1 วัน 3 คน 3 เส้นทางกับความวุ่นวายในขนส่งสาธารณะ

1 วัน 3 คน 3 เส้นทางกับความวุ่นวายในขนส่งสาธารณะ

เคยนึกกันมั้ยว่าทำไมแค่การเดินทางไปทำงานในแต่ละวัน เราต้องรู้สึกว่ามันลำบาก เบียดบังเวลาและพลังงานชีวิตมากเกินไป?

กรุงเทพฯ ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว แต่ในทางกลับกันความเจริญนี้ก็สะท้อนให้เห็นว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่โตและเต็มไปด้วยความเจริญนั้น ก็ยังโตไม่เท่ากันทุกพื้นที่ บางพื้นที่ถ้าไม่ใช่ในเขตเมือง หรือ เขตที่เต็มไปด้วยห้างสรรพสินค้า ฯ ก็แทบจะไม่ต่างอะไรกับปริมณฑลและ ต่างจังหวัดเลย ความเจริญก็แทบจะไปไม่ถึงชานเมือง ดังนั้นคนจำนวนหนึ่งที่อยู่ในกรุงเทพ ฯ คนที่อยู่ชานเมืองของกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด ล้วนอยากหาทางวิ่งเข้าหาเขตความเจริญเพื่อความพยายามในการลืมตาอ้าปากให้สามารถอยู่รอดไปได้

การเดินทางของปอวา อาอวง โอมมี่ ในฐานะ First Jobber และประชากรแฝงที่เข้ามาใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ต้องเผชิญกับความยุ่งยากและท้าทายในทุก ๆ วัน จนบางครั้งก็ครุ่นคิดว่า นี่กำลังเอาชีวิตมาแขวนไว้บนเส้นด้ายรึป่าวนะ.. 

ระหว่างทางขาไป..

 “นาฬิกาชีวิตของเราเริ่มต้นขึ้นตอน 6:30 น. ต้องทำธุระส่วนตัวให้เสร็จพร้อมออกจากห้องแถวจรัญฯ ตอน 7:00 น. สำหรับเรามันเช้ามากนะ แต่ถ้าออกช้ากว่านี้ก็คงจะไปทำงานสายแน่ ๆ”

โอมมี่ พนักงานออฟฟิศย่านอารีย์

โอมมี่ ออกเดินทางจากหอพักแถวจรัญฯ ไปทำงานที่ย่านอารีย์ในระยะทาง 10 กิโลเมตร ตอนเช้าจะต้องนั่งวินมอเตอร์ไซค์ไปที่รถไฟฟ้า MRT แต่ต้องลุ้นตลอดว่าจะมีวินมอเตอร์ไซต์ผ่านมาเมื่อไหร่ เพราะตอนเช้าจะมีคนใช้วินเยอะมาก ต้องรอลุ้นว่าจะมีวินผ่านมาให้เราโบกมั้ย หลังจากได้ขึ้นแล้วคนขับก็จะขับช้ามาก เพราะติดบรรดารถยนต์ที่รอต่อเเถวออกจากถนนหน้าหอยาวเป็นขบวนรถไฟ ทำให้ต้องใช้เวลานานกว่าจะขับออกมาจากถนนหน้าหอได้ ถึงถนนใหญ่ก็ต้องเดินเลียบฟุตบาทไปที่สถานีรถไฟฟ้า MRT

โอมมี่อยู่บน MRT ระหว่างเดินทางไปออฟฟิศ

ระหว่างทางที่เดินสิ่งที่เห็นประจำคือรถยนต์และรถโดยสารที่ติดแบบหยุดนิ่งขยับช้ามากคิดเลยว่าถ้าสภาพขึ้นรถเมล์ไปทำงานคือสายแน่ ทางเดินเท้าก็ใช่ว่าจะดีทางเดินไม่เรียบต้องคอยมองตลอดเวลาว่าจะสะดุดตอนไหน เวลาก็เร่งแบบอะไรดีท้ายสุดก็เดินทางมาถึงสถานีจนได้ การซื้อตั๋วของระบบ MRT ถือว่าสะดวกมากไม่ค่อยติดขัดและสภาพแวดล้อมดี แต่พอขึ้น MRT ก็จะเจอคนจำนวนมากที่ไปทำงานเหมือนกัน เมื่อเริ่มเข้าใกล้สถานีจตุจักรเท่าไหร่ คนยิ่งเยอะเท่านั้น

คนบน MRT ช่วงเวลาตอนเช้า

ออกจากขบวนรถไปทางออกทุกคนก็จะต่อแถวกันยาวไปถึงสุดชานชาลา ต่อมาก็เร่งไปรอรถเมล์ไปบริษัทรถเมล์ที่ผ่านไปบริษัท สภาพคือส่วนใหญ่คนจะเเน่นป้ายและรถเมล์ที่ผ่านมาค่อนข้างเยอะแต่คนมักจะขึ้นรถพัดลมอยู่เสมอ ตัวเราเองก็เช่นกัน เพราะราคาเดียวตลอดสายและประหยัดค่าใช่จ่าย

แต่ถ้านั่งรถเมล์ไปก็จะต้องไปเจอรถติดที่สะพานควายเป็นประจำติดทีก็นานพอตัว ยิ่งคนเเน่นแล้วเหมือนจะตายให้ได้แต่ทุกอย่างจะโล่งอกไปเมื่อเดินทางมาถึงป้ายรถเมล์ที่บริษัท แค่ตอนเช้าก็รู้สึกแทบจะหมดแรงตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มทำงานแล้ว 

คนต่อคิวออกจาก MRT
รถเมล์ที่ผ่านไปถึงออฟฟิศที่โอมมี่ทำงาน

สำหรับปอวา พนักงานออฟฟิศย่านอุดมสุข เวลาเข้างานคือ 10:00 น. ออกเดินทางจากพัฒนาการ 50 ต้องตื่นตั้งแต่ 7:30 น. เพื่อทำธุระส่วนตัวและเตรียมตัวให้พร้อมก่อนออกเดินทางไปทำงานในระยะทาง 14 กิโลเมตร ด้วยการนั่งวินมอเตอร์ไซค์ออกจากหมู่บ้านเพื่อไปขึ้นรถเมล์

“รถเมล์ที่ผ่านที่หมายมีเพียง 2 สายเท่านั้น ทำให้ทุกวันต้องใช้เวลาในการรอรถเมล์ไม่ต่ำกว่า 30 นาที วันไหนโชคดีก็รอไม่นาน”

ปอวา พนักงานออฟฟิศย่านอุดมสุข

ปอวาอยู่บนรถเมล์ระหว่างเดินทางไปออฟฟิศ

การรอรถนานถือเป็นเรื่องที่เจอจนชิน กับรถเมล์ที่ขาดสายเนื่องจากการจราจรจากต้นทางที่ติดขัดจึงเป็นเหตุให้รถเมล์ขาดสายอยู่บ่อยครั้ง มองดูนาฬิกาข้อมือเป็นเวลา 8:20 น. ซึ่งถือเป็นเวลาส่วนใหญ่ที่จะได้นั่งรถเมล์เพื่อไปต่อรถอีกต่อก่อนจะถึงซอยออฟฟิศ

การนั่งบนรถเมล์ต่อแรกนั้นใช้เวลาไม่นานเท่าไหร่ แต่จะมีช่วงที่ติดบ้างเล็กน้อยเนื่องจากถนนที่เต็มไปด้วยเขตก่อสร้างรถไฟฟ้าที่ขยายพื้นที่จนเกลื่อนถนน เหลือเพียงแค่ไม่กี่เลนให้รถวิ่ง แต่พอหลุดจากตรงนั้นมาก็วิ่งปร๋อ

รถเทียบป้ายรถเมล์เวลาประมาณเกือบ 9 โมง ต้องรีบลงจากรถเมล์เพื่อต่อสองแถวไปเส้นอุดมสุข การต่อรถในพาร์ทนี้จะถือเป็นเรื่องที่แฮปปี้มากที่สุด เพราะรถจะมาเทียบท่าไม่ขาดสาย แต่ถ้าต้องรอจริง ๆ ก็ไม่เกิน 15 นาที การนั่งรถสองแถวต่อที่ 2 นั้น ต้องฝ่าการจราจรที่ติดขัดบ้างเล็กน้อยในช่วงแรก เนื่องจากเป็นการขึ้นรถหน้าห้างและต่อด้วยตลาด จึงทำให้มีรถวิ่งไปมาจำนวนหนึ่ง แต่พอหลุดพ้นจากตรงนั้นไปก็ไม่มีอะไรที่หยุดสองแถวคันนั้นๆได้

เหตุผลที่เลือกนั่งสองแถวไม่เพียงแต่เพราะมีราคาที่ถูก แต่ยังมีการใช้ทางลัดเพื่อเลี่ยงรถติด หรือเป็นกลยุทธ์ในการเพิ่มลูกค้าโดนการเข้าซอยซอกแซก ให้ได้ผู้โดยสารที่มากขึ้นของคนขับ แต่ถือว่าเป็นการเลี่ยงรถติดได้ดีทีเดียว การนั่งสองแถวในแต่ละวันจะใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที ก็ถึงหน้าปากซอยออฟฟิศ และก็ต่อรถวินมอเตอร์ไซค์เพื่อเข้าไปออฟฟิศ เป็นอันเสร็จสิ้นการเดินทาง ตรอกบัตรเข้าทำงานเวลา 9:20 น. โดยประมาณ การมาถึงที่ทำงานก่อนเวลาเป็นเรื่องปกติไปแล้วของทุก ๆ คนในออฟฟิศ เพราะเหตุผลเดียวนั่นก็คือ ‘หนีรถติด’

อาอวง พนักงานออฟฟิศย่านวิภาวดี-รังสิต ตื่นตอน 7:00 น. และใช้เวลาทำทุกอย่างให้เสร็จก่อน 8:00 น. เพื่อเตรียมตัวออกเดินทางจากหอพักย่านปิ่นเกล้า ไปที่ออฟฟิศในระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร เรียก Grab bike ทุกวันเพื่อเดินทางไปขึ้นรถไฟฟ้าสายสีแดงสถานีบางบำหรุ รอบ 8:24 น. ดูเหมือนจะเป็นการเดินทางที่เรียบง่ายและไม่มีอะไรที่ดูยากลำบาก จนกระทั่งถ้าเช้าวันนั้นฝนตก

ระหว่างนั่ง Grab bike ไปขึ้นรถไฟฟ้าสายสีแดง

“ถ้าฝนตกตอนกำลังออกไปทำงาน นั่นคือหายนะ เพราะถนนบรมฯ และถนนสิรินธร ตอนเช้ารถติดมากถึงมากที่สุด ไม่มีใครอยากมารับในช่วงเวลาแบบนี้หรอก ยิ่งฝนตกด้วย ต้องยอมตากฝนหารถเอาข้างหน้าที่ไม่รู้ว่าจะวินหรือแท็กซี่จะมามีขับผ่านมาบ้างมั้ย หรือจะลองเรียกรถเหมือนเดิมที่เคยทำทุกวันก็มักจะเป็นปัญหาคนแย่งกันเรียกรถเป็นจำนวนมากอยู่เสมอ” 

อาอวง พนักงานออฟฟิศย่านวิภาวดี-รังสิต
เปียกฝนเพราะต้องนั่งวินไปสถานีรถไฟฟ้า

อาอวงจะเดินแตะบัตรเข้าชานชาลาในเวลา 8:20 น. เพื่อขึ้นรถไฟฟ้าขบวนรอบ 8:24 น. เนื่องจากด้านในชานชาลาไม่มีที่ให้นั่งรอ ไม่ว่าจะมาเร็วกว่าแค่ไหนก็จะนั่งรอด้านนอกก่อนเสมอ ขึ้นสถานีบางบำหรุ – สถานีบางซื่อ และต่อจากสถานีบางซื่อ – สถานีหลักสี่

ขบวนไปบางซื่อกำลังเข้าเทียบชานชาลา

ก่อนที่จะต่อรถแท็กซี่ไปออฟฟิศ ก็จะแวะซื้อข้าวเช้าและกาแฟก่อน หลังจากนั้นก็จะเดินไปขึ้นแท็กซี่ไปยังออฟฟิศ 

ทางออกจากรถไฟฟ้าสายสีแดงลงที่วิภาวดี-ขาเข้า

ระหว่างทางขากลับ..

โอมมี่เลิกงานตอน 18:00 น. สำหรับเราคือเป็นเวลาที่จะได้ออกไปใช้ชีวิตของตัวเองหลายครั้งเมื่อไม่รู้จะไปไหนก็คือกลับห้อง

“ขากลับจะขึ้นรถไฟฟ้า เพราะทำงานวันนึงก็เหนื่อยแบบรากเลือดอยู่แล้วก็อยากกลับไปพักเร็วๆ” 

โอมมี่ พนักงานออฟฟิศย่านอารีย์

เพื่อประหยัดต้องนั่งรถเมล์ไปสถานีจตุจักรก่อนบรรยากาศตรงป้ายรถเมล์คือเต็มไปด้วยพนักงานออฟฟิศแบบเราทั้งนั้น รถเมล์ที่ใช้บริการเยอะสุดคือรถพัดลมตามเดิม ทุกวันต้องลุ้นว่าจะแน่นแค่ไหน วันนี้โล่งใจหน่อยเพราะรถที่ขึ้นไม่แน่นมาก

ต่อไปที่ต้องเจอคือบรรดารถติดตรงแยกสะพานควายติดที่ติดนานมากและเราเองก็ยืนด้วยเมื่อยเข้าไปใหญ่แต่ดีว่ามีเพื่อนร่วมงานคุยด้วยเลยทำให้ลืมเรื่องนี้จากหัวไปได้บ้าง

เมื่อเดินทางถึงป้ายรถเมล์สถานีหมอชิต บรรยากาศรอรถเมล์ที่เห็นทุกวันคือแน่นตลอดบางครั้งก็ล้นฟุตบาท  เราก็เดินเท้าไปสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน การใช้บริการคือแน่นแต่ไม่เท่าช่วงเช้า

คนรอขึ้นรถเมล์ตอนเลิกงาน

เมื่อลงไปด้านล่างขบวนรถไฟคือเเน่นไปด้วยคนแบบปลากระป๋องแต่ก็ต้องสู้เพราะอยากถึงห้องให้ไว และทางเดินกลับห้องก็คือทางเดิมกับที่มาเมื่อเช้า ถึงตลาดปากซอยดีหน่อยที่วินมีเยอะพอทำให้ขึ้นไปห้อง ท้ายสุดก็ถึงห้องพักจุดที่เราสบายใจที่สุดในทุกๆ วัน

ระหว่างอยู่บนรถไฟฟ้า MRT

19:00 น. ได้เวลาที่ปอวาเลิกงาน เอาเข้าจริงแล้วถือว่าเป็นเวลาที่คนส่วนใหญ่เริ่มทยอยกันกลับบ้าน แต่อาจจะเบาบางลง เนื่องจากส่วนใหญ่จะเลิกงานกันประมาณ 5-6 โมง เด็กนักเรียนก็ทยอยเลิกเรียนกลับบ้านกันไปหมดแล้ว ก็นับว่าเป็นเรื่องดีในการได้กลับจากที่ทำงานเวลานี้ แต่ในความโชคดียังมีเรื่องให้ท้อใจบ้างในการรอรถที่ยาวนานยิ่งเสียกว่าขามาตอนเช้า

ทุกคนในออฟฟิศแยกย้ายกันกลับบ้าน โดยเริ่มจากการโทรเรียกวินขาประจำให้เข้ามารับหน้าออฟฟิศแทนการเดินในซอยเปลี่ยวเพื่อออกไปรอสองแถวหน้าปากซอย การนั่งวินในครั้งนี้คือการนั่งวินเพื่อไปท่าสองแถว เป็นคำแนะนำของน้าวินที่บอกว่า เพิ่มเงินอีก5บาท ไปรอที่ท่ารถ ได้นั่งนะ หากมายืนรอหน้าปากซอยออฟฟิศ รอก็นาน เผลอๆไม่ได้นั่ง นั่นแหละคือเหตุผลที่ต้องนั่งวินย้อนไปต้นซอยเล็กน้อยเพื่อชิงตำแหน่งที่นั่งบนสองแถวกลับบ้าน แต่เอาเข้าจริงบางวันโชคดีก็ได้นั่ง แต่บางวันก็โชคไม่เข้าข้างได้ยืนอยู่ดี รถสองแถวในเวลากลับบ้านบอกได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า ปลากระป๋องอัดแน่น ผู้คนที่โดยสารต่างพากันอัดเข้ามา ๆ เพื่อที่จะให้ตัวเองถึงที่หมาย

แม้ว่ารถจะแน่นแทบจะไม่มีที่ยืนก็เลือกที่จะขึ้นมา เพราะไม่อยากเสียเที่ยวยืนรอคันถัดไป ต่อด้วยรถสองแถว ใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที เนื่องจากมีผู้โดยสารลงในหลาย ๆ จุด การเดินทางจะเหมือนกับตอนเช้าคือกลับทางลัดที่เลี่ยงรถติดเพราะเลนถนนที่เหลือน้อยจากการก่อสร้าง พอถึงที่หมายก็จะกดออดลงป้ายรถเมล์ที่ไม่มีป้าย ไม่มีที่นั่ง แต่เป็นสถานที่ที่รู้กันของคนทำงานว่าจุดนี้แหละ รถโดยสารทุกชนิดจะจอดให้ลงและขึ้นอย่างไม่มีระเบียบ

ระหว่างยืนรอขึ้นสองแถว

ต่อมาเป็นการรอที่ไม่เคยชินกับมัน เพราะมากสุดในการรอนั่นคือรอรถเมล์ หนึ่งชั่วโมงครึ่ง เรียกได้ว่ารอจนรากงอกกันเลยทีเดียว แต่พอได้ขึ้นรถเมล์ก็ไม่ได้เป็นเส้นทางที่ติดอะไร รถวิ่งได้เรื่อย ๆ แต่ที่รอนานอาจเป็นเพราะรถขาดสาย เนื่องจากต้นทางนั้นรถติดหรือไม่ก็เป็นเวลาที่ปล่อยรถน้อยลง

ใช้เวลาไม่นานเพียง 15-20 นาที แต่มองดูนาฬิกาที่ข้อมือก็ปาไป 20:30 น. เสียแล้ว หมดเวลาไปกับการรอรถที่แท้จริง พอรถเมล์จอดเทียบป้ายก็รีบลงรถกดโทรศัพท์โทรเรียกวินขาประจำหมู่บ้านให้ออกมารับหน้าปากซอย บรึ๊นรถแปปเดียวจอดถึงหน้าประตูบ้านในราคา 10 บาท เลิกงาน 19:00 น. ถึงบ้าน 2 ทุ่มกว่า หมดแล้วแบตเตอรี่ที่ไม่ใช่แบตเตอรี่โทรศัพท์แต่เป็นแบตเตอรี่ร่างกาย

เวลาเลิกงานของอาอวงแต่ละวันไม่เท่ากัน บางวันเลิก 5 โมง บางทีก็ 6 ไม่ก็ 1 ทุ่ม เดินออกจากออฟฟิศอากาศคนละโลกกันเลย เพราะอากาศข้างนอกร้อนมากกกกกก ระหว่างทางเดินออกจากออฟฟิศไปที่ป้ายรถเมล์ข้างนอกก็จะเป็นเวลาที่ได้ทบทวนตัวเองทุกวันว่าวันนี้เราทำงานอะไรไปบ้าง แล้วเราได้รับมองหมายให้ทำงานอะไรต่อ หรือแม้แต่คาดเดาว่าวันพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น

นั่งวินมอเตอร์ไซค์ไปขึ้นรถไฟฟ้าสายสีแดงสถานีทุ่งสองห้อง

วินมอเตอร์ไซค์มาส่งที่สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงทุ่งสองห้อง ใช้เวลาจากออฟฟิศประมาณ 3 นาที หลังจากนั้นก็เดินขึ้นบันไดเลื่อนไปที่สถานี ใช้เวลา 5 นาที ระหว่างที่กำลังเดินแตะบัตรเข้าไปเพื่อจะขึ้นบันไดเลื่อนขึ้นไปยังชานชาลา จะคอยสังเกตตลอดว่ารอบต่อไปรถไฟฟ้าจะมากี่โมง ถ้าไปถึงแล้วพอดีกับขบวนที่กำลังจะเข้าเทียบชานชาลาก็โชคดีไป เพราะจะได้ไม่ต้องยืนรอนาน แต่ถ้าวันไหนมาก่อนเวลาที่ขบวนรถไฟยังไม่มาก็จะยืนรอนานหน่อยเพราะบนชานชาลาไม่มีที่ให้นั่งรอ เนื่องจากแต่ละขบวนจะมีระยะเวลาที่ห่างจากกันพอสมควร ประมาณ 20 นาที 

ยืนรอรถไฟฟ้าเข้าเทียบชานชาลา

เมื่อได้ขึ้นขบวนรถไฟฟ้าที่มาถึงแล้ว จากสถานีทุ่งสองห้อง – สถานีบางซื่อ และต่อจากสถานีบางซื่อ – สถานีบางบำหรุ

ระหว่างที่นั่งรถไฟฟ้าอยู่นั้น ถ้าได้ยินประกาศว่า สถานีต่อไปบางบำหรุ จะกดเรียก Grab bike ทันที เนื่องจากทางเดินข้างนอกสถานีบางบำหรุค่อนข้างมืด ไม่ค่อยมีไฟข้างทาง ไม่อยากยืนรอนานจึงเรียกรถตั้งแต่ยังไม่ถึงสถานี เมื่อถึงสถานีบางบำหรุ Grab bike ก็ถึงพอดีและนั่งไปลงที่หอพัก เป็นอันหมดวันที่พลังงานชีวิตก็หมดเช่นกัน

ระหว่างนั่ง Grab bike กลับหอพัก

เรื่องเล่าการเดินทาง 1 วัน ระหว่างไปและกลับจากการทำงานของ อาอวง ปอวา และโอมมี่ ทำให้เห็นว่าคน  1 คน ภายใน 1 วัน พบเจอการเดินทางที่มีความซับซ้อนที่จำเป็นต้องใช้การเดินทางโดยขนส่งหลายระบบ ทั้ง รถเมล์ รถไฟฟ้า รถสองแถว วินมอเตอร์ไซค์ ฯลฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องด้วย “ค่าเดินทาง” ที่เป็นปัญหาหลักที่ทำให้ต้องใช้การเดินทางโดยขนส่งหลายรอบที่ดูเหมือนจะประหยัด แต่เอาเข้าจริงก็เสียค่าใช้จ่ายเยอะเหมือนกัน แต่ก็ได้แต่คิดว่าการเดินทางแบบนี้น่าจะประหยัดที่สุดเท่าที่เราจะทำได้

จะดีกว่านี้มั้ย ถ้าเราเข้าถึงระบบขนส่งได้ง่ายขึ้น เช่น ถ้าเราไปรถไฟฟ้าได้โดยที่เราไม่ต้องขึ้นวินมอเตอร์ไซค์ก่อน หรือ จะเป็นไปได้มั้ย ถ้าเราจะเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ ที่ไม่ใช่แค่ที่ทำงานด้วยระบบขนส่งชนิดเดียวเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียค่าโดยสารซ้ำซ้อน แล้วจะดีกว่านี้มั้ย ถ้าค่าโดยสารของระบบขนส่งต่าง ๆ มีค่าราคาที่ถูกลงกว่านี้ เพื่อที่เราจะได้มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางน้อยลง และสามารถนำเงินไปทำอย่างอื่นได้บ้าง ไม่ใช่แค่ทำงานหาเงินมาเพื่อใช้จ่ายแค่ค่าเดินทาง  

กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองที่มีการจราจรติดขัดเป็นอันดับที่ 12 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย ทำให้ผู้ขับขี่เสียเวลาในการจราจรติดขัดสูงสุด 64.1 ชั่วโมง ในปี ค.ศ. 2016 ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหารถติดที่สำคัญ คือ การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนรูปแบบอื่นในการเดินทางแทนการขับรถบนท้องถนน เช่น รถไฟฟ้า BTS รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT หรือรถโดยสารด่วนพิเศษ BRT

ข้อมูลการสำนักงานนโยบายแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ระบุไว้ว่า ปัจจุบันปริมาณการเดินทางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในปี พ.ศ. 2560 เกือบครึ่งหนึ่งของรูปแบบการเดินทางในกรุงเทพฯ เป็นการเดินทางด้วยรถส่วนตัว มีปริมาณรวม 32.65 ล้านเที่ยวต่อวัน และอีกครึ่งหนึ่งคือการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะโดยเฉพาะรถเมล์ และที่เหลือไม่ถึง 10% คือการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนระบบราง คือ BTS และ MRT

จำนวนผู้โดยสารรถเมล์ในกรุงเทพฯ ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ผู้โดยสารระบบขนส่งทางเลือก เช่น รถตู้ รถจักรยานยนต์รับจ้างเพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นว่ามีการเพิ่มขึ้นของประชากรในพื้นที่ชานเมือง คนทำงานในพื้นที่เมืองชั้นในต้องเดินทางมาทำงานไกลขึ้น โดยสรุปจากการคาดการณ์ปริมาณการเดินทางในภาคมหานครในอนาคต พบว่า ใน พ.ศ. 2580 ความเร็วเฉลี่ยในการเดินทางจะลดต่ำลงจาก 36 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในปัจจุบันเป็ร 29 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะส่งผลให้เกิดการจราจรติดขัดอย่างมากในอนาคต

แล้วอย่างนี้ การเดินทางในอนาคตจะเป็นอย่างไร ทุกคนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะต้องใช้ชีวิตอย่างไรต่อไป ทุกคนจะต้องรับมืออย่างไรกับการเดินทางในแต่ละวัน คงต้องลุ้นกันต่อไป..

อ้างอิง

รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ คนเมือง 4.0: อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ