์ ชูแก้ว ประธานวิสาหกิจชุมชน โหนด นา เล ต.ท่าหิน อ.สทิงพระ จ.สงขลา

เส้นทางท่องเที่ยว วิถีชุมชน “โหนด-นา-เล” บ้านท่าหิน อ.สทิงพระ จ.สงขลา จากกลุ่มวิสาหกิจแม่บ้านของชุมชน ปัจจุบันผลักดันเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้กับกลุ่มคนที่สนใจวิถีชีวิต เรียนรู้ประสบการณ์วิถีชีวิตเชิงเกษตรที่สืบทอดมายาวนาน ป้ารมย์ พูนทรัพย์ ชูแก้ว ประธานวิสาหกิจชุมชน โหนด นา เล ต.ท่าหิน อ.สทิงพระ จ.สงขลา เล่าว่า การพัฒนาการท่องเที่ยวพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำ เป็นโอกาสของชุมชนในการพัฒนาทะเลสาบสงขลา ที่ยึดอาชีพหลักด้วยการผลิตผลิตภัณฑ์จากตาลโตนด ทำนา และประมงในพื้นที่ทะเลสาบ ด้วยความโดดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ที่สามารถออกแบบจัดการให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว กวักมือเรียกนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ที่สนใจในวิถีชีวิต เข้ามาสัมผัสประสบการณ์ ที่สืบทอดกันมายาวนานหลายชั่วอายุคน

วิถีประมงลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาตอนบน อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา

ป้ารมย์ เล่าต่อว่า กว่า 20 ปีที่ผ่านมาได้ทำเรื่องการอนุรักษ์ ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ และการทำบ้านปลา เพื่อเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลาให้อุดมสมบูรณ์ หากทะเลสาบอุดมสมบูรณ์ คนกลับมาอยู่บ้านได้ใช้ทรัพยากรถึงชั่วลูกชั่วหลาน สองวิถีการทำนาเป็นเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร ในการลดต้นทุนเมล็ดพันธุ์และเน้นพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน และวิถีตาลโตนด ได้มีหน่วยงานวิชาการ 5 วิทยาลัยในจังหวัดสงขลา เข้ามาช่วยส่งเสริมแปรรูปผลิตภัณฑ์น้ำตาลโตนดผงสบู่ และทำเป็นสารสกัดมาต่อยอดในเรื่องของผลิตภัณฑ์ จนกระทั่งผลิตภัณฑ์มีหลากหลาย และมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น

“เราใช้โอกาสนี้เพื่อให้ลูกหลานเห็นว่า ทรัพยากรบ้านเราอุดมสมบูรณ์ และทำให้เขารู้สึกหวงแหน รักชุมชนเขามากยิ่งขึ้น”

วิถีประมงลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาตอนบน อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา

“แต่ละพื้นที่มีต้นทุนทางธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และทางเศรษฐกิจ และต้นทุนของคนที่เป็นบุคคลสำคัญ หรือเรียกว่าปราชญ์ชุมชน แต่ไม่เคยจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนเองได้อย่างแท้จริง หรือไม่เคยถูกนำเสนอ มีบางพื้นที่เท่านั้นที่สามารถจัดการได้”

ทรัพยากรที่เป็นการท่องเที่ยววิถีชีวิต โหนด นา เล หากเราฟื้นวิถีชีวิตของผู้คนบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาทั้ง วิถีตาลโตนด – นาข้าว – ทะเลสาบสงขลา และมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ จัดการการท่องเที่ยวแบบวิถีชีวิต โดยเรื่องของการอนุรักษ์เข้ามาจับ พร้อมกับเชื่อมเส้นทางท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับจังหวัดต่าง ๆ ป้ารมย์กล่าว

ชาญวิทูร สุขสว่างไกร นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน จ.สงขลา

ด้านคุณชาญวิทูร สุขสว่างไกร นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน จ.สงขลา เล่าว่า พื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มีทั้งสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และประเพณี มีความเกี่ยวพันธ์พี่น้อง ไทยพุทธ มุสลิม แบบพหุวัฒนธรรม โดยใช้พื้นที่ทำมาหากินเดียวกันในแง่เศรษฐกิจ จากวิถีการทำประมงส่วนใหญ่มาจากฐานรากของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ทั้งพี่น้องที่ทำประมงพื้นบ้านชายฝั่ง หรือแม้แต่ต้นตาลโตนดที่ขึ้นตามพื้นที่ริมทะเล ทำให้น้ำตาลโตนดกลมกล่อม รวมถึงประเพณีวัฒนธรรมเกี่ยวกับลุ่มน้ำ มีวัดเก่าแก่อยู่ตลอดลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาที่เชื่อมไปยังจังหวัดพัทลุง และนครศรีธรรมราช

และมีโอกาสเดินทางไปสัมผัสการทำท่องเที่ยวโดยชุมชนในหลายพื้นที่ พบว่า หลายชุมชนมีความพร้อมในการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ และใน 4 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนวัดพะโคะ ชุมชนเกาะยอ ชุมชนเกาะแลหนัง และชุมชนลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภาตอนล่างวัดคูเต่า ได้ประกาศจากสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสงขลา ยกระดับพัฒนาให้กลายเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นโอกาสและความหวังของชาวบ้าน คุณชาญวิทูรกล่าวทิ้งท้าย

วิถีประมงชายฝั่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาตอนบน อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ