ภาคประชาชนเชียงราย รวมตัวกันตั้งศูนย์ประสานงานชั่วคราวเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ลงสำรวจพื้นที่เก็บข้อมูลความเสียหายและผู้ประสบภัย พบชาวบ้านยังหวาดระแวง ไม่กล้าเข้าไปอยู่ในบ้านเรือนที่ร้าวเพราะยังมีอาฟเตอร์ช็อคต่อเนื่อง ระดมอาสาสมัครแบ่งงานกันทำ เปิดบัญชีระดมทุนช่วยเหลือ
กรณีเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ริกเตอร์ ศูนย์กลางที่ อ.พาน จ.เชียงราย ซึ่งเป็นแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดของประเทศ และยังมีอาฟเตอร์ช็อคตามมาอย่างต่อเนื่องจนถึงวันนี้ ซึ่งส่งผลต่อความเสียหายของบ้านเรือนประชาชน อาคารสาธารณะสำคัญหลายแห่ง รวมถึงสภาพจิตใจผู้ได้รับผลกระทบ ในการนี้ องค์กรภาคประชาสังคมเชียงราย 13 องค์กร ได้หารือเร่งด่วนเพื่อทำงานรับมือปัญหาแผ่นดินไหว ในนามเครือข่ายป้องกันปัญหาภัยพิบัติ จ.เชียงราย โดยจะทำงานกับภาครัฐเพื่อให้มีส่วนร่วมจากภาคประชาชน เน้นงานเยียวยาผู้ประสบภัย ทำข้อมูลความเสียหายของชุมชนต่างๆ ประสานงานนักวิชาการลงตรวจสอบพื้นที่ และระยะยาวคือพัฒนาระบบเตือนภัยและการสื่อสาร
ทั้งนี้ล่าสุด ได้ตั้งศูนย์ประสานงานชั่วคราวเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ กรณีแผ่นดินไหวเชียงราย ที่มูลนิธิพัฒนาประชาชนบนพื้นที่สูง โดยพยายามจัดระบบ และเข้าสำรวจข้อมูลในพื้นที่ เพื่อนำมาจัดระบบการช่วยเหลือด้วยภาคประชาชน
โดยอาสาสมัครจากูลนิธิกระจกเงา ลงสำรวจชาวบ้านในพื้นที่ประสบภัย ยังพบว่าชาวบ้านยังอยู่ในอาการหวาดระแวง กรณีผู้ประสบภัยที่บ้านร้าว ชาวบ้านไม่กล้าเข้าไปนอนในบ้านหากยังไม่มีหน่วยงานใดมาตตรวจสอบและให้ช้อมูลด้านโครงสร้างทางวิศกรรมของบ้าน นอกจากนั้นยังมีแผ่นดินไหว่อเนื่องไม่หยุด และไม่รู้ว่าแผ่นดินไหวจะหยุดเมื่อใด โดยพบว่ามีบ้านที่เสียหายประมาณ 8,000 หลัง
ด้านเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน พอช สำรวจความเสียหายใน 12 หมู่บ้าน ต.แม่สรวย อ.แม่สรวย จ.เชียงราย พบว่ามีบ้านที่เกิดความเสียหายทั้งหลัง 3 หลัง และอื่นๆ รวม 407 หลังบ้านมั่นคงในพื้นที่ประสบภัย จะมีนักวิศวกรรมโครงสร้างมาสำรวจและประเมินโครงสร้างอาคารสิ่งปลุกสร้าง
นอกจากนั้น บริเวณข่วงศิลปิน ก็ได้รับความเสียหาย ซึ่งสำนักงานศิลปวีฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ได้ทำการสำรวจ ข้อมูลเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม เพื่อประเมินความเสียหาย
คุณวันเพ็ญ คีรีแก้ว ชาวบ้น ต.แม่พริก อ.แม่ลาว จ.เชียงราย ซึ่งได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว พบว่า สภาพบ้านมีรอยร้าว 3 ด้าน ฝ้าเพดาน 10 กว่าแผ่นหล่นลงมา ขณะที่หล่นลงมีบางแผ่นหล่นโดนลูกชายที่กำลังวิ่งหนี ทำให้มีแผลถลอก ส่วนข้างบ้านเสาบ้านที่เป็นปูนหักทั้ง 4 เสา ชาวบ้านได้ช่วยเอาไม้มาพยุงไว้
หลังจากวันแรกผ่านไปชาวบ้านบางส่วนได้ย้ายออกไปพักที่โบสถ์ในตำบล ประมาณ40-50 คน ตอนกลางวันก็จะกลับมาดูบ้านและทำงานต่อเพราะส่วนใหญ่ทำนา สวน)
สิ่งที่คุณวันเพ็ญกังวลคือรอยร้าวที่ลึกขึ้น ยาวขึ้นกว่าเดิม จากที่มีอาฟเตอร์ช็อคหลายๆครั้ง ไม่รู้ว่าจะเพิ่มขึ้นกว่านี้อีกหรือไม่และกลัวจะพังลงมา
“คนแก่ และเด็กจะกลัวและกังวลมาก ส่วนตัวรู้สึกเสียใจ เพราะบ้านที่ร้าวนี้ยังใช้หนี้ที่กู้ยืมจากธนาคารยังไม่หมดก็ต้องคิดเรื่องหาเงินมาซ่อมแซมอีก สิ่งที่ต้องการตอนนี้คือความช่วยเหลือเรื่องซ่อมแซมบ้าน”
ด้านการประกาศเตือนภัยขณะนี้ ผู้ใหญ่บ้านจะประกาศเสียงตามสายทุก 2 ชม.ในวันแรกที่แผ่นดินไหว ให้เได้เตรียมตัว ขณะที่หมู่บ้านใกล้เคียง มีรอยแยกที่ถนนและมีน้ำไหลซึมออกมา ชาวบ้านบอกว่าได้กลิ่นคล้ายกลิ่นแก๊สปนมาด้วยที่บริเวณหมู่บ้านสันกันเฮี้ยว ต.จอมหมอกแก้ว อ.แม่ลาว ส่วนที่โรงพยาบาลแม่ลาว ต้องขนย้ายผู้ป่วยออกมานอนในเต้นท์ด้านหน้า และมีเต้นท์ที่รับคนไข้นอกและฉุกเฉินอีก 1 เต้นท์
คุณสมหมาย นพบุรี ชาวบ้าน ต.จอมหมอกแก้ว อ.แม่ลาว จ.เชียงรายบอกว่า สภาพบ้านของตนที่ได้รับความเสียหายคือผนังแตกร้าว ปูนกะเทาะแยกออกมา ไม่รู้ว่าจะพังลงตอนไหน ตอนนี้ไม่กล้าเข้าไปในบ้าน ต้องย้ายไปนอนกันในเล้าไก่ โรงเก็บฟืน โรงรถ บ้านข้างเคียงก็โดนหนักเบาไม่เท่ากันแต่ทุกครัวเรือนได้รับความเดือดร้อนและเสียหายกันหมด แม้แต่วัดได้รับความเสียหายหนักคือหลังคาร่วงลงมาหมด และศาลา พัง
“ความรู้สึกหดหู่ บอกไม่ถูก กังวลและนอนผวาทุกคืนแม้กระทั่งเสียงรถมอเตอร์ไซด์ที่ได้ยินประจำก็ทำให้ผวาได้ ชาวบ้านพูดกันเรื่องการทำลายธรรมชาติ การตัดไม้ทำลายป่า เป็นสาเหตุให้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง ถูกธรรมชาติลงโทษ”
คุณสมหมายบอกว่า ทางอบต.ได้ช่วยเหลือในเบื้องต้นเรื่องแจกกระเบื้องและสังกะสี และอาหารซึ่งได้ปลากระป๋องมา 1 ถุง ต้องมีทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนไปรับด้วย
คุณสนอง กำลังประสิทธิ์ ผู้ใหญ่บ้าน ต.แม่พริก อ.แม่สรวย จ.เชียงราย บอกว่าหมู่บ้านอยู่บริเวณเหนือเขื่อนแม่สรวย ไม่ค่อยได้รับผลกระทบที่รุนแรง แต่มีบ้านที่เกิดผนังร้าว ชาวบ้านมีอาการเวียนหัวในวันแรกที่ไหวรุนแรง ในช่วงแรกๆชาวบ้านก็กังวลว่าจะอยู่ไม่ได้ มีบางครอบครัวย้ายไปอยู่บ้านญาติที่อำเภออื่น แต่ชาวบ้านที่นี่ไม่กังวลเท่าคนที่บ้านอยู่ใต้เขื่อน
“การเตรียมความพร้อมในเบื้องต้นคือประกาศเตือนผ่านหอกระจายข่าวเป็นระยะ และถ้าหากมีใครเจ็บป่วยหรือได้รับความเสียหายใดๆอีกก็จะมีการประสานงานกับอบต.ที่จะมีหน่วยเคลื่อนที่ประจำอยู่ตลอด”
ด้านคุณ ศุภทัศน์ สังข์ทอง ต.แม่พริก อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ซึ่งมีบ้านอยู่บริเวณใต้เขื่อนแม่สรวยบอกว่า ตอนแรกทั้งตัวเองและชาวบ้านก็รู้สึกกังวลเพราะเขื่อนมีรอยร้าวก่อนหน้านี้ช่วงน้ำท่วมหนักๆ ก็กลัวว่าแผ่นดินไหวแรงๆจะทำให้เขื่อนพัง ชาวบ้านบางคนต้องย้ายออกมานอนนอกบ้านและย้ายไปอยู่บ้านญาติ ที่บ้านส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้รับผลกระทบรุนแรง จะมีแค่รอยร้าวและปูนกะเทาะหล่นลงมา จะเป็นบ้านที่สร้างใหม่ประมาณ 1-2 ปีที่ได้รับผลกระทบ
ส่วนการเตรียมตัวเรื่องแผ่นดินไหว ข้อมูลที่ชาวบ้านได้รับนั้นส่วนใหญ่จะรู้จากการดูโทรทัศน์ และลูกหลานก็หาข้อมูลในอินเทอเน็ตมาบอก แต่ส่วนใหญ่จะรู้ได้เองว่าถ้าแผ่นดินไหวก็ควรอยู่นอกบ้านจะปลอดภัยที่สุด
“ชาวบ้านมีความเครียดกันเพิ่มขึ้น เพราะแฟนทำงานที่โรงพยาบาลจึงได้รู้ว่ามีผู้ป่วยที่เครียด กังวล นอนไม่หลับ มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่” คุณสุภทัศน์กล่าว
ในวันอาทิตย์ที่ 11 พ.ค.นี้ มีการเชิญเครือข่ายภายประชาสังคม ภาคเอกชน และอาสาสมัครเพื่อนองค์กรนักพัฒนา ร่วมเป็นพลังในการดูแลเชียงรายร่วมกัน โดยจะมีการประชุมรับงานและแบ่งงานกันเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ ในเวลา 14.00 น’ ที่มูลนิธิศึกษาประชาชนบนพื้นที่สูง นอกจากนั้น ยังได้มีการเชิญชวนร่วมบริจาคเงิน ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวเชียงรายชื่อบัญชี มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา เลขที่บัญชี 455-211712-9 ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้าแยกพ่อขุนเม็งราย
ภาพจากเพจ แผ่นดินไหวเชียงราย จดหมายเหตุ
ข้อมูล จากการรวบรวมของศูนย์ประสานงานชั่วคราวเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ กรณีแผ่นดินไหวเชียงราย