Under (self) construction : การก่อ (ร่าง) สร้างตัวของสตรีชาวโบลิเวีย

Under (self) construction : การก่อ (ร่าง) สร้างตัวของสตรีชาวโบลิเวีย

ticona

                                                                                                                                        แปลและเรียบเรียง: ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

เจ็ดปีกว่ากับการคลุกฝุ่นและต่อสู้ท่ามกลางคราบปูนเปื้อนในไซต์ก่อสร้างที่ประเทศโบลิเวีย ไม่ได้ทำให้ฝุ่นในใจของ Elizabeth Ticona พนักงานก่อสร้างหญิงลดน้อยลงเลย เสียงตอกเสาเข็มยังดังฟังชัด และเธอต้องออกเสียงให้ดังกว่านั้น เพราะตัดสินใจสู้เพื่อสิทธิของคนงานก่อสร้างที่เมืองลาปาซมามากกว่า 10 ปีแล้ว แต่ไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ Ticona ตัดสินใจถอนตัวออกมาจากกลุ่มการต่อสู้เพื่อสตรีผู้ใช้แรงงานกลุ่มเดิม ทว่ายังไม่ถอดใจ เธอลงแรงก่อร่างสหภาพสตรีแห่งผู้ใช้แรงงาน (The Union of Women Construction Workers) ด้วยตัวเอง

 “เราตั้งสหภาพขึ้นมาหลังจากที่เห็นชัดแล้วว่าอุตสาหกรรมด้านการก่อสร้างในโบลิเวียเต็มไปด้วยการเหยียดเพศและปัญหาลัทธิคลั่งชาติ”

Ticona ช่างก่ออิฐหญิงในวัย 37 ปียอมรับ ในขณะที่บทความ Women now outnumber men on construction training board ของเว็บไซต์ The Guardian ระบุว่า ผู้หญิงที่เลือกประกอบอาชีพก่อสร้างมีแค่ 1.3% และมีการส่งเสริมให้ผู้หญิงทำงานด้านนี้มากขึ้น แต่ในโบลิเวียกลับไม่ได้เข้ารูปเข้ารอยแบบนั้นเสียเท่าไหร่

 “ผู้หญิงอย่างเราๆ ต้องรับมือกับการถูกเหยียดเพศ การถูกข่มเหง และการโดนคุกคามทางเพศอยู่ตลอดเวลา” เธอกล่าวเสริม

 กลับไปทำงานในครัวนู่นไป” มักเป็นวรรคทองของวันที่พนักงานชายพูดซ้ำๆ พวกเขาพูดออกมาจนติดเป็นนิสัย และทำเหมือนไม่มีอะไรผิดปกติเลย

ซ้ำยังย้ำเข้าไปอีกว่า “มีแค่ผู้ชายเท่านั้นแหละที่จะทำงานหนักแบบนี้ได้”  นั่นคือสาเหตุว่าทำไมนักสู้ด้านแรงงานก่อสร้างหญิงคนแรกของโบลิเวียต้องการที่จะก่ออิฐถมปูนให้แก่ความคิดแบบนี้ และสู้เพื่อสร้าง

photo 1

เข็มนาฬิกาเดินไปพร้อมกับจำนวนสตรีผู้ใช้แรงงานที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความที่หลายพื้นที่ในเมืองใหญ่อย่างลาปาซหรือซานตาครูซเต็มไปด้วยเสียงตอกเสาเข็ม ตำแหน่งว่างในการจ้างงานก็เพิ่มมากขึ้นด้วย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผู้ใช้แรงงานจะได้รับโอกาสที่ดี

ตั้งแต่ปี 2547 อุตสาหกรรมด้านการก่อสร้างเริ่มโตขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากการลงทุนก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น 32% แค่ในปี 2555 ถึง 2557 CNN และแหล่งข่าวอื่นๆ ก็ระบุไว้ว่าจำนวนผู้ใช้แรงงานก่อสร้างในโบลิเวียมีประมาณ 33% ที่เป็นเพศหญิง

ฝุ่นควันขโมง เสียงรถเครนร้องระงม หรือคราบปูนที่เกาะติดตามร่างกายน่าจะเป็นสิ่งท้ายๆ ที่ผู้หญิงชาวโบลิเวียอยากสัมผัส แต่พวกเธอไม่มีทางเลือกอื่น รวมถึงไม่มีทางที่จะฝ่าฝันเรื่องเพศไปได้ง่ายๆ ตำแหน่งงานในไซต์ก่อสร้างก็ไม่เคยเลื่อนขึ้นเลย

 “ตำแหน่งของเราถูกจำกัดไว้แค่ผู้ช่วยหรือไม่ก็ผู้ใช้แรงงานปกติเท่านั้น ไม่เคยมีโอกาสได้เป็นผู้คุมหรือผู้เซ็นสัญญาเลย” Ticona กล่าว

องค์กรเพื่อสิทธิสตรี NGO Red Habitat ที่เมืองลาปาซก็ช่วยการันตีความจริงอีกว่ามีผู้ใช้แรงงานหญิงแค่ 3% เท่านั้นที่ได้รับการเลื่อนขั้นเป็นหัวหน้าควบคุมการก่อสร้าง ในขณะที่อีก 97% ยังคงหยุดอยู่แค่ผู้ช่วยหรือผู้ใช้แรงงานขั้นต่ำ

ดูเหมือนว่า ไม่ว่าจะเป็นอาชีพการงานในสาขาใด ผู้ชายก็มักได้ค่าจ้างมากกว่าผู้หญิงเสมอ

 “ผู้ชายอาจได้ค่าจ้าง 150 โบลิเวียนโน (BOB) ต่อวัน แต่ผู้หญิงจะได้แค่ 100 โบลิเวียนโนเท่านั้น” Ticona เสริมความ

แม้รู้สึกว่าอัตราเงินเดือน 15 ดอลลาร์สหรัฐ (USD) ค่อนข้างน้อยอยู่แล้ว แต่อะไรๆ ก็แย่ลงได้อีก เพราะผู้หญิงชาวโบลิเวียที่ประกอบอาชีพพื้นฐานเก่าแก่ได้เงินเดือนน้อยกว่านั้น

colors-magazine-female-construction-workers-asumoc-bolivia-ticona-union-rights-women-11-8840_600_400_90

ในวันที่ 1 พ.ค. 2558 อัตราเงินเดือนขั้นต่ำของโบลิเวียสูงขึ้น 15% ไปอยู่ที่ 239 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ถ้าคำนวณแล้ว สตรีผู้ใช้แรงงานจะมีรายได้เฉลี่ยแค่ 11.85 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ซ้ำร้ายผู้หญิงบางกลุ่มที่ไม่ได้อาชีพทำเกษตรกรรมและหารายได้ตามมีตามเกิดก็อาจได้น้อยกว่านั้น เช่น ช่างตัดเย็บในเมืองลาปาซจะได้ค่าแรงแค่ 10 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน

“งานก่อสร้างจ่ายเรางามกว่าอาชีพปกตินิดหน่อย” Ticona เผย

“ฉันโดนบีบบังคับให้ทำอาชีพนี้โดยอัตโนมัติเพราะเป็นคุณแม่ลูกสี่ พวกคนงานก่อสร้างผู้หญิงก็เป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวเหมือนๆ กันทั้งนั้น”

แน่นอนว่าหยาดเหงื่อและแรงพลังที่เสียไปต้องได้ผลตอบแทนที่คุ้มเหนื่อย งานก่อสร้างที่โบลิเวียจ่ายค่าจ้างเป็นรายสับดาห์ นั่นหมายความว่าลูกจ้างไม่ต้องนับวันรอจนถึงปลายเดือนเหมือนอาชีพอื่นๆ พวกเขามีเงินหมุนในยามขัดสน พอให้ชีวิตครอบครัวในแต่ละวันไม่ฝืดเหมือนปั้นจั่นขึ้นสนิม

สิ่งที่ทำให้เรี่ยวแรงของ Ticona กลับมาคือสหภาพมีสมาชิกเพิ่มขึ้นจาก 35 ไปที่ 100 คนเมื่อเดือนที่แล้ว นอกจากจะจัดหาบริการพื้นฐาน เช่น ประกันสุขภาพให้สมาชิก สหภาพยังบู๊หนักเรื่องสถานการณ์การถูกคุกคามทางเพศและการจ่ายค่าจ้างที่อยุติธรรม

ไม่หยุดเพียงแค่นั้น สหภาพวางแผนที่จะหาพนักงานตำแหน่งการบริหารจัดการองค์กรเพิ่ม Navy Chacón หนึ่งในพนักงานก็เริ่มยิ้มได้สดใสขึ้นแล้วหลังจากที่เห็นความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ในองค์กร

“สหภาพแห่งสตรีผู้ใช้แรงงานพึ่งจะได้เซ็นสัญญาในโปรเจ็กต์ว่าจ้างทาสี ตอนนี้เราอยู่ในฐานะที่สามารถจ้างผู้ใช้แรงงานชายมาเป็นลูกน้องในสังกัดได้แล้ว” Chacón กล่าวอย่างภาคภูมิใจ

“ถึงเวลาที่เราจะเป็นคนเซ็นสัญญาและจ้างพวกผู้ชายมาทำงานให้เราบ้าง”

 ปัจจุบันสหภาพแห่งสตรีผู้ใช้แรงงาน (ชื่อเดิม : Bolivian Women Builders Association, ASOMUC) ไม่มีช่องทางการติดต่อออนไลน์ใดๆ อย่าว่าแต่อีเมลเลย เว็บไซต์ทางการก็ยังไม่มี รัฐบาลโบลิเวียยังตรวจสอบการทำงานของสหภาพอยู่อย่างนั้น แต่ก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลไป เพราะผู้ก่อตั้งจริงจังกว่าการเดินเรื่องในอากาศ Chacón กำลังประชาสัมพันธ์และเชิญชวนเพื่อนผู้หญิงทั่วโลกมาร่วมสหภาพด้วยกัน แค่ยกหูโทร +591 705 32350 สายตรงมาที่โบลิเวีย

 “เราอยากต่อสู้เพื่อเพื่อนผู้หญิงอย่างทั่วถึง เพราะมีการทำร้าย ความรุนแรง การทารุณ การข่มขืน และข่มเหงทางเพศอีกมากมาย” Chacón เสริม

“ไม่ใช่แค่สตรีผู้ใช้แรงงานที่ทำงานในไซต์ก่อสร้างเท่านั้น แต่เป็นสตรีทุกคนในละตินอเมริกา”

ที่มา-รูปภาพ : http://www.colorsmagazine.com/blog/article/mujeres / May 14, 2015

author

เรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง related posts

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ