ตุ๊กตาหมี (และอื่นๆ) ที่ฉันชาบู!

ตุ๊กตาหมี (และอื่นๆ) ที่ฉันชาบู!

 

teddy_sum

คอลัมน์: ไทยจริต  เรื่อง: สุดารัตน์ สาโรจน์จิตติ  ภาพ: อมรรัตน์ กุลประยงค์  

1

ในช่วงเช้ามืด เป็นช่วงที่รังสีพระอาทิตย์ยังไม่สาดมากระทบพื้นอย่างจริงๆ จังๆ สนามของโรงเรียนจะมีนักเรียนวิ่งไปรอบๆ หากคุณเป็นคนภายนอกมองเข้ามาคงรู้สึกชื่นชมไม่น้อยว่า เด็กโรงเรียนนี้ขยันนะ ออกกำลังกายกันแต่เช้าเลย เป็นเรื่องน่ายินดีที่พวกเขาจะเป็นเด็กสุขภาพดี! ตัดภาพกลับมา ฉันหัวเราะ หึ หึ อยู่ในลำคอ และมีน้ำเสียงชั่วร้ายลอยเข้ามาในหัวว่า ก็ผลสอบออกมาในสมุดพกแล้ว ทำไมจะไม่วิ่งล่ะ

ฉันเป็นนักเรียนในโรงเรียนคริสต์แบบคาทอลิก หน้าโรงเรียนมีรูปปั้นพระแม่มารีและพระเยซูตั้งอยู่ การยืนอธิษฐานเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับการอาศัยอยู่ในสังคมอุดมความเชื่ออันแสนอบอุ่นด้วยแสงแห่งศรัทธาจากดวงอาทิตย์และอีกหลายสิ่งหลายอย่างเช่นประเทศไทย การแอบมีข้อตกลงแลกเปลี่ยนเล็กๆ น้อยๆ ในคำอธิษฐานเป็นเรื่องปกติธรรมดา ส่วนใหญ่การบนบานกับพระแม่หน้าโรงเรียนก็มีใจความไม่ต่างกันว่า ถ้าได้เกรดเท่านี้ จะวิ่ง 100 รอบสนาม และด้วยความเมตตา พระแม่จึงประทานให้ เด็กหลายๆ คนได้เกรดตามปรารถนา และยังได้สุขภาพดีเป็นของแถมอีกด้วย

ครั้งหนึ่งฉันเคยถามเพื่อนว่า ทำไมไม่ขอพระเยซู ท่านเป็นบุตรของพระเจ้านะ แต่พระแม่เป็นคนธรรมดาตามพระคัมภีร์  เพื่อนคนหนึ่งให้คำตอบที่ชัดเจนว่า “จริงอยู่ พระแม่เป็นคนธรรมดา แต่ก็เป็นคนที่อุ้มท้องและคลอดพระเยซูออกมานะ ถ้าแกขอพระแม่ แล้วพระแม่ไปบอกพระเยซู ให้ทำนั่นทำนี่ แกว่าพระเยซูจะไม่ทำให้เหรอ”

ก็จริง ถ้าพูดถึงระบบครอบครัวแล้ว เมื่อพ่อแม่บอกให้ทำอะไร เราแทบปฏิเสธไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงไม่แปลกที่พวงมาลัยกองท่วมอยู่แต่ตรงรูปปั้นพระแม่… ขอพระแม่คุ้มและชัวร์กว่านั่นเอง

2

นักเลงหัวไม้ในหนังไทยยุคเก่า (หรือแม้แต่ละครไทยยุคปัจจุบัน) ซึ่งมักมีพ่อ (ซึ่งเป็นเจ้าพ่อหรือผู้มีอิทธิพล) คอยสนับสนุนและตามแก้ไขปัญหาแม้ว่าลูกจะทำในสิ่งผิด สุดท้ายแล้วลูกจึงคิดว่า ไม่ว่าตนจะทำผิดร้ายแรงเพียงใด ก็มีพ่อคอยปกป้องคุ้มครอง เพราะพ่อคือผู้มีอำนาจสูงสุดตามความเชื่อของเขามาโดยตลอด แต่หากวันหนึ่งไม่มีพ่อแล้ว ลูกชายนักเลงหัวไม้ผู้นั้นจะดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างไร ในหนังหรือละครอาจเขียนบทให้ตัวละครกลับตัวกลับใจได้ เปลี่ยนไปเป็นคนใหม่ที่ดีขึ้น  แต่ในชีวิตจริงล่ะ?

ในหนังเรื่องเดียวกัน เราจะได้เห็นตัวละครอื่นๆ ที่เป็นชาวบ้านจนๆ ผู้เป็นตัวประกอบตลกๆ คอยมาเคาะประตูบ้านเพื่อขอให้คนที่พวกเขาเชื่อว่าสามารถช่วยเหลือปัดเป่าความเดือนร้อนให้หมดไปได้ ปรากฎอยู่ประปราย ได้เจ้าพ่อดีมีเมตตาก็ดีไป แต่จับผลัดจับพลู เจอเจ้าพ่อตัวโกง มีหวังได้วิ่งไปซบบ่าพระเอกอีกตามสูตร

ลงทุนสร้างกี่เรื่องต่อกี่เรื่อง พล็อตก็ออกมาอีหรอบนี้ คำถามคือเพราะอะไร ตอบแบบง่ายๆ ไม่ต้องคิดมาก หากเราเชื่อคำกล่าว ดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัว สังคมแบบไหนที่ปล่อยให้ผู้คนหมดจินตนาการถึงการลืมตาอ้าปาก จนสิ่งเดียวที่ทำได้ ก็คือการอ้อนวอนร้องขอจากสิ่งที่คิดว่าทรงอิทธิพลในชีวิต

3

หลังจากนึกย้อนถึงการแก้บนพระแม่ที่สนามหน้าโรงเรียนและประวัติศาสตร์เล็กๆ น้อยๆ ที่เคยเรียนมาแล้ว  สถานการณ์ใหม่ที่ฉัน (และผู้คนในสังคม) ต้องเผชิญหน้าในวันนี้ก็คือ ตุ๊กตาที่ฉันเชื่อว่าใครหลายคนเคยกลัวสมัยเด็กๆ โดยที่ยังไม่ต้องบวกความเป็นเทพและพลังงานบางอย่างที่มองไม่เห็น ได้กลายร่างมาเป็นตุ๊กตาเทพ หรือลูกเทพ แต่งกายด้วยผ้าขาวและผ้าหลากสี หน้าผากของตุ๊กตาถูกแต้มเจิมด้วยยันต์ มีการยกขึ้นหิ้งบูชาและพาติดตัวไปยังที่ไหนๆ ว่ากันว่า อุ้มแล้วจะรวย เทพคุ้มครอง ทำมาค้าขึ้น ฯลฯ

นั่นทำให้ฉันนึกถึงตุ๊กตาตัวหนึ่งซึ่งฉันเคยมี ตุ๊กตาหมีสีน้ำตาลเหมือนที่เด็กผู้หญิงทั่วไปเขามีกัน ความพิเศษก็คือมันอยู่กับฉันตั้งแต่เด็กจนโต แม่เล่าให้ฟังว่า ตอนนั้นเราไปห้างสรรพสินค้า ฉันอายุหนึ่งขวบ ยังเด็กมาก ส่วนพี่ชายอายุมากกว่าฉันสี่ปี พ่อกับแม่จึงให้เขาเลือกของเล่นได้ชิ้นหนึ่ง ระหว่างเดินท่ามกลางชั้นของเล่นและตุ๊กตาที่วางเรียงราย มือฉันก็ไปดึงเอาตุ๊กตาหมีตัวนั้นมา เป็นอันว่าพ่อกับแม่จำใจซื้อให้โดยปริยาย

หลายปีต่อมาฉันยังคงนอนกอดและเล่นกับมันทุกวัน บางครั้งการฝ่าความมืดภายในบ้านไปเข้าห้องน้ำยามดึกก็น่ากลัวน้อยลง เมื่อฉันลากเจ้าหมีตัวนี้ไปด้วย ฉันคิดเอาเองว่าบางทีเจ้าหมีอาจรู้สึกว่า จะลากมันไปทำไม แต่แล้วมันก็ไปเป็นเพื่อนฉันทุกครั้ง ในที่สุดสภาพของมันก็โทรมเอาเรื่อง แม่เลยจะเอาไปทิ้ง แต่ฉันไม่ยอม ถึงขนาดไปรื้อถุงของที่เตรียมนำไปบริจาคทุกถุง เพื่อช่วยชีวิตตุ๊กตาหมีสีน้ำตาลของฉัน เอามันกลับคืนมา ตุ๊กตาตัวอื่นฉันสามารถทิ้งได้ แต่ไม่ใช่ตัวนี้

4

ล่าสุด ฉันมีโอกาสได้อ่านหนังสือจิตวิทยาเล่มหนึ่งที่คว้ามาจากงานสัปดาห์หนังสือ เนื้อหาในนั้นพูดถึงลำดับขั้นตอนความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ คล้ายๆ กับปัจจัย 4 แต่มีอยู่ 5 อย่าง คือความต้องการด้านร่างกาย ความปลอดภัย ความรัก และการเป็นเจ้าของ การยอมรับนับถือ และการเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง

อับราฮัม มาสโลว์ กล่าวว่า “ความต้องการความปลอดภัยนี้สังเกตได้ง่ายในทารกและเด็กเล็ก เนื่องจากต้องการความช่วยเหลือและพึ่งพาผู้อื่น ตัวอย่าง ทารกจะรู้สึกกลัวเมื่อถูกทิ้งให้อยู่ตามลำพังหรือเมื่อเขาได้ยินเสียงดังๆ หรือเห็นแสงสว่างมากๆ แต่ประสบการณ์และการเรียนรู้จะทำให้ความรู้สึกกลัวหมดไป ดังคำพูดที่ว่า

“ฉันไม่กลัวเสียงฟ้าร้องและฟ้าแลบอีกต่อไปแล้ว เพราะฉันรู้ธรรมชาติในการเกิดของมัน”

ฟังดูแล้วก็คล้ายๆ กับฉันตอนเด็กที่ต้องลากจูงตุ๊กตาหมีไปไหนต่อไหน อาจด้วยสภาพแวดล้อม การปลูกฝัง วิถีการดำเนินชีวิต หรืออาจเป็นเพียงแค่ภาวะของความไม่มั่นคงทางจิตใจ ต้องการที่พึ่งอย่างรุนแรง แม้พ่อแม่จะปลูกฝังความเชื่อชนิดที่ว่า ไม่ต้องกลัวหรือกังวล หากล้มลงวันใด พ่อแม่จะคอยประคองลูกอยู่ แต่นั่นอาจเป็นสิ่งที่ฉันไม่ค่อยได้นึกถึงสักเท่าไหร่

ดังนั้น เมื่อความมั่นคงของฉันถูกผูกติดกับตุ๊กตาหมีสีน้ำตาลแล้ว คงไม่ใช่เรื่องแปลก หากฉันจะหอบหิ้วมันไปทำงานด้วย หรือแม้กระทั่งในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญหน้ากับความกลัว เช่น การเล่นบันจี้จัมพ์ทั้งๆ ที่กลัวความสูง ก็อาจผ่อนคลายได้มากขึ้น หากหนีบตุ๊กตาหมีติดไว้กับตัวแล้วกระโดดลงไป

5

หากฉันมีประสบการณ์ รู้และเข้าใจอะไรมากกว่านี้ สิ่งที่ฉันทำได้ในเวลาบ้านมืดก็คือการเปิดไฟ ใช้ไฟฉายหรือจุดเทียนเพื่อขับไล่ความกลัว เหนือไปกว่านั้น ถ้าทำได้ ฉันอาจจะอยู่เป็นเพื่อนคนที่ยังกลัวความมืด ไปยืนหน้าห้องน้ำด้วยเป็นครั้งคราว

เวลานั้นฉันอาจไม่ต้องพึ่งตุ๊กตาหมีตลอดเวลา และปล่อยให้มันได้นอนพักจากวันที่เหน็ดเหนื่อยบ้าง เพราะที่ผ่านมามันก็เป็นตุ๊กตาที่คอยทำตามคำร้องขอของฉันมาโดยตลอด ซึ่งบางทีก็ดูจะมากเกินไปแล้วสำหรับการเป็นแค่ตุ๊กตาหมีตัวหนึ่ง

 

author

เรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง related posts

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ