ความรู้สึกกังวลใจของผู้ใช้แท็กซี่ในกทม.

ความรู้สึกกังวลใจของผู้ใช้แท็กซี่ในกทม.

การเดินทางในเมืองกรุงเทพมหานคร ที่มีระบบขนส่งสาธารณะหลากหลายรูปแบบ ทั้งรถเมล์ รถไฟฟ้า วินมอเตอร์ไซค์ หรือ แท็กซี่ ซึ่งผู้โดยสารสามารถเลือกใช้เพื่อเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางของตนเองอย่างสะดวกและรวดเร็ว แต่นอกจากนั้นแล้วสิ่งสำคัญในการเดินทางที่ต้องคำนึงถึงคือ ความปลอดภัย

ที่มา : unsplash

เมื่อปี 2563 จากสถิติการขนส่งประจำปีพบว่า ในจำนวนเรื่องร้องเรียนทั้งหมด แท็กซี่ถูกร้องเรียนเป็นอันดับมากที่สุดจำนวน 27,211 ครั้ง เช่นเดียวกับปี 2564 รถแท็กซี่ถูกร้องเรียนเป็นอันดับมากที่สุด จำนวน 10,066 ครั้ง จากตารางเปรียบเทียบแสดงให้เห็นว่า แม้จำนวนร้องเรียนแท็กซี่จะลดลงมากขึ้นในแต่ละช่วงปี แต่ก็ยังคงเป็นอันดับหนึ่งของขนส่งที่ถูกร้องเรียน

แท็กซี่เป็นอันดับหนึ่งที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดในปี 2563
จำนวนร้องเรียนของแท็กซี่ลดลงขึ้นในปี 2564

นอกจากนี้ ประเด็นที่ถูกร้องเรียนเกี่ยวกับบริการของผู้ขับเป็นส่วนใหญ่ เช่น ขับรถประมาทน่าหวาดเสียว ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร แสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพ ไม่ส่งผู้โดยสารตามที่ตกลงกัน เป็นต้น และจากข้อมูลสถิติข้างต้น จึงเปรียบเทียบให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของบริการของรถแท็กซี่ที่มีจำนวนร้องเรียนลดลงมากขึ้นในช่วงแต่ละปีที่ผ่านมา และเรื่องที่ถูกร้องเรียนเกี่ยวกับบริการของคนขับเป็นส่วนใหญ่

ความกังวลใจของผู้ใช้แท็กซี่

มิ้ง นักศึกษาสาวจบใหม่ย่านราชดำเนิน กล่าวว่า จริงๆ รู้สึกว่ากรุงเทพฯ การเดินทางไม่ได้ปลอดภัยทั้งหมด ทั้งด้วยแท็กซี่ หรือเรายืนอยู่ข้างทางก็ไม่ปลอดภัย เหมือนมีคนร้ายได้หมดทุกที่ แต่การเดินทางด้วยแท็กซี่จะอันตรายได้กว่าเคสอื่นๆ เพราะเหยื่อจะหนีได้ยากกว่า คนร้ายมีรถจะพาเราไปไหนก็ได้ เราไม่สามารถขอความช่วยเหลือใครได้นอกจากขอทางโทรศัพท์ซึ่งจังหวะนั้นก็คือยาก เพราะเราคงสติหลุดไปแล้ว แต่ส่วนใหญ่เราอาศัยอยู่ในเมืองคือ มีรถเยอะ ถนนใหญ่ และไม่ค่อยขึ้นตอนกลางคืน จะดึกสุดแค่ 2 ทุ่มเลยรู้สึกว่าไม่ได้ไม่ปลอดภัยหรืออันตรายเท่าไหร่ แล้วก็รู้ทางเพราะส่วนใหญ่จะขึ้นแถวมหาวิทยาลัยหรือที่ที่เคยไปอยู่แล้วกลับบ้าน

“ถ้าเขาพาออกนอกเส้นทางก็จะถามเลยว่าไปทางไหน เคยไม่มั่นใจเส้นทางก็จะให้เขาไปทางที่เราเคยไป ถ้าเขาไม่ยอมก็จะขอลงเลยแล้วขึ้นคันใหม่ ที่เคยเจอจะเป็นพาไปทางที่รถติด ก็จะรู้สึกหงุดหงิดนิดหน่อย แต่เดี๋ยวนี้ใช้ Grab มันง่ายกว่าเฉยๆ ไม่ได้รู้สึกว่ามันปลอดภัยขนาดนั้น เพราะถ้าเป็น Grab ปกติไม่ใช่แบบพรีเมี่ยมก็คือแท็กซี่ปกติอยู่ดี สำหรับมิ้งเลยดูแมพเป็นหลักถ้ามันเริ่มออกนอกเส้นทางก็จะเริ่มดูว่าเขาไปทางไหน หรือถ้าขึ้น grab ที่รู้สึกปลอดภัยก็จะเลือกที่เป็นผู้หญิงขับ แต่ก็จะแพงกว่า”

บรรยากาศการใช้แท็กซี่ในตอนกลางวัน

แท็กซี่กับรถไฟฟ้า วิธีรับมือกับอันตรายที่ต่างกัน

มิ้งกล่าวว่า ถ้าเปรียบเทียบแท็กซี่กับรถไฟฟ้าคือ คนมันใกล้ชิดกว่า ความอันตรายมันอาจจะคนละแบบ เช่น รถไฟฟ้าอาจจะเป็นแอบถ่ายใต้กระโปรง หรือเนียนๆ แอบจับตัวเรา ถ้าเป็นการจู่โจมโต้งๆ เลยน่าจะเป็นการเดินตามเราออกมาแล้วค่อยมาทำร้ายเรา จะล่วงละเมิดทางเพศหรือขโมยของอะไรก็ตาม แต่ถ้าเป็นแท็กซี่ก็มีได้ตั้งแต่พูดจาส่อไปทางเพศ หรือแสดงท่าทางต่างๆ ในแนวลามากใส่เรา เช่น ช่วยตัวเอง หรือไม่ก็พาเข้าซอยเปลี่ยวข่มขืนหรือขโมยของ

“สรุปแล้วคือ คิดว่าถ้าเป็นแท็กซี่มันอยู่กันสองต่อสอง คนขับจะทำอะไรก็ได้ แต่ถ้าเป็นรถไฟฟ้าคิดว่าถ้าฝ่ายกระทำไม่ได้เสียสติก็ยังมีความอายคนอื่นอยู่บ้าง หรือคนที่อยู่รอบๆ ข้างก็น่าจะช่วยเหลือเหยื่อได้และรถไฟฟ้ามีรปภ. หรือพนักงานที่เราลงมาสามารถแจ้งเพื่อขอความช่วยเหลือได้”

มิ้งกล่าวเพิ่มว่า พื้นที่และช่วงเวลาที่เดินทางก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความเสี่ยงอันตราย ถ้าสำหรับเราคนที่นั่งรถไฟฟ้าสถานีท้ายๆ ที่คนเริ่มน้อยลงแล้วก็อันตรายมากกว่าตอนขึ้นมา และก็อาจจะเป็นแนวๆ เดี่ยวกับแท็กซี่เพราะคนน้อยแล้ว อันตรายมากกว่า แตกต่างกันแค่ถ้าเหยื่อรู้ตัวเร็วก็ไปแจ้งพนักงาน หรือ รปภ. ที่จะลงสถานีได้

นอกจากนี้ มีน นักศึกษาสาวปี 4 ที่ใช้บริการแท็กซี่ไม่บ่อย กล่าวว่า ตนเองยังไม่เคยเจอความรู้สึกที่ไม่ปลอดภัย จะเจอเรื่องปัญหาคนขับที่ทำให้รู้สึกอยากลงจากรถไวๆ เพราะคนขับมีกลิ่นบุหรี่ติดตัวมา ที่ตนเองไม่ได้รู้สึกไม่ปลอดภัยอาจจะเป็นเพราะไม่ได้ขึ้นในช่วงเวลาที่อันตราย เหมือนในข่าวที่จะเกิดเหตุการณ์ช่วงกลางคืน หรือหลังจากกลับร้านเหล้าเพราะมันเป็นเวลาที่ถนนไม่ค่อยมีรถ มืดอีก ถ้าบ้านต้องเข้าซอยลึกก็จะหลอนแล้ว

“รถสาธารณะบ้านเราพอกลางคืนก็หายกริบ ทางเลือกมันน้อยมาก ทางที่มีให้เลือกก็ไม่ได้น่าเลือกแต่ต้องเลือก เลือกให้ปลอดภัยขึ้นได้แต่ก็ต้องมีเงิน หรือบางทีแทนที่เราจะเสียเงินเพื่อลดความเสี่ยง เรากับเสี่ยงเพื่อเอาตัวเองไปจุดเสี่ยงเฉย”

ความกังวลที่สะท้อนถึงความไม่สะดวกของขนส่ง

การใช้บริการรถแท็กซี่จึงเป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกกังวลของผู้ใช้ระหว่างเดินทางในกรุงเทพมหานคร แม้จะเป็นเมืองที่มีระบบขนส่งสาธารณะหลากหลายประเภทให้ผู้โดยสารได้เลือกใช้ ทั้งแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์ หรือรถไฟฟ้า ฯลฯ ซึ่งปัจจัยสามารถแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ ทางกายภาพหมายถึง สภาพของถนนและระบบขนส่ง และทางสังคมหมายถึง บริการของคนขับและพฤติกรรมของผู้ร่วมเดินทาง

การเปรียบเทียบระหว่างรถแท็กซี่และรถไฟฟ้า ทำให้เห็นว่าการใช้บริการขนส่งสาธารณะทั้งสองแบบนั้นมีความไม่ปลอดภัยเหมือนกัน เพียงแต่ความไม่ปลอดภัยหรืออันตรายที่เกิดขึ้นมีลักษณะที่แตกต่างกัน เช่น การขึ้นรถไฟฟ้ามีจำนวนผู้ใช้ร่วมกันมากกว่าการใช้รถแท็กซี่ในบางครั้งต้องขึ้นเพียงคนเดียวความเสี่ยงจึงลดลง ส่วนรูปแบบของความไม่ปลอดภัยของทั้งสองอย่างมีทั้งการถูกคุกคามทางเพศ การทำร้ายร่างกายหรือการขโมยของ แต่สิ่งที่ต่างกันคือวิธีการรับมือ ที่หากเกิดเหตุบนรถไฟฟ้า เราสามารถขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง หรือเจ้าหน้าที่ พนักงานบนรถไฟฟ้าได้ แต่ในขณะที่บนรถแท็กซี่เราไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากคนอื่นได้ นอกจากการโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือซึ่งอาจทำได้ยาก จนเกิดความอันตรายไปแล้ว

ประเด็นเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้แท็กซี่

วิธีการเดินทางที่ดีมีคุณภาพในเมืองนั้นสามารถทำได้ แต่ต้องมีทุนหรือ “เงิน” ด้วยเช่นกัน นอกจากความปลอดภัยแล้วยังสะดวกและรวดเร็วกว่า แต่คนในสังคมมีหลากหลายรูปแบบและแต่ละคนต่างมีทุนที่ไม่เท่ากัน ทำให้การใช้เงินเพื่อแลกกับความปลอดภัยจึงทำได้ยาก ทางเลือกจึงมีน้อยกว่าคนมีต้นทุนที่เลือกใช้รถไฟฟ้าหรือรถยนต์ส่วนตัวแทน บางคนจึงต้องจำยอมเลือกใช้บริการขนส่งสาธารณะในราคาที่ถูก เช่น รถเมล์ ที่แม้จะต้องรอรถเป็นเวลานานและมีความเสี่ยงอันตรายมาก แต่ในบางครั้งเราใช้เงินเพื่อสร้างความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทางให้กับตัวเอง แต่ความเสี่ยงก็ยังคงเกิดขึ้นได้อยู่เสมอ

ฉะนั้นความไม่ปลอดภัยหรืออันตรายบนขนส่งสาธารณะในทุปรูปแบบมีอยู่ตลอด เพียงแต่จะมากหรือน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับช่วงเวลา สถานที่ที่ขึ้นและลง รวมถึงเพราะโครงสร้างของเมืองและระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่ได้ออกแบบมาให้คนทุกกลุ่มได้ใช้อย่างสะดวกและปลอดภัย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ