สงขลา / พม.- พอช. – ขบวนองค์กรชุมชนจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกภาคใต้ จ.สงขลา “Kick off การออกแบบอนาคตคนริมคลองสำโรง คลองสวย น้ำใส ไร้ขยะ ชุมชนมีสุข” เป้าหมาย 15 ชุมชน 584 ครัวเรือน ตามแนวทางบ้านมั่นคงของ พอช. โดยจังหวัดสงขลาบรรจุแผนพัฒนาและแก้ไขปัญหาชุมชนริมคลองสำโรงเป็นวาระเร่งด่วนของจังหวัด ตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแล ด้าน พม.และ พอช.พร้อมสนับสนุนชุมชนและก้าวเดินไปพร้อมๆ กัน
UN – HABITAT ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’ เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ในโลกให้ความสำคัญกับสถานการณ์การอยู่อาศัยและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ตลอดจนตระหนักถึงสิทธิพื้นฐานของการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมของประชากรทุกคนบนโลก
ปีนี้วันที่อยู่อาศัยโลกตรงกับวันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม UN – HABITAT กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ และเครือข่ายองค์กรชุมชนทั่วประเทศ ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกตลอดช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนทั่วภูมิภาคต่างๆ
ที่ภาคใต้ ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายนนี้ กระทรวง พม. และ พอช. ร่วมกับขบวนองค์กรชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดกิจกรรมเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกปี 2565 “Kick off การออกแบบอนาคตคนริมคลองสำโรง คลองสวย น้ำใส ไร้ขยะ ชุมชนมีสุข” ที่สวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จ.สงขลา โดยมีการจัดแสดงนิทรรศการ เวทีเสวนา การลงพื้นที่ชุมชนสร้างเพื่อความเข้าใจกับชาวชุมชน การสำรวจข้อมูล และกิจกรรมฐานการเรียนรู้
การจัดงานครั้งนี้มีนายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวง พม. นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. พร้อมด้วยผู้แทนเครือข่ายชุมชนจากภูมิภาคต่างๆ เข้าร่วมงาน โดยมีนายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ผู้บริหารท้องถิ่น อบจ.สงขลา เทศบาลนครสงขลา เทศบาลเมืองเขารูปช้าง พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานต่างๆ เช่น พมจ.จังหวัดสงขลา เครือข่ายชุมชนจังหวัดสงขลา และชาวชุมชนริมคลองสำโรงเข้าร่วมงานประมาณ 300 คน
วิถีคนคลองสำโรง
นายกรวิชญ์ มาระเสนา ผู้แทนเครือข่ายชุมชนริมคลองสำโรงสงขลา กล่าวว่า คลองสำโรงมีความยาวประมาณ 5 กิโลเมตรเศษ เชื่อมระหว่างทะเลสาบสงขลากับอ่าวไทย ในอดีตเป็นร่องน้ำใหญ่ เรือสินค้าสามารถแล่นผ่านได้ ปัจจุบันสภาพเปลี่ยนไป เพราะมีชุมชนต่างๆ ตั้งอยู่หนาแน่น ประกอบกับมีโรงงานอุตสาหกรรมเกี่ยวกับสัตว์น้ำหลายแห่งตั้งอยู่ คลองสำโรงจึงเป็นแหล่งรองรับน้ำเสีย จากเมืองสงขลา น้ำในคลองจึงเน่าเหม็น มีสีดำ มีสิ่งปลูกสร้าง เช่น บ้านเรือน เสาตอม่อสะพานขวางกั้นทางไหลของน้ำ มีวัชพืชในคลอง ทำให้น้ำไม่ไหลเวียน
จากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้น มีชุมชนตั้งอยู่ริมคลองสำโรงจำนวน 15 ชุมชน ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองเขารูปช้าง 6 ชุมชน และในเขตเทศบาลนครสงขลา 9 ชุมชน รวมประมาณ 584 ครัวเรือน ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป หาเช้ากินค่ำ และทำประมงพื้นบ้าน สภาพบ้านเรือนแออัด ทรุดโทรม บางหลังอยู่อาศัยกันถึง 15 คน คุณภาพพชีวิตไม่ดี น้ำประปา ไฟฟ้าไม่มี ต้องพ่วงจากข้างนอกเข้ามาใช้ ไม่มีทะเบียนบ้านถาวร ที่ดินส่วนใหญ่เป็นที่ดินราชพัสดุ
“ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ทำให้ชาวชุมชนริมคลองสำโรงอยากจะพัฒนาชุมชนให้ดีขึ้น อยากให้คลองสวย น้ำใส มีปลาเหมือนแต่ก่อน แต่ยังมีความกังวลบางเรื่อง เช่น เรื่องแนวเขตคลอง เรื่องการรื้อถอนบ้านเรือน รวมทั้งเรื่องการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งจะต้องร่วมกันทำทั้งเมืองสงขลา ต้องแก้ปัญหาที่ต้นตอ เพราะน้ำเสียไม่ใช่มาจากชุมชนอย่างเดียว แต่มาจากเมืองและโรงงานอุตสาหกรรม” ผู้แทนชาวชุมชนริมคลองสำโรงบอก
นอกจากนี้เขายังเสนอว่า แนวทางการพัฒนาชุมชนริมคลองสำโรงควรจะดำเนินการดังนี้ 1.สร้างพื้นที่ต้นแบบ ทั้งเรื่องที่อยู่อาศัย การพัฒนาสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิต 2.ชาวชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการออกแบบการพัฒนา การแก้ไขปัญหา เพราะชาวบ้านจะรู้ปัญหาของตัวเองดีที่สุด และ 3.พอช.ต้องบูรณาการทุกภาคส่วนเข้าร่วมทำงานด้วยกัน
นายเดอเล๊าะ ปอโด๊ะ ผู้นำชุมชนบาลาเซาะห์ เทศบาลนครสงขลา บอกว่า ชาวชุมชนส่วนใหญ่มีอาชีพประมงพื้นบ้าน วางอวนหาปลาในทะเล ส่วนใหญ่จะได้ปลาทู ปลาหลังเขียว ช่อนทะเล กระเบน ฯลฯ ขายให้พ่อค้า บางคนก็เอาไปขายเองที่ตลาดหรือหน้าบ้าน มีรายได้เป็นรายวัน ประมาณ 700-1,000 บาท พออยู่ได้ แต่ช่วงน้ำมันแพง และโควิดระบาดจะหากินยากหน่อย เพราะขายของลำบาก ช่วงนี้หลายคนต้องเปลี่ยนมาทำงานรับจ้างทั่วไป
“ส่วนเรื่องน้ำในคลองสำโรงเน่าเสียนี้มันเป็นมานานหลายปีแล้ว แต่ก็ยังไม่มีใครมาแก้ ชาวบ้านก็อยากให้แก้ทั้งระบบ ทั้งสายคลอง อยากให้ปรับปรุงแนวเขตริมคลองให้เป็นทางเดิน ทำเรื่องสิ่งแวดล้อม ปรับปรุงคลองให้สวยงาม ทำเรื่องบ้าน เพราะส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ สร้างมานาน ผุพังแล้ว ต่อไปก็อยากให้มีตลาดน้ำ มีเรือวิ่งไปมาในคลองด้วย” นายเดอเล๊าะบอก
จังหวัดสงขลาบรรจุแผนพัฒนาคลองสำโรงเป็นวาระเร่งด่วน
นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ในปี 2559 ตนเคยรับราชการที่จังหวัดสงขลา และเคยมาสำรวจสภาพปัญหาในคลองสำโรงแล้ว แต่ยังไม่มีโอกาสได้แก้ไขปัญหา เพราะต้องย้ายไปรับราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้นานหลายปี เมื่อปี 2564 ตนได้มารับตำแหน่งผู้ว่าฯ ที่สงขลา จึงได้ประสานงานกับกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ เพื่อแก้ไขข้อติดขัด และได้ประกาศเป็นวาระเร่งด่วนของจังหวัดสงขลาเพื่อแก้ไขปัญหาคลองสำโรง โดยให้รองผู้ว่าฯ มาดูแลงานโดยตรง ทำงานร่วมกับหน่วยงานในท้องถิ่น ทำเรื่องเร่งด่วนและเรื่องระยะยาว โดยจะมีการประชุมติดตามเรื่องนี้ทุกเดือน
“วันนี้เราต้องทำเรื่องนี้ให้สำเร็จให้ได้ โดยการบูรณาการกับกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ เรื่องสำคัญคือพี่น้องประชาชนที่เราจะต้องดูแลควบคู่ไปกับคลองสำโรงที่จะได้รับการฟื้นฟู โดยเราจะไม่ย้อนอดีต แต่เราจะเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ และจะทำให้ประสบความสำเร็จเหมือนกับที่คลองแม่ข่า (จ.เชียงใหม่) และคลองลาดพร้าว” ผวจ.สงขลาย้ำ
ผวจ.สงขลา กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้ ทีมงานของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมทั้งพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้กำชับมายังตนว่าขอให้ช่วยดูแลเรื่องการพัฒนาคลองสำโรงให้สำเร็จเหมือนกับการพัฒนาคลองแม่ข่าและคลองลาดพร้าว
ทั้งนี้จังหวัดสงขลาได้แต่งตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานแก้ไขปัญหาคลองสำโรงขึ้นมา 3 ชุด ประกอบด้วย 1.คณะกรรมการอำนวยการแก้ปัญหาคลองสำโรง 2.คณะกรรมการแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม และ 3.คณะทำงานจัดระเบียบและภูมิทัศน์ เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินและที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน โดยการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ ทั้งในท้องถิ่นและส่วนกลาง รวมทั้งภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ในปี 2564 องค์การจัดการน้ำเสีย กระทรวงมหาดไทย ได้จัดทำโครงการจัดการน้ำเสียในเขตเทศบาลนครสงขลา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสียก่อนไหลลงแหล่งน้ำสาธารณะ รวมทั้งคลองสำโรง โดยใช้งบประมาณจำนวน 656 ล้านบาทเศษ เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำเสียให้ดีขึ้น โดยการสร้างสถานีสูบน้ำเสีย วางระบบท่อน้ำเสีย ฯลฯ เพื่อเข้าสู่โรงบำบัด เริ่มโครงการตั้งแต่ 3 พฤศจิกายน 2564-15 ตุลาคม 2567
พม.– พอช.จับมือท้องถิ่นและชุมชนเดินหน้าพัฒนาคลอง-คน
การจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลก 2565 ภาคใต้ที่จังหวัดสงขลา “Kick off การออกแบบอนาคตคนริมคลองสำโรง คลองสวย น้ำใส ไร้ขยะ ชุมชนมีสุข” ในระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม-1 พฤศจิกายน มีสาระสำคัญคือ การลงนามบันทึกความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 25 องค์กร เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ พอช. จังหวัดสงขลา หน่วยงานในท้องถิ่น (อปท.) ภาคเอกชน ประชาสังคม และชาวชุมชน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการอยู่อาศัยของชุมชนริมคลองผู้มีรายได้น้อยให้มีความมั่นคง มีสิ่งแวดล้อมทางกายภาพและสังคมที่ดี โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน อันจะส่งผลต่อการพัฒนาสังคมโดยรวม
นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า การจัดงาน Kick off เพื่อพัฒนาคลองสำโรงในวันนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญของเมืองสงขลา รวมทั้งพี่น้องชาวคลองสำโรงที่จะได้เปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ทั้งด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย คุณภาพชีวิต สุขภาพ รวมทั้งเรื่องอาชีพ รายได้ ฯลฯ โดยมีหน่วยงานภาคีต่างๆ รวมทั้งภาคธุรกิจที่จะมาช่วยยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยชาวชุมชนริมคลองสำโรงมีส่วนร่วมเป็นสำคัญ
นายกฤษดา สมประสงค์ ผอ.พอช. กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมทั้งนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงเรื่องที่อยู่อาศัยของผู้ที่มีรายได้น้อย โดยเฉพาะเรื่องบ้าน เพราะเรื่องบ้านเป็นเรื่องสำคัญ หากเราไม่มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ชีวิตก็จะมีแต่ความกังวล
“วันนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาได้บรรจุเรื่องการพัฒนาและแก้ไขปัญหาขุมขนริมคลองสำโรงเป็นวาระเร่งด่วนของจังหวัด ที่ภาคเหนือ เรามีคลองแม่ข่า และที่กรุงเทพฯ เรามีคลองลาดพร้าวเป็นต้นแบบในการพัฒนา โดยมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาร่วมสนับสนุน ซึ่ง พอช.มีหน้าที่หลักในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของพี่น้องชุมชน โดย พอช.จะร่วมกับจังหวัดสงขลา และหน่วยงานในท้องถิ่น ดูแลพี่น้องให้มีบ้านที่มั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีอาชีพ กินอิ่ม นอนอุ่น ฝันดี เราจะก้าวไปพร้อมๆ กัน” ผอ.พอช. กล่าว
ทั้งนี้ภายในงานวันนี้ มีผู้แทนชุมชนริมคลองลาดพร้าว กรุงเทพฯ รวมทั้งอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ได้ร่วมแลกเปลี่ยนกับชาวชุมชนริมคลองสำโรง โดยนำเสนอประสบการณ์การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวที่มีปัญหาน้ำเน่าเสีย บ้านเรือนรุกล้ำคลอง สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม ฯลฯ โดยความร่วมมือร่วมใจของชาวคลองลาดพร้าว และการสนับสนุนของ พอช. และหน่วยงานภาคี นำไปสู่การพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตชาวชุมชนริมคลองลาดพร้าวสำเร็จแล้วกว่า 3,500 ครัวเรือน ใน 50 ชุมชน จากทั้งหมดกว่า 7,000 ครัวเรือน
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)