ห่มผ้าเจดีย์เขาน้อย – บวชป่า รักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์แห่งคาบสมุทรสทิงพระ

ห่มผ้าเจดีย์เขาน้อย – บวชป่า รักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์แห่งคาบสมุทรสทิงพระ

“พิธีห่มผ้าพระบรมธาตุเจดีย์เขาน้อย ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ทำร่วมกันมากว่า 11 ปี แต่สำหรับครั้งนี้เป็นโอกาสพิเศษ ในการร่วมกันดูแล อนุรักษ์พื้นที่ และเป็นนิมิตรหมายที่ดีให้ชาวบ้าน

พีระเนตร บุญณะสิทธิ ประธานชุมชนบ้านสวนจันทร์ ต.หัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา
ประเพณีแห่ผ้าพระบรมธาตุเจดีย์เขาน้อย ต.หัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา

เราเดินทางไปร่วมงานบุญประเพณีห่มผ้าพระบรมธาตุเจดีย์เขาน้อย หลังทราบว่าจะมีประเพณีสำคัญของชุมชน ครั้งนี้เรานัดหมาย “พี่เนตร” พีระเนตร บุญณะสิทธิ์ ประธานชุมชนบ้านสวนจันทร์ ต.หัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา  ที่วัดเขาน้อย  อำเภอสิงหนคร  จ.สงขลา พี่เนตรบอกกับเราว่า

“ปกติการห่มผ้าเจดีย์เขาน้อยจะจัดขึ้นเพียงปีละครั้งเท่านั้น ในช่วงวันสงกรานต์ หรือ วันปีใหม่ไทย  ที่ลูกหลานกลับมาบ้านจะมารวมตัวทำบุญกันที่วัด  แต่ปีนี้พิเศษห่มผ้าเจดีย์เขาน้อยพร้อมกับการบวชต้นไม้กว่าร้อยต้นที่อยู่รอบๆ  เพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีของเมืองสงขลาที่เคยรุ่งเรืองและช่วยกันรักษาดูแลสิ่งแวดล้อมรอบๆ พื้นที่ประวัติศาสตร์ แห่งนี้”

ขบวนแห่ผ้าเริ่มที่บริเวณด้านหน้าของโบสถ์วัดเขาน้อย พร้อมด้วยคณะรำวงจากกลุ่มแม่บ้านคอยสร้างความคึกคักตลอดการเดินขบวนขึ้นเจดีย์เขาน้อย  400 เมตร    

สำหรับโบราณสถานบนยอดภูเขาน้อย หรือพระเจดีย์เขาน้อย เป็นเจดีย์ไม่เจือปูนการเรียงอิฐเป็นแบบไม่มีระบบเป็นแบบช่างสมัยศรีวิชัยพุทธศตวรรษที่13 -18 ปัจจุบันเหลือร่องรอยส่วนฐานของสถูปซึ่งมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยม ขนาดกว้างประมาณ ๒๐เมตร ยาวประมาณ  20  เมตรบริเวณฐานทำเป็นซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป สถูปบนเขาน้อยปรากฏร่องรอยการก่อสร้างหลายสมัย สันนิษฐานว่าเดิมน่าจะสร้างขึ้นตามรูปแบบศิลปกรรมแบบศรีวิชัยและทวารวดี ต่อมาจึงต่อเติมและแก้ไขเป็นศิลปกรรมแบบอยุธยา

ปัจจุบันทางกรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานเขาแดง – เขาน้อย และโบราณสถานโดยรอบ กว่า 33 แห่ง พื้นที่ประมาณ 2,460 ไร่ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535  ครอบคลุม 8 หมู่บ้าน 11 ชุมชน ที่นี่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีการไปมาหาสู่ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ อยู่บ่อยครั้ง

ในอดีตที่นี่เป็นสถานีการค้านานาชาติที่มีความรุ่งเรืองมีปรากฎชื่อเรียกเมืองสงขลาในบันทึกต่างชาติหลายฉบับ ทั้ง ซิงกูร์ ซิงฆอรา สิงหลา สิงขร ชื่อสอดคล้องกับภูมิศาสตร์ของเมืองสงขลาที่เป็นภูเขาและเป็นเมืองท่าการค้ากับนานาประเทศ ซึ่งเรียกชื่อเมือง ซิงฆอรา และชุมชนหัวเขาเป็นชุมชนดั้งเดิม ปรากฏในหลักฐานของ De Lamar วิศวกรชาวฝรั่งเศสปี พ.ศ. 2230 ที่เคยมาวาดแผนที่ชุมชนฝั่งหัวเขาไว้สองพื้นที่ คือ ที่บ้านหัวเขา กับบ้านบ่อเก๋ง และมีการสร้างบ้านเรือนขนานเลียบชายฝั่งทะเลสาบสงขลา กระจายตามหมู่บ้านล้อมรอบเขาแดง เขาหัวเขา

ปัจจุบัน ชุมชนมีความพยายามจัดการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ หรือเสนทางศึกษา วัด โบราณสถาน ป้อมปราการ แนวกำแพงโบราณและเจดีย์ จากคนรุ่นใหม่ในพื้นที่เริ่มขยับบทบาทการเป็นมัคคุเทศน์ อาสาพาไปเรียนรู้ ศึกษา แหล่งชุมชนมากขึ้น

เอกพล ฤทธิ์โต มัคคุเทศก์ชุมชนตำบลหัวเขา

เอกพล ฤทธิ์โต มัคคุเทศก์ชุมชนตำบลหัวเขา เล่าว่า ชุมชนเริ่มจัดการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ลักษณะ One Day Trip  มีชาวบ้านในชุมชนทำหน้าที่เป็นไกด์พานักท่องเที่ยวเรียนรู้แหล่งโบราณสถานตามจุดต่าง ๆ ที่กระจายอยู่ทุกหมู่บ้านในตำบลหัวเขา เนื่องจากนักท่องเที่ยวสายอนุรักษ์โบราณสถานมีมากขึ้น และเมื่อมีการท่องเที่ยว เขาจะเห็นความสำคัญขายของเขาเอง

ค้นพบว่าการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์คือ สิ่งที่เรารัก

“เดิมจากทำประมงอย่างเดียว แล้วหันมามองบนฝั่ง ซึ่งมีโบราณสถานจำนวนมาก และเริ่มศึกษาแล้วต่อยอดจุดที่เห็นมาเป็นการท่องเที่ยว เมื่อเราสามารถพาเที่ยว เราสามารถมีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้  จากการสำรวจพบว่าวัดที่ไม่ว่าจะเป็นวัดร้างหรือเจดีย์เขาน้อย หรือเจดีย์องค์ขาวองค์ดำ จุดนี้เป็นจุดที่จะพานักศึกษาไปศึกษาเรียนรู้ได้ เวลามีคนมาเที่ยวจะไปตามจุด 1-10 จุด ทั้งมัสยิด สุสาน และวัด  เป็นพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนทำกิจกรรมและใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ ช่วยกันทำความสะอาด ถางหญ้า เพราะเขารู้สึกว่าใช้ร่วมกัน เพราะฉะนั้นเราต้องช่วยกันดูแล”

นอกจากกิจกรรมรูปแบบต่าง ๆ ที่จัดขึ้นเพื่อรักษาประวัติศาสตร์ และแหล่งโบราณสถาน ชุมชนนี้ยังร่วมกันปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อม โซนพื้นที่ชายฝั่งทะเล หนึ่งในนั้น คือ การฟื้นฟูและเปิดโอกาสทางการศึกษาระบบนิเวศ ผ่านกิจกรรม “ปลูกป่าชายเลน”

ยุทธนา จิตต์โต๊ะหลำ ประธานชุมชนบ้านนอก ต.หัวเขา

“เวลามีนักศึกษาปลูกป่าชายเลน ผมก็จะพาไปดูโบราณสถานต่าง ๆ ในพื้นที่ตำบลหัวเขา ตรงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนรู้จักขึ้นมา”  

แบอี ยุทธนา จิตต์โต๊ะหลำ ประธานชุมชนบ้านนอก  ต.หัวเขา เล่าให้เราฟังเพิ่มเติมว่า “เรามีตัวอย่างการปลูกป่าชายเลน จากกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ที่ประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง และได้ออกมาร่วมฟื้นป่าชายเลนขึ้นมา เพื่อเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือสร้างป่าจากพื้นที่เล็ก ๆ 1 ไร่ จนตอนนี้ขยายไปจนถึง 79 ไร่ และมีกลุ่มเข้ามาเรียนรู้มากมาย การเปิดให้เยาวชนและคนรุ่นใหม่เข้ามาเรียนรู้ นอกจากช่วยสร้างแรงบันดาลใจและเชื่อว่า ในอนาคตพวกเขาเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการดูแลพื้นที่สำคัญแห่งนี้ร่วมกันได้ แบอีกล่าวทิ้งท้ายกับเรา

author

เรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง related posts

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ