ผู้ลี้ภัยเหยื่อการค้ามนุษย์และขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติถูกตัดสินจำคุก ขณะที่ขบวนการยังลอยนวล

ผู้ลี้ภัยเหยื่อการค้ามนุษย์และขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติถูกตัดสินจำคุก ขณะที่ขบวนการยังลอยนวล

วันที่ 18 ก.พ. 2558 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดสมุทรปราการ ได้อ่านคำพิพากษาอุทธรณ์ คดีของนายอัลลา (นามสมมติ) ผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ จากประเทศซีเรีย โดยยืนตามศาลชั้นต้น จำคุกเหยื่อ 2 ปี ฐานปลอมและใช้หนังสือเดินทางปลอม อ้างเหตุเป็นอันตรายต่อสังคม  โดยยังไม่มีการดำเนินคดีกับขบวนการค้ามนุษย์และอาชญากรรมข้ามชาติ ที่นำผู้ลี้ภัยมาเป็นเหยื่อ

ก่อนหน้าที่จะถูกจับในประเทศไทย นายอัลลาเป็นชาวปาเลสไตน์ เกิดในค่ายผู้ลี้ภัยชาติล่า (Shatila) เลบานอน ต้องหนีภัยสงครามครั้งแรกในชีวิตตอนอายุ 6 ขวบ โดยเข้าไปในประเทศซีเรีย และใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในค่ายผู้ลี้ภัยยาร์มูค (Yarmouk) ประเทศซีเรีย

เมื่อเกิดสงครามกลางเมืองในประเทศซีเรียประทุขึ้นในปี พ.ศ. 2554 และค่ายผู้ลี้ภัยยาร์มูคถูกโจมตีโดยรัฐบาลและถูกปิดกั้นมิให้ได้รับอาหารและยา ในปี พ.ศ. 2555 นายอัลลาพร้อมภริยาและบุตรอายุ 2 เดือนในขณะนั้น จึงจำต้องหลบหนีออกจากค่ายผู้ลี้ภัยยาร์มูค ไปหลบซ่อนตัว ณ ที่แห่งอื่น อีกหลายที่ จนกระทั่งคิดว่าตนเองไม่อาจมีทางเลือกอื่นแล้วจึงได้ตัดสินใจวางแผนที่จะเข้าไปในประเทศสวีเดนเพื่อขอลี้ภัย  หากแต่ว่าการเข้าเมืองที่ถูกกฎหมายเพื่อลี้ภัยในประเทศยุโรปในสถานการณ์ที่มีสงครามในประเทศซีเรียเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ ผู้ลี้ภัยส่วนมากจากประเทศซีเรียรวมถึงนายอัลลา จึงได้ตกเป็นเหยื่อของขบวนการนายหน้า หรือขบวนการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานทางบก ทางทะเล และทางอากาศ อีกทั้งขบวนการค้ามนุษย์ โดยขบวนการหลอกว่าให้เดินทางมาประเทศไทยก่อน แล้วจะสามารถขอลี้ภัยไปประเทศสวีเดนได้

ก่อนปี พ.ศ. 2556 เดิมประเทศไทยมุ่งเน้นการช่วยเหลือเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ที่ถูกลักลอบขนนำพาเข้ามาประเทศโดยทางบกและทางทะเล แต่นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2556 เป็นต้นมา เริ่มมีผู้ลี้ภัยจากประเทศซีเรียถูกขนเข้ามาโดยทางอากาศเพื่อนำมาแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบและขูดรีดโดยขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติและนายหน้าในประเทศไทย

โดยเครื่องมือสำคัญประการหนึ่งในการกระทำความผิดลักลอบขนผู้ลี้ภัยโดยทางอากาศนี้ คือ การทำปลอมหนังสือเดินทางหรือเอกสารประจำตัวให้แก่เหยื่อ

ในกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายในของประเทศในสหภาพยุโรป ถือว่าการทำปลอมหนังสือเดินทางนี้เป็นการกระทำความผิดของผู้ที่อยู่ใน “ขบวนการ” มิใช่ “ผู้ลี้ภัย” หรือบุคคลคนต่างด้าวที่เป็น “เหยื่อ” แต่ในประเทศไทย นายอัลลา กลับถูกดำเนินคดีฐานปลอมและใช้หนังสือเดินทางปลอม อ้างเป็นภัยอันตรายของสังคม ทั้งๆ ที่ตนเองตกเป็นเหยื่อ และขบวนการยังลอยนวล

ประเทศไทยมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์เพื่อสลัดออกจาก Tier 3 มีกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ใช้บังคับตั้งแต่ก่อนเข้าเป็นภาคีในกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ แต่ยังไม่มีกฎหมายต่อต้านการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐาน

การแก้ปัญหาค้ามนุษย์และอาชญากรรมข้ามชาติทั้งระบบ ไม่อาจสำเร็จได้หาก “ขาด” มิติในด้านการ “ป้องกัน” และ “ความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศ” ซึ่งอยู่ในพิธีสารต่อต้านการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐาน เนื่องจาก หลายกรณี ไม่สามารถสาวไปถึงขบวนการได้ เพราะไม่สามารถพิสูจน์การกระทำที่เป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบที่ปลายทาง ถ้าหากประเทศไทยมีกฎหมายว่าด้วยการต่อต้านการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานควบคู่ไปกับกฎหมายค้ามนุษย์ ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาทั้งสองและปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติอื่นๆ ได้ เนื่องจากการทำงานเชื่อมโยงกันของขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติทั้งหลายดังกล่าว

ไม่นานมานี้ ประเทศมาเลเซียได้แก้ไขกฎหมายค้ามนุษย์โดยเพิ่มเติมกฎหมายต่อต้านการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานเข้าไปในกฎหมายฉบับดังกล่าว เพื่อแก้ปัญหาการค้ามนุษย์อย่างเป็นระบบ แต่ในประเทศไทย แม้มีความพยายามที่จะเข้าเป็นภาคีในพิธีสารต่อต้านการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานในสมัยอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ในปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการดังกล่าว

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวว่า “ปัจจุบันมีการค้ามนุษย์โดยขบวนการค้ามนุษย์ที่เป็นอาชญากรรมข้ามชาติเพิ่มขึ้นจำนวนมาก โดยอาศัยความยากลำบากของกลุ่มผู้ลี้ภัยในประเทศต่างๆ เดิมเริ่มจากผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาจากประเทศพม่าและบังคลาเทศ ใช้การขนย้ายทางบกและทางทะเล  ต่อมาขยายไปสู่ผู้ลี้ภัยกลุ่มต่างๆจากหลายประเทศ และใช้การขนย้ายทางอากาศ”

แต่ “คำพิพากษาศาลในวันนี้ ทำให้สังคมไทยและสังคมระหว่างประเทศกังขาว่า ภายใต้บริบทของกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน กระบวนการยุติธรรมของไทยสามารถอำนวยความยุติธรรมและคุ้มครองเหยื่อของขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติในลักษณะนี้ได้หรือไม่ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ภัยคุกคามความมั่นคงในรูปแบบใหม่” นายนคร ชมพูชาติ ที่ปรึกษาคณะทำงานคดีผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย คณะอนุกรรมการฯ กล่าว

“ประเทศไทยจะต้องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่อคุ้มครองเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์และอาชญากรรมข้ามชาติ กระบวนการยุติธรรมของไทยต้องเท่าทันขบวนการเหล่านี้ที่ใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการดำเนินการ โดยต้องร่วมกับประเทศต้นทางในการป้องกันและคุ้มครองเหยื่อ  ตลอดจนดำเนินคดีอย่างจริงจังตามกฎหมายต่อขบวนการค้ามนุษย์และขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย และความสงบสุขในการอยู่ร่วมกันของประชาคมโลก” นายสุรพงษ์กล่าวในที่สุด

 

——————————-

 

author

เรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง related posts

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ