ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันเกิดแอปพลิเคชันหน้าใหม่ขึ้นจำนวนมาก แต่สำหรับแอปพลิเคชันชื่อ “ผ่อดีดี” มาจากภาษาเหนือแปลว่า “ดูดีดี” เริ่มพัฒนามาตั้งแต่กลางปี 2557 ในการเฝ้าระวังโรคสัตว์ อาหารปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ หลายจังหวัดภาคเหนือ ล่าสุดเดินสายสร้างความร่วมมือภายใต้โครงการรับรองเกษตรอินทรีย์ NIA – PODD PGS และพัฒนาเครือข่ายผ่อดีดี จังหวัดน่าน มุ่งสู่ตำบลปลอดภัยที่ยั่งยืน ซึ่งมีการจัดอบรมการใช้งานในกับเจ้าหน้าที่ อปท. และตัวแทนกลุ่มเกษตรกร เมื่อวันที่ 19-20 กรกฎาคม 2565 ณ โรงแรมเทวราช ที่ผ่านมา
รศ.ดร.เลิศรัก ศรีกิจการ ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังสุขภาพหนึ่งเดียว หัวหน้าโครงการ “ผ่อดีดี” เล่าถึงโครงการ “ผ่อดีดี” ว่าเริ่มแรกทำโครงการวิจัย “ผ่อดีดี” เฟสแรกมาสองปีแล้วได้ผลดีมากในการตรวจจับโรคระบาดในสัตว์และสามารถที่จะป้องกันควบคุม ไม่ให้ตัวเชื้อโรคจากสัตว์เข้ามาสู่มนุษย์หรือการระบาดข้ามทวีป ซึ่งส่วนใหญ่ตามธรรมชาติทุก 2-3 ปีจะมีเชื้ออุบัติใหม่ขึ้นมา
หลังจากที่เราพัฒนาตัวดิจิทัลแพลตฟอร์ม “ผ่อดีดี” ขึ้นมาแล้วทดสอบใช้ร่วมกันกับชุมชน ประมาณ 70 กว่าชุมชนในจังหวัดเชียงใหม่ได้ผลดีมาก ในเฟสต่อมาอีกสองปีก็พยายามที่จะหาตัวต้นแบบขยายผลการใช้งานระบบนี้ไปในพื้นที่อื่น
ในขณะเดียวกันตัวระบบได้รับการยอมรับและได้รับการพัฒนาเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของชุมชนในหลายด้านมากขึ้น อาทิ ปัญหาหมอกควันไฟป่าซึ่งกระทบต่อสุขภาพ ถ้าร่วมมือกันหลายฝ่ายโดยเฉพาะจากชุมชนและมีเครื่องมือที่เหมาะสมจะทำให้ปัญหาถูกควบคุมได้ ตอนนี้ตัวระบบพัฒนาจนกระทั่งปัจจุบันมีอยู่ 15 ด้านที่ครอบคลุมทั้งเรื่องของสุขภาพสัตว์ สุขภาพคน สุขภาพสิ่งแวดล้อมและสาธารณภัย
“ระบบนี้จะทำงานได้สำเร็จต้องมีความร่วมมือและรู้สึกเป็นเจ้าของของชุมชนร่วมด้วย”
งานที่โดดเด่นมาก ๆ เลยตั้งแต่ปี 2560 ช่วงปลายปี ทางเครือข่ายชุมชนที่จังหวัดพิจิตร อบต.ห้วยเกด ได้เอาเครื่องมือไปพัฒนาเพื่อให้ชาวบ้านใช้แจ้งเหตุเพื่อขอรับบริการสาธารณะ เช่น ไฟดับ น้ำประปาไม่ไหล ถนนขาดมีจุดเสี่ยงอะไรพวกนี้เขาก็เอา “ผ่ออดีดี” ไปประยุกต์ใช้ในการจัดการขยะด้วย นอกจากป้องกันโรคระบาดแล้ว แต่ว่าระบบยังมุ่งที่จะแก้ไขปัญหาทางด้านสุขภาพหนึ่งเดียวที่สำคัญของชุมชนไม่ว่าจะเป็นไข้เลือดออก โควิด-19 และเรื่องอาหารปลอดภัย
“เราพยายามที่จะพัฒนาเครื่องมือดิจิทัลพวกนี้ขึ้นมาให้กับชุมชน คือมุ่งการใช้ประโยชน์ของชุมชนเป็นสำคัญเป็นอันดับแรก”
“ไม่ใช่ว่าระบบนี้ไปเก็บข้อมูลเพื่อส่งให้คนอื่น แต่ว่าเก็บข้อมูลเพื่อให้ อปท. ให้หน่วยงานของชุมชนได้ใช้ประโยชน์และเครื่องมือประมวลผลอัตโนมัติ ส่งปุ๊ป รู้ปั๊ป”
ในแง่ของอาหารปลอดภัยเราพบว่ามีปัญหาอาหารไม่ปลอดภัยจากการปนเปื้อนสารเคมีในพันธุ์พืช โดยเฉพาะพืชเป็นที่มาของการพัฒนาร่วมกับเครือข่ายชุมชนโดยมีแม่ทา ORGANIC ที่อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ เป็นตัวแบบและร่วมมือกันที่จะพัฒนาดิจิทัลขึ้นมาในการให้ระบบคอมพิวเตอร์ประมวลผลอัตโนมัติมาช่วยเกษตรกรจดบันทึก และเพื่อให้มาตรฐานนี้เชื่อถือได้ก็จะมีคนเป็นคนตรวจแล้วก็ใส่คะแนนลงไป ตอนประมวลผลจะประมวลโดยคอมพิวเตอร์ประเมินจุดแข็งจุดอ่อนได้เลย
นอกจากนั้นยังเชื่อมในกลุ่มผู้บริโภค เพราะว่าระบบพวกนี้ถ้าเราบอกว่าเราผลิตอาหารปลอดภัยไม่มีสารเคมีปนเปื้อนเป็นอินทรีย์เราสามารถพูดเอาเองเฉย ๆ ก็ได้ แต่ถ้ามีมาตรฐานและมีการตรวจสอบได้โดยคนอื่นก็จะมีความน่าเชื่อถือมากกว่า เลยเกิดตัวเครือข่าย อปท. อาสาอาหารปลอดภัยดาวผ่อดีดี ซึ่งมาช่วยสร้างความเชื่อมั่นและสร้างมาตรฐานของสินค้าที่ชุมชนจะผลิตขึ้นมาด้วยการใช้ระบบ PGS เป็นตัวรับรอง
สำรวย ผัดผล ประธานศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้ และเกษตรกร ต.เมืองจัง อ.ภูเพียง จ.น่าน บอกว่า ตนเองเข้าไปเป็นคณะทำงานของการใช้เครื่องมือ “ผ่อดีดี” ซึ่งเห็นว่าสภาพปัจจุบันของพื้นที่จังหวัดน่านมันมีการเคลื่อนไหวโดยทั่วไปอยู่ในระดับพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นท้องถิ่น อาจารย์นักวิชาการ เกษตรกรที่จะทำเรื่องเกษตรอินทรีย์ เกษตรยั่งยืนเกษตรอาหารปลอดภัยหรือแม้กระทั่งการเฝ้าระวังแจ้งเหตุต่าง ๆ แต่ทำบนฐานที่ไม่ได้ใช้เครื่องมือแบบดิจิทัลที่เป็นเรียวไทม์ทันสมัย กับอีกอันนึงคือการดึงองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น (อบต.) มาบันทึกลงนามร่วมทำงานด้วยอันนี้เป็นความใหม่ที่เราเอาเข้ามาทำ
“ทีนี้เราไม่อยากรอว่าเมื่อไหร่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นจะเป็นตัวเริ่ม ซึ่งหลายที่เขาเริ่มได้มันก็ทำได้ดี แต่ว่าเมื่อไม่ทดลองใช้ให้มันกลายเป็นเครื่องมือทันสมัยโดยธรรมชาติมันก็จะไม่มีขึ้นในพื้นที่”
ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนโจ้โก้ จึงกลายเป็นฐานพื้นที่แรกที่เป็นตัวเริ่ม พอเราคิดอย่างนี้เลยทำให้ได้โอกาสผนวกเอาอีกตำบลหนึ่งที่ตำบลแม่ทา จังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะที่เขามีเกษตรอินทรีย์เข้มข้นและมีจำนวนเกษตรกรผ่านการปฏิบัติและรับรองแล้วเป็นจำนวนมากเข้ามาเป็นเพื่อนร่วมงานกับศูนย์การเรียนรู้ชุมชนโจ้โก้อีกทางนึง เพื่อให้มีน้ำหนักว่าสามารถสร้างระบบรับรองผ่าน PDS Digital นี้ และมีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นพี่เลี้ยง
กลายเป็นว่าเดือนที่ผ่านมา ได้มีการฝึกอบรมพร้อมกับประกาศตัวเป็นครั้งแรกว่าต่อไปนี้เมืองน่านจะมีหน่วยประสานงานแล้วก็คือเครือข่ายชุมชน ให้ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนโจ้โก้ หรือวิสาหกิจชุมชนวิถีเกษตรตำบลเมืองจังเป็นแม่ข่าย ในการสร้างกระบวนการรับรองตรวจรับ และฝึกหัดการใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มผ่อดีดี ไปยังเกษตรกรเครือข่ายโดยวางเป้าหมายไว้พอสมควรว่าอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 20 รายในปีนี้ เพราะว่าเนื่องจากเป็นเครื่องมือใหม่เราก็ไม่อยากไปผลีผลามใช้ ตัวเลขคนใช้เยอะแต่เกิดชาวบ้านเรียนไม่สนุกและเขาไม่ทำก็เป็นปัญหาได้ คู่ขนานไปกับการทำเกษตรอินทรีย์เพื่อให้ชาวบ้านขายของได้เข้าถึงเทคโนโลยีเป็นแล้ว เราก็จะทำเข้าไปสู่การสร้างกลไกตลาดสร้างกลไกความร่วมมืออื่น ๆ ต่อไป นี่คือตั้งเป้าขั้นต่ำไว้ แต่ก็เชิญชวนได้เรื่อย ๆ มีมากเท่าไหร่ยิ่งดี
อย่างเราก็เชิญชวนให้กับองค์การบริหารส่วนต่าง ๆ ส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ อบต. ต่าง ๆ เทศบาลต่าง ๆ มาบันทึกความร่วมมือกับคณะกรรมการผ่อดีดีกลางด้วย เพื่อจะนำเอาเครื่องมือดิจิทัลนี้ที่มีมากกว่า 14 ฟีเจอร์ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น อบต. เมืองจัง เขาเลือกฟีเจอร์หมวดแจ้งเหตุ อุบัติเหตุทางจราจรเพราะเขามองว่า การจราจรต่าง ๆ มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ และก็การแจ้งเหตุอื่น ๆ ต่อไป รวมถึงการแจ้งเหตุคนป่วยคนไข้ คนตาย และมีโรคระบาดตรงไหนเพื่อมายังเจ้าหน้าที่ อปพร. เจ้าหน้าที่กู้ชีพกู้ภัย หรือแม้กระทั่งการแจ้งลูกน้ำยุงลายหลาย ๆ อย่าง ซึ่งมันเป็นเรื่องของการป้องกันโรคระบาดและการควบคุมโรคและการพัฒนาคุณภาพชีวิต อันนี้คือส่วนที่ อบต. ใช้เขาก็จะไปสร้างอาสาสมัคร แล้วอาสาสมัครก็จะไปฝึกใช้วิธีการรายงานผ่านดิจิทัลนี้ แล้วนายกอบต. เขาก็จะมีหน้าแสดงผลเพื่อแจ้งผู้บริหารให้ไปบริการกับกลุ่มเป้าหมายได้ทันท่วงที
สำหรับการลงทะเบียนเข้ามาใช้ “ผ่อดีดี” ก็เพิ่มมาเรื่อย ๆ เกษตรกรซึ่งวางเป้าหมาย 20 รายก็เกือบครบแล้ว ส่วน อบต. เทศบาลที่บันทึกความร่วมมือ คือ อบต. เมืองจัง, อบต. เมืองลี, อบต.ปิงหลวง, อบต. ห้วยโก๋น, เทศบาลเชียงกลาง และอาจจะมีอื่นๆ ต่อไปอีก ก็ถือว่าได้รับการตอบรับพอสมควร