ภาคประชาสังคมในภูมิภาคอาเซียนร่วมจัดงานสัปดาห์สิ่งแวดล้อมแม่โขง-อาเซียน ในคอนเสปต์ “ก้าวผ่านกระดาน เกมแมวจับหนู” เพื่อเปิดพื้นที่ให้เครือข่ายประชาชนและชาวบ้าน ร่วมแลกเปลี่ยนปัญหา ขยายความร่วมมือในการทำงาน และแก้ปัญหาร่วมกันแบบข้ามพรมแดน
กลุ่มภาคประชาสังคมในภูมิภาคอาเซียนหลากหลายองค์กรได้ร่วมกันจัดงานและเปิดงานสัปดาห์สิ่งแวดล้อมแม่โขง-อาเซียน (Mekong-ASEAN Environmental Week) 2022 หรือเรียกสั้น ๆ ว่างานแมว (MAEW) ณ สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน กรุงเพทฯ ในคอนเสปต์ “ก้าวผ่านกระดาน เกมแมวจับหนู” เมื่อวันที่ 22-24 กันยายน
ทีมโปรเจกต์เสวนา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ข้อมูลว่า งาน MAEW 2022 จัดขึ้นเพื่อหวังเป็นพื้นที่แสดงออกเรื่องสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคแม่น้ำโขงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง มีเป้าหมายเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนและแสวงหาทางออกร่วมกันระหว่างประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ทั้งเครือข่ายภาคประชาสังคม คนรุ่นใหม่ และสื่อในภูมิภาค เพื่อขับเคลื่อนในประเด็นที่เกิดขึ้นทั้งใหม่และเก่า เช่น ปัญหาที่ดิน เขื่อน พลังงาน โครงการขุดเจาะต่าง ๆ การลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐ ความมั่นคงทางอาหาร สิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฯลฯ
เปรมฤดี ดาวเรือง โปรเจกต์เสวนา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เล่าว่า งาน MAEWครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกันนับตั้งแต่ปี 2562 ในปีนี้มีนักกิจกรรม มีตัวแทนชุมชน ในแต่ละภูมิภาคเดินทางมารวมตัวกันที่กรุงเทพฯ จำนวน 50 กว่าคน มากที่สุดคือเครือข่ายจากประเทศกัมพูชา
เปรมฤดี เสริมว่า พื้นที่ของงานแมวเป็นพื้นที่เปิดสำหรับกลุ่มคนตัวเล็กตัวน้อย ซึ่งหมายถึงประชาชนกลุ่มในเมืองเเละชนบทที่ได้รับผลกระทบจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่จากของภาครัฐและเอกชน หรือจากประเด็นทางเศรษฐกิจ สังคม ซึ่งเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน จึงอยากเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้มาพูดในงานแมว โดยที่เครือข่ายประชาชนและชาวบ้านมีส่วนร่วมเสนอประเด็นที่ต้องการสื่อสาร
“ปีนี้เราคุยประเด็นเด่น ๆ หลายอย่าง เช่น ประเด็นเรื่องเขื่อนขนาดใหญ่ ประเด็นพลังงาน การสร้างเขื่อนใหญ่จำนวนมาก ประเด็นฝุ่นควันข้ามพรมแดน ประเด็นวิกฤตสภาพภูมิอากาศ รวมถึงฐานรากเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปมากมายหลังโควิด-19 คำถามคือ ชาวนา ชาวไร่ มากมาย คนตัวเล็กตัวน้อยจะอยู่กันอย่างไร เราจึงเชิญชวนให้คนหลากหลายกลุ่มในแต่ละประเทศมาคุยกัน เพราะคิดว่าทุกครั้งที่เรามารวมตัวกัน จะได้สื่อสารประเด็นไปยังสาธารณะอย่างมีพลัง และเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการภาคประชาชน” เปรมฤดี ระบุ
นอกจากนี้ เวที MAEW 2022 ยังสะท้อนถึงชุมชนและประชาชนแต่ละพื้นที่ ว่าอยู่ห่วงโซ่ไหนของสิ่งแวดล้อมทั้งในฐานะ “ผู้รับผลประโยชน์” และ “เหยื่อ” ในกิจกรรมด้านทรัพยากรและสิ่งเเวดล้อมในภูมิภาค ซึ่งเครือข่ายมารวมตัวกันด้วยความเชื่อมั่นว่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลายสามารถลงมือทำเพื่อสิ่งที่ดีกว่านี้กับสิ่งแวดล้อม
อุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกและหนึ่งในผู้เข้าร่วมงาน กล่าวว่า ชาวไร่ ชาวนา ไม่สามารถที่จะอยู่อย่างโดเดี่ยวได้ มีความจำเป็นที่ต้องเชื่อมโยงกับส่วนอื่น ๆ ของสังคม ทั้งผู้บริโภคในเมือง องค์กรท้องถิ่น นักวิชาการ เพื่อส่งเสริมให้การเคลื่อนไหวประเด็นมีพลัง มีคนอื่นที่เข้าใจปัญหาเกษตรกรมากขึ้น จนเกิดภาคี เกิดความร่วมมือกับส่วนอื่น ๆ ในสังคม และทำให้ปัญหาถูกนำไปแก้ไขในกลไกของอำนาจและนโยบายรัฐต่อไป
“สถานการณ์ปัจจุบันชาวนาไทยส่วนใหญ่เข้าสู่สูงวัย ประกอบกับขีดความสามารถการพัฒนาที่แข่งขันไม่ได้ พอเจอแบบแผนการผลิตที่เปลี่ยนไป ต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้เราแข่งขันกับเกษตรกรในเพื่อนบ้านไม่ได้ เพราะการจะพัฒนานวัตกรรม การสร้างโอกาสที่จะแสวงหาทางออก ในฐานะชาวนารายย่อย เราเติบโตไม่ทัน รัฐก็พัฒนาไม่ทันทั้งที่รัฐก็ทำงานกับทุนใหญ่ อันนี้เป็นข้อจำกัดของประเทศเรา” อุบล กล่าว
นอกจากนี้ โปรเจกต์เสวนา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังระบุว่า เวทีงานแมว เปรียบเหมือนตลาดนัดแลกเปลี่ยนความรู้ และเป็นพื้นที่เป็นกระบอกเสียงให้คนตัวเล็กตัวน้อย ที่ประสบปัญหา เข้ามามีปากมีเสียงในการบอกเล่าประเด็นที่พื้นที่ตนเองประสบพบเจอ ก็เพื่อเชื่อมต่อเรื่องราวและหาทางออกร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม
พร้อมให้ข้อมูลว่า หลังจากสิ้นสุดสัปดาห์สิ่งแวดล้อมแม่โขง – อาเซียน 2022 เครือข่ายและชาวบ้านที่มาร่วมงานกัน มีเเนวคิดจะรวมตัวกันจำนวนมากขึ้น มีแผนทำงานร่วมกันข้ามพรมเเดน เพื่อพัฒนาเป็นขบวนการภูมิภาค เเละพัฒนาเป็นข้อเสนอต่าง ๆ ออกมาสู่สาธารณะต่อไป
000
หมุด C-Site http://หมุด C-Site https://www.csitereport.com/newsdetail?id=0000026904