รุมทึ้ง“หนองแด”ลมหายใจพื้นที่ชุ่มน้ำอุดรฯ

รุมทึ้ง“หนองแด”ลมหายใจพื้นที่ชุ่มน้ำอุดรฯ

รื่อง : ภัทราภรณ์ ศรีทองแท้

นับเฉพาะ“อุดรธานี” มีพื้นที่ชุ่มน้ำตามทะเบียนทั้งสิ้น 924 แห่ง รวมพื้นที่ 2,005.461 ตารางกิโลเมตร ปริมาตรความจุรวมทุกพื้นที่ 217,402,764 ลบ.ม. จากพื้นที่ชุ่มน้ำทั้งหมดของประเทศ มีประมาณ 22,885,100 ไร่ หรือเท่ากับร้อยละ6.75 ของพื้นที่ประเทศไทย 

แล้งนี้ สำหรับคนอุดรฯ จึงเป็นการขาดแคลนน้ำบางช่วงเวลา บางพื้นที่เท่านั้น 

โดยเฉพาะพื้นที่ชุ่มน้ำ “หนองแด” ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับท้องถิ่นลำดับที่ 38 ของอ.เมือง จ.อุดรธานี หล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรมและการอุปโภคบริโภคของชาวบ้าน 4 หมู่บ้าน 

20161503170049.jpg
 
“Backpack Journalist” ลงพื้นที่สำรวจบริเวณโดยรอบพื้นที่ชุ่มน้ำหนองแด พบว่า “หนองแด”เป็นพื้นที่ทำเลทองซึ่งมีพื้นที่ติดกับถนนมิตรภาพ ทางหลวงหมายเลข 2 อุดรธานี-หนองคาย มีสภาพเป็นแอ่งน้ำแก้มลิงธรรมชาติรองรับน้ำจากทางด้านทิศเหนือของตัวเมืองอุดรธานี ก่อนไหลผ่านลำน้ำห้วยหลวงบริเวณฝายน้ำล้น ลักษณะทางกายภาพของหนองแดเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ระดับน้ำสูงเพียง 1 เมตรเศษ เป็นแหล่งน้ำดิบใช้ในการผลิตน้ำประปา 3 สถานี ได้แก่ สถานีบ้านโคกก่อง แจกจ่ายให้บ้านโคกก่อง บ้านดอนหวาย  สถานีบ้านดงสะพัง แจกจ่ายให้บ้านดงสะพังและบ้านดงเจริญและสถานีวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี เพื่อนำไปใช้ในการบริโภค

 
สภาพพื้นที่ “หนองแด”บางส่วนถูกถมแปรสภาพ และมีร่องรอยของการขุดผิวดินเป็นระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร เนื้อที่ของหนองแดซึ่งมีเนื้อที่ 938 ไร่ จะเหลือเนื้อที่จริงอยู่เท่าใด เป็นประเด็นที่น่าสงสัยอยู่ไม่น้อย

 20161503170233.jpg
สมเกียรติ เหล่าประเสริฐ ชาวบ้าน ต.กุดสระ อ.เมือง จ.อุดรธานี กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้พื้นที่หนองแดเปลี่ยนแปลงไปว่า สาเหตุหลักมาจากการถมที่เพื่อพัฒนาของจังหวัดปิดกั้นทางน้ำที่ริมถนนอุดรฯ-หนองคาย ซึ่งพื้นที่หนองแดมีหน่วยงานรายการขอให้พื้นที่เพื่อตั้งสำนักงาน เช่น วิทยาลัยการปกครอง จำนวน100 ไร่ ,การท่องเที่ยวและกีฬา จำนวน 400 ไร่ แต่ละหน่วยงานขอกันพื้นที่เพื่อรองรับงบประมาณมาดำเนินการก่อสร้าง และยังมีโครงการเม็กโปรเจคของทางจังหวัดที่ได้ลงพื้นที่ประชาคมตามโครงการที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้จัดทำขึ้นตามโครงการแผนพัฒนาจังหวัดเพื่อรองรับประชาคมอาเซียน  นอกจากนี้ยังมีปัญหาการบุกรุกที่ดินจากผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ โดยออกหลักฐานการถือครองที่ดินให้ถูกต้องและนำไปขายต่อให้กับเอกชนอีกหลายทอด 

 

ขณะที่พ.ต.อ.ประจวบ ขุลีดี  ชาวบ้านต.กุดสระ อ.เมือง จ.อุดรธานี กล่าวว่า การบุกรุกที่ดินจากผู้มีอิทธิพลส่งผลกระทบต่อปริมาณในแหล่งน้ำหนองแด ประกอบกับสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ที่มาเร็วกว่าทุกปีส่งผลให้ปริมาณน้ำในพื้นที่ชุ่มน้ำหนองแดลดลงอย่างรวดเร็ว คาดว่าในช่วงเดือนเมษายนนี้น้ำในหนองแดนี้จะแห้งขอด เพราะขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณแล้วว่าแหล่งน้ำสำหรับผลิตประปาใกล้หมดแล้วชาวบ้าน 1,000 กว่าครัวเรือนอาจได้รับผลกระทบหลังจากนี้
 

20161503170129.jpg
ทั้งนี้ หากพิจารณาตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 เห็นชอบมาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญ เช่น ประกาศกำหนดให้พื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นที่สาธารณะทุกแห่งทั่วประเทศโดยเฉพาะพื้นที่ชุ่มน้ำแหล่งน้ำจืดเป็นพื้นที่สีเขียวและมิให้ส่วนราชการเข้าไปใช้ประโยชน์เพื่อสงวนไว้เป็นแหล่งรองรับน้ำและกักเก็บน้ำต่อไป

นอกจากนี้ยังให้มีการติดตาม ตรวจสอบและดำรงรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำตามทะเบียนรายนามพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับท้องถิ่นเพื่อสงวนไว้เป็นแหล่งรองรับน้ำตามธรรมชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ชุ่มน้ำที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งน้ำสาธารณะประโยชน์ ตลอดจนควบคุมและป้องกันการบุกรุกเข้าใช้ประโยชน์ที่จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์

ดังนั้นการขอใช้ประโยชน์จากพื้นที่ดังกล่าวของส่วนราชการอาจจะขัดต่อมติครม.หรือไม่

ขณะที่กลไกที่ใช้คุ้มครองและอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งมีเพียงมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 อาจยังไม่เพียงพอต่อการคุ้มครองพื้นที่ชุ่มน้ำ ในสถานการณ์ที่มีการแย่งชิงพื้นที่เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว 

 

ติดตามในรายการBackpack journalist ตอน พื้นที่ชุ่มน้ำ(แล้ง)

วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม 2559 เวลา 13.00 น. และรีรันวันศุกร์ที่ 18 มีนาคม 2559 เวลา7.30 น.ทางไทยพีบีเอส

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ