เครือข่ายฯลุ่มน้ำอีสานแถลงการณ์ “30 ปี โขง ชี มูน” จี้รัฐแก้ไขปัญหาเก่า และย้ำไม่เอาผันน้ำโขง เลย ชี มูน

เครือข่ายฯลุ่มน้ำอีสานแถลงการณ์ “30 ปี โขง ชี มูน” จี้รัฐแก้ไขปัญหาเก่า และย้ำไม่เอาผันน้ำโขง เลย ชี มูน

นักศึกษาร่วมสู้เคียงชาวบ้านทวงคืนธรรมชาติ-ตะเพิดเขื่อนออกไป อ่านแถลงการณ์บนเขื่อนราษีไศล-พุ่งจรวดส่งข้อความถึงรัฐบาล-ไม่เอาโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่

เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2565 ที่บริเวณหน้าสำนักงานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูนล่าง เขื่อนราษีไศล อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ชาวบ้านจากเครือข่ายต่าง ๆ ภาคประชาชน อาทิ เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำ ภาคอีสาน เครือข่ายนักวิชาการนิสิตนักศึกษาภาคอีสาน เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชี จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม(ดาวดิน) กว่า 200 คน ได้เดินทางมาจัดกิจกรรมอ่านแถลงการณ์ “30 ปี โขง ชี มูน ปัญหาเก่าต้องแก้ไขให้เสร็จ ไม่เอาผันน้ำโขง เลย ชี มูน”

ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 12-13 กันยายน 2565 ที่สมาคมคนทาม ริมเขื่อนราษีไศล ได้มีการจัดงาน “ 3 ทศวรรษโขง ชี มูน บทเรียนการจัดการน้ำขนาดใหญ่ของรัฐที่ล้มเหลว” โดยได้มีการวิพากษ์วิจารณ์โครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ของรัฐเพื่อนำไปสู่บทเรียนและคัดค้านโครงการในลักษณะดังกล่าว ซึ่งมีชาวบ้าน นักวิชาการ นักศึกษา นักพัฒนาและสื่อมวลชนเข้าร่วม

ตัวแทนชาวบ้านได้อ่านแถลงการณ์ว่า “โขง ชี มูน” เป็นโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ของรัฐบาลไทยเมื่อ 30 ปีก่อน ที่พยายามนำเสนอภาพฝันของการขจัดปัญหาความแห้งแล้งในภาคอีสานแบบถาวร โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความแห้งแล้งในพื้นที่สำคัญอย่างลุ่มน้ำชี-ลุ่มน้ำมูน แต่เวลาที่ล่วงเลยมาถึงปัจจุบันโครงการนี้กลับถูกประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ โขง ชี มูน  นักวิชาการและประชาชนทั่วไป  วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ถึงปัญหาการบริหารจัดการน้ำที่ล้มเหลวของรัฐและความไม่คุ้มค่ากับการลงทุนในหลากหลายมิติ

แถลงการณ์ระบุว่า บทเรียนกรณีเขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา แม่น้ำมูน เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร แม่น้ำชี  จากวันนั้นจวบจนวันนี้ภาพฝันกับความจริงกลับไม่เป็นไปตามที่ผู้มีอำนาจกล่าวอ้างไว้ เพราะการรวมศูนย์อำนาจการจัดการน้ำ และอำนาจการตัดสินใจทางนโยบายถูกกำหนดอยู่ภายใต้ผู้มีอำนาจที่ไม่ได้เข้าใจภูมินิเวศ  ประชาชนไม่มีส่วนร่วม  ทุกพื้นที่ที่มีการดำเนินโครงการประชาชนกลับได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน เช่น การถูกอพยพโยกย้ายออกจากถิ่นฐานบ้านเกิด การสูญเสียที่ดินทำกิน น้ำท่วมขังพื้นที่ทำการเกษตรยาวนาน การสูญเสียอาชีพประมงพื้นบ้าน การพังทลายของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะการหายไปของพันธุ์ปลา พันธุ์พืชท้องถิ่น ดินเค็มแพร่กระจาย ผลกระทบที่เกิดยังทำลายโครงสร้างทางชุมชน ตลอดจนยังทำลายระบบสิทธิการจัดการทรัพยากรแบบดั้งเดิม ปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นได้สร้างความขมขื่นต่อประชาชนลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูนกันอย่างถ้วนหน้า

แถลงการณ์ระบุว่า กระบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิจึงเป็นหน้าที่ของประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายโครงการ โขง ชี มูน รวมทั้งนักวิชาการ นิสิตนักศึกษา คนรุ่นใหม่ ประชาชนทั่วไป ที่ได้ออกมาเปล่งเสียงเรียกร้องให้รัฐเร่งแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ผ่านมาแล้วหลายรัฐบาลแต่สัญญาปากเปล่าของผู้มีอำนาจและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ได้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่จริงใจทั้งยังไร้ประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาของประชาชนอย่างแท้จริง

แถลงการณ์ได้ระบุข้อเสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า 1. ปลดปล่อย แม่น้ำชี แม่น้ำมูน แม่น้ำโขง ไหลเป็นอิสระ เอาระบบนิเวศคืนมา เอาเขื่อนออกไป 2. ให้รัฐประเมินความไม่คุ้มค่าของเขื่อนที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้โครงการโขง ชี มูน และเร่งรัดแก้ไขปัญหาเขื่อนให้เสร็จเป็นรูปธรรม 3. เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน จะร่วมกันทวงคืนสิทธิและอำนาจการจัดการทรัพยากรน้ำกลับคืนระบบนิเวศและชุมชน

ขณะที่ตัวแทนของกลุ่มนักศึกษาได้อ่านแถลงการณ์ว่า จากการที่เราได้มาลงพื้นที่ 2 วันนี้ได้เห็นน้ำตาและน้ำเสียงที่สั่นเครือของพี่น้อง ได้สัมผัสถึงความคือทุกข์ยากและการไม่ยอมจำนนต่อโยบายขอรัฐที่ไม่คำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก โดยพบว่า สิ่งที่พี่น้องพบเจอกับการจัดการน้ำของรัฐ คือ 1. พี่น้องประชาชนถูกละเมิดสิทธิจากนโยบายการจัดการน้ำขนาดใหญ่ที่รวมศูนย์อำนาจ 2.รัฐไม่ใส่ใจถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนนี้ 3.วิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนก่อนสร้างเขื่อนนั้นหายไป การสร้างเขื่อนไม่ได้ทำชีวิตของพวกเขาดีขึ้น แต่กลับกลายเป็นแย่ลงกว่าเดิม

“พวกเราตัวแทนของกลุ่มคนรุ่นใหม่จึงได้ออกมาร่วมต่อสู้เรียกร้องอยู่เคียงข้างพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จนกว่าจะได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริงและยั่งยืน สุดท้ายด้วยสองมือสองเท้าและหลากหลายมันสมองพวกเรา จะทวงคืนธรรมชาติ เอาเขื่อนออกไป”ตัวแทนนักศึกษา กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากอ่านแถลงการณ์เสร็จสิ้น กลุ่มนักศึกษาได้ร่วมกันปาจรวดกระดาษที่เขียนข้อเรียกร้องต่างๆ เช่น คืนความเป็นธรรมให้ชาวบ้าน คืนธรรมชาติให้แม่น้ำมูน พุ่งผ่านประตูเข้าไปยังสำนักงานของกรมชลประทาน เพื่อแสดงสัญลักษณ์ในการส่งข้อความไปถึงรัฐบาลโดยผ่านกรมชลประทาน

นพ.นิรันดร์ นาควัชระ อดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า เราต่อสู้กับรัฐเพื่อฟื้นคืนชีวิตให้แม่น้ำ โดยลูกหลานต้องได้รับความลำบากในอนาคต ไม่ใช่แค่ชาวบ้านที่เดือดร้อนในตอนนี้เท่านั้น นโยบายและกฏหมายพิสูจน์แล้ว การตีความกฎหมายและหน่วยงานของรัฐไม่เห็นหัวอกชาวบ้าน ยิ่งทับถมด้วยทุนยิ่งซ้ำร้ายโดยมองทรัพยากรเป็นสินค้าราคาถูก ชาวบ้านจึงต้องช่วยตัวเอง นอกจากมีสภาประชาชนแล้ว ต้องมีข้อตกลงกับพรรคการเมืองไม่ให้ผลักดันโครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ โครงการเหล่านี้ต้องมีฉันทามติว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชน

แถลงการณ์

30 ปี โขง ชี มูน ปัญหาเก่าต้องแก้ไขให้เสร็จ
ไม่เอาผันน้ำโขง เลย ชี มูน

“โขง ชี มูน” เป็นโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ของรัฐบาลไทยเมื่อ 30 ปีก่อน ที่พยายามนำเสนอภาพฝันของการขจัดปัญหาความแห้งแล้งในภาคอีสานแบบถาวร โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความแห้งแล้งในพื้นที่สำคัญอย่างลุ่มน้ำชี-ลุ่มน้ำมูน แต่เวลาที่ล่วงเลยมาถึงปัจจุบันโครงการนี้กลับถูกประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ โขง ชี มูน  นักวิชาการและประชาชนทั่วไป  วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ถึงปัญหาการบริหารจัดการน้ำที่ล้มเหลวของรัฐและความไม่คุ้มค่ากับการลงทุนในหลากหลายมิติ

บทเรียนกรณีเขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา แม่น้ำมูน เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร แม่น้ำชี  จากวันนั้นจวบจนวันนี้โครงการ โขง ชี มูน เดินทางมานานกว่า 30 ปี  ภาพฝันกับความจริงกลับไม่เป็นไปตามที่ผู้มีอำนาจกล่าวอ้างไว้ เพราะการรวมศูนย์อำนาจการจัดการน้ำ และอำนาจการตัดสินใจทางนโยบายถูกกำหนดอยู่ภายใต้ผู้มีอำนาจที่ไม่ได้เข้าใจภูมินิเวศ  ประชาชนไม่มีส่วนร่วม  ทุกพื้นที่ที่มีการดำเนินโครงการประชาชนกลับได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน เช่น การถูกอพยพโยกย้ายออกจากถิ่นฐานบ้านเกิด การสูญเสียที่ดินทำกิน น้ำท่วมขังพื้นที่ทำการเกษตรยาวนาน การสูญเสียอาชีพประมงพื้นบ้าน การพังทลายของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะการหายไปของพันธุ์ปลา พันธุ์พืชท้องถิ่น ดินเค็มแพร่กระจาย ผลกระทบที่เกิดยังทำลายโครงสร้างทางชุมชน ตลอดจนยังทำลายระบบสิทธิการจัดการทรัพยากรแบบดั่งเดิม ปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นได้สร้างความขมขื่นต่อประชาชนลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูนกันอย่างถ้วนหน้า

กระบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิจึงเป็นหน้าที่ของประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายโครงการ โขง ชี มูน รวมทั้งนักวิชาการ นิสิตนักศึกษา คนรุ่นใหม่ ประชาชนทั่วไป ที่ได้ออกมาเปล่งเสียงเรียกร้องให้รัฐเร่งแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ผ่านมาแล้วหลายรัฐบาลแต่สัญญาปากเปล่าของผู้มีอำนาจและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ได้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่จริงใจทั้งยังไร้ประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาของประชาชนอย่างแท้จริง

ดังนั้น เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสานจึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1. ปลดปล่อย แม่น้ำชี แม่น้ำมูน แม่น้ำโขง ไหลเป็นอิสระ เอาระบบนิเวศคืนมา เอาเขื่อนออกไป
2. ให้รัฐประเมินความไม่คุ้มค่าของเขื่อนที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้โครงการโขง ชี มูน และเร่งรัดแก้ไขปัญหาเขื่อนให้เสร็จเป็นรูปธรรม
3. เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน จะร่วมกันทวงคืนสิทธิและอำนาจการจัดการทรัพยากรน้ำกลับคืนระบบนิเวศและชุมชน

ประชาชนคนลุ่มน้ำจะกำหนดการจัดการน้ำด้วยตนเอง
วันที่ 13 กันยายน 2565
ณ เขื่อนราษีไศล

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำ ภาคอีสาน
เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง ภาคอีสาน
เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาคอีสาน
สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา
เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชี จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร
กลุ่มรักษ์เชียงของ
ราษฎร โขง ชี มูน
เครือข่ายนักวิชาการ นิสิตนักศึกษา ภาคอีสาน
กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน)
ขบวนการอีสานใหม่
ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม
กลุ่มฮักบ้านเกิด จ.ขอนแก่น
กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็ง จ.ยโสธร
กลุ่มกอผือรื้อเผด็จการ

author

เรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง related posts

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ