ความเท่าเทียมทางเพศ สร้างความเท่าเทียมทางเพศ เสริมพลังทางสังคมแก่ผู้หญิงและเด็กหญิง (Achieve gender equality and empower all women and girls) มหาวิทยาลัยพะเยามีการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับ SDG5 ในหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายย่อย (Targets) ของ SDG5 เพื่อสร้างการรับรู้และการปฏิบัติที่เท่าเทียม ยกตัวอย่างเช่น
ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่ โดยมหาวิทยาลัยพะเยาให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศในการอำนวยความสะดวกและปลอดภัยในการชีวิตของทุกเพศสภาพในมหาวิทยาลัย พร้อมกับการเปิดโอกาสการสวมชุดครุยการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรตามเพศสภาพของบัณฑิต
การสร้างหลักประกันการทำงานที่ผู้หญิงมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ และมีโอกาสเท่าเทียมในการเป็นผู้นำทุกระดับของการตัดสินใจในการทำงานในระดับมหาวิทยาลัย เช่น การมีหัวหน้าหน่วยงาน ผู้บริหารงานระดับคณะและระดับมหาวิทยาลัย ตามหลักความสามารถโดยไม่มีประเด็นเรื่องเพศสภาพมากีดขวางหรือการเลือกปฏิบัติในการทำงาน หรือกล่าวอีกนัยยะหนึ่งคือการที่มหาวิทยาลัยพะเยาเปิดโอกาสให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศสภาพในการทำงานทุกระดับ ตั้งระดับปฏิบัติการถึงระดับผู้บริหารที่มีอำนาจตัดสินใจเชิงนโยบาย
สร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ และสิทธิการเจริญพันธุ์โดยถ้วนหน้า ตามที่มหาวิทยาลัยพะเยาส่งเสริมและอำนวยความสะดวกการตรวจสุขภาพประจำปีของบุคลากรทุกเพศสภาพ ก่อให้เกิดรับทราบข้อมูลที่ถูกต้องในการป้องกันตนเองจากโรคต่าง ๆ รวมทั้งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ นำไปสู่การเตรียมพร้อมการตั้งครรภ์อย่างสมบูรณ์ได้ รวมทั้งการให้สิทธิการเจริญพันธุ์ต่าง ๆ ตามที่กฎหมายแรงงานกำหนดคุ้มครอง เช่น สิทธิการลาคลอด และการลาช่วยเลี้ยงดูบุตรของบุคลากร
การเพิ่มพูนการใช้เทคโนโลยีโดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อส่งเสริมการให้อำนาจแก่ผู้หญิงผ่านหลักสูตรต่าง ๆ ของรายวิชาในมหาวิทยาลัยพะเยา นำไปสู่การเสริมทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศต่าง ๆ เพื่อความเท่าเทียมทางเพศสภาพ
เลือกใช้และเสริมความเข้มแข็งแก่นโยบายที่ดีและกฎระเบียบที่บังคับใช้ได้ เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และการให้อำนาจแก่ผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคนในทุกระดับ โดยมหาวิทยาลัยพะเยาสนับสนุนการดำเนินร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายให้เกิดความเข้มในการทำงานเชิงพื้นที่ เช่น การจัดกิจกรรมสร้างเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับผู้นำชุมชนท้องถิ่น ผ่านโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “การพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชนท้องถิ่นเพื่อออกแบบนโยบายความเท่าเทียมทางเพศ” โดยความร่วมมือกับ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (United Nations Development Programme: UNDP) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ ห้องปฏิบัติการนโยบายสาธารณะ (Thailand Policy Lab: TPL)
ข้อมูลโดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ฉัตรทิพย์ ชัยฉกรรจ์ ตำแหน่ง ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา