สนามบินสุโขทัยวุ่น ชาวบ้านปักหลักชุมนุมเรื้อรัง จี้แก้ปัญหาละเมิดสิทธิชุมชน

สนามบินสุโขทัยวุ่น ชาวบ้านปักหลักชุมนุมเรื้อรัง จี้แก้ปัญหาละเมิดสิทธิชุมชน

ชาวบ้านอำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัยปิดสนามบินสุโขทัย ที่ดำเนินกิจการโดย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นเวลากว่า 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2565 เป็นต้นมา เรียกร้องแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่สาธารณะประโยชน์ (นสล.) หลายแปลง ขณะเดียวกันสนามบินสุโขทัยแจ้งความต่อร้อยเวรสถานีตำรวจภูธรอำเภอสวรรคโลกข้อหาบุกรุกพื้นที่สนามบินฯ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) สวนกลับ! “หยุดข่มขู่คุกคามองค์กรชาวบ้านที่ดำเนินการภายใต้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ” ด้านจังหวัดสุโขทัย โดยผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบที่ดินสาธารณะประโยชน์ร่วม เพื่อตรวจสอบพื้นที่สาธารณะประโยชน์ในพื้นที่ครอบครองของสนามบินสุโขทัย

A group of people holding signs
Description automatically generated with medium confidence

ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2565 เป็นต้นมา ชาวบ้านในพื้นที่ 3 ตำบล ของอำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ประกอบไปด้วย ต.คลองกระจง ต.ย่านยาว และ ต.หนองกลับ จำนวนกว่า 20 คน รวมตัวปักหลักชุมนุมบริเวณหน้าป้ายทางเข้าสนามบินสุโขทัย ซึ่งดำเนินกิจการโดย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบางกอกแอร์เวย์ เรียกร้องให้สนามบินฯ และหน่วยงานภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการละเมิดสิทธิชุมชน นับตั้งแต่ได้มีการดำเนินกิจการสนามบินสุโขทัยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 ซึ่งมีปัญหาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 25 ปี ทั้งการปิดกั้นการเข้าใช้ประโยชน์หนองน้ำสาธารณะประโยชน์ที่รัฐได้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน การสร้างคันดินป้องกันน้ำท่วมพื้นที่สนามบินฯ ที่กีดขวางทางน้ำธรรมชาติจนทำให้น้ำท่วมขังพื้นที่นาข้าวของเกษตรกรชาวนาเป็นเวลานับเดือน จนทำให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้างต่อเกษตรกรชาวนากว่า 800 คน

ที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2556 ชาวบ้านในพื้นที่สวรรคโลกได้เรียกร้องให้ทางสนามบินฯ แก้ไขปัญหาด้วยการขุดคลองระบายน้ำ 3 สาย คือสาย A บริเวณด้านทิศเหนือของสนามบินฯ เพื่อให้น้ำได้ระบายออกทางด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นที่ลุ่มต่ำเคยปรากฏเป็นหนองบึงสำหรับรับน้ำที่ไหลท่วมมาตั้งแต่อดีต สาย B บริเวณเรียบคันดินกันน้ำท่วมพื้นที่สนามบินด้านทิศตะวันตก เพื่อให้ไปบรรจบกับ สาย C บริเวณหนองตามพร้อมที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของสนามบิน ซึ่งน้ำที่ระบายออกไปจะผ่านตำบลหนองกลับและไหลลงสู่แม่น้ำยมต่อไป นอกจากนั้นชาวบ้านยังได้เรียกร้องให้สนามบินฯ ชดเชยเยียวยาผู้ได้ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าวด้วยเช่นกัน แต่ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่มีการเรียกร้องสนามบินสุโขทัยกลับเพิกเฉยที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาใดใด 

A group of people wearing masks
Description automatically generated with medium confidence

นางจำเรียง ศรีสวัสดิ์ ชาวบ้านบ้านย่านยาว ต.ย่านยาว อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย ระบุว่า สมัยที่ยังไม่มีสนามบินสุโขทัย น้ำในพื้นที่ก็ท่วมตามธรรมชาติอยู่แล้ว 4-5 วัน เมื่อน้ำไหลลงที่ลุ่มต่ำผลกระทบจากน้ำท่วมก็ไม่มาก แต่เมื่อสนามบินเริ่มก่อสร้าง ก็ได้เปลี่ยนแปลงพื้นที่ลุ่มที่เคยใช้เป็นที่รองรับน้ำ สร้างคันดินกีดขวาง ก็ทำให้น้ำท่วมนาข้าวของชาวบ้านที่อยู่ทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันตกของสนามบินเป็นเวลาแรมเดือน บางปีอาจถึง 2-4 เดือนเลยทีเดียว

“ตลอดระยะเวลากว่า 25 ปี ผลผลิตของพวกเราเสียหายแทบทุกปี เป็นหนี้ ธกส. ทุกปี ที่ผ่านมาพวกเราเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขปัญหานี้เป็นสิบปีมาแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอะไรเลย และสนามบินสุโขทัยก็ไม่ยอมรับว่าได้สร้างผลกระทบนี้ต่อชาวบ้าน” นางจำเรียงกล่าว

A picture containing person, person, outdoor
Description automatically generated

นายคำรณ สังวาลย์ ชาวบ้านย่าวยาว ก็เป็นอีกคนที่ได้รับผลกระทบและเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมชุมนุม กล่าวเสริมว่า “พวกเราเรียกร้องมาตั้งแต่ปี 2556 ทั้งผู้ว่าฯ ทั้งนายอำเภอก็รับปากว่าจะจัดการเรื่องนี้ให้ แต่พอถึงเวลาก็มีการโยกย้ายไปอยู่ที่อื่น นี่ก็ 3-4 คนแล้ว พอจะดำเนินการนายอำเภอก็ย้าย พอไปถึงผู้ว่าฯ ก็ย้ายผู้ว่าอีก มันก็เลยเป็นแบบนี้ เรื้อรังมานานแล้ว”

A picture containing person, outdoor
Description automatically generated

นายปอน เพ็ชมุข ชาวบ้านตำบลคลองกระจง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินรายแรกที่ได้ขายที่ดินให้กับบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เผยต่อผู้สื่อข่าวว่า ตนเป็นเจ้าของที่ดินในบริเวณที่เป็นตั้งอาคารผู้โดยสาร ก่อนหน้าที่จะมีสนามบินตนได้ทำนานในพื้นที่นั้นมานานกว่า 30 ปี ซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาจากรุ่นพ่อ รอบ ๆ พื้นที่นาของตนมีหนองบึงหลายแห่ง ชาวบ้านจะใช้เป็นที่หนองเหล่านี้เป็นที่หาปลา ส่วนในช่วงเวลาว่างเว้นจากการทำนาก็จะนำวัว-ควายมาเลี้ยงกันที่บริเวณนี้เพราะเป็นพื้นที่ลุ่ม น้ำขังตลอดทั้งปี มีหญ้ามีน้ำอุดมสมบูรณ์ ซึ่งสมัยนั้นตนไม่รู้ว่าหนองเหล่านี้เป็นที่สาธารณะประโยชน์ แต่ก็พบว่าเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านมาใช้ร่วมกัน โดยไม่มีใครระบุว่าเป็นเจ้าของแต่อย่างใด 

“ตอนนั้นเขาเข้ามาขอซื้อที่ดิน โดยบอกแต่เพียงว่าอยากจะทำนา ผมก็บอกเขาไปว่าจะลองปรึกษาพ่อดูก่อนว่าเขาจะขายหรือไม่ขาย แต่ไม่นานก็มีทั้งทหารจากกองทัพภาคที่ 3 มาหาผมที่บ้านเป็นสิบ ๆ คน มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และนายที่ดิน มาบอกให้ผมกับพ่อว่าจะเวรคืนที่ดินแปลงนั้นไปสร้างสนามบิน เพราะของผมเองนี่มี นส.3 จำนวน 136 ไร่ 2 งาน 25 ตร.วา พ่อผมก็เลยตัดสินใจให้เขาไป เพราะกลัวจะไปถ่วงความเจริญของเขา ผมก็เลยได้เงินไร่ละ 8,000 บาท แล้วนำเงินไปซื้อที่ดินใหม่ที่อำเภอศรีสำโรง” นายปอนกล่าว

Text
Description automatically generated

สนามบินสุโขทัย ดำเนินกิจการโดย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบางกอกแอร์เวย์ เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อปี 2535 และเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2539 เป็นเวลากว่า 25 ปี มีเนื้อที่ประมาณ 2,000 ไร่ มีทางวิ่งแนวเหนือ-ใต้ ความยาว 2.3 กิโลเมตร บนพื้นที่ที่มีระดับความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 55 เมตร ตั้งอยู่ในเขต 3 ตำบล คือ ต.ท่าทอง ต.คลองกระจง และ ต.ย่านยาว อ.สวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย อาทิ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ฯลฯ รวมทั้ง ในเส้นทางในประเทศแถบอินโดจีน โดยบริษัทฯ มีความตั้งใจที่จะใช้สนามบินสุโขทัย เป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคแถบนี้ นอกจากนั้นพื้นที่ดำเนินกิจการสนามบินฯ ยังให้บริการที่พัก สวนสัตว์ ร้านอาหาร พิพิธภัณฑ์ และศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย นับเป็นการบริการการท่องเทียวที่มีนักท่องเทียวเข้ามาเยี่ยมชมได้ทุกวัน แต่กลับเป็นการสร้างผลกระทบและเป็นการละเมิดสิทธิในการใช้ประโยชน์พื้นที่สาธารณะของชุมชนมาต่อเนื่องเรื้อรัง โดยยังไม่ได้รับการแก้ไขให้เกิดความเท่าเทียม และเป็นธรรม จนทำให้ชาวบ้านกว่า 20 คนรวมตัวกันออกมาปักหลักชุมนุมตั้งแต่วันที่ 8 มิ.ย. ที่ผ่านมา เพื่อยืนยันข้อเรียกร้องอีกครั้ง โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ดังนี้

  1. ขอให้บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) คืนที่ดินสาธารณะ (นสล.) จำนวน 17 แปลง (ค้นพบเบื้องต้น) ซึ่งยังไม่สามารถระบุจำนวนเนื้อที่ทั้งหมดได้ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นหนองน้ำธรรมชาติและเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ที่ชาวบ้านเคยใช้ประโยชน์ร่วมกัน
  2. ขอให้แก้ไขปัญหาระบบระบายน้ำ (เส้นทางน้ำธรรมชาติ) ซึ่งมีปัญหาเรื้อรังมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสนามบินเมื่อ พ.ศ. 2539 แต่ไม่เคยมีการแก้ไขให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องของชาวบ้านในพื้นที่ทั้ง 4 ตำบล
  3. ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย หรือเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในพื้นที่ทั้ง 4 ตำบล (ประมาณ 800 คน) ที่เสียสิทธิการใช้น้ำและการใช้ประโยชน์ในที่ดินสาธารณะตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา
A group of people posing for a photo in front of a building
Description automatically generated

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา กลุ่มชาวบ้านที่รวมตัวเป็นสมัชชาประชาชนคนเหนือล่าง ซึ่งปักหลักชุมนุมอยู่บริเวณทางเข้าสนามบินสุโขทัย ได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหา ร่วมกันบุกรุกพื้นที่ส่วนบุคคล โดยสนามบินสุโขทัยได้ส่งตัวแทนเข้าแจ้งความต่อร้อยเวรสถานีตำรวจภูธรอำเภอสวรรคโลก ถึง 3 ครั้ง

ครั้งที่ 1 บุกรุกพื้นที่ส่วนบุคคล วันที่ 30 พฤษภาคม 2565 ผู้ถูกกล่าวหา ได้แก่ 1) นายบรรจบ อยู่ร่วม 2) นายรณชัย ชัยนิวัฒนา 3) นายคำรณ สังวาลย์ 4) นางสมใจ สังวาลย์ 5) นายมาโนช วรรณศิริ 6) นางเจนจิรา อยู่ร่วม และ 7) นางปิยะพร ศรีสวัสดิ์

ครั้งที่ 2 บุกรุกพื้นที่ส่วนบุคคล วันที่ 8 มิถุนายน 2565 ผู้ถูกกล่าวหา ได้แก่ 1) นายบรรจบ อยู่ร่วม 2) นายรณชัย ชัยนิวัฒนา 3) นายคำรณ สังวาลย์ 4) นางทองสุข รัตนมานะ 5) นางจำเรียง ศรีสวัสดิ์ 6) นางสมใจ สังวาลย์ และ 7) นางจรัส เพ็ชมุข

ครั้งที่ 3 บุกรุกพื้นที่ส่วนบุคคล วันที่ 12 มิถุนายน 2565 ผู้ถูกกล่าวหา ได้แก่ 1) นายบรรจบ อยู่ร่วม 2) นายรณชัย ชัยนิวัฒนา 3) นายคำรณ สังวาลย์ 4) นางเจนจิรา อยู่ร่วม และ 5) นางจำเรียง ศรีสวัสดิ์

Text, letter
Description automatically generated

ในวันเดียวกัน ด้านคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ได้แถลงการณ์ เรื่อง ข้อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย และบริษัทบางกอกแอร์เวย์ แก้ไขปัญหาสนามบินสุโขทัยที่เรื้อรังมายาวนานกว่า 25 ปี และขอให้เคารพสิทธิชุมชนด้วยการไม่คุกคามชาวบ้านที่ออกมาเรียกร้องสิทธิ์ โดยแถลงการณ์ตอนหนึ่งได้ระบุว่า “คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) มีความเห็นว่า สำนักงานจังหวัดสุโขทัย โดยผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับทราบถึงสถานการณ์และข้อเท็จจริงของปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด อันรวมถึงข้อสงสัยของประชาชนที่มีต่อบริษัทบางกอกแอร์เวย์ที่ว่า ได้ทำการบุกรุกที่ดินสาธารณะ หรือหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงมหาดไทย แต่กลับปล่อยปละละเลย และซุกเก็บปัญหาไว้ยาวนานหลายสิบปี จนทำให้การปรับใช้พื้นที่ของโครงการตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของชาวบ้านอย่างชัดเจนมากขึ้นดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ถือเป็นสิ่งที่ไม่อาจปัดความรับผิดชอบได้ จึงขอเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาทั้งหมด ดังนี้

  1. ขอให้มีการตรวจสอบข้อสงสัยต่อการบุกรุกที่ดินสาธารณะประโยชน์ของบริษัทบางกอกแอร์เวย์ และหากพบว่าบุกรุกจริง ขอให้ดำเนินการทุกอย่างตามกระบวนการทางกฏหมายกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดให้ถึงที่สุด และจะต้องคืนที่ดินสาธารณะประโยชน์คืนกลับให้รัฐและประชาชน
  2. ขอให้ตรวจสอบผลกระทบที่เกิดจากโครงการก่อสร้างสนามบินสุโขทัย ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันโดยเฉพาะเรื่องระบบน้ำ
  3. ขอให้ศึกษาเพื่อประเมินความเสียหายจากผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในพื้นที่ทั้งหมด และขอให้มีการชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากโครงการดังกล่าวตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน
  4. ขอให้หยุดการข่มขู่ คุกคาม กลุ่มและองค์กรชาวบ้านที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหา ซึ่งดำเนินการภายใต้สิทธิตามรัฐธรรมณูญ
A group of people in a meeting
Description automatically generated with medium confidence

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 ได้มีการการประชุมคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการบุกรุกที่หรือทางสาธารณประโยชน์ ครั้งที่ 3 ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลคลองกระจง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย โดยมีสารสำคัญในที่ประชุมดังต่อไปนี้

เนื่องคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะหมดวาระการทำงานลงในประมาณสิ้นเดือนมิถุนายน 2565 ทางตัวแทนสมัชชาประชาชนคนเหนือล่าง จึงเสนอในที่ประชุมขอต่ออายุคณะกรรมการฯ ต่อไปอีกวาระหนึ่งเนื่องจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมายังไม่แล้วเสร็จในระดับที่น่าพอใจ ประธานคณะกรรมการฯ นายชัยวัฒน์ ประดับเพชร ปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่มงานบริหารปกครอง รับปากในข้อเสนอดังกล่าวแล้วจะนำเรียนผู้บริหารระดับสูงต่อไป คาดหมายว่าภายในสองสามวันนี้ก็จะได้รับคำตอบในเรื่องดังกล่าว 

ตามที่คณะกรรมการฯ ได้ลงพื้นที่ของสนามบินสุโขทัย เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 เพื่อตรวจสอบและชี้แนวเขตหนองน้ำสาธารณะประโยขน์ 3 แห่ง คือ หนองอีกวง หนองตาดำ หนองตาปาน นั้น วันนี้ทางเจ้าหน้าที่ที่ดินอำเภอสวรรคโลก ได้ทำการตรวจสอบแล้ว ผลปรากฏว่า หนองอีกวง หนองตาปาน เป็นที่ดินที่มีโฉนดครอบครอง ส่วนหนองตาดำเป็นที่ดินที่มีเอกสารหนังสือรับรองการทำประโยขน์ (น.ส.3ก.)  

จากผลการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ที่ดินอำเภอสวรรคโลกดังกล่าวข้างต้น ทางกลุ่มสมัชชาประชาชนฅนเหนือล่าง กรณีผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินกิจการของสนามบินสุโขทัย จึงแสดงเจตนารมณ์ขอคัดค้านในเรื่องดังกล่าว รวมทั้งของคัดค้านการผลการรังวัดที่ดินสาธารณะ/หนองน้ำสาธารณะ ใน 14 แปลงก่อนหน้านั้นอีกด้วย เรื่องจากเห็นว่าที่ดินสาธารณะ/หนองน้ำสาธารณะดังกล่าวไม่ได้ตรงกับข้อเท็จจริง ทั้งจุดที่ตั้งและขนาดของพื้นที่ โดยจะทำหนังสือคัดค้านในเรื่องดังกล่าวไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดโดยเร็วที่สุด.

รายงานโดย ตาล วรรณกูล

author

เรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง related posts

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ