“สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว” อะไรคือทางออกเพื่อประโยชน์ของประชาชนผู้ใช้รถไฟฟ้า?
ปมปัญหา การต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือ รถไฟฟ้า BTS ที่จะหมดสัญญาลงในปี 2572 กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างกระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร (กทม.) กับกระทรวงคมนาคม มาตั้งแต่ปี 2562 เมื่อฝ่ายหนึ่งอยากไปต่อ แต่ฝ่ายหนึ่งตั้งหน้าค้าน ทั้งผ่านที่ประชุม ครม.และผ่านหน้าสื่อ จนถูกจับตาว่านี่คือรอยร้าวหนึ่งของพรรคร่วมรัฐบาล
ขณะที่ในส่วนองค์กรภาคประชาชน อย่างสภาองค์กรของผู้บริโภค แสดงตัวไม่เห็นด้วยกับการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยพุ่งเป้าไปที่ภาระค่าโดยสารราคาแพงที่ประชาชนต้องแบกรับไปอีก 30 ปี และการบริหารจัดการที่จะทำให้คนเข้าถึงการใช้บริการรถไฟฟ้าได้
รายการฟังเสียงประเทศไทยวันนี้ ชวนประชาชนคนไทยมาร่วมรับฟังข้อมูล ย้อนรอยต้นตอความขัดแย้ง แจกแจงปัญหาที่ค้างคา รวมทั้งมองโอกาสที่จะออกไปจากวังวนปัญหา และแลกเปลี่ยนกันในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับอนาคตรถไฟฟ้าสายนี้ ใน “อนาคตสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว”
00000
ระดมความเห็นคนออนไลน์
00000
หลัง กทม.ได้ผู้ว่าราชการคนใหม่ ที่ชื่อ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ทำให้เกิดความหวังว่าจะช่วยจบมหากาพย์ความขัดแย้งที่ยาวนานนี้ได้ แม้ทุกคนจะรับรู้ว่าบททดสอบนี้ไม่ง่ายเลย
รายการฟังเสียงประเทศไทย ชวนทุกท่านร่วมแสดงออกด้วยการให้ข้อเสนอ “ขอ 3 คำ” ช่วยผู้ว่าฯ ชัชชาติ ทำอย่างไรดีรถไฟฟ้าสายสีเขียว และจะเป็นเสียงสะท้อนต้องการเพื่อให้รถไฟฟ้าสายนี้ตอบโจทย์ประชาชนผู้ใช้บริการ
เพียงสแกนผ่าน QR CODE หรือ คลิกลิงก์
00000
ย้อนรอยรถไฟฟ้า บนเส้นทางลอยฟ้าสายแรกของประเทศไทย
00000
แก้ปัญหาจราจรติดขัด อำนวยความสะดวกในการเดินทาง คือจุดเริ่มต้นของโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสาธารณะ ที่ได้ชื่อว่าเป็นความหวังและอนาคตของคนเมือง
5 ธันวาคม 2542 รถไฟฟ้าสายสีเขียว โครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร หรือ BTS รถไฟฟ้ายกระดับสายแรกของไทย เปิดให้บริการใน 2 เส้นทาง คือสายสุขุมวิท วิ่งตามถนนสุขุมวิทจากสถานีขนส่งหมอชิตไปย่านอ่อนนุช และสายสีลม เส้นทางจากสะพานตากสินไปยังสนามกีฬาแห่งชาติ โดยเชื่อมต่อกันที่สถานีสยาม ระยะทางรวม 23.5 กิโลเมตร
ปัจจุบัน พ.ศ. 2565 รถไฟฟ้าสายสีเขียว เปิดให้บริการ 60 สถานี ระยะทางรวม 68.25 กิโลเมตร ทั้ง 2 เส้นทางถูกต่อขยาย โดยยังคงมีสถานีสยามเป็นจุดเชื่อมต่อหลัก
1.เส้นทางสายสุขุมวิท หรือสายสีเขียวอ่อน มี 47 สถานี มีแนวเส้นทางเป็นเส้นทางแนวเหนือ-ตะวันออก พาดผ่านพื้นที่ 3 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร, จ.ปทุมธานี และ จ.สมุทรปราการ วิ่งระหว่างสถานีคูคต ย่านลำลูกกา จ.ปทุมธานี บนแนวถนนลำลูกกา ถึงสถานีเคหะฯ บนถนนสุขุมวิท ในย่านบางปู อ.เมืองสมุทรปราการ ระยะทาง 53.58 กิโลเมตร นับเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่ยาวที่สุดในกรุงเทพมหานคร
2.สายสีลมหรือสายสีเขียวเข้ม ประกอบด้วย 14 สถานี มีแนวเส้นทางเป็นแนวตะวันตก-ใต้ วิ่งระหว่างสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ ไปสถานีบางหว้า บริเวณทางแยกต่างระดับเพชรเกษม (แยกบางหว้า) รวมระยะทางทั้งสิ้น 14.67 กิโลเมตร เป็นเส้นทางที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่ฝั่งธนบุรีได้เป็นสายแรกของประเทศไทย
ปัญหาสำคัญที่ถูกจับตาในปัจจุบันคือ การบริหารจัดการ รถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงแรกที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานในอีก 7 ปีข้างหน้า
ย้อนกลับไปจุดเริ่มต้น
นโยบายขนส่งมวลชนรถไฟลอยฟ้าเกิดขึ้นในยุคพลตรีจำลอง ศรีเมือง เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ในช่วงปี พ.ศ. 2533 โดยกลุ่มบริษัท ธนายง จำกัด ที่ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในขณะนั้นเป็นผู้ชนะประมูลและก่อตั้ง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด หรือ BTSC มาทำสัญญาสัมปทานกับ กทม. ในการสร้างและบริหารระบบรถไฟฟ้าในปี 2535
สัมปทานนี้ครอบคลุมระยะเวลา 30 ปี ตั้งแต่ปี 2542-2572 มี กทม.เป็นผู้จัดหาที่ดิน โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด 100% ใช้เงินลงทุนประมาณ 51,000 ล้านบาท ในการก่อสร้างและพัฒนารถไฟฟ้าระยะทางรวม 23.5 กิโลเมตร เมื่อครบอายุสัมปทานในปี 2572 BTSC จะต้องส่งมอบทรัพย์สินกลับมาเป็นของ กทม.ทั้งหมด
สถานีต่อไป… ส่วนต่อขยายที่ 1
ปี 2548 อภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ได้ก่อสร้างส่วนต่อขยายเพิ่มเติมด้วยงบประมาณของ กทม. ทั้งหมด โดยจ้างให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด บริษัทลูกเป็นผู้ดำเนินการ
รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 ต่อขยายสายสีลมจากสะพานตากสินไปบางหว้า เปิดให้บริการปี 2552 ส่วนสายสุขุมวิท ต่อขยายจากอ่อนนุช-แบริ่ง เปิดให้บริการปี 2554
ปี 2555 ในสมัย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าฯ กทม. บริษัทกรุงเทพธนาคมได้ทำสัญญาให้ BTSC เป็นผู้ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง เป็นเวลา 30 ปี (พ.ศ. 2555-2585)
สถานีต่อไป… ส่วนต่อขยายที่ 2
ปี 2551 รัฐบาลสมัยสมชาย วงศ์สวัสดิ์ มีแผนขยายเส้นทางรถไฟฟ้าออกจากกรุงเทพฯ ซึ่งเกินขอบเขตอำนาจรับผิดชอบของ กทม. จึงให้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เวนคืนและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีเป้าหมายรวมโครงการขนส่งระบบรางให้อยู่ภายใต้องค์กรเดียว
หลังการรัฐประหารในปี 2557 รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เห็นชอบให้ รฟม. โอนโครงการฯ ให้ กทม.โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้การบริหารจัดการการเดินรถเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และเป็นโครงข่ายเดียวกัน
นำมาสู่การลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) รับโอนกรรมสิทธิ์โครงการพร้อมภาระหนี้ จำนวน 55,000 ล้านบาท เมื่อปี 2561
สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ต่อขยายสายหมอชิต ทางทิศเหนือหมอชิต-คูคต และทิศใต้ แบริ่ง-เคหะฯ มี BTSC เป็นผู้ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง โดยบริษัทกรุงเทพธนาคมว่าจ้าง เป็นเวลา 25 ปี (พ.ศ. 2560-2585)
มีผลศึกษาว่าส่วนต่อขยายนี้จะขาดทุน 10 ปี คิดเป็นวงเงิน 21,133 ล้านบาท และคืนทุนหลังปีที่ 20
สัญญาที่เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว
มีด้วยกันอย่างน้อย 8 สัญญา โดยรายละเอียดทั้งหมดไม่ได้เปิดเผยเป็นสาธารณะ
สัญญา | โครงการ | คู่สัญญา | ระยะเวลา (รวม) | |
1 | สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ – สถานีสะพานตากสิน (สายสีลม) และสถานีหมอชิต – สถานีอ่อนนุช (สายสุขุมวิท) | กทม. | เอกชน | 2542 – 2572 (30 ปี) |
2 | สัญญาจ้างบริหารจัดการ สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ – สถานีบางหว้า (สายสีลม) และสถานีหมอชิต – สถานีสำโรง (สายสุขุมวิท) | กทม. | บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด | 2555 – 2585 (30 ปี) |
3 | สัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ – สถานีบางหว้า (สายสีลม) และสถานีหมอชิต – สถานีสำโรง (สายสุขุมวิท) | บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด | เอกชน | 2555 – 2585 (30 ปี) |
4 | สัญญาจ้างบริหารจัดการ สถานีคูคต – สถานีห้าแยกลาดพร้าว และสถานีสำโรง – สถานีเคหะ (สายสุขุมวิท) | กทม. | บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด | 2560 – 2585 (25 ปี) |
5 | สัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง สถานีคูคต – สถานีห้าแยกลาดพร้าว และสถานีสำโรง – สถานีเคหะ (สายสุขุมวิท) | บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด | เอกชน | 2560 – 2585 (25 ปี) |
6 | บันทึกข้อตกลง ว่าด้วยการจำหน่ายทรัพย์สินและโอนภาระทางการเงิน โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ให้กรุงเทพมหานคร | กระทรวงคมนาคม | กทม. | 2561 |
7 | สัญญาจ้างติดตั้งระบบงานระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) สถานีคูคต – สถานีห้าแยกลาดพร้าว และสถานีสำโรง – สถานีเคหะ (สายสุขุมวิท) | บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด | เอกชน | 2560 – 2564 (4 ปี) |
8 | ร่างสัญญาร่วมลงทุนรถไฟฟ้าสายสีเขียว | กทม. | เอกชน | 2572 – 2602 (30 ปี) |
ทั้งนี้ ในค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ก็แบ่งตามสัญญาสัมปทาน ได้เป็น 3 ส่วนหลัก คือ
1. รถไฟฟ้าสายสีเขียวหลัก สายสุขุมวิท จากหมอชิต-อ่อนนุช และสายสีลม จากสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน รวม 25 สถานี ค่าโดยสาร 16-44 บาท
2.รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 สายสุขุมวิท จากอ่อนนุช-แบริ่ง และสายสีลม จากสะพานตากสิน-บางหว้า เปิดให้บริการปี 2552 รวม 11 สถานี ค่าโดยสาร 15 บาท
3.รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 สายสุขุมวิท สีเขียวใต้ แบริ่ง-เคหะฯ และสีเขียวเหนือ หมอชิต-คูคต รวม 25 สถานี ตั้งแต่เริ่มทะยอยเปิดให้บริการเมื่อปี พ.ศ. 2561 ยังไม่มีการเก็บค่าโดยสาร จนถึงปัจจุบัน
ภาระหนี้ กทม.
การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนส่งสาธารณะรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ทำให้ กทม.มีภาระหนี้ ใน 2 ส่วน คือ
1. ภาระหนี้สะสมที่มีต่อ BTSC ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่ เม.ย. 2560 (ถึงเดือน ม.ค.2565) เป็นตัวเลขราว 40,000 ล้านบาท แบ่งเป็น
-ค่าจ้างเดินรถและบำรุงรักษา (O&M) ส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 จำนวน 18,000 ล้านบาท
-ค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) หรือระบบเดินรถ จำนวน 20,088 ล้านบาท
2. ภาระหนี้ รฟม. จากการโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือและใต้ (ส่วนต่อขยายที่ 2)
ล่าสุด รฟม.ปรับภาระหนี้ที่เกิดขึ้นจริง สิ้นสุดถึงวันที่ 31 พ.ค.65 เป็นจำนวน 53,321.90 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ซึ่งจะสรุปอีกครั้งเมื่อทาง กทม.กำหนดวันรับหนี้ที่ชัดเจน
ทำให้ตอนนี้ กทม. มีภาระหนี้รวมราว 100,000 ล้านบาท
ที่มาการขยายสัญญาสัมปทาน 30 ปี
หนี้และค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับ นอกจากจะเป็นปัญหาที่ กทม.ต้องบริหารจัดการ และยังกลายเป็นเงื่อนไขของสัมปทานรอบใหม่ ของรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลัก ที่จะครบอายุสัมปทานในวันที่ 4 ธ.ค. 2572
ปี พ.ศ. 2562 กทม. ภายใต้ พ.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ศึกษาแนวทางการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership : PPP) พร้อมทดสอบความสนใจภาคเอกชน โดยมีเงื่อนไขให้รับหนี้สินมูลค่ากว่า 107,000 ล้านบาท ไปด้วย แต่สุดท้ายมีเพียง BTSC ผู้รับสัมปทานเดิมที่ให้ความสนใจ
ด้านรัฐบาล คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2562 เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2562 เพื่อแก้ปัญหา โดยยกเว้นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562
ปี พ.ศ. 2563 กระทรวงมหาดไทยเสนอ ครม. เรื่องการต่ออายุสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว 30 ปี โดยมีข้อแลกเปลี่ยนคือ BTSC จะรับภาระหนี้สินและดอกเบี้ยที่เกิดจากการลงทุนรถไฟฟ้าสายสีเขียวจาก กทม. พร้อมกับกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย นี่เป็นที่มาของคำว่า “สัมปทานแลกกับหนี้” ในสายตาของหลาย ๆ คน
ปี พ.ศ. 2564 ต่อเนื่องจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ สส.ฝ่ายค้าน เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบอดีตผู้ว่าฯ กทม. กรณีการทำสัญญาจ้าง BTSC เดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ไปจนถึงปี 2585 อาจไม่โปร่งใส และมีผลกระทบกับการต่อสัญญาสัมปทานที่อยู่ระหว่างการพิจารณา อีกทั้งการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวซึ่งถือเป็นเส้นทางที่ดีที่สุด ทำเงินมหาศาล แต่กลับไม่นำเข้า พ.ร.บ.ร่วมทุน
จนถึงปัจจุบัน เรื่องสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวยังยืดเยื้อ มีการแสดงความไม่เห็นด้วย ทั้งจากกระทรวงคมนาคม นักวิชาการ และภาคประชาชน โดยเฉพาะเรื่องค่าโดยสารอัตรา 65 บาทตลอดสาย ที่ถูกมองว่าไม่มีที่มา ราคาสูงเกินไป และอาจกลายเป็นภาระประชาชนผู้ใช้บริการในระยะยาว
00000
3 ฉากทัศน์ อนาคตสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว
00000
ทามกลางข้อเสนอหลากหลาย เรามี 3 ฉากทัศน์ ซึ่งเป็นข้อเสนอหลัก ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน มาให้ร่วมกันเลือกด้วยการโหวตว่า… ฉากทัศน์ไหนที่คุณคิดว่าจะเกิดขึ้น
ฉากทัศน์ที่หนึ่ง : ขยายสัญญาสัมปทาน 30 ปี
กทม.ไม่มีเงินก้อนโตคืนหนี้ รฟม. และอุดหนุนค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย จึงลงเอยด้วยการเจรจาผู้รับสัมปทานรายเดิมในการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวออกไปอีก 30 ปี จากที่จะหมดสัมปทานในปี พ.ศ.2572 กลายเป็นปี พ.ศ. 2602 โดยมีคำสั่ง คสช. ที่ใช้อำนาจตาม ม.44 มาช่วยทำให้การเจรจายุติได้โดยเร็ว พร้อมกับเหตุผลเพื่อให้รถไฟฟ้าสายสีเขียว สามารถเดินรถแบบต่อเนื่องเชื่อมต่อโครงการสายหลัก และส่วนต่อขยายที่ 1 และที่ 2 แต่ยังมีปัญหารายละเอียดสัญญาสัมปทานที่ไม่เปิดเผย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในอนาคต
ฉากทัศน์ที่สอง : เปิดประมูลหาผู้รับสัมปทานใหม่
ดำเนินการตามกลไกปกติ ให้เกิดการแข่งขัน และเกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยการหาผู้รับสัมปทานใหม่ ก่อนสิ้นสุดสัญญาปี 2572 มีข้อดีที่ กทม.จะสามารถกำหนดค่าโดยสารถูกลงได้ โดยกำหนดเงื่อนไขค่าโดยสารไว้ในการประมูล แนวทางนี้แม้มีผู้เห็นด้วยจำนวนมาก แต่การหาผู้ร่วมทุนไม่ง่าย เพราะวงเงินลงทุนสูง นอกจากนี้ ต้องเตรียมรับปัญหาภาระหนี้ ไม่ว่าจะรอไปจนถึงสิ้นสุดสัญญาสัปทานปี 2572 หรือ หมดสัญญาจ้างเดินรถและบำรุงรักษาในปี 2585 ภาระค่าจ้างเดินรถ และดอกเบี้ยต่าง ๆ จะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ กลายเป็นภาระหนี้ก้อนใหญ่ที่อาจเกินกำลัง กทม.จะแบกรับได้
ฉากทัศน์ที่สาม : คืนหนี้ รฟม. แล้วบริหารจัดการใหม่
เริ่มต้นการแก้ปัญหาด้วยการบริหารจัดการหนี้ โดย กทม. เจรจากับรัฐบาล ไม่รับหนี้ของ รฟม.แล้วโอนคืนให้กระทรวงคมนาคม และศึกษาการแก้ปัญหา หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสภากรุงเทพมหานคร เพื่อทบทวนการต่อสัญญาสัมปทาน โดยไม่เร่งรีบ ไม่เอาเรื่องภาระหนี้มาเป็นเงื่อนไขในการตัดสินใจ หารือร่วมกับ รฟม. ในฐานะผู้กำกับดูแลรถไฟฟ้าส่วนใหญ่ในกรุงเทพ ฯ เพื่อหาทางออกร่วมกันเกี่ยวกับรถไฟฟ้าในการกำกับดูแลทั้งหมดของ กทม. ลดความซ้ำซ้อน ลดค่าแรกเข้าและลดค่าโดยสารลง แต่แนวทางนี้ กทม.ก็ยังคงต้องหาเงินมาจ่ายหนี้คืนให้กับบีทีเอส
00000
3 มุมมอง อนาคตสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว
00000
นอกจากปมปัญหาสัมปทาน และการชำระหนี้ที่เป็นสถานการณ์เฉพาะหน้าให้เราต้องติดตาม รถไฟฟ้าสายสีเขียว ถือเป็นกรณีตัวอย่างของปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้อีกสำหรับอนาคตของเส้นทางรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ทั้งที่ก่อสร้างแล้วและกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาเริ่มโครงการ ซึ่งจะอยู่คู่คนกรุงเทพ ฯ และประเทศไทยต่อไป
นี่คือบทเรียนของการบริหารจัดการ ช่วงนี้ชวนมองประเด็นไปด้วยกันกับแขกรับเชิญ 3 ท่าน
ดร.สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล รองประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร
“สิ่งสำคัญเลยคือมันไม่โปร่งใส มันตอบคำถามสังคมไม่ได้เลยว่าทำไมเป็น 65 บาท 30 ปี และจะคิดบนเงื่อนไขเดิมไม่ได้ เพราะท่อนไข่แดงนี้จะหมดสัญญาสัมปทานอยู่แล้ว จะคิดว่าค่าใช้จ่ายของเขาเท่าเดิมโดยคิดค่าลงทุนก่อสร้างเข้าไปด้วย มันไม่ใช่แล้ว มันเสร็จแล้ว มันเป็นของรัฐโดย 100 เปอร์เซ็นต์
ประเด็นของผมก็คือมันต้องเอาผังกระแสเงินสด (Cash Flow Diagram) มากางกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องพื้นฐานทั่วโลกที่มีหลักการคำนวณว่าถ้าคิดดอกเบี้ยแปลงย้อนกลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน (Present Value) จะได้เท่าไหร่ แล้วบวกลบคูณหารเพื่อไม่ให้เอกชนกำไรเกินไป แต่ไม่ใช่ว่าเอกชนจะไม่มีกำไร เพียงแต่ว่ากำไรต้องไม่มากเกินไป ในทางกลับกันประชาชนก็จะต้องไม่จ่ายแพงเกินไป ให้มันอยู่ที่ราคายุติธรรม แต่ทั้งหมดนี้มันจะไม่เกิดขึ้นเลยถ้ามันไม่เกิดความโปร่งใส
มันไม่ใช่แค่เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว แต่กับทุก ๆ การดำเนินธุรกิจ การสร้างตึกอย่างน้อยก็จะต้องมีราคากลาง เพราะฉะนั้นการจะให้สัมปทานมูลค่าหลายแสนล้าน มันไม่ใช่การซื้อหมูซื้อไก่เอาเท่าไหร่ดี
ถ้าผมอยากพูดเอาใจประชาชนผมก็บอกว่า 5 บาทเลยก็แล้วกัน แต่มันเป็นไปไม่ได้ มันก็ต้องเอาต้นทุน, ค่าใช้จ่าย (Costs) เอารายรับ (Revenue)มากางดูกัน แล้วก็ดูว่าราคาเท่าไหร่มันจึงจะเป็นธรรม
ฉากทัศน์ทั้ง 3 ที่เอาขึ้นมา จริง ๆ ทางออกอาจไม่ใช่ทั้ง 3 อาจไม่ใช่ทางออกก็ได้ แต่ทั้ง 3 อันอาจเป็นกรอบคิดใหญ่ ๆ ที่นี้ทางออกจริง ๆ สิ่งที่ต้องตัดสินใจก็คือการถามว่าบอลมันอยู่ตรงไหน จริง ๆ เงื่อนไขที่กำลังคุยกันอยู่ตอนนี้มันจบไปแล้ว และผมบอกเลยว่าราคาเท่าไหร่ก็ทำได้เพียงแต่ว่ามันต้องทำแบบฉลาดหน่อย หมายความว่าถ้าเราอุดหนุนเรื่องหนึ่งมากไปเรื่องอื่นก็จะไม่ได้ อุดหนุนแต่กรุงเทพฯ ต่างจังหวัดก็ไม่ได้
เพราะฉะนั้นจะอุดหนุนแบบไหนที่ราคาเป็นธรรม ได้ค่าโดยสารราคาถูก แต่ไม่ใช่ถูกเกิดไป ขนาดที่เอาคนทั้งประเทศมาช่วย ขณะเดียวกันก็ไม่แพงแบบที่ให้เอกชนได้กำไรเกินไป ดังนั้น Cash Flow Diagram คือหัวใจของเรื่อง”
“สำคัญที่สุด ที่อยากฝากไว้และไม่ว่าจะออกทางไหน จริง ๆ วิธีการแก้ของผมไม่ได้เหมือนเสียทีเดียวกับทั้ง 3 อัน แต่คิดว่าอันที่ใกล้เคียงที่สุดคืออันที่ 2 คือเจรจาตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน ด้วยกระบวนการปกติ ไม่ได้ใช้กฎหมายพิเศษ แล้วแอบอ้างว่าตัวเองเป็นคนดีแล้วจะเจรจาอะไรก็ได้โดยไม่เปิดเผยกับสังคม มันรับไม่ได้
และเลิกปะปุปัญหา ไม่ว่าจะเป็นทางออกทางไหน อย่าคิดเฉพาะท่อนสีเขียว คิดแก้ปัญหาเชิงระบบด้วย”
ดร.ประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และอดีตผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
“วิธีการคิดของต่างประเทศเขามองว่านี่คือสิ่งที่จะมาช่วยประชาชน รัฐบาลต้องช่วยในเรื่องของค่าโดยสาร แต่ประเทศไทยไม่ใช่ ประเทศไทยกลายเป็นมองว่าสัญญาทุกสัญญาที่ทำนั้นมองว่าเราต้องได้เงินเยอะ ๆ คำถามคือว่าเงินนั้นเอามาจากไหน ก็เอามาจากประชาชน เอามาจากค่าโดยสาร แล้วมันจะไปสอดคล้องได้อย่รางไร
ในเมื่อด้านหนึ่งรัฐบาลบอกว่าเราต้องเก็บค่าโดยสารถูก ๆ แต่ขณะเดียวกันคุณปล่อยให้กระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลังไปใช้นโยบายซึ่งเอากำไรเป็นหลัก ผมคิดว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่ผิด
มันเคยมีจะถูกครั้งหนึ่งที่ตอนนั้นมีการพูดถึงว่าขนส่งสาธารณะทำให้เกิดผลตอยแทนทางเศรษฐกิจมหาศาล ถ้าเทียบกับเงินค่าโดยสารที่ได้ มันมากกว่ากันเยอะ และมองว่าตรงนั้นรัฐบาลต้องสนับสนุน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดค่าน้ำมัน ลดค่าของมลภาวะที่จะเกิดน้อยลงเนื่องจากรถติดน้อยลง และเรื่องของเวลาที่เราจะได้กลับมา แล้วเอาเวลาไปใช้ในการหารายได้อย่างอื่นได้อย่างมหาศาล
วันนี้ยังไม่มีการพูดกันว่าค่าโดยสารในแต่ละสายที่วันนี้ควรจะเปิด ไม่ว่าจะเป็นสายสายสีเหลือง สีชมพู สายสีอะไรก็ตาม ทุกสายค่าโดยสารเป็นเท่าไหร่กันแน่ และถ้ามองในภาพใหญ่เมื่อประชาชนเดินทางจริง ๆ แล้วมันต้องจ่ายค่าโดยสารเป็นเงินเท่าไหร่กันแน่ ซึ่งตรงนี้เป็นจุดผิดพลาด
วันนี้รัฐบาลต้องมาดูว่าสัญญานี้เป็นอันแรกที่เราจะทำ ที่เป็นการต่อสัญญา เพราะอีกไม่นานก็จะต้องทำการต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเส้นแรก เส้นใต้ดินที่กำลังจะหมดอายุสัญญาสัมปทานเหมือนกัน ต้องมาดูว่า วันนี้เราจะทำอย่างไรให้ระบบของการเก็บค่าโดยสารมันเป็นระบบเดียวให้ได้”
ผศ. ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“อาจารย์อยากได้แบบถอยหลังกลับไปติดกระดุมเม็ดแรกเลย คือทำอย่างไรให้การบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานของระบบโครงข่ายรถไฟฟ้าถูกดูแลโดยหน่วยงานเดียวพอ ไม่ต้องมีหลายหน่วยงาน ในที่นี้แบบสุดโต้งก็คืออยากเสนอให้ กทม. คืนโครงสร้างพื้นฐานของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตั้งแต่สัมปทาน 1, ส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 โอนกลับมาเป็นสมบัติของ รฟม.ทั้งหมด และให้ รฟม.ไปรับผิดชอบการให้บริการโครงข่ายรถไฟของทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วน BTSC ไปรับจ้าง รฟม.แทน ไม่ต้องมายุ่งกับ กทม.
แต่ว่าจะทำแบบนี้ได้ก็คงต้องคุยกันอีกเยอะเลย เพราะมันหมายถึงว่าธุรกิจที่ทาง กทม.ดำเนินผ่าน บริษัทกรุงเทพธนาคมอยู่ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวของกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวก็คงอาจต้องหายไป อันนี้ต้องไปคุยกันอีกว่าจะทำให้เกิดอะไรขึ้นมา มีผลกระทบอะไรตามมา
เหนือสิ่งอื่นใด อยากให้มองผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนโดยภาพใหญ่เป็นหัวใจ ก่อนที่จะไปมองว่านี่เป็นผลประโยชน์ของ กทม. หรือเป็นผลประโยชน์ของกระทรวงคมนาคม หรือเป็นของใคร ให้มองว่านี่คือผลประโยชน์ของประเทศ
แต่ว่าถ้าถอยหลังไปแค่นี้ มันก็อาจเหมือนตัดตอนไป แค่แก้ปัญหาเรื่องสายสีเขียวด้วยการโยนกลับไปหา รฟม. ก็ต้องอยากให้ถอยหลังกลับไปอีกชั้นหนึ่งว่า แล้วภายใต้โครงข่ายทั้งหมด กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมไปถึงเส้นทางรถไฟทั้งประเทศ จะทำอย่างไรให้ประเทศไทยสามารถที่จะได้ประโยชน์จากการทำโครงข่ายคมนาคมขนส่งทั้งระบบ
ทำอย่างไรที่จะทำให้มันผลักมาสู่ภาคการผลิตในประเทศได้ เพื่อทำให้ปริมาณความต้องการใช้มันกลับกลายมาเป็นกลไลพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน คือการพัฒนาอุตสาหกรรม การพัฒนาบุคคลากรด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การพัฒนาดาด้านอาร์แอนดี วิจัยและพัฒนาในประเทศไทย ถ้าสามารถบูรณาการในส่วนนี้ได้จะทำให้เกิดประโยชน์ในระยะยาวและก่อให้เกิดความยังยืน”
ดูคลิปเต็ม : เสวนาฟังเสียงประเทศไทย : อนาคตสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว https://www.facebook.com/citizenthaipbs/videos/1225079364955188
เรื่องที่เกี่ยวข้อง : เสียงจากผู้ใช้รถไฟฟ้าสายสีเขียว ปัญหาและอนาคตที่อยากเห็น
00000
ชวนโหวต
00000
มาตอนนี้ ประเทศไทยมีรถไฟฟ้าสารพัดสีที่วางไว้ตามแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางราง ทยอยเปิดให้บริการ
ขณะที่สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่มีทั้งเส้นทางหลักและส่วนต่อขยาย ยังคงถูกจับตาในฐานะบริการสาธารณะ ที่ควรเป็นการลงทุนเพื่อประโยชน์ของประชาชน
เราทุกคนสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจเลือกฉากทัศน์ “อนาคตสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว” ผ่านแบบสอบถามด้านล่างนี้
รถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงข่ายคมนาคมของเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยปัญหาซับซ้อนรอการแก้ไข การบริหารจัดการให้รองรับการเดินทางของผู้คนได้เต็มศักยภาพ และเปลี่ยนภาระหนี้สินเป็นรายได้ รวมทั้งการเชื่อมโยงกับบริการขนส่งสาธารณะอื่นๆ อย่างไร้รอยต่อ นี่น่าจะเป็นประเด็นที่เราต้องมาร่วมขบคิดและฟังเสียงกันอีกครั้งในเร็ว ๆ นี้