มูลนิธิสุขภาพชุมชน จ.สุรินทร์ ร่วมกับ มูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน จัดเวทีพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายสวัสดิการหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัยภาคอีสาน “สานพลังหยุดวิกฤต Learning Loss เด็กปฐมวัยจากพื้นที่สู่นโยบาย” ที่ สวนป่ารีสอร์ท อ.เมือง จ.สุรินทร์ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยมีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดสุรินทร์ โรงพยาบาลสุรินทร์ องค์การบริหารส่วนตำบลคอโค บ้านเรียนเด็กพระคุณ เครือข่ายสวัสดิการชุมชนเมือง บ้านอ่านยกกำลังสุข และสถาบันครอบครัวเข้มแข็ง ร่วมสะท้อนและหาแนวทางแก้ไขปัญขับเคลื่อนสู่ระดับนโยบายซึ่งจะมีการประชุมหารือคณะทำงานทั่วประเทศ ในวันที่ 4 มิถุนายน 2565
เกษณี ซื่อรัมย์ เจ้าหน้าที่ด้านเด็กและเยาวชน สมาคมป่าชุมชนอีสาน ย้ำว่า การอ่านหนังสือเป็นส่วนสำคัญในการปรับพฤติกรรมเด็กเล็กและเยาวชนให้มีพัฒนาการที่เหมาะสม “จากสถานการณ์เด็กปฐมวัยที่มีพัฒนาการเรียนถดถอย ติดสื่อ สมาธิสั้น ไม่ค่อยตอบสนอง ไม่จ้องตา ไม่สื่อสาร เลยมองว่าการใช้กระบวนการหนังสือกับเด็กมันสามารถปรับพฤติกรรมเรื่องสมาธิและช่วยเยียวยาได้ อีกอย่างมองว่าหนังสือเด็กมีราคาแพง และมักจะถูกเก็บไว้ในห้องสมุด เด็กเลยเข้าไม่ถึงการอ่าน”
นอกจากพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนที่ต้องสร้างเสริมให้คุ้นเคยและสนใจการอ่านเพิ่มขึ้น หนังสือที่สอดคล้องกับช่วงวัยและพัฒนาการ เช่น หนังสือเพื่อเด็กปฐมวัย ยังเป็นโจทย์สำคัญ เพราะหลายครอบครัวไม่มีต้นทุนในการซื้อหนังสือที่เหมาะสมกับบุตรหลาน และหลายชุมชนไม่มีห้องสมุดที่มีหนังสือสำหรับเด็กเยาวชน จึงมีการระดมข้อเสนอแก้ไขวิกฤต Learning Loss เด็กปฐมวัยด้วยสวัสดิการหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัย 9 ข้อ ได้แก่
1) สนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมพลังใจแก่ผู้ดูแลเด็ก ผู้ปกครองเพื่อให้เห็นความสำคัญ มีพลังในการส่งเสริมสวัสดิการการอ่านเด็กปฐมวัยภายใต้สถานการณ์โควิด-19
2) ส่งเสริมสนับสนุนบทบาทครอบครัวในการดูแลเด็กปฐมวัยเห็นความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือ โดยใช้หนังสือภาพ อ่านออกเสียงให้ฟังเพื่อส่งเสริมพัฒนาการ การเรียนรู้ การสร้างสัมพันธภาพกับทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์
3) ประสานความร่วมมือภาคีหลัก ได้แก่ ผู้ปกครอง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และสาธารณสุข ให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านประสบการณ์การใช้หนังสือภาพเลี้ยงลูก สร้างความตระหนักเรื่องอ่านหนังสือให้เด็กฟัง และทำงานกับ 3 ภาคี ผู้ปกครอง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและหน่วยงานในท้องถิ่นเพื่อพัฒนาสวัสดิการการอ่านให้เกิดขึ้นในชุมชน
4) พัฒนาศักยภาพผู้บริหาร ครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก บุคลากรทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้มีความรู้ความเข้าใจพัฒนาการเด็กปฐมวัย เป้าหมายของกิจกรรมส่งเสริมการอ่านในกลุ่มเด็กปฐมวัยที่แตกต่างจาก การอ่านออกเขียนได้ สิทธิเด็กในการเข้าถึงการอ่าน มีหนังสือภาพในครอบครัวที่มีเด็กปฐมวัยอย่างน้อย 3 เล่ม/ครอบครัว
5) พัฒนากองทุนต่าง ๆ ในชุมชนให้มีมิติจัดสวัสดิการการอ่าน เช่น จัดสรรเงินจากกองทุนสวัสดิการชุมชน ออมวันละบาท เพื่อซื้อหนังสือภาพแก่ครอบครัวสมาชิกที่มีเด็กปฐมวัย มอบหนังสือภาพเป็นสวัสดิการหลังคลอด โครงการหนังสือเล่มแรกในชีวิต หรือจัดตั้งธนาคารหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัย วิ่งระดมทุน Run for Book bank เป็นต้น
6) ส่งเสริมการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในชุมชนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดสวัสดิการการอ่านรูปแบบที่หลากหลาย สร้างสรรค์ เชิงรุก เข้าถึงง่าย สอดคล้องกับวิถี อาทิ มีพื้นที่สร้างสรรค์ อาสาสมัครอ่านหนังสือให้เด็กฟัง, มุมหนังสือในห้องเรียน, ตะกร้าหนังสือในโรงเรียน, บ้านพัฒนาการเด็กในชุมชน, ห้องสมุด, บริการยืมหนังสือภาพ, กล่องหนังสือเดินทางฯ
7) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรเพิ่มจำนวนโครงการ/กิจกรรมที่มีมิติสุขภาวะทางปัญญา รวมถึงส่งเสริมพัฒนาสภาพแวดล้อม บุคลากรในสถานศึกษา (นักการ, ครูฯ) ที่ส่งผลต่อความสุขและการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย
ส่งเสริมให้อสม. จิตอาสามีส่วนร่วมติดตามสนับสนุนโครงการมหัศจรรย์พันวันหรือโครงการที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย และขยายผลกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพเด็กปฐมวัย ด้วยงบจากกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่ตำบล
9) เชื่อมประเด็นสวัสดิการการอ่านเพื่อเด็กปฐมวัยในธรรมนูญตำบล, สมัชชาสุขภาพจังหวัด และแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย/แผนจัดการศึกษาประจำท้องถิ่น ของจังหวัด ปี 2566 – 2570
ตัวอักษรเรียงร้อยเป็นถ้อยคำ เรียบเรียงเป็นเรื่องเล่า และรวบรวมเป็นเล่มหนังสือ แน่นอนว่าเมื่อผู้อ่านได้เห็นภาพและอักษรผ่านสายตา ได้สัมผัสด้วยมือ พร้อมจินตนาการไปกับทุกเรื่องที่ถูกบันทึก คุณูปการของหนังสือทุกเล่มจะมีส่วนสำคัญในการเปิดโลกการเรียนรู้ของผู้อ่านไม่เลือกเพศและวัย ยิ่งหากว่าหนังสือเหล่านั้นมีความสอดคล้องเหมาะสมกับพัฒนาการของนักอ่านตัวน้อย ปัญหาวิกฤต Learning Loss การเรียนรู้ที่ถดถอยก็น่าจะมีความหวังในการหาทางออกด้วยเล่มหนังสือและการอ่านในชีวิตประจำวัน